ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2552

ครูใหญ่ ของเด็ก ๆ

วิเชียร ไชยบัง
ครูนอกกะลากับห้วงเวลาแห่งการข้ามภูเขาชีวิต





ผม มองสิ่งที่ไม่รู้เหมือนภูเขาที่ต้องปีนข้ามไป ความรู้สึกอยากพิชิตมัน ไม่ได้มาจากความทยานอยากจะเอาชนะใคร แต่มาจากฉันทะข้างในที่อยากเอาชนะความไม่รู้ของตัวเอง

.....................


“ผมไม่เคยฝันอยากเป็นครูเลย แต่ก็เป็นครูมาแล้วกว่า 15 ปี และภูมิใจมากที่ได้เป็นครู” วิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา


“การ เป็นครูที่ดีไม่ใช่เรื่องยาก ตอนเป็นเด็กเราอยากได้ครูแบบไหนเราก็ปฏิบัติอย่างนั้น รักเด็กทุกคนให้เกียรติเขาหาส่วนดีของเขาเสริมพลังให้เขาเป็นคนดียิ่งขึ้น ไม่ปล่อยให้เด็กในห้องล้มเหลวแม้แต่คนเดียว และไม่ปล่อยเวลาให้สูญเปล่าพยายามเป็นครูที่ดียิ่งๆ ขึ้น”


โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเป็นโรงเรียนใหม่เพิ่งจะตั้งได้ 7 ปี แต่เป็นที่รู้จักของผู้ที่สนใจเรื่องการศึกษา

โรงเรียนที่ท้าทายขนบแบบเก่า เป็นโรงเรียนที่ไม่มีการสอบ ไม่มีเสียงระฆัง ไม่มีดาว ไม่มีการอบรมหน้าเสาธง ...ไม่มี ไม่ใช้แม้แต่แบบเรียน!


เด็กๆ เข้ามาเรียนที่นี่ด้วยวิธีจับฉลาก ร้อยละ70 เป็นนักเรียนยากจน ลูกชาวไร่ชาวนาในอำเภอลำปลายมาศ เด็กไม่น้อยกว่า 40 คน เป็นเด็กกำพร้า บางคนไอคิวต่ำ แต่มาร่วมเรียนกับเด็กคนอื่นๆ ได้


เด็กทุกคนที่นี่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน...ครูพัฒนาเด็กตามศักยภาพของแต่ละคน    แต่ นั่นไม่ใช่สาระสำคัญที่สุด...ทว่าเป้าหมายหลักในใจของผู้บริหารโรงเรียนนี้คือ ให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นตัวอย่างเพื่อให้โรงเรียนในชนบทอีก 3 หมื่นกว่าแห่งได้มาเรียนรู้ และนำสิ่งนี้ไปใช้ ไปพัฒนารูปแบบในวิถีของตน...

หลายสิ่งหลายอย่างที่โรงเรียนนี้กำลังทำ เหมือนทวนกระแส เหมือนกำลังสร้างอนุสาวรีย์หรือสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้การศึกษาไทย

ไม่ต่างกับคำพูดในหนังสือที่ครูวิเชียร เขียนถึงโรงเรียนของเขาว่าเป็น โรงเรียนนอกกะลา ที่ใช้พลังแห่งความรั้น...ผลักดันโลก


และถ้าโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ได้ชื่อว่าเป็น โรงเรียนนอกกะลา... ครูอย่าง วิเชียร ไชยบัง...ก็คือ ครูนอกกะลา ที่เราอยากรู้ว่า เขามีวิธีออกจากกะลาใบใหญ่นี้ได้อย่างไร

ประสบการณ์ชีวิตที่ต้องผ่าน
ครู วิเชียรบอกว่าการที่เขาได้ผ่านชีวิตมาแล้วแทบทุกรูปแบบ การผ่านมันจริงๆ ทำให้เขาเข้าใจมัน เหมือนที่เขายกตัวอย่างเรื่องเล่นไพ่ ตอนที่ติดพนันไพ่แม้ตอนหลับตาเขายังเห็นเป็นเลขในหน้าไพ่ เล่นไพ่ได้แทบทุกชนิด และเล่นแทบทุกวันโดยไม่สนใจสิ่งใดรอบข้าง แต่เดี๋ยวนี้เขากลับรู้สึกเฉยๆ กับมัน เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน
“ผมรู้สึกว่าได้ผ่านมาแล้ว ถ้าเคยผ่านมันจริงๆ อย่างที่ผมผ่าน ก็จะเข้าใจ เห็นคนขายตัวก็รู้สึกธรรมดากลับต้องให้เกียรติเขา เห็นคนติดกัญชาก็รู้สึกธรรมดา หรืออย่างการพนันผมก็ผ่านมันมาแล้ว ถึงแม้ผมจะชอบเล่นชนิดติดมันงอมแงม แต่ตอนนี้ผมกลับเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกอยากเล่นเลยสักนิด เพราะมันกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจของเราแล้ว ไม่มีความหมายต่อเราแล้ว”
ครูวิเชียรเล่าถึง ภาพหนึ่งที่ยังติดตรึงอยู่ข้างใน แม้มันจะเป็นเหตุการณ์เล็กๆ แต่มันทำให้เขาหยุดใคร่ครวญเชื่อมโยงกับความรู้สึกข้างในของเขา มันเป็นภาพชายขี่สามล้อที่เขาเฝ้ามองตอนที่นั่งรอบนรถโดยสารกลับจากกรุงเทพฯ ตอนที่เริ่มทำงานที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาใหม่ๆ

“รู้ ไหม ผมเห็นอะไร--- ภาพคนขับสามล้อคนหนึ่งต้องกินข้าวเหนียวส้มตำอย่างรีบร้อนบนรถสามล้อของเขา เอง เพียงเพื่อจะรีบไปทำงานต่อ เพราะรถจะมาแล้ว ผู้โดยสารใหม่กำลังจะเข้ามา ผู้ชายคนหนึ่งทำงานหนัก อดทน และกินอย่างประหยัด เพื่อจะหาเงินเก็บออมไว้ให้ใครสักคนที่อยู่ข้างหลัง ซึ่งคนที่อยู่ข้างหลังไม่มีทางรู้เลยว่าคนนี้ลำบากแค่ไหน ต้องผ่านอะไรมาบ้างในแต่ละวัน เขาคิดอะไรหรือรู้สึกอย่างไร แล้วอะไรที่กำลังโจมตีข้างในเขาอยู่บ้าง”

“แล้ว พอผ่านมันมา เราก็ใคร่ครวญใช่ไหม ผมรู้ตัวเองว่าผมมาจากไม่มีอะไร ครอบครัวผมไม่มีอะไร เวลากรอกข้อมูลในตอนเด็กๆ เขาให้กรอกว่าพ่อแม่ทำอาชีพอะไร ผมกรอกคำว่า ชาวนา อย่างทรมานมาก เพราะบ้านผมไม่มีที่นา พ่อแม่เป็นชาวนาก็จริงแต่เรารับจ้างทำนา”

...........

