ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

จัดดอกไม้ในใจคน


การพัฒนาครู

“มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่จะสอนความเป็นมนุษย์ได้” ครูจึงสำคัญยิ่งต่อคุณภาพการศึกษา กระบวนการรับครูไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ไม่ได้ให้ผลแตกต่างกันมากนัก แต่สิ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพของครูจริงคือกระบวนการพัฒนาครูผ่านวัฒนธรรม องค์กร ได้แก่

- การทำ ให้เห็นเป้าหมายร่วมกัน การมีความรู้สึกร่วมในเป้าหมาย และ การรู้วิธีทำให้ไปสู่เป้าหมายนั้น

- การพัฒนาครูอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยผ่านการปฏิบัติงาน การสะท้อนงาน สนทนาอย่างเป็นกัลยาณมิตร การประชุมเพื่อย่อยประสบการณ์ที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ เป็นต้น ทั้งนี้ทีมครูรุ่นพี่ที่มีความสามารถถึงขั้นสอนผู้อื่นได้ จะมีบทบาทมากต่อการพัฒนาครูรุ่นใหม่ๆ

- การทำงานเป็นทีม คือ คิดแบบร่วมมือ ไม่ใช่คิดแบบแข่งขัน

- กรอบความคิดที่เป็นบวก เชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ และการมองเห็นคุณค่าของคนอื่นหรือสิ่งอื่น

- การสร้างบรรยากาศในการทำงาน ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับครู ครูกับผู้เรียน ครูกับผู้ปกครอง

วิเชียร ไชยบัง

วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

จิตวิญญาณอิสระ



    เมื่อพยายามครอบครองสายลมโดยเอาภาชนะครอบมันไว้ เราจะสูญเสียมันไป  ลมต้องเป็นอิสระ  ลมต้องได้พัด เราจึงจะรู้สึกได้ว่ามีมันอยู่

    จิตวิญญาณของมุษย์ก็เป็นเช่นกัน มันจะปรากฎขึ้นเมื่อปราศจากสิ่งที่ครอบไว้
    จิตวิญญาณของเราทุกคนมีความเป็นอิสระแล้วตั้งแต่ต้น   เราปรากฏขึ้นมาในจักรวาลพร้อมกับความบริสุทธิ์ผุดผ่อง  ไม่มีความรู้สึกว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี   ไม่มีสิ่งใดชอบหรือไม่ชอบ  ปราศจากการรับรู้ว่าสิ่งใดมีอยู่หรือไม่มีอยู่  ไม่มีแม้แต่เจตจำนงใดๆ
    แต่แล้วทันทีหลังจากเกิด เราจะถูกห่อหุ้มไว้ด้วยความรัก   ความรักอันอบอุ่นได้ล้อมรัดเราไว้ในชั้นแรก  ชั้นถัดมาคือกำแพงของความคาดหวัง  พ่อแม่พี่น้องที่ได้มอบความรักและให้การกระทำทั้งหมดเพื่อให้ผู้ที่มาใหม่เติบโตเป็นคนดีพอที่จะเลี้ยงดูหรือตอบแทนในโอกาสถัดมา   พ่อแม่  ครู ผู้สอนศาสนาหรือคนรอบข้างมักอยากให้ผู้ที่มาใหม่เป็นอย่างนั้นหรือทำอย่างนี้อย่างที่ตนเองคิดหรือตนเองต้องการ  มีความหวังลึกๆ ว่าจะสลักเสลาเขาให้ได้รูปลักษณ์อย่างที่ตนเองจิตนาการ   ความรักจึงมาพร้อมกับเงื่อนไขของการอยากได้กลับคืน   เด็กๆ  จึงเติบโตขึ้นมาพร้อมกับโซ่ตรวนของความคาดหวัง
    คนมาก่อนได้ก่อกำแพงของความกลัวขึ้นโดยกำหนดมาตรฐานของบาปและการลงโทษ  การลงโทษสุดแต่จะสรรหาวิธีตั้งแต่การเปรียบเทียบ  การตีค่า  การกล่าวหา ประณาม  การโบยตี ไปจนถึงการตกนรก จนภาพของความทุกข์จากการลงโทษได้ฝังอยู่ในจิตใจลึกๆ ของผู้มาใหม่  ผู้มาก่อนยังได้แสดงพลังอำนาจให้คนที่มาใหม่กลัวยิ่งขึ้นด้วยการหักหาญผู้ที่อ่อนแอกว่าเพื่อการครอบครองโดยทำสงคราม  และการออกกฎหมายเพื่อควบคุม   ความกลัวทั้งหมดที่ถูกสร้างขึ้นนั้นเพื่อให้ผู้มาใหม่ได้เชื่องเชื่อ
    กำแพงของความเกลียดชังได้ก่อขึ้นตามมา   ผู้คนล้อมกลุ่มก้อนของตัวเองไว้ด้วยกำแพงของศาสนา  กำแพงของเผ่าพันธุ์เชื้อชาติ  กำแพงของขอบเขตประเทศ  กำแพงของภาษา  กำแพงประเพณีวัฒนธรรม และ อื่นๆ อีกหลายชั้น  
    เราจึงถูกล้อมด้วยกำแพงห้องอันคับแคบ  บ้านอันคับแคบ  รั้วบ้านอันคับแคบ  เมืองอันคับแคบ และประเทศอันคับแคบ  ทั้งที่โลกและจักรวาลอันกว้างใหญ่มีพื้นที่มากพอที่จะให้เราแต่ละคนเป็นอิสระ
      (รายละเอียดโปรดติดตามในหนังสือ.. การเดินทางนอกกะลา) 
การสลัดหลุดต้องอาศัยความกล้าหาญ อย่างแรงกล้า  
นี่เป็นบางประสบการณ์ของคุรุOsho
ในช่วงมัธยมปลายข้าพเจ้าเคยเข้าเรียนวิชาคณิตศาสตร์   ในวันแรกที่ข้าพเจ้าเรียน  อาจารย์เพียงแค่แนะนำหัวข้อวิชาเท่านั้น  ข้าพเจ้าได้ลุกขึ้นและกำลังจะเดินออกจากห้องไป  อาจารย์ได้พูดว่า "เจ้ากำลังจะไปไหนโดยที่ไม่บอกกล่าว? ข้าจะไม่อนุญาตให้เจ้ากลับเข้าห้องอีก"  ข้าพเจ้าตอบกลับไปว่า "ผมเองก็ไม่คิดว่าจะกลับมาอีก อย่ากังวลไปเลย นี่คือสาเหตุที่ผมไม่ได้บอกท่าน
                       

