วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
หงายกะลาพัฒนาครู1
วันที่ 25 ก.ค.2553
ครูทุกคนรวมทั้งคุณเจมส์พร้อมเพรียงกันที่ห้องประชุมตอนแปดโมงครึ่งในเช้าวันอาทิตย์ของช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ยาวติดต่อกันสี่วันรวมวันเข้าพรรษาด้วย ซึ่งน่าจะเป็นช่วงวันหยุดพักผ่อนของครู ผมนัดหมายเพื่อมีการจัดอบรมครูสี่วันติดต่อกันโดยที่ไม่ได้บอกให้รู้ว่ากำหนดการเป็นอย่างไร หรือใครเป็นวิทยากรบ้าง แจ้งเพียงให้ทุกคนเอาหมอนมาด้วย
ผมเชิญคุณจตุพร นักกระบวนกรซึ่งมีครูหลายคนรู้จักผ่านทางเฟสบุ๊ค มาเป็นวิทยากรโดยไม่ได้กำหนดหัวข้อและไม่กำหนดระยะเวลาให้ ทั้งนี้เพราะผมอยากได้ตัวตนของเขา การดำเนินกิจกรรมอบรมของวิทยากรมุ่งไปสู่กระบวนการถอดบทเรียนด้วยการสื่อสาร การเล่าเรื่อง การสร้างบรรยากาศเพื่อการสนทนา ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นครูเราเคยทำกันมาแล้วไม่น้อย แต่ครูก็ไม่ได้แสดงความเบื่อหน่ายกลับตั้งใจให้ความร่วมมือกับวิทยากรเป็นอย่างดีเพราะตัวตนของวิทยากรได้เผยออกด้วยความเป็นมิตร ผ่อนคลายและลื่นไหล
เรามีเบรกเช้าและบ่ายที่เบาสบายมากเป็นน้ำสมุนไพรกับลูกเกดคนละ 6 เมล็ด และ เกาลัดอีก2 เมล็ด ครูทุกคนยิ้มให้กับเบรกที่ไม่เข้าใจและคาดไม่ถึง กิจกรรมของคุณจตุพรสิ้นสุดราวบ่ายสามโมง
หลังเบรกบ่ายเรานอนดูหนังยาวร่วมกันเรื่อง The Chorus ซึ่งเป็นเรื่องราวของครูคนหนึ่งที่ตั้งใจนำพาจิตวิญญาณของเด็กที่บอบช้ำผ่านท่วงทำนองเพลงChorus
หกโมงเย็นผมเล่าเรื่องราวและความคิดจากการได้ไปดูบางโรงเรียนที่เนปาล
หนึ่งทุ่มเรารวมกันที่ลานใต้ร่มไผ่ ครูอ้อนปิดไฟและจุดตะเกียงน้ำมันไว้รายรอบ เรานั่งล้อมวงกันกินแหนมเนือง แล้วทุกคนได้กินผักจนหมดเกลี้ยงเพราะความหิว
ตลอดเวลาครูทุกคนก็ยังสงสัยว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น
ราวสองทุ่มครูอ้อนฉายวีดีโอที่เด็กๆ พูดถึงคุณเจมส์ แล้วกระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์กรก็เริ่มขึ้นจากครูรุ่นแรกๆ สู่ครูใหม่ เริ่มจากเรื่องเล่าของคุณเจมส์ว่าทำไมจึงสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้เกิดโรงเรียนแห่งนี้ ผมฉายภาพเก่าๆ ตั้งแต่เริ่มการก่อสร้าง ฉายภาพกิจกรรมต่างๆในปีแรกเพื่อให้ครูที่เกี่ยวข้องได้เล่าประสบการณ์และความรู้สึกทั้งมวลออกมา เราได้อมยิ้มให้กับความลำบากที่ผ่านมา หัวเราะครื้นเครงกันหรือไม่ก็เขินอายกับบางภาพหลุดๆ ผมรู้สึกได้ว่าตอนนั้นโลกได้กลมแคบเข้ามาล้อมไว้เพียงเรา
หลังจากนั้นครูอ้อนได้ฉายวีดีโอที่เด็กๆ ได้พูดถึงครูแต่ละคนอย่างประทับใจ สำหรับครูบางคนกลับต้องนำ้ตาซึมเมื่อเห็นภาพเรื่องราวจากพ่อแม่ที่พูดถึงตนเองด้วยความหวัง ความฝัน และปรารถนาที่จะให้ลูกเป็นครูที่ดี
เราจบวันแรกด้วยความรู้สึกปีติ ชีวิตได้ลื่นไถลผ่านวันอันยาวนานอย่างนิ่มนวล ตอนนั้นเวลาปาไปเกือบสี่ทุ่มแล้ว
วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
โรงเรียนเป็นเหมือนนักเดินทาง