ครู วิเชียรเป็นเด็กชนบท สนใจใฝ่ฝันอยากเป็นทหาร แต่เมื่อสอบไม่ได้ ก็ไปขายไส้กรอกอีสาน ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ  ครูวิเชียรเล่าถึงชีวิตก่อนจะมาเริ่มเรียนวิทยาลัยครู


ชีวิต พลิกผันกลับมาอีกครั้งเมื่อ ‘โครงการคุรุทายาท’ ที่เขาสอบทิ้งไว้ประกาศผล และเขาสอบติดได้เข้าเรียนเป็นนักเรียนทุนคุรุทายาทรุ่นแรกของวิทยาลัยครู มหาสารคาม

ตอนนั้นมีคนได้ทุนเพียง 10 คน ครูวิเชียรบอกว่าเขาไม่ได้สมองดี แต่อาจจะมีวินัยในการเรียนดีกว่าหลายคน เช่น ถ้าชอบที่ทำอะไรก็จะทำให้ดี ชีวิตขณะที่เรียนวิทยาลัยครูนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะทุนคุรุทายาทรุ่นแรกนั้นไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรให้นอกจากที่เรียนและ ตำแหน่งงานหลังเรียนจบ ตอนเย็นๆ เขาหาเงินโดยรับจ้างตัดหญ้า ด้วยการไปยืมรถตัดหญ้าของวิทยาลัยที่ฝ่ายพัสดุแล้วไปเวียนตัดไปตามบ้าน อาจารย์ที่อยากให้นักศึกษาไปช่วยงาน


“ผมได้ เงินวันละสี่สิบห้าสิบบาททุกวัน โชคดีตอนนั้นค่าหน่วยกิตเพียง 20 บาท ก็พออยู่พอกิน พอมาพักหลังๆ ผมเริ่มหาเงินด้วยวิธีที่แยบยลมากขึ้น สบายมากขึ้น เพื่อให้พอเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียน สักพักการรับจ้างก็น้อยลงกลายมาเป็นเล่นไพ่เป็นหลัก เล่นเพื่อให้ได้เงินมาเรียน”
ครูวิเชียรถูกจับได้เรื่องเล่นไพ่ถึงสองครั้งสองครา ถูกทำทัณฑ์บนทั้งสองครั้ง แต่เพราะเป็นนักเรียนทุนก็เลยไม่ถูกไล่ออก


“นัก เรียนทุนต้องพักอยู่ในหอพักของวิทยาลัย ถ้าเป็นคนอื่นคงโดนไปแล้ว เวลาเล่นไพ่นี่ผมจะต้องได้ คือถ้าเล่นจะต้องได้ แม้ไม่ได้มากแต่ต้องได้กินสำหรับวันนั้น มันไม่ถึงกับอิ่มแค่มีชีวิตอยู่ได้ไปวันๆ เมื่อหมกมุ่นอยู่กับมันนานๆ เข้าผมก็เห็นถึงความกลวงโบ๋ของมัน น็ สุดท้ายก็เริ่มพยายามหาสาระของตัวเองซึ่งมันเป็นธรรมชาติของวัยนั้นอยู่แล้ว ใช่ไหม”


“ผมมองว่าหลายอย่างก็เป็นจุดเปลี่ยน ของชีวิตเหมือนกัน ผมไม่อายนะ ถ้าครูจะมาเรียกไปตัดหญ้า หรือไปซักเสื้อผ้าให้ ผมก็ไม่สนใจว่าใครจะมองอย่างไร สาวๆ จะมองอย่างไร ผมกำหนดชีวิตของเอง บางทีในช่วงปีใหม่ หรือช่วงปิดเทอมผมก็จะไม่ค่อยได้กลับบ้าน วิทยาลัยก็จะมีทุนทำงานให้นักศึกษาผมก็ทำ บางช่วงก็ปัดกวาดอาคารเรียน รับสมัครน้องนักศึกษา หรือเป็นเวรยาม”

อย่าเป็นภูเขา เพราะเมื่อนั้นผมจะปีน
ครู วิเชียรเติบโตอยู่กับตา มีตาเป็นแบบแผนในการใช้ชีวิต และผูกพันกับตามากจนนำเอามาเป็นแรงบันดาลใจเขียนไว้ในนิยายที่ชื่อ สายลมและทุ่งหญ้า*
“ตาเป็นเกราะที่แข็งแรงมาก สำหรับผม ตาไม่เคยบอกผมว่า อะไรถูกอะไรผิด ความนิ่งของตาให้ผมต้องได้คิดได้ใคร่ครวญถึงสิ่งต่างๆ เสมอว่ามันถูกหรือผิด ด้วยความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขของตาจึงเป็นสิ่งหล่อหลอมผมขึ้นมาจากความยาก ลำบาก”

ย้อนกลับไปสมัยเรียน เมื่อจบชั้นประถมหก เขาแทบไม่เห็นอนาคตของตัวเองเลยด้วยซ้ำ เรื่องเรียนต่อยิ่งไม่ต้องคิด และเขาก็ไม่ได้สนใจมันด้วยซ้ำ วันๆ ใช้ชีวิตเพื่อหารังผึ้งตามทุ่งนาตามป่า พ่อแม่ก็ไม่ได้คาดหวังเพราะไม่มีความรู้
...แต่ สุดท้ายเพราะครูที่สอนชั้นป.6 เขาก็ไปสมัครเรียนในวันสุดท้าย...และก็ได้เข้าเรียนต่อชั้นม.1 ชีวิตการเรียนม.1 ของเขาก็คือ เดินไป-กลับจากบ้านไปโรงเรียนวันละ 8 กิโลเมตร ทุกวัน ตลอดสามปีในช่วงมัธยมต้น
อะไร ทำให้รักเรียน ไม่ทิ้งเรื่องการเรียน เพราะคนชนบททั่วไป ถ้าไม่มีโอกาสเรียนก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย ยิ่งถ้าครอบครัวไม่มีจะกินด้วยแล้ว การออกมาทำงาน ทำไร่ทำนา ทำมาหากินนั้นก็อาจจะดีกว่า ช่วยให้มีชีวิตอยู่ได้มากกว่าที่จะไปนั่งเรียนในห้องเรียน
“ผม ไม่ใช่เด็กเรียนดี แต่มีความพยายามสูง มีประโยคหนึ่งที่ผมเขียนไว้เหมือนเป็นคติบอกความเป็นตัวเองเสมอ ก็คือ ‘อย่าเป็นภูเขาเพราะเมื่อนั้นฉันจะปีน’ ฉันไม่ได้ต้องการอยู่บนนั้น ฉันแค่ต้องการพิชิตมัน”
เขาบอกว่า ทุกอย่างที่เป็นความท้าทายเขาจะทำ


