ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การบ้าน

ผู้ปกครองบางคนกลุ้มใจที่ลูกไม่อยากทำการบ้าน


ครูหลายคนหนักใจที่นักเรียนไม่ทำการบ้านมาส่ง

ให้การบ้านเพื่ออะไร?

ด้วยครูหวังว่าการบ้านจะช่วยเพิ่มพูนทักษะหรือให้ผู้เรียนความเข้าใจเนื้อหานั้นมากยิ่งขึ้น แต่ความจริงเราหวังอะไรไม่ได้มากหรอกจากจุดประสงค์ข้อนี้ ส่วนหนึ่งเด็กทำส่งเพราะไม่อยากเผชิญความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นระหว่างเขากับครู (ทั้งภาพพจน์ คะแนน การลงโทษ หรือ อื่นๆ) บางคนทำการบ้านส่งเพราะสายตาของพ่อแม่ที่เฝ้ามองเขาด้วยความคาดหวังที่สูงริบริ่ว แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดเด็กๆ ล้วนแต่ไม่ชอบการบ้าน

โรงเรียนนอกกะลา เราให้การบ้านเด็กๆ เพราะอยากปลูกฝักความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในฐานะที่เป็นนักเรียนเป็นเป้าหมายหลัก ส่วนการเพิ่มพูนทักษะหรือความเข้าใจต่อเนื้อหาเป็นเป้าหมายรองลงไป

การให้การ การบ้านทุกวิชาร่วมกันเด็กควรใช้เวลาทำประมาณ 30 นาที ควรให้อย่างสม่ำเสมอทุกวัน และครูจะต้องตรวจการบ้านของทุกคนและทุกครั้งที่เด็กทำ

นอกจากความรับผิดชอบแล้ว การบ้านยังให้คุณค่าในเรื่องการไตร่ตรอง หรือใคร่ครวญด้านใน ให้เด็กได้มีเวลาอยู่กับตัวเองขณะที่ทำการบ้าน

**โรงเรียนเราเคยเจอบางเหตุการณ์ คือ มีเด็กคนหนึ่งที่ไม่ยอมส่งการบ้านอยู่เป็นสัปดาห์ ตอนแรกเรารู้สึกกังวล แต่เมื่อถามผู้ปกครองก็ได้คำตอบว่า เห็นหลานของตนเองทำการบ้านทุกวันและแต่ละวันนั่งอยู่ที่นั่นเป็นชั่วโมง เมื่อรู้อย่างนั้นบวกกับที่รู้จักประวัติเขาที่ประสบปัญหาทางครอบครัว เราก็รู้สึกสบายใจขึ้น แม้เขาไม่ได้มีการบ้านมาส่งในช่วหนึ่งสัปดาห์ แต่เด็กคนนี้ กลับได้ผ่านประสบการณ์ด้านในมากกว่าคนอื่นๆ จนขจัดความคับข้องนั้นออกไปได้ด้วยตัวเอง และยังเพิ่งความแข็งแกร่งด้านในยิ่งขึ้น

เมื่อจิตใจเขาเข้าที่ ครูที่เป็นกัลญาณมิตรก็ปลอบประโลมเขาโดยให้ทำการบ้านที่ค้างทั้งหมดส่ง เพื่อให้เขารู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ที่ได้รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด

6 ความคิดเห็น:

  1. หากครูทุกคนสามารถมองผ่านหน้ากระดาษที่วางเปล่าที่เด็กชายคนหนึ่งนำมาส่ง จะทำให้ครูเห็นบางอย่างที่มีคุณค่ามากกว่าการบ้านเพียงไม่กี่ข้อที่ให้เขาทำส่ง มนุษย์จะได้รับการพัฒนาเยี่ยงมนุษย์ถ้าคนที่พัฒนาคิดว่าเขาคือมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน ขอฝากครูผู้กำอนาตนและเป็นกำลังใจ

    ตอบลบ
  2. เรามักมองในสิ่งที่เห็นและตัดสินทันที บางครั้งก็ลืมใช้ใจมอง เปิดใจให้กว้างขึ้นแล้วอาจเห็นอะไรบางอย่าง ที่มีคุณค่ามากกว่า ไม่ลืมที่จะไว้ใจ..

