ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

แบบเรียน..แบบว่า...

แบบเรียนกลายเป็นสัญลักษณ์ของ "การเรียน" ไปตั้งแต่มนุษย์คิดคำนี้ออก




การเรียนผ่านแบบเรียนจะรับประกันได้ว่าผู้เรียนจะมีความรู้มากพอ โดยเทียบเคียงกับปริมาณของสิ่งที่ผู้อื่นรู้

...แบบว่า...ใครรู้มาก จดจำความรู้ในแบบเรียนได้มาก คนนั้นชนะ

การเรียนจากแบบเรียนนั้น การจำ จึงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นกว่าการคิด หรือ การใคร่ครวญ

ความคิดนี้มันฝังหมุดในหัวมนุษย์เสียจมมิด

จนโลคมาถึงยุคข้อมูลข่าวสาร

ข้อมูลได้กระเจิดกระเจิง และ กระจัดกระจายไปทั่วทุกมุมของโลก

วันหนึ่งๆ มีข้อมูลใหม่+ความรู้ใหม่ เกิดขึ้นทั่วโลกรวมกันกว่า 25 ล้านคำ คนคนหนึ่งอาจต้องใช้เวลาอ่านกว่า 10 ปีกับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในวันเดียว

..แบบว่า..เป็นข้อมูลขยะเสียมาก

ข้อมูลขยะไม่ได้หมายถึงข้อมูลในทางไม่ดี แต่หมายถึงข้อมูลหรือความรู้ที่เก่าแล้ว หรือ เป็นข้อมูลที่ไม่มีความหมาย ไม่มีประโยชน์ ไม่มีความจำเป็น ต่อคนคนหนึ่ง

การที่จะให้ผู้เรียนเรียนรู้ผ่านแบบเรียนต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะข้อมูลในนั้นส่วนใหญ่อาจเป็น ข้อมูลขยะ และ ผู้เรียนอาจจะใช้เครื่องมือเดียวในการเรียนรู้คือ การจำ และ ผู้สอนอาจจะตีค่าการเรียนรู้ที่ การรู้มากหรือรู้น้อย


โลกยุคข้อมูลข่าวสารนั้นกำลังจะผ่านไปแล้ว

เรากำลังเข้าสู่โลกแห่งปัญญา


วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

โรงเรียนที่ไม่มีการสอบ

ทำไมต้องสอบ?

การศึกษารูปแบบปัจจุบันเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก่อนหน้านั้นกว่า 10,000 ปี เป็นยุคของเกษตรกรรมที่ผู้คนหลุดออกจากยุคเร่ร่อนแล้วก็เริ่มเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ลูก ๆ ในครอบครัวสามารถอยู่และเรียนรู้ร่วมกันพ่อแม่ได้ตลอดเวลา พ่อแม่เป็นผู้สอนทักษะชีวิต ความรู้พื้นฐานที่จำเป็น ใช้ชีวิตในวิถีทางร่วมกันได้
แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ มีเครื่องจักรขนาดใหญ่ มีโรงงานเกิดขึ้นมากมาย เป็นโรงงานที่สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเดียวกันได้คราวละมาก ๆ เป็นโรงงานที่ตอบสนองต่อการผลิตสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกความสบายให้กับมนุษย์ จนถึงตอบสนองการบำรุงกิเลส ซึ่งมากกว่าพื้นฐานความจำเป็นที่มนุษย์โดยทั่วไปควรจะได้ ระบบนั้นได้ผลักคนส่วนใหญ่เข้าสู่โรงงาน และโรงงาน ส่วนเด็ก ๆ ถูกผลักไปสู่โรงเรียนในที่เป็นระบบเดียวกัน และโรงเรียนในระบบก็สอนให้เด็กเหล่านั้นเพื่อเข้าไปสู่โรงงาน สอนให้คนรู้ในสิ่งที่คนอื่นรู้ไว้แล้ว
กรอบความคิดอุตสาหกรรม (นักเรียนเสมือนวัตถุดิบของโรงงาน)
# ถูกคัดเลือกด้วยเกณฑ์เดียวกัน
# มีหลักสูตร หรือ สอนเหมือน ๆ กัน ความจริง หรือ สิ่งถูก ถูกกำหนดไว้ก่อนแล้ว
# เพื่อ.ให้จบออกมามีคุณภาพเหมือนกัน ในปริมาณมากๆ
โรงเรียนกำหนดมาตรฐาน และผลสำเร็จแบบเดียวกันเหมือนกับผลผลิตของโรงงานที่ต้องการผลผลิตเดียวกันจำนวนมาก ๆ และสิ่งที่จะมาวัดได้อย่างรวดเร็วก็คงจะเป็นแบบทดสอบ เพราะมันเป็นปรนัย คือ เห็นค่าเป็นคะแนนที่ชัดเจน กรอบความคิดเหล่านี้เป็นโครงสร้างที่แข็งแกร่งในสังคมต่อมายาวนานกว่า 300 ปี
ผ่านจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมาเป็นยุคดิจิตอล ยุคข้อมูลข่าวสารระบบการศึกษาก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง ข้อมูลที่มากขึ้น ๆ กลับสร้างปัญหา เพราะกรอบความคิดเดิมยังบอกให้เชื่อว่าผู้ที่มีข้อมูลมากกว่า ผู้ที่รู้มากกว่าคือผู้ชนะ เริ่มใช้การไม่ได้
ทุกโรงเรียน จึงยังคงสอบ มีเกณฑ์เดียวกัน ต้องการผลผลิตเดียวกัน ต้องการให้คนรู้ในเรื่องเดียวกันในความรู้ที่มีคนรู้อยู่แล้ว ใครที่รู้ได้เหมือน หรือรู้เท่าก็ชนะ
วิธีการแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้เกิดสิ่งสร้างสรรค์ขึ้นมา การแข่งขันต้องลดลงและหายไป แต่ความร่วมมือต้องเกิดขึ้นและมากขึ้น
โรงเรียนนอกกะลา เราปฏิเสธการสร้างคนเพื่อการแข่งขัน แต่เราต้องการคนที่รู้จักการสร้างความร่วมมือ เพราะฉะนั้น หากพูดถึงการสอบเราจึงไม่ใช้เลย แต่เรามีระบบการวัดผลและการประเมินผลเพื่อให้รู้ว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้าเพียงใด
เมื่อพูดถึงการวัดผลและประเมินผล กับการสอบมันเป็นคนละอย่างกัน ลองจินตนาการถึงตัวช้าง ในความเชื่อของคนงาช้างนั้นมีค่าที่สุด ถ้าช้างทั้งตัวคือการวัดผลประเมินผล การสอบนั้นเปรียบได้ดังขนช้าง ไม่ใช่ว่าจะไม่มีค่าเลยทีเดียว แต่ก็ไม่ได้มากพอที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญ
การวัดผล และประเมินผล ของโรงเรียนนอกกะลา เรามีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อพัฒนาพัฒนาผู้เรียน ไม่ได้เพื่อตัดสิน เราจะใช้แนวทางในการวัดผล ประเมินผลตามสภาพจริง ที่เกิดขึ้นทุกขณะอย่างต่อเนื่อง (Authentic Assessment) โดยใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เช่น การสังเกต สัมภาษณ์พูดคุย ดูจากชิ้นงาน กระบวนการทำงาน การปฏิบัติในวิถีชีวิตจริง แฟ้มงาน และการสะท้อนงาน วิธีการประเมินเหล่านี้กลับพบข้อมูลที่ละเอียดลึกซึ้งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนมากกว่าการสอบ การสอบกลับเป็นอะไรที่หยาบ ๆ และทั้งยังไม่คำนึงถึงความแตกต่างและศักยภาพของแต่ละคน การสอบไม่ได้เคารพความเป็นตัวตนของแต่ละคน การสอบเป็นเพียงการอ้างอิงข้อมูล ข้อเท็จจริงหรือความรู้ที่เก่าที่ผู้เรียนรู้
ที่นี่จึงไม่มีการสอบ ความรู้ที่เป็นปัจเจก กลับมีความสำคัญในระบบนิเวศน์ทางสังคม มีความสำคัญต่อความอยู่รอดของสังคม เพราะความหลากหลายไม่ใช่ความรู้ที่เป็นชุดสำเร็จเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่ป็นความรู้ที่เชื่อมโยงแล้วมีปลายทุกด้านเป็นปลายเปิด
วิธีการประเมินตามสภาพจริง ทุกขณะอย่างต่อเนื่อง (Authentic Assessment) อย่างแท้จริงจึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้เชิงปัจเจก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ทางสังคมอย่างแท้จริง
หลายคนถามเราว่า แล้วโรงเรียนเราสอบ NT หรือ O-Net , A-Net หรือเปล่า?
เรายังคงต้องสอบ เพราะเป็นระเบียบของทางราชการ ในฐานะรัฐยังจำเป็นต้องรู้โดยภาพรวมว่าคุณภาพการศึกษาเป็นเช่นใด และวิธิสอบก็เป็นวิธีที่สะดวกที่สุดกับนักเรียนจำนวนมากๆ แม้ไม่ได้ลึกซึ้งอะไร แต่ก็เป็นตัวเลขที่พอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมองเห็นภาพรวมได้บ้างเท่านั้น
ประเด็นสำคัญการประเมินตามสภาพจริง อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการสอบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับครู การประเมินแบบนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้เรียน ทั้งในวันนี้ พรุ่งนี้ หรือสัปดาห์นี้ แล้วยังต้องคิดต่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะเชื่อมโยงกับมาตรฐานของกลุ่มสาระแต่ละกลุ่มอย่างไร หรือ ตรงไหน และครูต้องออกแบบไว้ก่อนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ว่าจะเป็นภาระงาน ชิ้นงาน วิธีการ หรืออื่น ๆ นั้นจะเชื่อมโยงกับมาตรฐานการเรียนรู้ของกลุ่มสาระได้อย่างไร จะมีเกณฑ์ Rubric เข้าไปจับได้อย่างไร จับแล้วก็ตีค่าออกมาเพื่อให้ระดับอย่างไร ทั้งนี้เรามุ่งเน้นเพื่อให้เกิดการพัฒนา แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่ลืมว่าจะต้องให้เด็กที่เรียนอยู่เทียบโอนได้ เพราะฉะนั้นพอสิ้นปีครูก็ต้องนำคะแนนของแต่ละวิชาหรือแต่กลุ่มสาระ แต่ละมาตรฐานจะมีอยู่แล้ว มาตัดเกรด ให้ผู้เรียนึ้นนั้นยังต้องางเท่านั้น คุณภาพการศึกษาเป็นเช่นใด และวิธิสอบก็เป็นวิธีที่สะดวกที่สุดกับนักเรียนจำนวนมากๆ เพื่อให้สามารถเทียบโอนกับโรงเรียนอื่นๆ ได้

