ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ฤดูกาลอันดีงาม


ความทรงจำเรามักจะโยงด้วยความรู้สึกอะไรบ้างอย่างเสมอ เช่น ความรู้สึกปราบปลื้มปีติ ความอบอุ่นปลอดภัย ความกลัว ความประหม่า การเสียหน้า เป็นต้น เหตุการณ์ในอดีตที่ไม่ได้โยงกับความรู้สึกใดๆ เราก็จะลืมเลือนไปอย่างรวดเร็ว
กลางเดือนพฤษภาคมความทรงจำกับช่วงเวลาของการเปิดเรียนปีการศึกษาใหม่เวียนมาอีกรอบ แม้จะผ่านมาหลายปีแต่เรายังจำได้ว่าวันแรกที่ไปโรงเรียนนั้นเป็นอย่างไร อาจจะใช้เวลาตอนนี้สักนาทีเพื่อนึกถึงช่วงเวลานั้น นั่นจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมาบ้าง ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับฤดูกาลเปิดเรียนปีนี้มันทำให้เรารู้สึกอึดอัด และหมองเศร้า
    เราแก้ไขสิ่งที่ผ่านไปแล้วไม่ได้
แต่เหตุการณ์นี้ก็เป็นเครื่องย้ำเตือนอันหนักหน่วงต่อเราว่าจะต้องใส่ใจและจริงจังที่จะให้การศึกษาที่ดีกับเด็กๆ ยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เหตุการณ์อันเลวร้ายนี้ซ้ำรอยอีก
การศึกษาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วนโดยต้องมุ่งสร้างความดีงามให้เกิดขึ้นในใจของคนเป็นเป้าหมายหลัก เราไม่ได้อับจนความรู้ แต่เราอับจนปัญญาความดี คนในสังคมยังมองการศึกษาคือการเรียนในโรงเรียนหรือในสถาบันการศึกษา มองเป้าหมายความสำเร็จของการศึกษากันที่วุฒิและความรู้ ในศตวรรษที่ผ่านมามนุษย์ได้ขยายขอบเขตความรู้ออกไปไกลกว้างใหญ่ไพศาล แต่ความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นมันทำให้ค่าเฉลี่ยความสุขของมนุษย์สูงขึ้นกว่าเมื่อห้าสิบปีก่อนหรือไม่ กลับกลายเป็นว่าขณะที่สมองพองโตขึ้นแต่หัวใจกลับลีบเล็กลง
การศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคน นั่นคือ มนุษย์โตเต็มวัยทุกคนมีหน้าที่ที่จะให้การศึกษาที่ดีกับมนุษย์เยาว์วัยทุกคน
วันเปิดเรียนแล้ว เด็กๆกว่าแปดล้านคนกำลังเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ ทั้งหมดคือความหวัง
สมองของเด็กเรียนรู้ตลอดเวลาผ่านประสาทสัมผัสรับรู้ที่ตื่นตัว เด็กๆ เรียนรู้จากการเลียนแบบอากัปกริยา การพูด การแสดงออก วิธีคิด ความเชื่อ จากคนในครอบครัว จากคนในสังคม จากนักสื่อสาร จากผู้นำประเทศ เด็กๆรับรู้จากสื่อภายนอกมากกว่าในห้องเรียนโดยผ่านทางคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ ที่ถั่งโถมเข้าใส่ทุกลมหายใจเข้าออก ข้อมูลมากมายมหาศาลทำให้พวกเขาต้องพยายามจับต้นชนปลายสิ่งที่รับรู้เหล่านั้นเพื่อแปลความสู่ความเข้าใจด้วยตัวเอง เราอาจจะโชคดีถ้าเด็กๆ ทั้งหมดแปลความหมายสู่สิ่งที่ดีงามและเลือกที่จะคิดและเชื่อในทางที่ดีงาม แต่ถ้าเป็นในทางตรงกันข้ามผลจะกลับกัน
การนั่งรอโชคช่วยนั้นไม่ใช่ทางเลือก เราคงทุกคนต้องเริ่มทำ หันหาทิศทางที่ถูกทาง สร้างเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะมุ่งสร้างคนให้ดีก่อนให้เก่ง จากนั้นก็จดจ่อกับทิศทางนั้นเสมอแล้วก็ทำอย่างไม่ลดละ ช่วยกันสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในแต่ละคนเพื่อให้เกิดความสุขมวลรวม เมื่อมีโอกาสหรือช่องทางก็สื่อสารความดีงามให้มากขึ้น และที่สำคัญที่สุดเราต้องปฏิบัติกับแด็กๆอย่างมนุษย์คนหนึ่ง ให้ทุกคนได้รับคุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งนั่นไม่จำเป็นต้องหาเครื่องไม้เครื่องมือมาจากที่ไหนเพราะเรามีเครื่องมือที่มีค่าที่สุดอยู่แล้วในตัวเราทุกคน นั่นคือหัวใจที่ดีงาม
                            ---ขอกำลังใจทั้งมวลให้ครูและผู้ปกครองทุกคน----------

6 ความคิดเห็น:

  1. เรียนคุณครูใหญ่ค่ะ

    แม่ปุณอยากบอกว่าหากไม่มีพฤษภาคมนี้
    เราจะไม่รู้ตัวกันเลยว่ากำลังทำอะำไร
    และจะไปไหนพฤษภาคมนี้
    ควรเป็นห้วงเวลาที่ดีที่สุด
    ที่เราจะได้รู้จักตนเอง
    ไม่มีเดือนนี้เราคงหลง
    บางทีการออกนอกชายฝั่งเพื่อแสวงหาิอิสระแห่งตัวตน
    ก็อาจจะง่ายและยากพอๆ กับพลิกผ่ามือตอนเหน็บกินนี่เอง

    ขอกำลังใจทั้งมวลเป็นของคุณครูใหญ่เช่นกันค่ะ
    แม่พี่ปุณ ป.2

    ตอบลบ
  2. วิชาหนึ่งที่โรงเรียนไม่ได้สอน
    วิชานี้ไม่จำเป็นต้องใช้ตำราเรียน
    ไม่ต้องตัดเกรด ไม่มีการสอบ
    ผู้เรียนเป็นใครก็ได้

    "วิชาความหมายแห่งชีวิต"

    "ครูคนหนึ่งก่อให้เกิดผลต่อเนื่องจนนิรันดร์ ครูบอกไม่ได้เลยว่าอิทธิพลของครูนั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อใด"
    เฮนรี อาดัมส์

    สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือ การเรียนรู้ที่จะแบ่งปันความรักให้แก่ผู้อื่น และการเปิดรับให้ความรักเข้ามา

    ตอบลบ
  3. นับวันก็ยิ่งเข้าใจมากขึ้นว่าพ่อแม่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการเลือกหันหาทิศทางที่ถูกทางของลูก เพื่อให้ลูกได้พบช่องทางที่ดีงาม..ขอร่วมให้กำลังใจคุณครูและผู้ปกครองทุกท่านครับ

    Kasidit

    ตอบลบ
  4. "เราจะเข้าถึงเด็กผ่านการเรียนรู้ ประสบการณ์ระหว่างครูกับเด็ก และคนทำงานกับเด็ก ผู้มีทัศนะกว้างไกลและลุ่มลึก เหมาะสำหรับครูที่ต้องการเข้าใจจิตศึกษา ที่เด็กเป็นศูนย์กลาง และพ่อแม่ที่ใส่ใจในการเติบโต ของเด็กอย่างรอบด้าน ที่สำคัญคือการสื่อสารกับเด็ก ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปัน รับฟังทุกสรรพสิ่ง มีความรักที่ยิ่งใหญ่ เปิดใจให้กว้างไตร่ตรองใคร่ครวญ
    ผ่านเพื่อน กระบวนการ เกมและกิจกรรม สิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบ อันเอื้ออำนวยต่อการเติบโตที่แท้จริง
    แต่ไม่ใช่อย่างหรูหรา และสิ้นเปลือง ตลอดจนความเข้าใจในท่วงทำนองของชีวิต อารมณ์ความรู้สึก ความคิดและตัวตน อันสำคัญยิ่งกับการก่อรูปแห่งจิตวิญญาณ เพื่ออยู่อย่างมีความหมาย"

    ครูนอกกะลา

    ตอบลบ
  5. เราแก้ไขสิ่งที่ผ่านไปแล้วไม่ได้...


    แต่เราสามารถทำสิ่งที่ดีเพื่อชดเชยสิ่งที่ผ่านมาได้


    เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ

    ตอบลบ
  6. หลายครั้งที่คณะครูจากโรงเรียนรัฐบาลมาศึกษาดูงานที่โรงเรียน และมีคำถามที่ถูกถามซ้ำ ๆ มากมาย หนึ่งในหลาย ๆ คำถามที่คุณครูส่วนใหญ่ชอบถามคือ เด็กโรงเรียนนี้เมื่อจบ ป.6 ไปเรียนที่อื่นจะสามารถปรับตัวหรืออยูในสังคมภายนอกที่มีสิ่งยั่วยุมากมายได้หรือเปล่า เพราะเด็กเคยได้รับแต่สิ่งที่ดีในโรงเรียน พอได้ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมผู้คนจึงหันมาห่วงว่าเด็กที่ถูกกล่อมเกลาจิตใจให้ไปในทิศทางที่ดี จะอยู่ในสังคมไม่ได้ แต่เรากลับมองตรงข้าม เรากลับห่วงเด็กหลายล้านคนที่อยู่ในระบบมากกว่า เพราะเข้าได้เหล่านั้นถูกกระทำจากสิ่งแวดล้ิอมนอกห้องเรียนยังไม่พอ เวลาเข้าไปในโรงเรียนเขายังถูกกระทำซ้ำเติมและตอกย่ำสิ่งที่เลวร้ายอีก แล้วท่านคิดว่่าเด็กกลุ่มไหนน่าเป็นห่วงมากกว่า หากครุทั้งหลายช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับเด็ก เราเชื่อว่าแม้ว่าเจ้าเชื่อโรคจะเข้าไปในร่างกายของเขา แต่วัคซีนที่เขามีมันจะควบคุมไม่ให้เจ้าเชื่อโรคสำแดงเดชได้อย่างแน่นอน

    ตอบลบ