ขึ้นชื่อว่านักเดินทางเขาคงไม่สบายใจถ้ามีใครเอาสายวัดระยะมาวัดเพื่อบอกว่าเขาเดินทางไปได้ไกลแค่ไหน หรือ เข้าใกล้ที่ใดสักแห่งเพียงใด เพราะนักเดินทางไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเดินให้ถึงที่ไหนสักแห่งแต่มีจุดประสงค์เพื่อเก็บเกี่ยวเรื่องราวระหว่างทาง ได้ใคร่ครวญครุ่นคิดกับสิ่งที่พบเห็น รับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้น พัฒนาความงอกงามด้านในโดยปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการได้เดิน
โรงเรียนทุกแห่งคงไม่สบายใจถ้ามีองค์กรประเมินมาตรฐานโรงเรียนเข้ามาประเมินแล้วไม่ได้ค้นหาเพื่อบอกสิ่งที่คุณค่าจริงๆ บอกได้เพียงความจริงไม่แท้จากการใช้เครื่องมือประเมินที่มีดัชนีชี้วัดที่วัดได้เฉพาะระยะทาง หรือ การมีผู้ประเมินจับจ้องเพียงระยะทางที่โรงเรียนจะไปถึงที่ไหนสักแห่ง โดยที่ไม่ได้สนใจเลยว่าโรงเรียนนั้นเดินอยู่บนเส้นทางไหน ระหว่างเดินทางได้เก็บเกี่ยวอะไรไว้บาง เกิดความสุขปีติขณะเดินทางมากน้อยเพียงใด หรือ เกิดความงอกงามด้านในเพียงใด
มาตรฐาน กำหนดอย่างตายตัวว่าความสำเร็จต้องเป็นอย่างไร ดัชนีก็ชี้แคบจำเพาะลงไปเพื่อจับทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมให้เป็นรูปธรรมอย่างเดียว
ทั้งที่โรงเรียนแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน เสมือนคนแต่ละคนที่มีความเป็นเฉพาะของตัวเอง หรือ เสมือนไม้ในป่าที่ต้องมีความแตกต่างหลากหลายพันธุ์เพื่อเกื้อกูลกันให้เป็นป่า แม้โรงเรียนซึ่งจัดโดยรัฐที่เป็นรูปแบบแบบเดียวกันแต่เมื่อตั้งอยู่ในชุมชนที่มีความแตกต่างทั้งทางภูมิศาสตร์ ความเป็นอยู่ วิถีการดำเนินชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม วัฒนธรรมหรืออื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สอดผสานเข้าสู่โรงเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอมเด็กๆ ไปด้วย การประเมินมาตรฐานโรงเรียนจึงควรเคารพถึงความแตกต่างระหว่างโรงเรียนอย่างยิ่ง ยอมให้เกิดความยึดหยุ่นทั้งมาตรฐานและดัชนี ทั้งยังต้องมีผู้ประเมินที่ไม่ใช่เทวดาแต่เป็นมนุษย์ธรรมดาที่ประกอบด้วยทั้งหัวใจและสมอง และที่สำคัญทั้งครู ผู้เรียน ผู้ปกครอง และชุมชนควรมีส่วนร่วมในการประเมินในสัดส่วนที่เป็นค่าส่วนใหญ่
เป้าหมายคือมาตรฐานและตัวชี้วัดนั้นเป็นเพียงความคาดหวังในอนาคตซึ่งยังไม่มีจริง เราควรค้นหาและให้คุณค่ากับสิ่งที่มีจริงๆ ในแต่ละโรงเรียนขณะปัจจุบันนั้น เพราะนั่นคือความสดใหม่ที่ทันการณ์ทันใช้ในบริบทของชุมชนนั่นๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์กรที่ให้การศึกษาไม่ใช่หรือที่จะต้องสร้างความสดใหม่ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก แล้วโรงเรียนซึ่งหมายถึงทั้งผู้เรียน ครู ผู้ปกครองและคนในชุมชนจะกลายเป็นนักเดินทางที่มีความสุข อิสระ และ เกิดความงอกงามด้านในจริงๆ
วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
โรงเรียนฤาษี
