ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

พันธนาการจากความคิดเคยชิน

   

วันหนึ่งไอน์สไตน์ถามนักเรียนในห้องเรียนว่า "มีคนซ่อมปล่องไฟสองคนกำลังซ่อมปล่องไฟเก่า พอพวกเขาออกมาจากปล่องไฟปรากฏว่าคนหนึ่ง ตัวสะอาด อีกคนหนึ่งตัวเลอะเทอะเต็มไปด้วยเขม่า ขอถามหน่อยว่าคนไหนจะไปอาบน้ำก่อน"
      นักเรียนคนหนึ่งตอบว่า "ก็ต้องคนที่ตัวสกปรกเลอะเขม่าควันสิครับ"
      ไอน์สไตน์พูดว่า "งั้นหรือ ลองคิดดูให้ดีนะ คนที่ตัวสะอาดเห็นอีกคนที่ตัวสกปรกเต็มไปด้วยเขม่าควัน เขาก็ต้องคิดว่าตัวเองออกมาจากปล่องไฟเก่าเหมือนกัน ตัวเขาเองก็ต้องสกปรกเหมือนกันแน่ๆเลย ส่วนอีกคนเห็นฝ่ายตรงข้ามตัวสะอาด ก็ต้องคิดว่า ตัวเองก็สะอาดเหมือนกัน ตอนนี้ผมขอถามพวกคุณ อีกครั้งว่า ใครที่จะไปอาบน้ำก่อนกันแน่"
      นักเรียนคนหนึ่งพูดขึ้นมาด้วยวามตื่นเต้นว่า "อ๋อ ผมรู้แล้ว พอคนที่ตัวสะอาดเห็นอีกคนสกปรก ก็ต้องนึกว่าตนเองสกปรกแน่ แต่คนที่ตัวสกปรก เห็นอีกคนสะอาด ก็นึกว่าตนเองไม่สกปรกเลย ดังนั้นคนที่ตัวสะอาดต้องวิ่งไปอาบน้ำก่อนแน่เลย... ถูกไหมครับ..."
      ไอน์สไตน์มองไปที่นักเรียนทุกคน นักเรียนทุกคน ต่างเห็นด้วยกับคำตอบนี้ ไอน์สไตน์จึงพูดขึ้น อย่างมีหลักการและเหตุผล "คำตอบนี้ก็ผิด ทั้งสองคนออกมาจากปล่องไฟเก่าเหมือนกัน จะเป็นไปได้อย่างไรที่คนหนึ่งสะอาด อีกคนหนึ่งจะสกปรก เมื่อความคิดของคนเราถูกชักนำจนสะดุด ก็จะไม่สามารถแยกแยะ และหาเหตุผลแห่งเรื่องราวที่แท้จริงออกมาได้..."     

       การคิดอย่างมีวิจารณญาณ  อย่างหนึ่งที่หมายถึงการคิดเพื่อการตัดสินใจเลือกอย่างมีเหตุผล  ซึ่งสุดท้ายคนที่คิดก็ต้องเลือกพร้อมชั่งน้ำหนักเหตุผล  นั่นก็ไม่ได้หมายถึงผลจะออกมาแต่ด้านบวกเท่านั้น  คุณภาพของผลการคิดนี้จะต้องได้จากการมีข้อมูลครบถ้วน และ การชักนำชี้ทางไปในทางที่ถูกที่ควร  เครื่องชี้ทางหมายรวมถึงเครื่องชี้ทางภายนอก เช่น ทฤษฎี  คำสอน  บุคคล  กรอบระเบียนกฎหมาย จารีต ค่านิยม ฯลฯ  และเครื่องชี้ทางภายใน เช่น  คุณธรรม   แรงจูงใจ  กรอบความคิด  ภาพพจน์ต่อตัวเอง  อำนาจในการเลือก ฯลฯ   ด้วยความคุ้นชิดเราจะรู้สึกดีและยอมรับได้เมื่อใครก็ตามที่อ้างเหตุผลด้วยเครื่องชี้ทางเหล่านี้   แต่เครื่องชี้ทางเหล่านี้ยังซ่อนด้วยบทบาทที่สำคัญกว่าคือ การพันธนาการ  สุดท้ายเราจะติดแหงกด้วยความเป็นเหตุเป็นผลของมันซึ่งเป็นเพียงเปลือกแต่ละชั้นที่ห่อหุ้มความจริงเอาไว้ 
      การปลดปล่อยตัวเองให้อิสระจากเปลือกทั้งหลายจนถึงที่สุด  ก็จะถึงความจริงแท้ที่ไม่จำเป็นต้องกล่าวอ้างด้วยเหตุผลใดๆ  แล้วผลที่ปรากฏออกมาจะมีคุณภาพโดยไม่ต้องสงสัยถึงความมีวิจารณญาณ   
      แต่การลอกเปลือกหอมออกที่ชั้นๆ นั้นอาจต้องแลกด้วยน้ำตา 
 



วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

สิ่งที่เราไม่เคยเจอ จะเข้ามาท้าทายคนรุ่นต่อจากเรา

  
    หนึ่งในคำถามที่ผู้ปกครองเหวี่ยงเข้าใส่โรงเรียนคือ   “เด็กของเราจะแข่งขันในสังคมได้ไหม?”   นั่นอาจจะมีความหมายที่ซ่อนในคำถามนี้อีกทีคือ   “พวกเขาจะชนะไหม?”
    สำหรับผมมันเป็นคำถามที่ยาก   เพราะเป็นเรื่องยากมากที่จะคาดการณ์ว่าอีก 10-20 ปี ข้างหน้าพวกเขาจะเผชิญกับปัญหาอะไร  คงไม่ใช่ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ หรือถ้าใช่ก็อาจจะเป็นส่วนน้อย เพราะโลกพลิกผันเปลี่ยนแปลงเร็วเหลือเกิน  เช่น 
      - สภาพแวดล้อมและภูมิอากาศของโลกเข้าสู่ขั้นวิกฤตจนใครก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าพรุ่งนี้เราจะเจออะไร   อาจเป็น  คลื่นความร้อน  คลื่นความหนาวเย็น  สภาพพายุอันรุ่นแรง  สภาพการขาดแคลนอาหารจากความแห้งแล้ง สภาพอากาศที่ไม่บริสุทธิ์  เชื้อโรคใหม่ ฯลฯ
      - สภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีสูงโดยมีคนจำนวนน้อยนิดที่ถือครองทรัพย์สินส่วนใหญ่ของโลก   คนส่วนใหญ่ของโลกจึงยากจนแร้นแค้น  โดยธรรมชาติของทุกสิ่งเมื่อเสียสมดุลมันก็จะมีแรงที่จะทำให้เกิดสมดุลใหม่  ซึ่งเราไม่สามารถคาดการณ์ออกเช่นกันว่าสมดุลใหม่ทางสังคมนั้นคืออะไร  แต่ที่เห็นตอนนี้แรงกระทำเพื่อการปรับสมดุลได้ทำงานของมันแล้ว  การเสียสมดุลทางสังคมจะสร้างความแตกแยก  จะเกิดความสูญเสียจากการแก่งแย่งและทำร้ายกัน  จะมีแต่ความหวาดระแวงไม่สามารถที่จะไว้ใจกันได้  นอนต้องปิดประตูล็อคตัวเองไว้  จะไปไหนมาไหนก็กลัวการถูกทำร้าย  สุดท้ายจะมีแต่ความอึดอัดบีบคั้น และชีวิตก็ไม่มีความสุข
    - ค่านิยมต่อความดีเปลี่ยนไป  ไม่ได้หมายถึงความดีงามเปลี่ยนไป   สังคมเกิดค่านิยมกับการนับถือคนรวย  หรือการสยบยอบต่อผู้มีอำนาจ   เกิดค่านิยมด้านวัตถุรูปลักษณ์ เช่น  เด็กวัยรุ่นอายที่จะควักโทรศัพท์มือถือราคาถูกออกมาโทร  จะรู้สึกไม่มั่นใจถ้าไม่ได้โกรกผมให้แดงเหมือนเด็กญี่ปุ่นหรือไม่ได้โปะเครื่องสำอางราคาแพง   บางคนใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงเพื่อแต่งตัว  นั่นอาจจะบ่งบอกถึงสภาพผู้คนที่มองภาพพจน์ในตัวเองต่ำ หรือ มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเองมากพอที่จะเป็นตัวเอง  บางคนถึงขนาดรู้สึกว่ารองเท้าหลายสิบคู่ที่มีไม่มีคู่ใดสวยเลย  บางคนก็ไม่กล้าสะพายกระเป๋าถ้าไม่ใช่ยี่ห้อจากฝรั่งเศส อย่างน้อยขอให้เป็นของปลอมก็ยังดี    เมื่อรู้สึกว่าเงินคือทุกอย่างการถูกล่อลวงทางด้านวัตถุจะเกิดได้ง่ายแล้วเรื่องเหล่านี้ก็จบลงด้วยการหาเงินในทางไม่ชอบ  เช่น การขายตัว   การโจรกรรมมีให้เห็นจนดาษดื่น   นอกจากนี้ วิถีชีวิตปัจจุบันยังผลักเด็กๆ ออกห่างจากธรรมชาติที่แท้จริงมากทุกที  ถูกปลูกฝังให้ต้องเข้าเรียนในเมือง  ทำงานในเมือง  กินอาหารในร้าน  ซื้อของในห้าง  เท่ากับว่าเขาได้ติดเบ็ดอย่างจัง

