ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โรงเรียนฤาษี


        กรอบคิดอุตสาหกรรม เมื่อพนักงานเข้าสู่โรงงาน จะถูกแยกส่วน แยกงานให้ทำอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างเดียวซ้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดทักษะในการทำสิ่งนั้นๆ อย่างรวดเร็ว นั่นคือโรงงานจะให้ได้ชิ้นงานออกมาอย่างรวดเร็วในปริมาณมากๆ เช่น ในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า จะแบ่งกลุ่มคนทำหน้าที่ต่างๆ ได้แก่ เจาะรังดุม ทำปกคอ ตัดแขนเสื้อ ตัดแผ่นหลัง ตัดแผ่นหน้า เย็บแขนเสื้อ ประกอบเป็นตัว เป็นต้น วิธีการเหล่านี้จะทำให้โรงงานจะสามารถจ่ายค่าแรงได้ถูก ไม่ต้องง้อคนงานเพราะสามารถหาแรงงานทดแทนได้ง่าย ฝึกคนงานใหม่ทดแทนได้เร็วเพราะฝึกเพียงทักษะเดียว แต่พนังงานทั้งหมดจะอ่อนแอไม่สามารถตัดเย็บเสื้อทั้งตัวเป็น ไม่มีโอกาสได้ฝึกทักษะใหม่เพราะถูกกำหนดระยะเวลาทำงานต่อวันที่ยาวนานและปริมาณเป้าหมาย สุดท้ายการดำเนินชีวิตจะถูกกำหนดด้วยวิถีของโรงงาน
        การศึกษามีส่วนที่คล้ายกับวิถีของโรงงาน หลักสูตรแกนกลางถูกกำหนดค่อนข้างแข็งรูปและคงอยู่ยาวนาน อาจใช้เวลากว่าสิบปีจึงมีการเปลี่ยนแปลงสักทีนั่นย่อมไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งสภาพแวดล้อม การเมือง เศรษฐกิจ และ สังคม หลักสูตรยังถูกแยกเป็นช่วงชั้น เป็นวิชา ฝึกทักษะเป็นอย่างๆ และใช้เวลายาวนาน กว่าคนๆ หนึ่งจะเรียนได้ครบถ้วนและสามารถประติดประต่อมวลความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมาจนสามารถดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาตัวเองได้ต้องมีอายุเลยยี่สิบปี
        สอนกันแบบฤาษี เป็นการเรียนรู้ผ่านการถ่ายทอดมวลความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จริงจากครูที่เป็นฤาษี ซึ่งไม่มีหลักสูตรตายตัว ไม่ครอบงำด้วยเงื่อนไขแบบอุตสาหกรรม เช่น เวลา การวัดความสำเร็จออกมาเป็นตัวเลข การตีค่า การประเมินความคุ้มค่า เป็นต้น ซึ่งหมายถึงผู้เรียนจะได้เรียนทุกมวลของความเป็นมนุษย์จริงๆ 1 ชุด และ เมื่อได้เรียนรู้หลายๆ ชุดจากครูฤาษีหลายๆ คน ผู้เรียนจะเกิดการประมวลผลด้านใน จนก่อรูปเป็นตัวตนของมนุษย์อีกคนหนึ่งซึ่งไม่เหมือนใครเป็นลักษณะเพราะที่ประมวลเอาจุดแข็งที่ได้เรียนรู้มาเข้าเป็นก้อนใหม่ ที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมใหม่ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง และทางสังคม
        ประเด็นที่อาจจัดให้เกิดการเรียนรู้จากฤาษี ได้แก่ เรียนรู้รูปแบบการดำเนินชีวิต การสร้างปัจจัยที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิต การปรับสมดุลระหว่างกายกับจิต ทำความเข้าใจค่านิยม ความคิด ความเชื่อที่ใช้ในการดำเนินชีวิต ฝึกฝนทักษะที่ใช้ดำเนินชีวิตทั้งหมด ซึมซับความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า เป็นต้น และ เราไม่จำเป็นต้องกังวลกับคุณสมบัติของครูที่จะเป็นฤาษีเพราะทุกชีวิตมีคุณค่าที่ควรค่าแก่การเรียนรู้อยู่แล้ว
        โรงเรียนฤาษี จึงมีหวัง

4 ความคิดเห็น:

  1. ผู้แวะผ่านมาและได้ครุ่นคิด14 กรกฎาคม 2553 เวลา 14:41

    การเขียนเปรียบเทียบระหว่างการศึกษาแบบโรงงานและแบบฤาษีนั้นน่าสนใจมากครับ ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ติดอยู่ในการศึกษาแบบโรงงานมาตลอด แต่ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้มีอะไรหลายอย่างที่ทำให้ผมหยุดคิดถึงความเป็นไปได้ของการศึกษาแบบบูรณาการ(ทั้งทางโลกและทางธรรม) หรือแบบฤาษีตามที่คุณคนเขียนเรียกนั่นแหละครัีบ แม้แต่การศึกษาธรรมะเดี๋ยวนี้ก็ได้แปรรูปไปเป็นแบบ"โรงงาน"กับเค้าบ้างเหมือนกัน แทนที่จะเป็นการเรียนธรรมะเพื่อรู้ซึ้งในหลักธรรม เชื่อมโยงสัจธรรมกับเรื่องโลกเข้าด้วยกัน กลับมีการแบ่งธรรมะชั้นตรี-โท-เอก แต่ละชั้นถ้าสามารถจำหัวข้อธรรมได้ สามารถจำพุทธประวัติได้ หรือเขียนตอบโต้ธรรมะแบบที่ไม่ต้องลึกซึ้งถึงแก่นได้ ก็สามารถได้ธรรมะถึงชั้นเอกเลยทีเดียว

    สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจการสอนแบบฤาษีก็คือว่า การเรียนการสอนเช่นนี้หรือเปล่าที่เป็นการเรียนอย่างมีคุณค่าอย่างแท้จริง ที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์อย่างแท้จริง หรือทำให้ชีวิตมีความหมายแท้จริง ผมเชื่อว่าการสอนในลักษณะที่ทำให้เราเห็นการเชื่อมโยงของทุกสรรพสิ่งนั้นจะนำไปสู่การใช้สติปัญญาของมนุษย์ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไม่มีขอบเขต คนเราปัจจุบันกำลังยึดติดกับเวลา(ที่พวกเขาคิดว่ามีจำกัด) ยึดติดกับความสุขภายนอก(ที่พวกเขาเชื่อว่าเมื่อได้มาแล้วจะช่วยให้มีความสุขภายใน) ยึดติดกับความโลภ(ที่พวกเขาเชื่อว่าความโลภนำมาซึ่งความสุขแท้จริงมากกว่าการแบ่งปัน) การที่ผมได้เห็นความคิดของคุณวิเชียรจึงเป็นความคิดที่น่าสนใจ เพราะการสอนเช่นนี้อาจจะนำมาซึ่งคุณค่าของการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ15 กรกฎาคม 2553 เวลา 10:01

    พอได้อ่านบทความที่อยู่ด้านบนแล้ว รู้สึกชอบประโยคสุดท้ายมาก
    "เราไม่จำเป็นต้องกังวลกับคุณสมบัติของครูที่จะเป็นฤาษีเพราะทุุกชีวิตมีคุณ ค่าที่ควรค่าแก่การเรียนรู้อยู่แล้ว "

    เห็นด้วยกับประโยคดังกล่าว หากก็มีคำถามกับตัวเองว่า แล้วลูกศิษย์ในวัยไหนจึงจะสามารถมีวิจารณญาณพอที่จะเลือกหรือแยกได้ว่าควรที่จะเรียนรู้หรือแยกแยะสิ่งที่ดีงามหรือไม่ดีงามจากตัวฤาษีแต่ละตนได้ หรือต้องมีการเตรียมศิษย์ก่อนไหม ก่อนที่จะส่งไปเรียนกับฤาษี เนื่องจากฤาษีเพียงตนเดียวค่อนข้างที่จะมีพลังในการดึงดูดลูกศิษย์ ถ้าลูกศิษย์ยังไม่พร้อมในเรื่องวัยวุฒิอาจจะทำให้หลงทางได้ หรือจะเป็นไปได้ไหม สมัยก่อนไม่มีโรงเรียนหรือดูจากละครจักรๆ วงศ์ๆ ผู้ที่จะไปร่ำเรียนกับพระฤาษีได้จะต้องมีวัยที่เหมาะสม ก็เลยจินตนาการถึงโรงเรียนฤาษีว่า ถ้าได้ลูกศิษย์ที่อยู่ในวัยที่เหมาะสม เช่น มัธยมต้น น่าจะเหมาะและเรียนรู้ได้ดีกับวิธีการของโรงเรียนฤาษี ซึ่งในช่วงเวลาก่อนที่เขาจะได้เข้าโรงเรียนฤาษี อาจจะมีการบ่มเพาะ หรือวางรากฐาน เตรียมกาย ใจ ให้แข็งแกร่งก่อน อาจจะเป็นสิ่งดีที่จะทำให้ โรงเรียนฤาษีมีความหวังได้

    ขอเป็นกำลังใจให้กับฤาษีทุกตน และจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนฤาษี

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ16 กรกฎาคม 2553 เวลา 09:34

    ร่วมแลกเปลี่ยนครับ มนุษย์หรือสัตว์ เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิดหรือก่อนที่ยังอยู่ในครรภ์ทุกสิ่งอย่างรอบตัวดูเหมือนจะเป็นครูได้หมด การได้อยู่ร่วมอย่างหลากหลายวัย หลายปัจจัยแวดล้อม การได้ลองผิดลองถูก การได้ลงมือทำ การเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ การคิดใคร่ครวญ ตัดสินใจ เกิดขึ้นอย่างไม่อาจคาดเดา หลายอย่าถูกสร้างเป็นแบบแผนเพื่อให้ง่ายขึ้น ผ่านประสบการณ์ขัดเกลา ในอดีตการไม่มีแบบแผนที่ตายตัว จึงทำให้ได้ผลลัพธ์ที่หลากหลายการนำไปใช้ได้จริงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักถึงอย่างมาก แน่นอนว่าตอนนั้นตำราแบบแผนเป็นเรื่องไกลตัว วิธีการสอนถูกผนวกกับหลายๆ ศาสตร์ อุดมคติ ทัศนคติ แนวคิด ความเชื่อ ความรู้ถูกจัดเป็นเรื่องรอง สิ่งที่ยากกว่าในการสอน คือ นัยแฝงที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนซึ่งทำให้การเรียนแบบฤๅษีแตกต่างจากทั่วไป เครื่องมือการคิดถูกนำมาใช้ มุ่งให้เกิดทักษะแสวงหากับผู้เรียน ไม่ใช่ยัดเยียด ไม่ถูกแบ่งออกเป็นหลายๆ วิชา เอื้อให้เหมาะกับการเรียนรู้ของแต่ละคน ให้ผู้เรียนได้เป็นผู้เลือก ผู้สอนไม่ชี้ให้เห็นคำตอบ ผู้เรียนต้องค้นพบคำตอบด้วยตัวเอง เกิดเป็นความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเชื่อมโยงสามารถบูรณาการได้ด้วยตนเอง การเรียนแบบนี้จะทำให้เกิดสิ่งใหม่เสมอ ทั้งยังสามารถพลิกแพลง แก้ไขปัญหาพัฒนาได้ด้วยตนเอง ตระหนักรู้ว่าตนเองทำอะไร อาจเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมจากรุ่นสู่รุ่น

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ22 กรกฎาคม 2553 เวลา 16:55

    คำว่าบูรณาการ ครูที่เคยสอนเป็นวิชาใดวิชาหนึ่งได้ยินแล้วมักจะมองว่าเป็นปัญหาหรือภาระ หากลองคิดไคร่ครวญแล้วชีวิตคนล้วนแล้วแต่เกิดมาเพราะการบูรณาการทั้งสิ้น ทั้งแต่ปฏิสนธิ เราถูกบูรณาการจากพ่อและแม่ พอคลอดออกมาเราลูกหล่อหลอมบุรณาการจากสรรพสิ่ง ผู้คนที่อยู่นรอบตัวเรา แม้แต่วินาที่สุดท้ายของชีวิตเราก็ถูกบูรณาการให้หลอมรวมเป็นธาตุ อากาศ
    การบูรณาการในการศึกษาก็เช่นกัน เด็กควรได้เรียนรู้ทุกอย่างอย่างเชื่อมโยงไม่ใช้อยกส่วน การบูรณาการไม่ใช้แค่วิชาความรู้ แต่ยังรวมถึงบูรณาการผู้เรียนที่หลากหลายอุปนิสัย ครอบครัว เศรษฐกิจ การเงิน ฯลฯ
    และที่สำคัญควรได้บูรณาการการเรียนรู้จากฤษีหลาย ๆ ตนด้วย

    ขอเป็นกำลังใจกับฤษีทุกตน

    ตอบลบ