** ผมเคยให้ผู้เข้าอบรมหลายๆ คนยกขวดน้ำแล้วผมถามว่า “คิดว่าขวดน้ำ หนักหรือเบา” ทุกคนกลับตอบคำถามและให้เหตุผลประกอบไม่เหมือนกัน
โปรดระวังเสมอเพราะการประเมินมัก error ทั้งเครื่องมือ และ ตัวผู้วัด

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การบ้าน

ผู้ปกครองบางคนกลุ้มใจที่ลูกไม่อยากทำการบ้าน


ครูหลายคนหนักใจที่นักเรียนไม่ทำการบ้านมาส่ง

ให้การบ้านเพื่ออะไร?

ด้วยครูหวังว่าการบ้านจะช่วยเพิ่มพูนทักษะหรือให้ผู้เรียนความเข้าใจเนื้อหานั้นมากยิ่งขึ้น แต่ความจริงเราหวังอะไรไม่ได้มากหรอกจากจุดประสงค์ข้อนี้ ส่วนหนึ่งเด็กทำส่งเพราะไม่อยากเผชิญความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นระหว่างเขากับครู (ทั้งภาพพจน์ คะแนน การลงโทษ หรือ อื่นๆ) บางคนทำการบ้านส่งเพราะสายตาของพ่อแม่ที่เฝ้ามองเขาด้วยความคาดหวังที่สูงริบริ่ว แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดเด็กๆ ล้วนแต่ไม่ชอบการบ้าน

โรงเรียนนอกกะลา เราให้การบ้านเด็กๆ เพราะอยากปลูกฝักความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในฐานะที่เป็นนักเรียนเป็นเป้าหมายหลัก ส่วนการเพิ่มพูนทักษะหรือความเข้าใจต่อเนื้อหาเป็นเป้าหมายรองลงไป

การให้การ การบ้านทุกวิชาร่วมกันเด็กควรใช้เวลาทำประมาณ 30 นาที ควรให้อย่างสม่ำเสมอทุกวัน และครูจะต้องตรวจการบ้านของทุกคนและทุกครั้งที่เด็กทำ

นอกจากความรับผิดชอบแล้ว การบ้านยังให้คุณค่าในเรื่องการไตร่ตรอง หรือใคร่ครวญด้านใน ให้เด็กได้มีเวลาอยู่กับตัวเองขณะที่ทำการบ้าน

**โรงเรียนเราเคยเจอบางเหตุการณ์ คือ มีเด็กคนหนึ่งที่ไม่ยอมส่งการบ้านอยู่เป็นสัปดาห์ ตอนแรกเรารู้สึกกังวล แต่เมื่อถามผู้ปกครองก็ได้คำตอบว่า เห็นหลานของตนเองทำการบ้านทุกวันและแต่ละวันนั่งอยู่ที่นั่นเป็นชั่วโมง เมื่อรู้อย่างนั้นบวกกับที่รู้จักประวัติเขาที่ประสบปัญหาทางครอบครัว เราก็รู้สึกสบายใจขึ้น แม้เขาไม่ได้มีการบ้านมาส่งในช่วหนึ่งสัปดาห์ แต่เด็กคนนี้ กลับได้ผ่านประสบการณ์ด้านในมากกว่าคนอื่นๆ จนขจัดความคับข้องนั้นออกไปได้ด้วยตัวเอง และยังเพิ่งความแข็งแกร่งด้านในยิ่งขึ้น

เมื่อจิตใจเขาเข้าที่ ครูที่เป็นกัลญาณมิตรก็ปลอบประโลมเขาโดยให้ทำการบ้านที่ค้างทั้งหมดส่ง เพื่อให้เขารู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ที่ได้รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด