ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บุตรของโลก

พ่อแม่นักเรียนชั้น ป.6 ประชุมกันก่อนที่ลูกจะจบ ทุกคนกำลังมองหาที่เรียนที่ดีที่สุดให้ลูก และ ส่วนใหญ่ก็ยังอยากให้ลูกเรียนที่มัธยมลำปลายมาศต่อ แต่ก็กังวลว่าลูกจะอ่อนวิชาการ แล้วจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้
อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ปกครองกังวลกันมากว่าลูกจะประสบผลสำเร็จไหม ทุกคนอยากให้ลูกมีอาชีพอย่างนั้นอย่างนี้  ทั้งนี้ก็ด้วยความรัก
ผมเลยนึกถึงบทกวีหนึ่งของ คาริบ ยิบราน
เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต
เขามาผ่านเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ
และแม้ว่าเขาอยู่กับเธอ แต่ก็ไม่ใช่สมบัติของเธอ
เธออาจจะให้ความรักแก่เขา แต่ไม่อาจให้ความนึกคิดได้
เพราะว่าเขาก็มีความนึกคิดของตนเอง
เธออาจจะให้ที่อยู่อาศัยแก่ร่างกายของเขาได้ แต่มิใช่แก่วิญญาณของเขา
เพราะว่าวิญญาณของเขานั้น อยู่ในบ้านของพรุ่งนี้ ซึ่งเธอไม่อาจเยี่ยมเยือนได้ แม้ในความฝัน...

แต่ทั้งหมดที่พ่อแม่ปรารถนาต่อลูกก็ด้วยความรัก 
ความรักอาจทำให้หัวใจตีบเล็กลงถ้ารวมเอาความรักเพื่อตัวเองเข้าไปด้วย
           ความรักคือการได้มา หรือ ให้ไป

หมอผี

ตอนเป็นเด็ก ผมกลัวผีมาก เพราะคุณตาเป็นหมอผีจึงรู้จักผีชนิดต่างๆ จากการบอกเล่าของคุณตา   เมื่อรู้ว่าผมกลัวคุณตาจึงให้คาถาไล่ผีซึ่งเป็นอักขระ 21 ตัว (นะมะพะธะนะโมพุทธายะมะระอุอิอีสาระสุจิเกรุนิ)  ผมท่องคาถานั้นขึ้นใจ และมักท่องคาถานั้นบ่อยๆ หรือ ทุกครั้งที่เกิดความกลัว โดยเฉพาะตอนที่โดนผีอำ  ซึ่งน่าแปลกใจมากที่มันได้ผลทุกครั้งโดยเฉพาะตอนที่โดนผีอำเมื่อท่องคาถานี้ในใจ  ร่างกายจะค่อยๆ คลายออกจนเป็นปกติ
เมื่อโตขึ้นผมเริ่มเข้าใจและอธิบายปรากฏการณ์ของอาการผีอำให้กับตัวเองได้ และ เริ่มเข้าใจปรากฏการณ์ของผี   ผมมีความกลัวผีน้อยลงทุกขณะเมื่ออายุมากขึ้นและในที่สุดอาจจะไม่กลัวเลย   
ตอนโตนี้ผมไม่ค่อยได้กลัวผีและไม่เคยถูกผีอำเลยจึงไม่ต้องใช้คาถานั้นแล้ว  
แต่บางทีเมื่อถึงวาระสุดท้าย  ขณะที่ผมจะตาย ถ้าผมเกิดความกลัวอะไรสักอย่างขึ้นมา  ผมคงต้องท่องคาถานั้นเป็นสิ่งสุดท้าย

การศึกษาอาจใช้เวลาเกือบทั้งหมดของวัยเด็ก  แต่แท้จริงเราต้องการบางอย่างเท่านั้นที่จะอยู่กับเขาตลอดไป

วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แก้คำผิด

"ทำไม่ครูโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจึงติดโชว์ผลงานของเด็กๆ โดยไม่แก้คำผิด?" เป็นคำถามของครูที่มาเข้าอบรมหลายท่าน

จริงๆ ไม่รู้อะไรถูก
แต่เราคิดว่าการตรวจเช็คและแก้ไขโดยครูเป็นการมองจากครูฝ่ายเดียวซึ่งครูกำลังมองภาษาในรูปแบบตายตัว ไม่ยืดหยุ่น และไม่สามารถนำลองผิดลองถูกได้
การที่ครูแก้คำถูกผิดด้วยตัวแดงพรืดเต็มไปหมด อาจทำให้เด็กรู้สึกภาษาเป็นสิ่งน่ากลัว และอาจรู้สึกว่าตัวเองด้อยความสามารถจนไม่กล้าที่จะเขียนคำใหม่ๆ อีกต่อไป
มอนเตสซอรี่ก็เชื่อว่า ถึงเด็กจะเขียนผิดถูกอย่างไรก็ได้ แต่เมื่อเด็กเริมอ่านหนังสือได้เขาจะตื่นตัวที่จะเช็คคำผิดคำถูกด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อเขารักการอ่านและมีประสบการอ่านมากขึ้นเขาจะยิ่งกระตือรือร้นในการตรวจเช็คคำผิดด้วยตังเอง
อาจจะใช้วิธีของครูณีก็ได้ ตอนที่ตรวจงาน ครูณีแค่รวบรวมคำที่เด็กแต่ละคนเขียนผิดมาเขียนไว้มุมหนึ่งของกระดาน ให้มีโอกาสได้ใช้บางคำในจำนวนนั้นอย่างถูกต้อง แล้วหลังจากนั้นเด็กๆ ก็จะตรวจเช็กสมุดของตัวเองอย่างกระตือรือร้น
ภาษาจะเป็นสิ่งน่ารำคาญ ถ้ามันอธิบายความหมายที่อยู่ใต้บรรทัดไม่ได้

