ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความฉลาดภายนอก (ภาษา-ต่อ)


การเรียนรู้ภาษา  ของโรงเรียนนอกกะลา
เป็นการเรียนรู้ภาษาโดยไม่ใช้แบบเรียน  แต่ให้เรียนรู้การใช้ภาษาจริงจากการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลแวดล้อมและการเรียนรู้ผ่านวรรณกรรม
 
การสอนภาษา  จะเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยที่ครูจัดกระทำในสิ่งที่เอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  ผ่านกิจกรรม  ชง  เชื่อม ใช้  ดังกรณีตัวอย่าง  ดังนี้

กรณี  การอ่านเรื่อง / วรรณกรรม
ชง  นักเรียนอ่านเรื่องโดยการอ่านออกเสียง (อ่านคนเดียว / อ่านต่อเนื่องกัน / อ่านพร้อมกัน) หรืออ่านในใจ  หรือครูอ่านให้ฟัง  แล้วให้เด็กค้นหาคำแม่ ก กา หรือคำมาตราตัวสะกด หรือคำเป็นคำตาย หรือชนิดของคำ(นาม กริยา สรรพนาม ฯลฯ) หรือคำราชาศัพท์ หรือคำสุภาพ หรือคำประวิสรรชนีย์ ไม่ประวิสรรชนีย์ หรือคำควบกล้ำ ฯลฯ จากเรื่องที่อ่าน   ตามเป้าหมายของการสอนครั้งนั้น
          เชื่อม   นำเสนอคำที่ได้ และแลกเปลี่ยนคำที่ได้กับเพื่อนในชั้น  ซึ่งจะได้คำที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น    วิเคราะห์ร่วมกัน  เพื่อตรวจสอบว่าใช่หรือไม่  เพราะอะไร   แล้วช่วยกันอธิบายความหมายของคำศัพท์นั้นพร้อมยกตัวอย่าง   หรือ ครูตั้งคำถามเพื่อให้เด็กแต่ละคนได้คิด  ได้แสดงความคิด  ได้รับฟังเพื่อรับรู้แง่มุมที่แตกต่าง  เกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน โดยให้สอดรับกับพฤติกรรมสมอง ดังนี้
จำ : ตัวละครมีใครบ้าง?   เรียงลำดับเหตุการณ์ของเรื่อง
เข้าใจ : สรุปเรื่องหรือข้อคิดที่ได้
วิเคราะห์ / สังเคราะห์ : วิเคราะห์ / สังเคราะห์เหตุการณ์ ลักษณะนิสัยของตัวละคร  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
นำไปใช้  : สรุปเหตุการณ์  เทียบเคียงกับชีวิตจริง
ประเมินค่า :  การกระทำของตัวละครเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร / เหตุการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร
สร้างสรรค์ : แต่งเรื่องใหม่  แต่งตอนจบใหม่  วาดภาพประกอบ  ออกแบบฉาก  การ์ตูนช่อง
ใช้   ให้ผู้เรียนได้ลงมือทำแบบฝึก / งาน / ภาระงาน ที่สอดรับกับพฤติกรรมสมอง

การปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน  
เด็กที่รักการอ่านจะเข้าสู่โลกจริงได้ง่ายเพราะจะไม่ถูกกักขังไว้ในโลกของตัวเอง   การอ่านยังเป็นส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้  เป็นสะพานเชื่อมไปสู่โลกข้างนอกเพื่อสร้างปฏิกริยาต่อการเปลี่ยนแปลงภายใน   การถูกแวดล้อมไปด้วยคนที่รักการอ่านและหนังสือที่น่าอ่าน  สามารถสร้างอุปนิสัยรักการอ่านได้อย่างถาวร   การอ่านจะทำให้เกิดกระบวนการใคร่ครวญได้มากกว่าการฟัง  ส่วนการเขียนยิ่งได้ใคร่ครวญยิ่งกว่า   ปัญญาจากการใคร่ครวญเป็นของส่วนตัว  มันจะเพิ่มพูนของมันเองจากภายใน
การฝึกคัดลายมือ   
การคัดลายมือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ภาษาในการที่จะสื่อสารผ่านสัญลักษณ์   แต่ให้คุณอย่างอื่นโดยเฉพาะช่วงวัยต้นๆ  เพราะการคัดลายมือจะช่วยให้กล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรงและการทำงานของมือกับตาที่สัมพันธ์กัน   ทั้งยังเป็นการฝึกสัมมาสมาธิ  หรือจดจ่อให้ยาวขึ้น  ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพการเรียนรู้ต่อไปในระยะยาว   ในอนาคตการเขียนอาจจะมีความจำเป็นน้อยลงเพราะเทคโนโลยีการพิมพ์และการบันทึกภาพและเสียง
การพัฒนาความสามารถทางด้านการเขียน
การเขียนจำเป็นจะต้องมีศัพท์ในหัวจำนวนมากซึ่งสามารถเพิ่มพูนคำศัพท์ได้จากการอ่าน   ให้การฝึกเขียนเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมออย่างเช่นการเขียนบันทึก   การเขียนยังเป็นการฝึกกระบวนการคิดและการจัดการระบบข้อมูลภายใน   อุปสรรคต่อความสามารถในการเขียนของเด็กบางครั้งก็มาจากเรื่องเล็กน้อย เช่น การแก้คำผิด
"ทำไม่ครูโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจึงติดโชว์ผลงานของเด็กๆ โดยไม่แก้คำผิด?"   เป็นคำถามของครูที่มาเข้าอบรมหลายท่าน