    ตอบลบ
  3. ... จากการใคร่ครวญบทความข้างบน ผมว่าผมเลิกสอนคณิตศาสตร์แล้วแหละครับ...แต่ผมจะหันมาสอนเด็กแทน.

    ตอบลบ
  4. การให้การบ้านเป็นสิ่งที่ดี แต่โจทย์ที่ยากกว่าสำหรับครูคือ จะให้การบ้านแบบไหนที่คำตอบที่เด็กได้ไม่ใช้มีแค่สองอย่าง คือถูกและผิด

    ตอบลบ
  5. การบ้าน หอมหวนกลิ่นไอในวัยเรียน..เมื่อยามจากลา
    เป็นดั่งยาขม..เม็ดใหญ่กินยาก เมื่อยามเจ้าเฝ้าเล่าเรียน
    เป็นดั่งน้ำทิพย์หยดน้อยค่อยหล่อหลอมเจ้ายามเติบใหญ่
    เป็นประสบการณ์ทรงคุณค่ากว่าสัตว์ใดในโลกา
    แลต้องแลกด้วยใจจึงได้มา..ซึ่งความเป็นคน

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ20 มกราคม 2553 เวลา 23:45

    คิดว่าการทำการบ้านพอสมควรโดยแต่ละวิชาครูควรจะประสานงานกันว่าควรให้เท่าไร เด็ก ๆ จะได้เป็นการทบทวนหรือฝึกหัดสิ่งที่เรียนมา ส่วนใหญ่การบ้านมักมากเกินไป ทำให้เด็กมีความรุ้สึกว่าถูกบังคับมากเกินไป การเรียนที่ก่อให้เกิดผลนั่นคือเรียนสิ่งที่เรียกว่า "ความรุ้" ด้วยความสนุกและเพลิดเพลิน เคยเห็นหลานชั้น ม.3 ทำการบ้านตั้งแต่กลับมาจากโรงเรียนจนถึงเกือบเที่ยงคืนแทบทุกวัน เลยถามเขาว่าขนาดเขาทำการบ้านหามรุ่งหามค่ำแบบนี้แล้วยังทำการบ้านแทบไม่ทัน แล้วเพื่อนคนอื่น ๆ เขาทำทันกันหรือ หลานบอกว่าไม่ทันเหมือนกัน เลยถามค่อไปว่าไม่ทันแล้วเขาทำอย่างไร เขาก็มาลอกผมกันส่วนใหญ่ มีครั้งหนึ่งต้องไปเป็นผู้ปกครองหลานชั่วคราว เลยถามคุณครูว่า "ทำไมโรงเรียนมีการบ้านเยอะจังเลยคะ" คุณครูกลับมาถามว่า "นักเรียนชื่ออะไรคะ?" พอคุณครูได้ทราบชื่อก็เปิดสมุดรายชื่อดูและตอบว่า "เด็กไม่มีปัญหาอะไรนี่คะ" เพราะหลานสอบได้ระดับต้น ๆ ของโรงเรียนมีชื่อในจังหวัดใหญ่แห่งหนึ่งในภาพเหนือ ก็เลยตอบคุณครูไปว่า "นักเรียนไม่มีปัญหาค่ะ ปัญหาคือทำไมการบ้านเยอะขนาดนั้นคะ....." เคยบอกหลานว่าให้ไปทำอย่างอื่นบ้าง เรียนในห้องเรียนอย่างเดียวนั้นจะทำให้ฉลาดเฉพาะในชั้นเรียน แต่ออกนอกห้องเรียนแล้วจะกลายเป็นคนไม่ฉลาดแทน

    ตอบลบ