ข่าวคราวที่สร้างความประหลาดใจให้กับวงการศึกษาทั่วโลกคือ ฟินแลนด์ซึงเป็นประเทศถูกลืมกลับ
ได้คะแนน PISA
บางวิชาเป็นอันดับ 1 สามปีซ้อน คือ ปี 2000
2003 และ 2006
PISA มาจากคำว่า
(Programme for
International Student Assessment) คือ โครงการประเมินผลนักเรียนในระดับนานาชาติ ของประเทศสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งดำเนินการโดย OECD (Organization for Economic Co-operation and
Development) ซึ่งมีการดำเนินการมาจั้งแต่ ปี 1999 หรือ
พ.ศ.2541 โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมจากทั่วโลก 65 ประเทศ โดยมีประเทศเขตเศรษฐกิจเอเชียที่เข้าร่วมอันได้แก่ ฮ่องกง
ไทเป เซี่ยงไฮ้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย และในปี
2012 ได้มีการเพิ่มประเทศมาเลเซีย และเวียดนาม มาเป็นประเทศสมาชิก
OECD
ในการประเมินผลการศึกษานี้นั้นเพื่อหาตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาให้แก่ประเทศสมาชิกและประเทศที่เข้าร่วมโครงการ
โดยจะมีการประเมินศักยภาพของนักเรียนที่มีอายุ 15
ปี ในการใช้ความรู้ ทักษะจำเป็น
เพื่อเผชิญกับโลกในชีวิตจริงโดยทำการประเมินต่อเนื่องทุกๆ 3 ปี ในทักษะที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่
ทักษะทางคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์
อาการตื่นข่าวมีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในสังคมยุคที่ข้อมูลข่าวสารกระจายไปได้อย่างรวดเร็ว
แม้แต่ข่าววัวออกลูกสองหัวก็ฮือฮาได้ชั่วข้ามคืน แต่ถ้าเราตามต่อจะเห็นว่าฟินแลนด์เสียแช้มป์คะแนนรวม
PISA ให้เซี่ยงไฮ้ ทั้งปี 2009 และ 2012
โดยฟินแลนด์ได้คะแนนรวมเป็นอันดับสามในปี 2009 และ ได้คะแนนรวมเป็นอันดับ 12 ในปี 2012 ประเทศที่ได้คะแนนอันดับต้นๆ
กลับเป็นประเทศในโซนตะวันออก เซี่ยงไฮ้
สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเก๊า ญี่ปุ่น ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 50 ในปี 2012 จากทั้งหมด 65 ประเทศ
มิติ PISA อาจเพียงวัดการตอบสนองต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก
และ อาจหลงลืมมิติสำคัญอื่นๆ ก็เป็นได้
แต่จะอย่างไรก็น่าสนใจที่ฟินแลนด์ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบสำเร็จ
จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ทุกโรงเรียนมีคุณภาพเหมือนกัน
ผมเคยติดต่อจะไปดูงานเกี่ยวกันการศึกษาที่ประเทศฟินแลนด์แล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2556 ตอนนั้นติดต่อกับเพื่อนที่เป็น Principle ของโรงเรียนนานาชาติออสเตรเลีย
ที่อยู่สุดซอยสุขุมวิท20 ด้วยที่นั่นมีครูที่มาจากประเทศฟินแลนด์ด้วย ตอนนั้นกะว่าจะไปชิวๆ คนเดียวจึงประสานงานสบายๆ
ไม่รีบร้อน แต่ราวต้นปี 2557 หมอก้องเกียรติ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตซึ่งทำโรงเรียนของตนเองด้วยก็มาชวนเพราะบังเอิญได้รู้จักกับบริษัทจัดศึกษาดูงานที่ฟินแลนด์ และต่อมาเราก็ต่างชักชวนคนโน้นคนนี้บ้างมาสรุปกันตอนเดือนสิงหาคมว่าจะมีคนร่วมคณะทั้งหมด
9คน
การขอวีซ่าเริ่มกันกลางเดือนตุลาคมสำหรับผู้ที่ถือพาสปอร์ตปกแดงส่วนผู้ที่ถือพาสปอร์ตสีน้ำเงิน(ข้าราชการ)ได้สิทธิพิเศษไม่ต้องขอวีซ่าสำหรับเดินทางเข้าประเทศในกลุ่มเชงเกน แม้แต่ฝรั่งยังดูมีชนชั้นเลยนะ ขออธิบายเพิ่มหน่อย เชงเกน
(Schengen) คือกลุ่ม
ยูโรโซน (ยกเว้นสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ บัลแกเรียน และโรมาเนีย) ที่ได้ตกลงกันเมื่อ พ.ศ.2528 สาระสำคัญเป็นการอนุญาตให้สมาชิกในกลุ่มสามารถเดินทางระหว่างกันโดยไม่ต้องถือหนังสือเดินทางนอกจากนั้นยังให้การอนุญาตชั่วคราวกับผู้ถือใบอนุญาตเชงเกน
(Schengen Visa) มีสิทธิในการเดินทางได้ชั่วคราวในประเทศสมาชิกโดยถือใบอนุญาตใบเดียว