เราคิดว่าการตรวจเช็คและแก้ไขโดยครูเป็นการมองจากครูฝ่ายเดียวซึ่งครู กำลังมองภาษาในรูปแบบตายตัว ไม่ยืดหยุ่น และไม่สามารถนำลองผิดลองถูกได้   การที่ครูแก้คำถูกผิดด้วยสีแดงพรืดเต็มไปหมด อาจทำให้เด็กรู้สึกภาษาเป็นสิ่งน่ากลัว และอาจรู้สึกว่าตัวเองด้อยความสามารถจนไม่กล้าที่จะเขียนคำใหม่ๆ อีกต่อไป
เราเชื่อว่าเมื่อเด็กเริมอ่านหนังสือได้เขาจะตื่นตัวที่จะเช็คคำผิดคำถูกด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อเขารักการอ่านและมีประสบการอ่านมากขึ้นเขาจะยิ่งกระตือรือร้น ในการตรวจเช็คคำผิดด้วยตังเอง
หรือ  ครูแค่รวบรวมคำที่เด็กแต่ละคนเขียนผิดมาเขียนไว้มุมหนึ่งของกระดาน  และให้มีโอกาสได้ใช้บางคำในจำนวนนั้นอย่างถูกต้อง แล้วหลังจากนั้นเด็กๆ  ก็จะตรวจสมุดของตัวเองอย่างกระตือรือร้น
ภาษาจะเป็นสิ่งน่ารำคาญ ถ้ามันอธิบายความหมายที่อยู่ใต้บรรทัดไม่ได้

กรุงเทพธุรกิจ  ISSUE 73   16-22   ตุลาคม 2554

ความฉลาดภายนอก (ต่อ)


ทำไมต้องสอนภาษา? 
           
ทำไมเราต้องสอนภาษาให้กับเด็กๆ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาตรี  ทั้งที่เด็กสี่ห้าขวบก็ใช้ภาษาสื่อสารกับเรารู้เรื่องกันแล้ว?
ภาษาในความหมายอย่างกว้าง หมายถึง กริยาอาการที่แสดงออกมาแล้วสามารถทำความเข้าใจกันได้ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสัตว์ หรือสัตว์กับสัตว์ ส่วนภาษาในความหมายอย่างแคบนั้น หมายถึง เสียงพูดที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันเท่านั้น 
 ภาษาเป็นวัฒนธรรมที่เกิดและวิวัฒนาการมาพร้อมกับมนุษย์  ประมาณจำนวนภาษาที่มนุษย์ใช้อยู่ทั่วโลกเวลานี้ มีถึง 6,800 ภาษา  ในจำนวนนี้เกินกว่าครึ่งหรืออาจจะถึงร้อยละ 90  จะตายไปในไม่ช้า    อย่างเช่น ขณะนี้ มีคนพูดภาษาอูดิฮี ได้แค่ 100 คน   ส่วนภาษาอะริคาปู มีคนพูดได้น้อยยิ่งกว่า เพียง 6 คนเท่านั้น  แต่ที่น่าตกใจที่สุดเห็นจะเป็นภาษาอียัค ที่มีคนพูดได้เพียงคนเดียวในโลก คือคุณยายมารี สมิธ วัย 83 ปี อาศัยอยู่ในเมืองอันโชเรจ รัฐอลาสกา เธอคือคนสุดท้ายที่พูดภาษานี้ได้
การตายของภาษาจะทำให้อารยะธรรมบางอย่างของเจ้าของภาษาตายไปด้วย
สำหรับ 10 ภาษาที่มีจำนวนผู้พูดมากที่สุดในโลกนั้น ได้แก่  ภาษาจีนกลาง มีผู้พูด 885 ล้านคน  ภาษาสเปน 332 ล้านคน   ภาษาอังกฤษ 322 ล้านคน   ภาษาอารบิค 220 ล้านคน   ภาษาเบงกาลี 189 ล้านคน   ภาษาฮินดี 182 ล้านคน, ภาษาโปรตุเกส 170 ล้านคน   ภาษารัสเซีย 170 ล้านคน   ภาษาญี่ปุ่น 125 ล้านคน และภาษาเยอรมัน 98 ล้านคน
บางประเทศมีภาษาใช้จำนวนมากอย่างเช่น  ปาปัวนิวกินีมีกว่า 800 ภาษา  อินโดนีเซีย 731 ภาษา   ไนจีเรีย 515 ภาษา   อินเดีย 400 ภาษาและอินเดียมีภาษาราชการใช้ถึง 15 ภาษา
ภาษาจีน, กรีก และฮิบรู เป็นภาษาโบราณที่ใช้กันมามากกว่า 2,000 ปี  

เป้าหมายของการเรียนรู้ภาษาของโรงเรียนนอกกะลา  จากขั้นพื้นฐานไปสู่ขั้นสูง
1.     เพื่อใช้ภาษาในการรับรู้และสื่อความต้องการ
2.     เพื่อใช้ภาษาเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ให้ความเข้าใจต่อโลกและปรากฏการณ์ต่างๆ
3.     เพื่อใช้ภาษาในการรับรู้และถ่ายทอดอารยธรรม
4.     เพื่อใช้ภาษาในการรับรู้และถ่ายทอดการเข้าถึงสิ่งสูงสุด  

ธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์
เราเรียนรู้ภาษาเริ่มจาก การฟังและการพูด   เป็นการเรียนรู้ที่จะเข้าใจความหมายของเสียง และสื่อสารออกมาได้   ทั้งเสียงสื่ออารมณ์ความรู้สึก  เสียงสูง-ต่ำ น้ำเสียงราบเรียบสม่ำเสมอ  และ เสียงของคำศัพท์ที่ใช้เพื่อสื่อความหมาย
จากนั้นจึงเริ่มหัดอ่าน-เขียน   เป็นการเรียนรู้ที่จะใช้ภาพหรือสัญลักษณ์แทนเสียงของคำศัพท์    ทั้งสัญลักษณ์แทนเสียงที่เปล่งออกมาแล้วมีความหมาย เช่น พ่อ  แม่  มือ  ตา  หู ฯลฯ หรือ  สัญลักษณ์แทนเสียงที่ไม่มีความหมาย เช่น  ก  ข  -ะ   ไ-  ฯลฯ
เมื่อจำสัญลักษณ์ที่แทนความหมายได้บ้างแล้ว  เราจะเริ่มเรียนรู้รูปแบบ หรือโครงสร้างของภาษา  โดยการเทียบเคียงเสียงด้วยรูป หรือ ด้วยการเปล่งเสียง  ซึ่งในขั้นนี้จะเกิดจากเทียบเคียงด้วยตัวเอง หรือ ครูนำการเทียบเคียง  เช่น   ขา ตา มา  หรือ  ตา ตี เตา  หรือ  _าง = กาง คาง นาง วาง  หรือ การผันเสียง เช่น ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า
ขั้นสูงสุดคือการแตกแขนงทางภาษา  เป็นการเห็นรูปแบบหรือการเห็นโครงสร้างภาษา  รูปคำ  ประโยค การแยกแยะคำ การสร้างคำใหม่  จนพลิกแพลงไปใช้ได้ และจะเกิดการเพิ่มพูนคำศัพท์  เห็นถึงคำที่เชื่อมโชงกันจนสามารถสร้างอภิธานศัพท์หรือกลุ่มคำที่สามารถอธิบายสิ่งต่างๆ ใช้เชิงนามธรรมหรือความหมายที่แท้จริงของสิ่งนั้นได้   ซึ่งจะเกิดขึ้นด้วย การฝึกฝน การสั่งสม  และ การสร้างอภิธานศัพท์

กรุงเทพธุรกิจ  ISSUE 71    2-8  ต.ค.54