ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

PBL (Problem based Learning) กระบวนการเรียนรู้จากปมปัญหาสู่ปัญญา


PBL (Problem based Learning) เป็นนวัตกรรมหนึ่งในการพัฒนาความฉลาดภายนอก (ความเข้าใจต่อโลกและปรากฏการณ์)ให้กับผู้เรียนของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา  เป็นหน่วยการเรียนแบบบูรณาการที่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้จากปมปัญหาสู่ปัญญา  เพราะสังคมโลกนับวันจะยิ่งซับซ้อนขึ้น  จำนวนปัญหาจะมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น ยุ่งเหยิงขึ้น  กระบวนการเรียนรู้โดย PBL จะทำให้ผู้เรียนไม่ตื่นกลัวกับปัญหา  มองปัญหาเป็นเรื่องท้าทายซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจต่อปัญหา และหาวิธีการแก้ปัญหา 
             กระบวนการทำความเข้าใจต่อปัญหา และ กระบวนการหาวิธีการหรือนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาผู้เรียนจะต้องใช้ความรู้อันหลากหลาย (Multi Knowledge) และ ทักษะที่หลากหลาย(Multi skills)  ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเข้าถึงความเข้าใจหลักของเนื้อหาชุดนั้น และเกิดทักษะอันหลากหลายที่จำเป็นสำหรับศตวรรษใหม่ (21st Century Skills)  ได้แก่
- ทักษะการเรียนรู้และการเรียนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต   ทักษะการสังเคราะห์ข้อมูลและการจัดการความรู้   
- ทักษะชีวิต(ทำกินเป็น  อยู่ได้  ใช้เป็น) เช่น ทักษะ ICT    การทำงานร่วมกัน   การจัดการความขัดแย้ง  การสื่อสาร  การคิดหลายระดับ  การสร้างปัจจัยการดำเนินชีวิต. การดูแลสุขภาพ. การแสวงหาข้อมูล. การปรับตัว การออกแบบวิถีชีวิต. อุปนิสัย.  การชี้นำตนเอง. จิตสำนึกต่อคนอื่น วัฒนธรรมอื่นและต่อโลก

ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้แบบ PBL
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่น้ำมันแพง  สัปดาห์แรกของการเรียน  ครูก็มีกระบวนการในจัดกิจกรรมที่กระตุ้นให้นักเรียนเกิดคำถามกับสิ่งต่างๆ และให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะแก้ปัญหาที่
หลังจากนั้นนักเรียนได้ทำงานร่วมกัน  พูดคุยกัน เพื่อประมวลร่วมกันว่าอยากเรียนรู้เกี่ยวกับอะไร หรือเพื่อแก้ปัญหาอะไร  เมื่อตระหนักร่วมกันว่าอยากศึกษาและผลิตน้ำมันเอง  ครูก็นำมาออกแบบการเรียนรู้แบบ PBL
หลังจากนักเรียนได้เผชิญปัญหาที่เป็นแรงกระตุ้นแล้ว  นักเรียนก็พยายามศึกษาค้นคว้าหานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหานั้น  เรียนรู้การทำน้ำมันไบโอดีเซล  ใช้เวลาเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจประมาณ 3 - 4 สัปดาห์ จนแน่ใจว่ามีวิธีการทำน้ำมันไบโอดีเซล  และนำวิธีการผลิตนั้นมาทดลองทำ  ซึ่งการทำครั้งแรกก็ใช้เวลานาน  เมื่อทำสำเร็จก็นำน้ำมันนั้นมาทดลองใช้ ซึ่งปรากฏผลว่าสามารถใช้ได้
ยังเหลือเวลา 4 สัปดาห์ใน Quarter นั้น  นักเรียนก็ได้นำผลที่ได้จากการผลิตนั้นมาร่วมคุยกันอีกครั้ง  และพบว่ากระบวนการผลิตน้ำมันนั้นใช้เวลาในการทำนาน  จึงได้พัฒนาและแก้ปัญหาต่อว่าจะทำอย่างให้กระบวนการผลิตหนึ่งรอบนั้นใช้เวลาสั้นที่สุด จนสุดท้ายนักเรียนก็สามารถทำได้ในเวลาเพียง 10 ชั่วโมง ต่อกระบวนการผลิตน้ำมันหนึ่งรอบ
ขณะที่เรียนรู้เรื่องนี้ พบว่านักเรียนทุกคนตระหนักกับปัญหาและใส่ใจในการแก้ปัญหานี้ เรียนรู้การทำงานร่วมกัน การแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นมากมายร่วมกัน  จนทำให้นักเรียนได้ค้นพบนวัตกรรมและชื่นชมกับผลสำเร็จที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง
















* โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จัดการเรียนรู้ด้วยการออกแบบเป็นหน่วยบูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) ปีการศึกษาละไม่น้อยกว่า 4 หน่วยการเรียน ต่อชั้นเรียน

1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีค่ะคุณครูวิเชียร ไชยบัง

    คุณครูบรรยายได้เข้าใจง่ายค่ะ ถ้าเพิ่มอ้างอิงหน่อยก็จะดียิ่งขึ้น
    ขอบคุณที่ upload ให้ศึกษาค่ะ

    คุณครูเยาวภา ลอยทะเล

    ตอบลบ