“ความท้าทาย คือ ความอยากรู้อยากเห็นว่าทำไมผมจะเอาชนะไม่ได้”

ในช่วงวัยประถมเขาเคยอยากเป็นนักกีฬา แต่เพราะรูปร่างอ้วนทำให้เขาต้องพลาดโอกาสต่างๆ ทั้งการเล่นกีฬา และการได้ตีกลองพาเหรด

“ผม อ้วนเพราะตาผมเลี้ยงด้วยนมตราหมี เพราะไม่มีนมแม่กิน นมผงตราหมีกระป๋องสมัยนั้นยูเนสโก้เอามาแจก แล้วตาก็กลัวว่าหลานจะกินไม่อร่อย ก็เลยชงใส่น้ำตาลเยอะๆ ด้วยความที่ตัวอ้วนที่โรงเรียนผมไม่เคยได้เป็นตัวแทนทำอะไรสักอย่าง”

“พอ อยู่มัธยมเล่นบาสเกตบอลทุกวัน ไม่น่าเชื่อว่าคนตัวอ้วนอย่างนี้จะเล่นบาสได้ ผมใช้เวลาสองปีเล่นทุกวันจึงเล่นเป็นจนตัวก็ผอมลง นั่นคือ อย่าเป็นภูเขาไม่อย่างนั้นผมจะปีนผมไม่ต้องการอยู่บนนั้นแค่ต้องต้องการเอา ชนะมัน”

เช่นเดียวกับการเข้ามาเรียนต่อตอนชั้น ม. 4 ซึ่งเป็นโรงเรียนในอำเภอ วันแรกครูวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนจับกลุ่ม แต่ปรากฏว่าไม่มีเพื่อนคนไหนเลือกจับกลุ่มกับเขาเลยสักคน

“ผม เหมือนคนเศษ เพราะผมมาจากบ้านนอกไม่ได้อยู่ในสายตาเพื่อนๆ ตอนนั้นเลยตั้งใจไว้ว่าจะทำคะแนนสูงที่สุดในวิชาวิทยาศาสตร์ให้ได้ เวลาผ่านไปปีครึ่งผมทำได้ นั่นคืออย่าเป็นภูเขา ผมคิดเกี่ยวกับทุกเรื่องนะ มันเหมือนเป้าหมายที่เราต้องการจะไปให้ถึง อะไรเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะที่เป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ”
“การ เอาชนะของเราหรือการพยายามปีนภูเขาของเราไม่ได้มาจากความทยานอยาก หรือแข่งกับใคร แต่มาจากข้างในเราที่อยากชนะตัวเรา เมื่อผมตั้งใจทำอะไรผมจะทำจนสุดความ สามารถไม่มีวันปล่อยทิ้งกลางทางเด็ดขาด”

“ความ สำเร็จก็เช่นเดียวกัน คือไม่ใช่ทิ้งไปเลย แต่ก็ไม่ได้ยึดติด เพียงถ้าอยากกลับมาทำอีกก็จะทำแต่ไม่ได้มีความรู้สึกแบบที่อยากพิชิตเหมือน ตอนแรกอีกแล้ว และไม่ได้อยากเสวยสุขในสิ่งที่สำเร็จแล้ว ความสุขของผมอยู่ที่การปีนมากกว่าอยู่บนนั้น พอปีนเสร็จมันก็เกิดปีติ แต่ปีตินั้นแป๊บเดียว”

ขบถ! และการทำเพื่อคนอื่น
ใน ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ ความยากลำบากของครูวิเชียร การเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อตัวเอง แต่เขากำลังมุ่งมั่นทำสิ่งต่างๆ เพื่อคนอื่น
“ผม มีความรู้สึกแบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ยอมเจ็บเพื่อไม่ให้คุณเจ็บ ผมยอมไม่กินเพื่อให้คุณได้กิน เป็นแบบนั้นมาแต่เด็ก อาจจะได้แบบอย่างมาจากตา”
“เป็นความเจียมเนื้อ เจียมตัวที่ถูกสอนให้เป็นแบบนั้น สมัยมัธยมต้นจะได้เงินวันละบาท เงินบาทหนึ่งสมัยก่อนซื้อปลาทูตัวผอมๆ ได้หนึ่งตัว ถ้าจะทอดต้องซื้อน้ำมันอีก ก็ใช้วิธีปิ้งแล้วแบ่งครึ่งกิน อีกครึ่งห่อไว้ไปกินโรงเรียน มักจะไปหลบกินข้าวเที่ยงใต้ร่มไม้ในป่ามันสำปะหลัง ครั้งหนึ่งไปที่นั่นก็ไปเจอเพื่อนอีกคนที่เขานั่งกินอยู่ก่อน ผมก็ขอนั่งร่วมกินด้วย ผมรู้ว่าปลาทูครึ่งตัวของผมยังเป็นกับข้าวที่ดีกว่าที่เขามีอยู่ แต่ผมก็ไม่ทำให้เขารู้สึกอับอายต้อยต่ำกว่าเด็ดขาด ผมมีวิธีที่จะทำให้เขารู้สึกดีให้ได้ โดยผมเป็นฝ่ายร้องขอต่อเขา เหมือนกับที่ผมเห็นชายคนถีบสามล้อที่รีบกินข้าวเหนียวส้มตำเพราะต้องรีบทำ งาน ผมจะไม่ทำให้เขารู้สึกต่ำต้อยแต่จะให้เกียรติเขาและจะทำให้เขารู้สึกดีให้ ได้”
“ผมมีความเป็นขบถอยู่ในตัว ผมต่อต้านความคิดบางอย่างของแม่ ต่อต้านความคิดบางอย่างของครู ความเป็นขบถของผมคือการเงียบ การก่อการคือการเงียบ ขบถต่อสังคมด้วยนะมันถึงส่งผลมายังการทำโรงเรียนแบบนี้ เช่น สิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ว่าถูก บางอย่างเราก็ว่าไม่ถูก อย่างเช่นความยุติธรรม ผมไม่เชื่อนะ แต่ผมเชื่อเรื่องความพอดี ทุกคนมีความพอดีเฉพาะตัวจะเสมอเหมือนเท่ากันอย่างยุติธรรมคงไม่ใช่ เมื่อเข้าใจความพอดีของตัวเองความพอใจก็จะบังเกิด”
“ดัง นั้นผมจึงเชื่อเรื่องความพอดียิ่งกว่าความยุติธรรม ต้องมีความพอดีของแต่ละคน ผมคิดเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค หลายคนบอกว่ายุติธรรมเพราะทุกคนจ่าย 30 บาทได้เท่ากันหมด ในทางกลับกันทำไมคนที่มีรายได้เยอะๆ จึงไม่จ่ายมากกว่า 30 บาท ความพอดีของแต่ละคนไม่เหมือนกันบางคนมีแค่ร้อยเดียวบางคนมีหมื่นล้านแต่ได้ จ่าย 30 เท่ากัน อันนี้คือตัวอย่าง อธิบายยาก แต่นี่คือขบถเรื่องหนึ่ง”

ความ ขบถของครูวิเชียรเกือบทำให้เขาต้องเป็นโรคประสาท เขาเล่าว่า ช่วงอายุราวๆ 28 ด้วยความไม่เห็นพ้องกับหลายๆ สิ่ง หรือไม่เชื่อในหลายๆ อย่างที่ปรากฏอยู่ เขามุ่งมั่นศึกษาทางธรรมจริงจัง ทุ่มเทเต็มที่ด้วยคำถามในใจมากมาย เคยแม้กระทั่งไปศึกษาทางศาสนาคริสต์จนเกือบจะเปลี่ยนศาสนา
“พอ เราไปศึกษาก็พบว่า มันไม่ใช่ เพราะความเป็นขบถในตัวเราคอยตั้งคำถามคัดค้านอยู่ตลอดเวลาว่าไม่ใช่แบบนั้น แบบนี้นะ ผมมีคำถามตลอดว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไรในโลก ผมเชื่อเรื่องศักยภาพภายในที่มันผุดขึ้นมาเอง ทำไมผมวาดรูปได้ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเรียนศิลปะ ใครสอนพระพุทธเจ้า ใครสอนดาวินชี่ ใครสอนไอน์สไตน์ ทำไมเขาเป็นอัจฉริยภาพขึ้นมาได้”

“ผมไปศึกษา ธรรมะ ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ แต่ผมคิดว่าทุกอย่างมีวิถีทางของมัน เหมือนใบไม้ ในป่า ไม่ได้มีแค่ใบเดียว แบบเดียว ยิ่งได้มาอ่านหนังสืออย่างเรื่องสิทธารถะ* ด้วยแล้วยิ่งมีความเข้าใจว่ามันไม่ใช่หนทางเดียว”
“ผม เผชิญความตายมาแล้วครั้งหนึ่งตอนสักมัธยมสอง ตอนนั้นผมไปทอดแหคนเดียวในหนอง ใช้แพที่ทำจากต้นนุ่น ผมพยายามว่ายน้ำจากแพเข้าฝั่งโดยมีแหพันอยู่รอบคอ แล้วผมก็จมลง ครั้งสุดท้ายที่รู้สึกผมยอมแพ้กับความตายไปแล้ว การรอดตายครั้งนั้นทำให้ผมตระหนักว่าการมีชีวิตอยู่นั้นมีค่ามากแค่ไหน ตอนนั้นผมสัญญาว่าจะอยู่เพื่อทำในสิ่งที่โลกพึงปรารถนา ผมตั้งใจจริงๆ ว่าจะอยู่สักเจ็ดสิบจะถึงหรือไม่ถึงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และเริ่มนับถอยหลังแล้วตั้งแต่อายุสามสิบห้าปี ตอนนี้ผมมีเวลาบนโลกนี้อีกยี่สิบเก้าปี ผมจะทำสิ่งที่ผมปรารถนาที่สุดและมีความสำคัญต่อโลก ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่ง จิตวิญญาณเหมือนกัน เช่นเดียวกับสิ่งสูงสุดที่เราอยากพัฒนาคนก็คือเรื่องจิตวิญญาณ แต่โรงเรียนส่วนใหญ่กลับไม่เห็นสิ่งนี้ คนส่วนใหญ่มองแค่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และมองเรื่องไอคิวว่าเป็นเรื่องใหญ่ หารู้ไม่ว่าไอคิวมีผลต่อชีวิตน้อยมาก สิ่งที่มีผลต่อชีวิตคือเรื่องจิตวิญญาณ”

*สิทธารถะ นิยายเชิงปรัชญาของนักเขียนรางวัลโนเบล แฮร์มานน์ เฮสเสะ


ในเรื่องครอบครัว ครูวิเชียรแต่งงานเมื่ออายุ 25 มีลูก 2 คน คนโตเรียนชั้นม. 4 คนเล็กสุดอยู่ชั้นป.5 หลังจากแต่งงานมาได้ 10 ปี
วิเชียร เลือกที่จะออกมาใช้ชีวิตคนเดียวและอธิบายว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาหากเราทำ ความเข้าใจจริง ๆ พ่อแม่กับเรารักกันแค่ไหน แต่สุดท้ายเราก็ต้องต่างคนต่างโต ก็เหมือนกัน เรากับลูก กับภรรยารักกันแค่ไหน ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องมายึดติดครอบครองเพราะมันครอบครองไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีอิสระ มีจิตวิญญาณที่มีอิสระ
“เรา ไม่ใช่คิดแคบ ๆ ว่าทำเพื่อฉัน ของฉัน ซึ่งทำให้จิตใจต่ำลง บางทีเราไม่ต้องอธิบายเป็นคำพูดแต่เราแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม ทำให้เกิดขึ้นจริงๆ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำเพื่อคนอื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเรามีเจตนาในชีวิตอย่างไร”
“ผม พูดกับภรรยาว่า ผมถูกสร้างมาเพื่ออยู่คนเดียว และเพื่อจะทำอะไรบางอย่างที่สูงกว่าจะมาดูแลกันแค่วงแคบๆ นี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมไม่รักเขา ผมดูแลเอาใจใส่เขาเท่าที่ผมทำได้ แต่ขณะเดียวกันควรจะได้รักคนอื่นด้วย ภรรยาผมเข้าใจ แรกๆ ก็ทุกข์บ้างแต่ต่อมาก็เริ่มเข้าใจว่า ทำไมทั้งชีวิต ความคิด เรี่ยวแรงของผมต้องทำเพื่อคนอื่นด้วย ถึงลูกจะไม่ได้อยู่กับผมตลอดเวลา แต่ผมก็ดีใจที่ลูกก็มีความคิดคล้ายผม เพราะเวลาเขาจะเลือกเรียนอะไรหรือเลือกทำอะไรเขาจะก็ทำสิ่งที่ได้ช่วยคนอื่น ด้วย”

ในการทำงานก็เช่นเดียวกัน หากสังเกต จะเห็นคำพูดของครูวิเชียร เขาพูดเสมอว่า เดี๋ยวก็ได้เดี๋ยวก็ทำได้ ไม่เคยบอกว่าไม่ได้หรือ ไม่มีความหวัง
“คำว่า ล้มเหลว คิดก็ไม่ได้ พูดก็ไม่ได้ ลังเลสงสัยไม่ได้เลย ถ้าเราเชื่อมั่นทุกอย่างก็จะเป็นไปได้ คนที่อยู่รอบข้างก็จะเชื่อมั่นกับเราด้วย”
“เช่น เดียวกับกรณีเกี่ยวกับผู้ปกครองคนหนึ่ง ไม่เข้าใจแนวทาง ไม่ค่อยให้ความร่วมมือทั้งที่เราทำกันหลายวิธี แต่เราก็ไม่ถอย และไม่โกรธแต่ยังพยายามสร้างความเข้าใจต่อไป เหมือนสะกดจิตตัวเอง เพราะเมื่อจดจ่อกับสิ่งนั้นจริง ๆ เราก็จะปลดปล่อยพฤติกรรมร่างกายให้เราแสดงแบบนั้นเพื่อสิ่งนั้นโดย อัตโนมัติ”