    กลับมาที่คำถามว่า   “พวกเขาจะชนะไหม”   ผมไม่อาจให้คำตอบอย่างผลีผลาม  คำตอบต้องผ่านการใคร่ครวญให้ดี  ผมอยากให้ทุกคนได้ประมวลประสบการณ์ของตัวเอง  เฝ้าสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวแล้วใคร่ครวญหาคำตอบ  คำตอบจะต้องไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการแต่ต้องเป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ ต่อเด็กๆ 
ซึ่งเราอาจต้องตอบคำถามเหล่านี้ก่อน
    “พวกเขาจะสู้กับอะไรหรือกับใคร?  กับเพื่อนในชั้น  กับคนในจังหวัด  กับคนทั้งโลก  หรือ เพียงต่อสู้กับตัวเอง”
“พวกเขาจะต่อสู้หรือแข่งขันกันด้วยเรื่องใด?  ความรู้  ทรัพย์สิน ตำแหน่ง  การมีชีวิตรอด หรือ ความสุข  หรือ อะไร?
            
     หนึ่งในหลายๆ  สิ่งที่โรงเรียนต้องพยายามทำ และให้ความสำคัญกว่าความรู้และคะแนน  เพื่อให้เป็นความพยายามทำในช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดของเด็ก   เป็นช่วงเวลาที่ไม่อาจเรียกคืนได้  ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นที่เขาจะใช้ตลอดชีวิต  สิ่งนั้นคือ 
การทำให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง  เห็นคุณค่าในคนอื่น  ได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต   เห็นความหมายของการอยู่ด้วยกันอย่างภารดรภาพ    มีความสามารถในการคิดไตร่ตรองอย่างมีวิจารณญาณเพื่อให้เห็นถึงสิ่งจริงสิ่งลวงได้ด้วยตัวเอง   การรู้สึกสัมผัสได้ถึงความรักและใช้ออกไปอย่างมีคุณภาพ   การปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการถูกครอบ  การมีความสุขในขณะที่มีชีวิต  และ การยกระดับจิตให้สูงขึ้น
     ผู้ที่กำลังเติบโตทุกคน กำลังถูกท้าทายจากปัญหานานาและใหม่ๆ ถั่งโถมใส่ทุกๆ วัน ความแข็งแกร่งข้างใน และ ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณเพื่อให้คำตอบกับตนเองจะทำให้เขารอดพ้นไปได้ด้วยดี