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ความสำเร็จขึ้นกับเกณฑ์

ความสำเร็จขึ้นกับเกณฑ์ที่ใช้วัด
และยังขึ้นอยู่กับความน่าจะเป็นที่โอกาสนั้นจะเกิดขึ้น

มีคำถามที่น่าใคร่ครวญยิ่งว่า “อะไร อย่างไร ขนาดไหน คือ ความสำเร็จ”

ตอนผมเรียนมัธยมปลาย เพราะความจนผมจึงไม่มีปัญญาซื้อหนังสือประเภทอ่านเสริม คู่มือ แบบสรุปบทเรียน หรือไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนพิเศษ ผมก็เลยใช้วิธีการตั้งใจเรียนในชั่วโมง แล้วสรุปบทเรียนเองทุกครั้ง การทำอย่างนั้นทำให้ผมได้ใคร่ครวญสิ่งที่เรียนมารอบแล้วรอบเล่า ในแง่มุมที่ต่างออกไปตามช่วงเวลาที่ต่างออกไป มันทำให้ผมเข้าใจสิ่งต่างๆ มากกว่าเนื้อหาที่ได้เรียน กลับกลายเป็นว่าความขาดแคลนทำให้ผมได้พัฒนาวิธีการเรียนรู้ขึ้นมาด้วยตัวเอง ความจริงแล้ว ตอนนั้นผมคิดไม่ออกหรอกว่าจะต้องทำอย่างไร มันเป็นแค่ลูกฟลุ๊ค มันอยู่บนพื้นฐานของโอกาสหนึ่งของความน่าจะเป็นที่อาจจะเกิดกับใครก็ได้ทั้งคนที่มีปัจจัยพรั่งพร้อม หรือ คนอัตคัดขัดสน

วันนี้ผมได้รู้จักมักคุ้นกับใครบางคนทั้งที่โอกาสที่ผมจะได้รู้จักกับใครคนนั้นเพียง 1 ใน หกพันล้าน นี่ก็เป็นเพียงโอกาสหนึ่งขอความน่าจะเป็นเท่านั้น

การควบคุมโอกาสนั้นยากยิ่ง

เราอาจจะมีโอกาสน้อยมากในการที่จะทำให้เด็กแต่ละคนเป็นอย่างนั้นหรืออย่างนี้

แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะสร้างโอกาสให้สิ่งที่เราอยากให้เป็นเกิดขึ้นได้เกิดขึ้น โดยการเปิดพื้นที่ให้โอกาสที่ต้องการและปิดพื้นที่สำหรับโอกาสที่ไม่ต้องการนั้นเสีย

ตัวอย่างเช่น จากคำถาม “จะทำอย่างไรไม่ให้ลูกๆ ติดเกม”
ความเป็นไปได้มากขึ้นถ้าเปิดพื้นที่สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ให้เด็กๆ ทำ และในขณะเดียวกันก็ปิดพื้นที่ที่จะให้เด็กได้ใกล้ชิดเกม

แต่จะอย่างไร โอกาสที่จะเกิดยังเป็นไปได้ทุกแบบ การเข้าใจว่ามันเป็นเพียงความน่าจะเป็นอาจจะทำให้เราสบายใจมากขึ้น และตอนนั้นเราจะประจักษ์ว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นั้นมันเป็นก็แค่เหตุการณ์ธรรมดาๆ ที่เราสร้างเกณฑ์เข้าไปจับ

การควบคุม

เมื่อแรกเกิด......
      เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะหัดพูด และ ทำสิ่งต่างๆ
เมื่อเข้าเรียน....
      โรงเรียนกลับพยายามให้เขาอยู่นิ่งๆ และ หุบปาก

"การควบคุมชั้นเรียน"  กับ  "การจัดการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้"  นั้นต่างกัน 
อย่างแรกจะมีแต่ความเงียบที่บ่มเพาะความรู้สึกสยบยอมเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม  แต่อย่างหลังจะมีทั้งความวุ่นวายโกลาหล และ ความสงบลึก  เพื่อให้สมองสมองได้ทำงานครบทั้งสามส่วน
คิดถึงเป้าหมายก่อนวิธี
ทำอย่างไรที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ สำคัญกว่าจะควบคุมเขาอย่างไร