“ผมอาจจะใช้วิธีไปกระตุกเขาบ้าง กระตุกให้ตื่น แต่ผมจะไม่บอกว่าคุณทำผิดนะคุณต้องโดน หรือห้ามทำแบบนี้ ความจริงเราทำอย่างนั้นไม่ได้เราไม่ใช่พระเจ้าที่จะไปตัดสินใครๆ แต่สิ่งที่ผมทำได้ก็คือ ให้แง่คิดว่าเกิดอะไรขึ้น ให้เขาคิดเองผิดถูกอย่างไร แล้วถ้าผิดต้องแก้ไขอย่างไร พยายามให้เกิดจากการที่เขาเป็นคนเลือกเองทั้งหมด บางทีมันอาจจะไม่เกิดผลทันทีนะ เพราะสิ่งที่เด็กบอกว่าจะแก้ไขอย่างไรอาจไม่ใช่สิ่งที่เราอยากให้เป็น แต่เราต้องเชื่อมั่นว่าวิธีการของเราจะกล่อมเกลาให้เขาเป็นคนดีด้วยตัวเขา เอง ไม่ใช่เพราะใครสักคนมาคอยบอก”

แลกชีวิตของครูนอกกะลา
ครู วิเชียรเล่าถึงชีวิตก่อนบรรจุเข้ารับราชการเป็นครูครั้งแรกในชีวิต “ตอนนั้นผมมีสตางค์แค่ 300 บาท ผมก็เช่ารถสองแถวเอาของที่มีไปโรงเรียนทันทีและวันถัดมาก็เริ่มสอนเลย”
ระหว่าง ที่เริ่มทำหน้าที่ ครูวิเชียรได้เผชิญกับความจริงหลายอย่าง เขาใคร่ครวญมากขึ้นเกี่ยวกับชีวิตจริงของครู ระบบ และนักเรียน เวลานั้นเขาเริ่มคิดอย่างเดียวคือ ต้องอดทนเพื่อเด็กๆ เขาเริ่มบอกตัวเองว่า
“เราจะทำได้มากกว่านี้ถ้าวันหนึ่งเราได้เป็นผู้บริหาร”
ครูวิเชียรตัดสินใจสอบเป็นผู้บริหารเพื่อสิ่งที่เขาตั้งใจไว้ ในที่สุดก็ได้เป็นผู้บริหารหนุ่มที่สุดด้วยอายุเพียง 27 ปี
“พอ เป็นครูใหญ่ผมก็ทำได้มากกว่าจริง ๆ ไปเป็นครูใหญ่อยู่ 3 แห่ง และก้าวหน้าเร็วในระบบราชการ แต่ลึกๆ ก็ยังอยากทำอะไรมากกว่านี้อีก สิ่งที่ผมคิดอยู่ตอนนั้นคือเมื่อผมเกษียณผมคงเป็นแค่คนแก่ธรรมดาคนหนึ่งที่ อยู่กับบ้าน”
นั่นก็คือสาเหตุที่ครูวิเชียร ตัดสินใจทิ้งตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนของรัฐที่กำลังไปได้ดี แล้วมาเริ่มต้นใหม่ทำโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ซึ่งขณะนั้นยังไม่เป็นรูปเป็นร่างอะไร มีเพียงที่ดินว่างเปล่ากับต้นไม้ไม่กี่ต้นให้หลบแดด

ครู วิเชียรเข้าสัมภาษณ์ เป็นคนที่ 3 หลังจากโรงเรียนคัดเลือก เขากลับมาลาออกจากงานเก่าทันที เขายอมรับว่าสิ่งที่เลือกนั้นท้าทายจิตใจตัวเองมาก จากเดิมที่สบายดีอยู่แล้วกลับกระโดดออกมาเริ่มต้นใหม่กับสิ่งที่ยังมิอาจคาด เดาได้ แต่อย่างหนึ่งที่เขามีนั่นก็คือความมั่นใจที่จะแลกชีวิต ทุ่มเทสุดกำลังเพื่อสร้างโรงเรียนตัวอย่างขึ้นมาให้ได้

“ถ้า ผมทำตามวิถีเดิมที่เคยทำอยู่แล้ว มันก็ง่ายเพราะเป็นทักษะที่เชี่ยวชาญมาแล้วตั้งสิบปีใช่ไหม มันง่ายมากในระบบในวิถีแบบนั้น แต่จะไม่มีประโยชน์ ต่อการเอาชีวิตของตัวเองเข้าแลก เพราะฉะนั้นผมต้องทำสิ่งที่มีความหมายมากกว่า”
“ลอง คิดดูว่าถ้าผมไม่ออกจากการเป็นผู้บริหาร เป็นครูใหญ่ป่านนี้อาจจะสบายไปแล้วเพราะผมยังเหลืออายุราชการอีกเกือบสามสิบ ปี เป็นครูเพียงสิบปีก็จะขอปรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการแล้ว ทางยังไปได้อีกไกล แต่ที่ผมกระโดดออกมาเพราะผมรู้ว่า ผมจะเกษียณอย่างไร ผมเห็นสิ่งที่จะเป็นแล้วในอนาคต”

“ทุกข์ มากสามปีแรก ไม่มีใครรู้ว่าเราลำบากแค่ไหน ทำโรงเรียนสักโรงเหนื่อยมาก ต้องใช้แรงกายแรงใจและศักยภาพอย่างมาก บางครั้งเรานั่งร้องไห้กัน สู้ทุกเรื่องทั้งข้างนอกข้างใน จะอยู่จะไป จะถอยไม่ถอย พอผ่านปีที่สี่ก็เริ่มเข้าที่ แต่ก็ถอยไม่ได้เพราะด้วยความมีฉันทะและเราเป็นคนแบบนี้ด้วย อีกอย่างเราก็มีเป้าหมายและบอกตัวเองตลอดว่าเป้าหมายของเราเพื่อใครหลายคน”

ครู วิเชียรยืนยันตลอดมาว่า เขาไม่ได้อยากเข้ามาเสวยสุข เขาเพียงต้องการให้เป้าหมายที่ใฝ่ฝันเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทยได้บรรลุ แล้วเขาก็จะไป...

เป้าหมายของเขาก็คือ ถ้าโรงเรียนหนึ่งพันแห่งเปลี่ยนได้ ก็จะทำให้โรงเรียนในชนบทอีก 3 หมื่นแห่งเปลี่ยนได้ ครูวิเชียรเชื่อว่า รูปแบบการขยายผลเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหากโรงเรียนที่มาดูงานแล้วนำไปพัฒนาต่อจากบริบทของตัวเองก็จะไปได้เร็ว มาก

“ผมมั่นใจอย่างนั้นเลยนะ เพราะเห็นแววตาคนที่มาอบรมด้วยความตั้งใจ ทุกคนมาไกลมาก มาด้วยฉันทะพอมาเห็นแล้วเอากลับไปผสมผสานกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของครูก็ จะทำให้การศึกษาเปลี่ยนได้”

“ที่สำคัญไม่จำ เป็นต้องบอกว่ามาจากผมก็ได้ ผมเพียงจุดประกาย เมื่อมันผสมผสานกับความเข้าใจความรู้เดิมของคุณก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับ ตัวเด็ก ที่สำคัญไม่ใช่แค่เจตนาหรืองบประมาณอย่างเดียว เราควรต้องหาผู้ใหญ่ที่มีอำนาจพอที่จะเปลี่ยนอะไรด้วยและเขาเห็นด้วยกับเรา”
ครู วิเชียรบอกว่า ต่อไปนี้เขาไม่อยากให้เรียกการศึกษาแบบนี้ว่า การศึกษาทางเลือก แต่เป็นอีกอย่างที่ทำให้เรามีความหวัง เป็นความจริง

“ถ้า เป็นทางเลือกก็เหมือนกับเป็นการสมมุติ หรือเมื่อเป็นทางเลือกนั่นก็จะกลายเป็น เลือกก็ได้ ไม่เลือกก็ได้ ใช่ไม่ใช่ก็ไม่รู้ เราอาจจะต้องเรียกเสียใหม่ว่า การศึกษาทางหลัก”


เขาเชื่อว่า ทุกวันนี้คนในโลกทุกข์มาก ไม่ใช่เพราะโลกไม่มีทรัพยากร โลกมีทรัพยากรให้เพียงพอ แต่เรื่องจิตวิญญาณและจิตใจมีน้อย
“อัน นี้เรื่องจริง อีกยี่สิบปีข้างหน้าเราจะเจอเหตุการณ์ที่รุนแรงมาก แต่สำหรับเด็กที่เติบโตมากับการศึกษาแบบนี้เขาจะรู้จักความพอดี พอใจกับความเป็นไปของชีวิตและจะอยู่อย่างมีความสุข” นั่นคือสิ่งที่ครูวิเชียรคาดหวัง

แน่นอนว่า ระบบการศึกษาแม้จะเป็นเอกชนก็ยังต้องเกี่ยวข้องกับรัฐ หรือแม้แต่โครงสร้างทางการเมืองต่างๆ อะไรที่ทำให้ครูวิเชียรเห็นต่างออกไป และไม่ปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นมาบั่นทอนการพัฒนาการศึกษาเพื่อเด็กๆ ของเขา

“ถ้า มองในส่วนของกระทรวงศึกษา หรือนักการเมือง เขาทำได้ก็คือ นโยบาย แต่ก็ต้องมีคนชงใช่ไหมครับ ทีนี้คนชงเหล่านั้นถ้าชงด้วยจรรยาบรรณ ชงด้วยสติปัญญาก็จะเป็นอีกแบบหนึ่งแต่
ถ้าชง เพื่อความอยู่รอดของตัวเองก็อีกแบบหนึ่ง แล้วยิ่งรัฐมนตรีเองก็ไม่ได้มีความรู้พื้นฐานเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง ผิวเผินมากแต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำหรับผม
“ผม ชอบหนังเรื่อง แพ็ทช์ อดัมส์* ที่อาเธอร์ เมดิสัน นักคณิตศาสตร์จิตป่วยต้องเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล เขาจะชอบชูสี่นิ้วแล้วถามว่าเท่าไหร่ คนที่เห็นก็จะตอบว่าสี่นิ้ว แกก็จะด่าคนนั้นว่า โง่บัดซบที่สุด คิดได้แค่นี้หรือ ต่อมา แพ็ทช์ อดัมส์ เข้ามาในโรงพยาบาลนี้ก็ถูกถามเหมือนกัน แต่สุดท้ายอาเธอร์ เมดิสันก็เฉลยให้เขาฟังว่า ให้มองที่ตาผม อย่างมองที่นิ้วผม แล้วให้ตอบว่า เห็นกี่นิ้ว”


“นั่นก็คือ ถ้าเรามองปัญหา เราจะเห็นแต่ปัญหา จะไม่เห็นทางออก ผมถึงบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา สำหรับผมอะไรก็ตามไม่ใช่ปัญหา เพราะผมไม่ได้มองที่ปัญหา ผมมองเป้าหมายและสิ่งที่ทำ ในที่สุดสิ่งใหม่ๆ มันจะเกิดขึ้นเอง และการเมืองไม่ใช่สิ่งจีรังยั่งยืนแต่แนวคิดของเรา การกระทำของเรามันจะยังอยู่ต่อไป คนรุ่นต่อๆไปก็ยังได้เรียนรู้ ”

*Patch Adams , 1999 ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของนายแพทย์แพตช์ ฮันเตอร์ อดัมส์ จากคนไข้ที่มีปัญหาทางจิตจนเกือบจะฆ่าตัวตาย แต่เมื่อเขาเข้าไปในโรงบาลบ้า เขากลับรู้ว่าตนเองยังมีประโยชน์และช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ เขาจึงเบนเข็มชีวิตตนเองมาเป็นหมอ

พลังแห่งวรรณกรรมและการเข้าถึงชีวิต
ครู วิเชียรเป็นที่รู้จักในอีกบทบาทหนึ่งคือ นักเขียน เคยเขียนเรื่องสั้นลงพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ มีผลงานทั้งนิยายและวรรณกรรมเยาวชนหลายเล่ม แต่เขาบอกว่า เขาเป็นคนรักการอ่าน หนังสือหลายเล่มที่เขาเลือกอ่านก็ได้ส่งผ่านพลังบางอย่างมาสู่การกระทำของ เขา


“ผมเพิ่งอ่าน เจ. กฤษณมูรติ* ก่อนจะมาเริ่มทำโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้ไม่นาน”


มี วรรณกรรมหลายต่อหลายเล่มที่มีอิทธิพลต่อครูวิเชียร ไม่ว่างานของ ยะซุนาริ คาวาบาตะ* นักเขียนชาวญี่ปุ่นที่คนไทยรู้จักดี หรืองานวรรณกรรมคลาสิคของรัสเซียของ ลีโอ ตอลสตอย*

“ผม อ่านบาปของนักบุญและเรื่องอื่นๆ ทุกเล่มกระทบมาก อีกเล่นหนึ่งก็คือ เพื่อนยากของ จอห์น สไตล์แบค อันนี้ลึกซึ้ง เข้าถึงสัญชาติญาณ อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์จริงๆ ถ้าผมเป็นอย่างตัวละครในเรื่องก็คงทำเช่นเดียวกัน เวลาเราอ่านเราจะรู้สึกดำดิ่งไปกับมัน ดำดิ่งสู่ข้างในเรา ทำให้เราใคร่ครวญและเกิดปิ๊งเข้าใจอะไรสักอย่างขึ้นมา”


*เจ.กฤษณมูรติ นักปราชญ์ชาวอินเดีย มีผลงานที่โดดเด่นเกี่ยวกับชีวิต การศึกษามากมาย ที่คนไทยรู้จักดีคือหนังสือชื่อ แด่หนุ่มสาว

* ยาสุนาริ คาวาบาตะ เป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม มีผลงานที่เป็นที่รู้จัก เช่น ยูคิกูนิ (Yukiguni: เมืองหิมะ), เซ็มบะสุรุ (Senbazuru: กระเรียนพันตัว)

* ลีโอ ตอลสตอย นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซีย ผลงานส่วนใหญ่ของเขาสะท้อนให้เห็นในเรื่องการแสวงหาความจริงสูงสุดในการดำรง ชีวิตของมนุษย์

ครู วิเชียรเล่าว่าเขาไม่ใช่คนชอบอ่านมาก่อน ตอนเรียนปีสุดท้ายเขายังเที่ยวเละเทะอยู่เลย แต่เมื่อไปเป็นครูครั้งแรก ปรากฏว่า ที่โรงเรียนนั้นเงียบมาก เมื่ออยู่คนเดียวก็เริ่มหยิบหนังสือมาอ่าน และหนังสือชุดแรกที่เขาอ่านคือ ต่วยตูน หลังจากนั้นเขาก็เริ่มอ่านนิตยสารWriter
“ไม่ ใช่ว่าชอบแต่นิตยสารเล่มนั้น แต่มันจุดประกายให้ผมเพราะในนั้นมีวิจารณ์หนังสือ มีเรื่องราว และหนังสือแนะนำดีๆให้อ่าน ผมเลยซื้อทุกเล่ม และเริ่มอ่านวรรณกรรมต่างประเทศทางฝั่งยุโรป และอเมริกา”

“ขณะ ที่อ่านเราจะเห็นและเริ่มใคร่ครวญสิ่งที่ผ่านมาเริ่มรู้อะไรผิด อะไรควรไม่ควร ขณะเดียวกันเริ่มมองเห็นอะไรบางอย่าง แต่เราบอกใครไม่ได้ เพราะถ้าบอกก็จะเหมือนไปสั่งสอนมันทื่อไป มันไม่เข้าลึก เพราะฉะนั้นจะสื่อออกมา ก็ต้องสื่อในเชิงวรรณกรรม เอาความหมายซ่อนอยู่ใต้บรรทัดไม่ใช่ตรงข้อความ ต้องมีอะไรซ่อนอยู่ในบรรทัด เรามีความสุขที่จะสื่อสารอย่างนั้นด้วย จนสุดท้ายกลายเป็นเป้าหมายใหญ่ที่สุดที่ผมต้องการจะทำต่อไป”


จาก ความเชื่อมั่นและประสบการณ์ที่เขาได้รับผ่านงานวรรณกรรมต่างๆ ทำให้ครูวิเชียรใฝ่ฝันว่า งานเขียนจะเป็นงานสำคัญชิ้นสุดท้ายที่เขาอยากทำมากที่สุดในชีวิต

“ผม เคยบอกคนหลายคนว่าตั้งใจจะทำงานเขียนแบบเต็มเวลา ผมมีความเชื่อมั่นว่าจะทำได้ วรรณกรรมทำให้ผมเปลี่ยนและเปลี่ยนในแบบที่เราไม่ต่อต้าน ถ้าเป็นคำสอน หรือพระมาสอน แบบนี้มันตรงเกินไปแล้วมันเกิดแรงต้าน ไม่อยากเปลี่ยน เกิดอาการปฏิเสธ แต่ถ้าผ่านวรรณกรรมมันละเมียดละไม อารมณ์วรรณกรรมค่อยๆ ดำเนินไป ในที่สุดก็เปลี่ยน นี่คือเป้าหมายสุดท้ายในชีวิต คือภูเขาลูกใหญ่ในชีวิตที่อยากจะปีน”

ครูวิเชียรบอกว่า ภาพสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น เขาจะเร่ร่อนและเขียนหนังสือ และสิ่งที่เขียนจะต้องมีผลต่อจิตวิญญาณของมนุษย์

“พูด ได้ว่าแม่แบบของผม คือ ลีโอ ตอลสตอย ที่สร้างประสบการณ์เหล่านี้ให้ผม คือถ้า ตอลสตอยตายในแบบอื่นก็อาจจะไม่มีค่า ต้องตายแบบที่เขาตายจึงจะมีค่าต่อมนุษย์ และทำให้มนุษย์อีกเป็นล้าน ๆ คนมีจิตวิญญาณที่สูงขึ้น”

....................

ถามว่า อะไรคือความสุขในชีวิตของ ครูวิเชียร ครูนอกกะลา ที่พาโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาก้าวสู่ความสำเร็จอย่างทุกวันนี้

ครูนอกกะลาคนนี้ยืนยันเพียงว่า “ความธรรมดา ขอให้ธรรมดา”
*ดังเพลงที่แต่งเอง  "คนธรรมดา"

“ความ รู้สึกธรรมดาจะเป็นความสุขในชีวิตผม ผมอยากจะใช้ชีวิตแบบไม่มีกฎเกณฑ์อะไร บางคนอาจจะบอกว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ดีแต่ถ้าผมอยากทำผมก็ทำ แต่รู้ตัวดีว่าข้างในรู้สึกอะไร พยายามให้มีสติอยู่กับตัวเองเพื่อให้รู้ว่าเป็นอะไรหรือกำลังทำอะไรอยู่ไม่ ได้ต้องกะเกณฑ์ตายตัวว่าอันนี้ดีอันนั้นไม่ดี ดีหรือไม่ดีผมเชื่อว่ามีองค์ประกอบจากเจตนาด้วย อย่างคนสองคนทำสิ่งเดียวก็อาจจะด้วยเจตนาที่ต่างกัน และเจตนาก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่แต่ละคนสั่งสมมาต่างกันด้วยนะ”

เรื่อง หนึ่งที่เขามักจะบอกผู้เข้าอบรมที่โรงเรียนเขาเสมอๆ ว่า เป้าหมายจริง ๆ ขององค์กรหรือบุคคลมีอยู่สองสิ่งเท่านั้นคือ เป้าหมายดีงาม กับเป้าหมายชั่วร้าย เช่น โรงเรียนเราเป้าหมายสูงสุดคือพยายามให้การศึกษาที่ดีที่สุด พยายามหล่อหลอมเด็กให้ดีที่สุด พยายามใช้ทรัพยากรภายในประเทศให้เป็นประโยชน์ต่อเด็กให้มากที่สุด เป้าหมายชั่วร้ายคือเราต้องหาสตางค์ เราต้องอยู่ให้ได้


