พฤติกรรมที่เด็กแสดงออกมาทั้งต่อหน้าและลับหลังส่วนใหญ่จะเป็นไปเพื่อเรียกหาความสนใจ เป็นการตอบสนองจากสัญชาตญาณแบบไม่ต้องคิด เพราะเจตจำนงในการมีชีวิตอยู่อย่างหนึ่งคือความต้องการเอาใจใส่ดูแลจากคนอื่น การได้รับความสนใจก็เป็นที่มาของความใส่ใจ และการใส่ใจก็หมายถึงการสัมผัสได้ถึงการถูกรักในชั้นที่ลึกลงไป ในการเรียกหาความสนใจเด็กอาจจะแสดงกริยาออกมาทางด้านลบหรือไม่ก็ทางด้านบวก อาจเป็นแบบเชิงรุกหรือแบบการถอยหนี หรือเป็นลักษณะการทำร้ายคนอื่นหรือไม่ก็เป็นการทำร้ายตนเอง
นั่นคือเด็กคนที่แสดงอารมณ์ก้าวร้าวต่อเพื่อนหรือต่อครูก็ล้วนแต่มีเบื้องลึกที่ต้องการความรักความใส่ใจที่ไม่ต่างกับเด็กคนที่เรียบร้อย สงบเสงี่ยมและเชื่อฟัง เด็กคนที่แกล้งเพื่อนหรือทำลายสื่งของของเพื่อนก็มีความต้องการเบื้องลึกไม่ต่างจากเด็กคนที่แสดงออกถึงความนอบน้อมและมีน้ำใจ เด็กคนที่เข้ามาอยู่ใกล้ชิดช่วยเหลืองานครูก็เช่นเดียวกันกับเด็กคนที่หลบอยู่มุมห้องและพยายามยัดอะไรต่อมิอะไรเข้าหูเข้าจมูกตนเอง เด็กคนที่ตั้งใจเรียนและมีความรับผิดชอบสูงกับเด็กคนที่ไม่ใส่ใจเรียนเลยในเบื้องลึกก็ต้องการการตอบสนองของความรักความใส่ใจ แต่ครูจะแสดงออกอย่างไรล่ะกับพฤติการณ์ที่ต้องการสิ่งเดียวกันแต่แสดงออกคนละขั้ว
ครูต้องอาศัยทั้งวุฒิภาวะและศิลปะ วุฒิภาวะของความเข้าใจเป็นความเมตตา ความปรารถนาที่จะยกระดับวุฒิภาวะของเด็ก(กรุณา) และ ต้องใช้ศิลปะอย่างสูงในการโต้ตอบ เพราะการเพิกเฉยต่อพฤติกรรมด้านลบก็อาจทำให้เมล็ดพันธุ์ของการแสดงออกของอารมณ์ทางด้านลบนั้นเติบโต เด็กจะแสดงพฤติกรรมนั้นออกมาโดยเข้าใจว่าเป็นสิ่งถูก แต่การพยายามเข้าไปแก้ไขทุกเรื่องเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดี เด็กอาจจะรู้สึกถึงการคุกคาม และการรู้สึกว่าไม่มีพื้นที่ส่วนตัวให้งอกงามเอง
ต้องให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยว่าไม่มีใครได้อะไรทุกอย่างที่ต้องการ และไม่มีใครเสียอะไรที่มีอยู่ไปทั้งหมด แม้แต่ ความรักความเอาใจใส่ก็เป็นเช่นเดียวกัน