ตามสนธิสัญญาอัมส์เตอร์ดัม (Treaty of Amsterdam) ข้อตกลงและตัดสินใจทุกข้อของความตกลงเชงเกนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายของสหภาพยุโรปด้วย
การทำวิซ่าของฟินแลนด์นั่นไม่ซับซ้อนมากเพียงกรอกแบบฟอร์มออนไลน์
ซึ่งมีรายละเอียดเยอะเหมือนกัน
จ่ายเงินทางออนไลน์ และนัดหมายเวลาสัมภาษณ์และสแกนลายนิ้วมือ
วันที่ผมไปเวลานัดแปดโมงยี่สิบผมไปถึงก่อนเวลาราวยี่สิบนาที
วันนั้นคนไม่ค่อยเยอะพอถึงเวลานัดเป็นคนไทยที่สัมภาษณ์ด้วยข้อซักถามพื้นๆ
ทั่วไป ใช่เวลาสักห้านาทีก็จบ
ที่ง่ายอาจเป็นเพราะผมเคยขอวีซ่าไปเดนมาร์กเมื่อปีที่แล้วซึ่งข้อมูลจะลิงค์กันหมดแม้แต่ลายนิ้วมือ
หลังจากนั้นก็รอสักสัปดาห์เขาก็จะส่งพาสปอร์ตมาถึงบ้าน
ฟินแลนด์ค่อนข้างเข้มงวดเรื่องคนเข้าออก
เรามีตารางดูงานห้าวันเขาก็ให้วีซ่าเท่านั้นวันรวมวันไปและวันกลับอีกสองวันสรุปผมได้อนุญาตอยู่ในประเทศนั้นแค่เจ็ดวัน
เราออกเดินทางเช้าวันอาทิตย์ด้วย FinnAir เครื่องออกราว
9.00 น. ใช้เวลาบินราว 10 ชั่วโมง ด้วยระยะทางราว 7,900 กม. ถึงสนามบินแวนตา
ที่เฮลซิงกิราว 15.30 น. ของวันเดียวกัน เฮลซิงกิอยู่ในโซนเวลาช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง บนเครื่องบินชั้นสามัญชนก็ได้รับการบริการแสนธรรมดาต่างจากสายการบินระหว่างประเทศอื่นๆ
ที่ผมเคยนั่ง แอร์โฮสเตสและสจ๊วดก็แก่งอม จนเราต้องเกรงใจที่จะไว้วานอะไรสักอย่าง อาหารก็จืดชืดไร้รสชาติสำหรับลิ้นคนไทยเหมือนเขาทำออกมาอย่างสิ้นคิด
หากใครชมชอบการกินอาหารบนเครื่องบินควรหลีกเลี่ยงฟินน์แอร์เป็นอย่างยิ่ง
จำได้ว่าอาหารมื้อนั้นคือพาสต้า(Pasta) ชนิดเพนเน(Penne) อบซีส สีซีดเซียวและแสนจะจืดชืด
แต่ที่น่าสนใจกว่าอาหารคือกระดาษเช็ดปากและถ้วยกาแฟที่อยู่ในถาดเดียวกัน
กระดาษเช็ดปากเป็นลายวงกลมสีตองอ่อน ส่วนถ้วยกาแฟเป็นลายวงกลมคล้ายกันแต่เป็นสีน้ำเงินเข้ม
ที่เอะใจเพราะลายผ้าห่มก็เป็นเหมือนกัน
ใคร? ทำไม? นั่นล่ะคือคำถามที่ผุดขึ้น ฝีมือเหมือนเด็กอนุบาลทำแต่กลับทำให้รู้สึกว่ามีสไตน์ของตัวเอง เมื่อดูด้านข้างก็พบว่าลวดลายพวกนี้มีชาติกระกูลด้วยสิ ข้อความปรากฎอยู่ริมกระดาษคือ...
เมื่อตามหาว่ามันคืออะไร จึงพบว่า Marimekko(แปลว่า
ชุดของเด็กผู้หญิง) ซึ่ง อาร์มี
ราเทีย นักออกแบบชาวฟินแลนด์เป็นผู้ให้กำเนิด
ตั้งแต่ปี 1951 โดยเธอมักออกแบบลายผ้าดวงใหญ่ออกโทนขาวดำเพื่อสื่อถึงสภาพบรรยากาศอันหนาวเหน็บและความบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่สองของประเทศฟินแลนด์ ลองนึกถึงถ้าเป็นเราที่ผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอันโหดร้ายมา ทั้งยังอยู่ในประเทศที่หนาวเย็นตลอดปี ช่วงหนาวสุดถึงกับติดลบยี่สิบองศา บางเดือนไม่เห็นแสงตะวันเลย
แต่บางเดือนกลับไม่มีกลางคืน
ภาพข้างนอกห้องที่เห็นจึงเป็นสีขาวของหิมะและเงาสลัวของสิ่งต่างๆ เรายังจะมีกระจิตกระใจลุกขึ้นมาทำอะไรได้อีกไหม ลวดลายและดีไซน์ของเธอยังต้องการสื่อความอบอุ่นภายในบ้านทั้งความตรงไปตรงมา ความเรียบง่ายไม่เกินตัว ความคิดเปิดกว้าง และการใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดของชาวฟินแลนด์ รูปแบบดั้งเดิมของเธอนั้นเป็นเสมือนบุคลิกของชาวฟินแลนด์จึงไม่เคยเสื่อมมนต์ขลังแม้ว่าเธอจะจากไปนานหลายปีแล้ว การกลับลงมาสู่ความธรรมดาสามัญเรียบง่ายทำให้งานศิลป์ตราตรึงได้นาน
ปี 1960 นักออกแบบรุ่นต่อมาชื่อ ไมยา
อิโซลา นำดอกป๊อบปี้ (อูนิโก๊ะ)
เป็นคาแรกเตอร์ใหม่ ของมาริเมกโกะ
ดอกเดียวก็ดังได้
เธอได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในสิบของนักออกแบบยุคนั้น และสร้างผลงานเป็นเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ด้วยลายดอกป๊อบปี้สีสันต่างๆ
ตอนนี้ไม่เว้นแต่ถ้วยชาม เครื่องใช้ไม้สอยภายในบ้าน รถยนต์ ในฟินแลนด์ก็จะเห็นลวดลายการออกแบบของ Marimekko