“ใน ที่นี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่คุณสั่งสมมา ในตัวคุณมีเป้าหมายตัวไหนมากกว่ากัน ถ้าฉันอยากมีบ้านสองหลัง อยากอยู่อย่างสุขสบาย ในขณะเดียวกันฉันก็ทำประโยชน์ให้แก่องค์กรอยู่เช่นกัน ก็เหมือนกับผมถามว่าในตัวคนคนหนึ่งเป้าหมายอันไหนมันจะใหญ่กว่ากัน แล้วเราติดกับตรงไหนมากกว่า เพราะฉะนั้นแม้สิ่งที่ทำจะเหมือนกันแต่เจตนาก็ต่างกันแล้ว” ครูวิเชียรสรุป

แล้วสำหรับเขาอะไรที่ไม่ทำให้เป้าหมายชั่วร้ายเติบโต ในวันที่มีอำนาจ หรือโอกาสจะแสวงหาความสุข หรือประโยชน์ส่วนตัวได้มากมาย

วิเชียรตอบสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “ผมก็วาง”


“ถ้า พูดถึงเฉพาะตัวผมเอง ผมไม่อยากได้อะไรเลย นอกจากเวลาที่จะไปเขียนหนังสือ การเสวยสุข หรืออำนาจไม่ใช่เป้าหมายของผม เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ของผมเลย และมีคนสามารถเข้ามาแทนผมได้”


“ต้องย้อนมาตอนที่ผมพูดถึงว่า ผมเห็นความตายตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ผมรู้ตัวเองว่าจะต้องตายแล้ว ผมนับถอยหลังวันตายแล้ว”

“ส่วน การมีอำนาจทรัพย์สินเงินทอง ที่จริงทำอย่างนั้นก็เป็นการทำให้ตัวเองรู้สึกดีนะ เพราะถ้าทำให้ตัวเองรู้สึกดีเราก็จะอยู่อย่างมีความสุขได้ แต่บังเอิญว่าสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกดีนั้นเป็นการทำเพื่อสิ่งอื่นซึ่งก็ยัง เป็นเป้าหมายที่ดีอยู่ แต่บางคนเป้าหมายที่ทำให้ตัวเองรู้สึกดีอาจจะเป็นการที่ต้องมีสมบัติร่ำรวย นั่นก็โอเคสำหรับเขา เพราะเขายังไม่เห็นผ้าผืนใหญ่ที่คลุมเราอยู่เหมือนที่ผมเห็นนั่นก็คือ ความตาย ทำให้เขาไม่หยุดจากตรงนั้น แต่มันบอกชัดๆ ไม่ได้ ที่จริงไม่มีอะไรมากหรอก คำตอบคือ มันก็ดำเนินไปของมันอย่างนั้นเอง” ครูนอกกะลาสรุป
..................................



เขียนโดย ธนิษฐา แดนศิลป์


จากหนังสือ “คน(ไม่)ธรรมดา”

9 ความคิดเห็น:

  1. ขอให้ครูใหญ่ของเด็ก ๆ จงสรรสร้างสิ่งที่ดีงามแก่มวลมนุษยชาติต่อไป ความตั้งใจดีของท่านทุกคนรับรู้ได้ สัมผัสได้จากใจอันแน่วแน่และปรารถนาดีอันอรงกล้าที่ท่านมี และส่งออกไปยังทุกคน เราเชื่อว่าคุณความดีที่ท่านปรารถนาดีต่อโลดต่อทุกสรรพสิ่งไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอก ความดีไม่มีวันตาย ขแบให้กำลังใจครูใหญ่สู่ต่อไป และขออวยพรให้ครูให่มีสุขภาพที่แข็งแรง มีความสุขกับงานและกับครอบครัว ขอพระคุ้มครอง...สาวกที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงโลก

    ตอบลบ
  2. ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของ "ครูนอกกะลา"

    ตอบลบ
  3. เช่นกันค่ะ ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่ง....ของวันนี้ค่ะ

    ตอบลบ
  4. ผมทึ่งในความคิดอันยิ่งใหญ่ของท่านมันมาจากจิตวิญญาณที่เสียสละคิดแต่จะทำเพื่อผู้อื่น มิได้คิดจะทำเพื่อตัวเอง มันเป็นวิธีคิดแนวทางเดียวกับมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ขอน้อมคารวะด้วยหัวใจครับ

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ2 มกราคม 2554 เวลา 14:20

    อ่านแล้วเกิดแรงบันดาลใจ อายุ40 ปีแล้วกำลังเริ่มคิดถึงการกลับสู่บ้านเกิดการกลับไปพัฒนาท้องถิ่นที่กำลังเสื่อมโทรม เมื่อวันก่อนคุยกับน้องชายถ้าฉันกลับมาบ้านฉันจะสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน จะทำให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ น้องหัวเราะแล้วพูดว่า มึงต้องไปด่าคนอื่นอีกแน่นอน เห็นการไม่เอาใจใส่ การไม่เดือดเนื้อร้อนใจในการถอยหลังของผู้คนในชุมชน หดหู่ อ่านบทความของครูใหญ่ ทำให้รู้สึกบางอย่างความคิดเห็นที่แตกต่างกับคนอื่นในสังคม มันคือขบถหรือไม่ แล้วจะสามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ3 เมษายน 2554 เวลา 23:19

    อาจจะมาช้าสักนิด แต่ก็รู้สึกดีถึงดีมากๆที่ได้รับรู้ว่ายังมีคนคิดแบบนี้อยู่ คือคิดแต่จะทำเพื่อคนอื่น สักวันจะไปเยี่ยมครูใหญ่ใจดีคนนี้นะคะ แรงบันดาลเกิดขึ้นมากมาย ขอบคุณค่ะที่ช่วยเปิดประตูสู่ความดีงาม..

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ29 เมษายน 2554 เวลา 20:56

    ธรรมดาที่ไม่ธรรมดาจริงๆๆๆเลยค่ะครูใหญ่ รู้สึกทึ่ง

    ตอบลบ
  8. ไม่ระบุชื่อ27 ตุลาคม 2554 เวลา 16:25

    ...กระผมขอนับถือในแนวคิด หลักปฏิบัติ แรงผลักดัน จิตวิญญาณ ของครูใหญ่ที่มาจากพื้นฐาน เนื้อในแก่นแท้กลิ่นไอของชนบทจริงๆ...สมกับคำที่ว่า ''คนไม่ธรรมดา'' จริงๆครับ

    ''คนถูกสัมภาษณ์''

    ตอบลบ
  9. ไม่ระบุชื่อ27 กรกฎาคม 2561 เวลา 12:17

    ชื่นชมในแนวคิด ขอให้สำเร็จ ตามที่ตั้งใจ เพื่อการศึกษาไทย

    ตอบลบ