ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

หลงทางเพราะรู้สึกว่าชีวิตไม่มีวันหมด

สถิติของวันนี้วันเดียว  พบว่าเด็กหลายร้อยคนทำแท้ง หรือถูกดำเนินคดีฐานลักทรัพย์ เหตุทะเลาะวิวาท การล่วงละเมิดทางเพศ หรือ คดียาเสพติด
หลงทางเหรอ!
แน่ ล่ะ  บางครั้งหลงทาง 
การที่เราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่จึงมักทำให้เราเผลอคิดว่าชีวิตเป็นสิ่งไม่ มีวันหมด(เช่น ขณะที่เราสวยอาจจะรู้สึกว่าความสวยจะไม่มีวันหมด  ขณะที่เราแข็งแรงความแข็งแรงนั้นจะไม่มีวันหมด ขณะที่เรามีอาหารเราก็ไม่ได้คิดถึงวันที่มันจะหมด ฯลฯ)   ดังนั้นอะไรบางอย่างที่มันดูสนุก มันส์ๆ ที่ผ่านเข้ามามันจึงได้เกิดขึ้นได้ง่ายโดยที่เราเองบางครั้งก็ไม่รู้ตัว  ซึ่งมันก็เป็นได้แค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น
ใช่ล่ะที่เราจดจำบางช่วงเวลานั้นได้ด้วยที่มันเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกดี  และทำให้เราปักใจเชื่อว่าช่วงเวลาดีดีอันแสนสั้นนั้นคือชีวิตทั้งหมด  มันมีน้อยแต่รู้สึกว่ามีมาก เหมือนที่เรารู้สึกว่าเราได้เห็นพระจันทร์เต็มดวงบ่อยครั้งเสียจนนับครั้งไม่ถ้วนทั้งที่จริงเราเห็นไม่เกินคนละสามสิบครั้งในชีวิต    
เพราะเราเผลอรู้สึกว่าชีวิตเป็นสิ่งไม่มีวันหมด  กว่าจะรู้ว่าหลงทางก็ต่อเมื่อบางอย่างในชีวิตได้หมดไปแล้ว

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ความฉลาดทางด้านร่างกาย (Physical Quotient)


ต่อจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ผมได้กล่าวถึงว่าอะไรคือความสำเร็จของการจัดการศึกษาซึ่งแยกหยาบๆ ได้เป็นสองอย่างคือปัญญาภายนอกและปัญญาภายใน   วันนี้จะขอกล่าวถึงความฉลาดทางด้านร่างกายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญญาภายนอกที่หมายถึงเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถดูแลและใช้กายอย่างมีคุณภาพ  มีความแข็งแรง  อดทน อวัยวะทุกส่วนทำงานอย่างสอดประสานกัน
นับย้อยจากอดีต  มนุษย์ต้องมีร่างกายแข็งแรงกำยำถึงจะอยู่รอดได้  มนุษย์เราใช้ศักยภาพทางร่างกายเพื่อหาอาหาร  สร้างที่อยู่อาศัย  หนีภัย หรือ ปกป้องตัวเอง   ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการใช้ร่างกายต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับคนในอดีต  ตื่นเช้ามาก็ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนหาอาหาร  หรือหนีภัย  การเดินทางหรือทำกิจกรรมต่างๆ ก็มีเครื่องมือช่วยให้เบาแรง  ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของวันหมดไปกับการนั่งทำงาน  เราใช้สมองกับนิ้วมือไม่กี่นิ้ว  แน่ล่ะว่าศักยภาพทางร่างกายหลายอย่างที่ไม่ได้ถูกใช้จะลดทอนลง เช่น ความแข็งแรงของกระดูก  ความยืดหยุ่นของเส้นเอ็น  กล้ามเนื้อลีบเล็ก  ส่วนสายตาที่ใช้จับจ้องอยู่กับหน้าคอมพิวเตอร์มากขึ้นก็จะสูญเสียได้ง่ายขึ้น   พฤติกรรมชีวิตที่มีการเคลื่อนไหวน้อยลงและการกินอาหารที่ให้พลังงานสูงทำให้จำนวนคนเป็นโรคอ้วนมากขึ้น  โรคภัยที่รุมเร้าก็เป็นภาระที่ประเทศต้องระดมสรรพกำลังเข้าแก้ไข 
บทบาทของโรงเรียนต่อการสร้างความฉลาดทางด้านร่างกาย
1.       การออกแบบการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติให้ได้ใช้อวัยวะทุกส่วนในร่างกาย   ทั้งในแง่ของความแข็งแรงอดทน  และ ในแง่ของการทำงานที่สอดประสานกัน   ทั้งในร่มและกลางแจ้ง  
2.       ออกแบบวิถีชีวิตในโรงเรียนให้เด็กๆ มีช่วงเวลาได้เล่นหลายๆ ช่วงเวลา  เช่น  ภาคเช้า  ช่วงพักภาคเช้า  กลางวัน และ หลังเลิกเรียน
3.       ออกแบบการสอนวิชาพละศึกษาหรือกิจกรรมให้สอดคล้องกับการต้องการการพัฒนาทางด้านร่างกายของเด็กให้เหมาะสมตามวัย   
-          วัยอนุบาลควรให้เด็กได้ออกกำลังกายเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ ได้แก่ ความสมดุล การทรงตัว  ความแข็งแรง ความอดทน และ พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กเพื่อการทำงานที่สอดประสานกันของอวัยวะต่างๆ  กิจกรรมที่เหมาะสมได้แก่  การว่ายน้ำ  กิจกรรมประกอบจังหวะ  กายบริหาร  เกม  การวิ่งเล่น  การเล่นเครื่องเล่นสนามที่ประกอบด้วยกระบะทรายเปียก  ทรายแห้ง  กระดานทรงตัว  ราวโหนหรือเชือกโหน  ชิงช้า  และ อุโมงค์มุดซ่อน  เป็นต้น
-          ระดับประถมศึกษาตอนต้น  ให้เด็กได้ออกกำลังกายทุกส่วนของร่างกายเพื่อให้เกิดความคล่องแคล่ว  ควรให้เล่นกีฬาที่ไม่มีความซับซ้อนมาก
-          ระดับประถมศึกษาตอนปลายถึงระดับมัธยม  ให้เด็กได้ออกกำลังกายทุกส่วนของร่างกายเพื่อให้เกิดความคล่องแคล่ว  เพิ่มสมรรถภาพทางร่างกาย  และพัฒนาทักษะทางกลไกให้ทำงานสัมพันธ์กัน  ให้เด็กได้เล่นกีฬาได้แทบทุกประเภท   
              ผมมีบทเรียนให้ต้องกลับมาใคร่ครวญในเรื่องการสอนกีฬาในโรงเรียน  สมัยผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นครูที่จบพลศึกษาโดยตรงได้สอนเราในวิชาตะกร้อไทย  ในหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่เราต้องเรียนวิชานี้ครูวางขั้นตอนของกิจกรรมไว้ตามแบบแผนคือขั้นของการอบอุ่นร่างกายหรือ warm up 15 นาที  ขั้นสอนหรือสาธิต 15 นาที  ขั้นลงมือปฏิบัติ 15 นาที่  ขั้นสรุปหรือwarm down อีก 15 นาที   ในชั่วโมงหนึ่งๆ ของวิชาตะกร้อผมแทบนับได้ว่าเท้าของผมโดนลูกกี่ครั้ง  ผ่านไป 20 สัปดาห์เมื่อผมเรียนจบวิชานี้ผมไม่ได้มีทักษะการเล่นตะกร้อเพิ่มขึ้น  ไม่ได้มีเจตคติที่ดีต่อการเล่นตะกร้อเพิ่มขึ้น และผมได้มาเพียงเกรด 1     
ในโรงเรียนนอกกะลา  เราไม่นำกีฬามาแค่สอนเพื่อให้เกรด  แต่เราใช้กีฬาเป็นเครื่องมือให้เด็กๆ ได้เล่นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน  เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน  เพื่อเพิ่มพูนกลไกการคิดการวางแผน และ เพื่อเพิ่มพูนความแข็งแรงความอดทนของร่างกาย  ที่สำคัญคือให้เด็กทุกคนได้รักในการออกกำลังกายเพื่อความมีสุขภาพดี

กรุงเทพธุรกิจ  กายใจ ฉบับที่65   21-27 สิงหาคม 2554

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ความสำเร็จ


เราควรตีค่าความสำเร็จทางการศึกษาจากสิ่งใด?   เป็นคำถามที่ทุกคนต้องใคร่ครวญซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้แน่ชัดว่าเป้าหมายนั้นไม่ได้เป็นไปเพียงเพื่อสนองความต้องการของผู้ใหญ่เท่านั้น หรือ ไม่ได้ทำไปเพื่อเด็กคนใดคนหนึ่งอย่างโดดๆ  เราต้องมองเป้าหมายที่เป็นความจำเป็นจริงๆ ต่อเด็กและต่อโลกในอนาคตและยังต้องคำนึกถึงความเป็นองค์รวมของเป้าหมายทั้งหมดเพื่อให้แต่ละคนได้สมบูรณ์พร้อมตามศักยภาพแห่งตน  ดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีคุณค่าและปีติสุข  
ที่ผ่านมาความกระหายใคร่รู้ทำให้เราข้าใจสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมมากขึ้น  จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในการหล่อหลอมเป็นความเชื่อใหญ่ของผู้คนให้เข้าใจว่าการศึกษาคือการสั่งสมความรู้   จึงส่งผลให้เราให้ความสำคัญกับการสอนความรู้  วัดผลจากความรู้  และตีค่าความสำเร็จโดยนัยจากความรู้  ทั้งที่ทุกคนรู้ดีว่าแท้ที่จริงเราต้องการให้ผู้คนดีงาม  อยู่กันอย่างสงบ  สันติ  เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุข 
ผมเชื่อว่าเราส่วนใหญ่รู้ดีว่ากำลังเผชิญความท้าทายอะไรบ้าง  และ รู้ดีว่าการที่จะปรับปรุงการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นควรทำอย่างไร  แต่เรายังไม่ได้ทำกันอย่างเต็มกำลัง    การสิโรราบหรือการยอมจำนนนั้นง่ายกว่า  มันเป็นการปรับตัวแบบหนึ่งเพื่อให้เราได้กลับมามีสมดุลอีกครั้ง  แต่สมดุลในระดับต่ำเป็นการปรับตัวเชิงถดถอย  ที่คนส่วนใหญ่เลือกวิธีนี้เพราะสมองส่วนอะมิกดาลากระโจนเข้ามาทำงานก่อนสมองกลางหรือส่วนหน้า  มันง่ายและสามารถหาเหตุผลได้มากมายมากล่าวอ้างได้อย่างสมเหตุสมผล   ทั้งที่ธรรมชาติลึกๆ ที่ทำให้มนุษย์ก้าวหน้ามาได้ขนาดนี้เพราะเราปรับตัวอีกแบบคือการตะลุยฝ่าอุปสรรคนานามา  ตลอดช่วงวิวัฒนาการมนุษย์ล้วนแต่ผลักดันเพื่อเอาชนะขีดจำกัดศักยภาพของเราเองเสมอ 
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงรอบด้านนี้   การศึกษาปัจจุบันจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างไร  เราต้องมองไกลกว่าเป้าหมายอันตื้นเขิน  มองมากกว่าความรู้  มากกว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ มากกว่าการมีงานทำ ฯลฯ    แต่ดูเหมือนการศึกษาซึ่งเป็น “ตัวจัดกระทำ”   จะมี  “ตัวแปรแทรกซ้อน”  มากมายซ่อนอยู่  การควบคุมผลสูงสุดจึงอยากแสนเข็ญ   การศึกษาอาจจะช่วยให้เราตระหนักว่าจะต้องแปรงฟันทุกวัน  หรือ ระวังอย่าให้ตัวเองพลัดกจากที่สูง. หรือ เราหาประโยชน์จากสิ่งต่างๆ  อย่างไรได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้สร้างผลอย่างชัดเจนที่จะให้คนตระหนักว่าชีวิตของเรานั้นสั้นแค่ไ 
เราทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการให้การศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม  จึงต้องทำให้ได้ดีที่สุดเหมือนกับชาวสวนที่เฝ้าดูแลเอาใจใส่ต้นไม้ในสวนทุกด้านอย่างพร้อมพรั่งทั้งรดน้ำ  ใส่ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่ง หรือกำจัดศัตรูพืชให้ โดยหวังว่าปัจจัยที่ทำลงไปจะเอื้อให้ปัจจัยทางธรรมชาติของต้นไม้ออกผลของมันอย่างสมบูรณ์    ชาวสวนทำได้เพียงเฝ้ามองเฝ้ารอผลผลิตหลังจากที่ได้ทำทุกอย่างแล้ว
โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา หรือ โรงเรียนนอกกะลา มองเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นองค์รวมซึ่งประกอบด้วยปัญญาภายนอก และ ปัญญาภายใน  และทำทุกวิธีในฐานะของคนสวนที่ดี
 ปัญญาภายนอก  ได้แก่ ความฉลาดทางด้านร่างกายซึ่งหมายถึงการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถดูแลและใช้กายอย่างมีคุณภาพ  มีความแข็งแรง  อดทน อวัยวะทุกส่วนทำงานอย่างสอดประสานกัน   และอีกอย่างของปัญญาภายนอกคือความฉลาดทางด้านสติปัญญาซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้เข้าใจต่อโลกและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น   จะประกอบด้วยความรู้มากมายหลายแขนงที่จะใช้ในการดำเนินชีวิตหรือการประกอบอาชีพ   
ปัญญาภายใน  ได้แก่ ความฉลาดทางด้านจิตวิญญาณ และ ความฉลาดทางด้านอารมณ์  ซึ่งหมายถึงความสามารถในการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเอง(รู้ตัว)และผู้อื่นจนสามารถจัดการอารมณ์ตนเองได้อย่างดี   การเห็นคุณค่าในตัวเองและผู้อื่นหรือสิ่งต่างๆ  เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย   การเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งต่างๆ  นอบน้อมต่อสรรพสิ่งที่เกื้อกูลกันอยู่   การอยู่ด้วยกันอย่างภารดรภาพยอมรับในความแตกต่าง  เคารพและให้เกียรติกัน  อยู่อย่างพอดีและพอใจได้ง่าย   การมีสติอยู่เสมอ  รู้เท่าทันอารมณ์เพื่อให้รู้ว่าต้องหยุด หรือ ไปต่อ กับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่   การมีสัมมาสมาธิเพื่อกำกับความเพียรให้การเรียนรู้หรือการทำภาระงานให้ลุล่วง  และ การมีจิตใหญ่มีความรักความเมตตามหาศาล

ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ  7 สิงหาคม 2554