กรอบคิดอุตสาหกรรม เมื่อพนักงานเข้าสู่โรงงาน จะถูกแยกส่วน แยกงานให้ทำอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างเดียวซ้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดทักษะในการทำสิ่งนั้นๆ อย่างรวดเร็ว นั่นคือโรงงานจะให้ได้ชิ้นงานออกมาอย่างรวดเร็วในปริมาณมากๆ เช่น ในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า จะแบ่งกลุ่มคนทำหน้าที่ต่างๆ ได้แก่ เจาะรังดุม ทำปกคอ ตัดแขนเสื้อ ตัดแผ่นหลัง ตัดแผ่นหน้า เย็บแขนเสื้อ ประกอบเป็นตัว เป็นต้น วิธีการเหล่านี้จะทำให้โรงงานจะสามารถจ่ายค่าแรงได้ถูก ไม่ต้องง้อคนงานเพราะสามารถหาแรงงานทดแทนได้ง่าย ฝึกคนงานใหม่ทดแทนได้เร็วเพราะฝึกเพียงทักษะเดียว แต่พนังงานทั้งหมดจะอ่อนแอไม่สามารถตัดเย็บเสื้อทั้งตัวเป็น ไม่มีโอกาสได้ฝึกทักษะใหม่เพราะถูกกำหนดระยะเวลาทำงานต่อวันที่ยาวนานและปริมาณเป้าหมาย สุดท้ายการดำเนินชีวิตจะถูกกำหนดด้วยวิถีของโรงงาน
การศึกษามีส่วนที่คล้ายกับวิถีของโรงงาน หลักสูตรแกนกลางถูกกำหนดค่อนข้างแข็งรูปและคงอยู่ยาวนาน อาจใช้เวลากว่าสิบปีจึงมีการเปลี่ยนแปลงสักทีนั่นย่อมไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งสภาพแวดล้อม การเมือง เศรษฐกิจ และ สังคม หลักสูตรยังถูกแยกเป็นช่วงชั้น เป็นวิชา ฝึกทักษะเป็นอย่างๆ และใช้เวลายาวนาน กว่าคนๆ หนึ่งจะเรียนได้ครบถ้วนและสามารถประติดประต่อมวลความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมาจนสามารถดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาตัวเองได้ต้องมีอายุเลยยี่สิบปี
สอนกันแบบฤาษี เป็นการเรียนรู้ผ่านการถ่ายทอดมวลความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จริงจากครูที่เป็นฤาษี ซึ่งไม่มีหลักสูตรตายตัว ไม่ครอบงำด้วยเงื่อนไขแบบอุตสาหกรรม เช่น เวลา การวัดความสำเร็จออกมาเป็นตัวเลข การตีค่า การประเมินความคุ้มค่า เป็นต้น ซึ่งหมายถึงผู้เรียนจะได้เรียนทุกมวลของความเป็นมนุษย์จริงๆ 1 ชุด และ เมื่อได้เรียนรู้หลายๆ ชุดจากครูฤาษีหลายๆ คน ผู้เรียนจะเกิดการประมวลผลด้านใน จนก่อรูปเป็นตัวตนของมนุษย์อีกคนหนึ่งซึ่งไม่เหมือนใครเป็นลักษณะเพราะที่ประมวลเอาจุดแข็งที่ได้เรียนรู้มาเข้าเป็นก้อนใหม่ ที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมใหม่ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง และทางสังคม
ประเด็นที่อาจจัดให้เกิดการเรียนรู้จากฤาษี ได้แก่ เรียนรู้รูปแบบการดำเนินชีวิต การสร้างปัจจัยที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิต การปรับสมดุลระหว่างกายกับจิต ทำความเข้าใจค่านิยม ความคิด ความเชื่อที่ใช้ในการดำเนินชีวิต ฝึกฝนทักษะที่ใช้ดำเนินชีวิตทั้งหมด ซึมซับความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า เป็นต้น และ เราไม่จำเป็นต้องกังวลกับคุณสมบัติของครูที่จะเป็นฤาษีเพราะทุกชีวิตมีคุณค่าที่ควรค่าแก่การเรียนรู้อยู่แล้ว
โรงเรียนฤาษี จึงมีหวัง
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)