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

จิตไหว-ใจสะเทือน


วันหนึ่งผมได้ email จากครู  กับเหตุการณ์เล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่สำหรับโรงเรียนฯ เราพยายามกันเป็นแรมปีเพื่อให้นักเรียนคนหนึ่งหายจากอาการ School phobia

สวัสดีค่ะ  คุณครูทุกท่าน... ครูน้อยมีเรื่อง  เด็กชายบูม  จะมาเล่าสู่คุณครูฟังค่ะ...
เมื่อวาน (วันพฤหัสฯ)  ตอนเช้ายายหงวน (น้องยาย) มาส่งบูมและพี่สตางค์ที่โรงเรียน
บูมยอมลงจากรถโดยไม่ร้องให้งอแง  และเดินมากับพี่สตางค์แต่ไม่ถึงตึกอนุบาลมาถึงแค่ใต้ต้นไผ่ (ข้างห้อง ป.1) และอยู่ตรงนั้นจนถึงเวลาเพื่อนเข้าแถว (ก่อนหน้านั้นมีคุณครูหลายคนพยายามคุยด้วยและทักทาย  เช่น  ครูแสง  ครูภร  ครูน้อย  ครูแป้ง  ครูใหญ่  พี่แต้ว ฯลฯ  สำหรับครูบางคนบูมจะคุยด้วยนิดหน่อย  บางคนบูมเดินหนี  และบางคนเขาก็เฉยชาแสร้งไม่ได้ยินและไม่สนใจ)
     หลังจากเพื่อนเข้าแถวเสร็จ  ครูใหญ่และครูน้อยเดินตามหาบูมเพื่อจะพูดคุยกับเขาถึงชิ้นงานสนุกๆ ที่เขาจะได้ทำในวันนี้ (ใช้ชิ้นงานเพื่อดึงดูดให้เขาเข้ามาใกล้เรามากขึ้น)
    มาที่ร่มไผ่ที่เขาเคยอยู่กลับไม่เจอ  ไปเจอเขาวิ่งหลบอยู่ตรงพุ่มไม้ทางเข้าหน้าโรงเรียน  ครูใหญ่ให้พี่ฮ้อ ป.4 ไปคุยกับบูมก่อนที่ครูใหญ่จะเดินเข้าไปหา  ระหว่างนั้นครูน้อยกับใบตอง (เพื่อน อ.2) เดินไปเก็บก้อนหินเพื่อนำมาเป็นสื่อให้บูมมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมวันนี้
    ครูใหญ่พาบูมเดินมาหาครูกิ๊บและเพื่อนๆ อนุบาล2 ถามเด็กๆ เกี่ยวกับกิจกรรมที่เด็กๆ ทำเมื่อวาน  เด็กๆ บอกว่าได้เป่าสีสนุกมาก  ครูใหญ่เล่าให้เด็กๆ ฟังเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้จากการเป่าสี  และถามบูมว่า "ได้เป่าสีหรือยัง?"   บูมบอกว่า "ยังไม่ได้ทำ"  (เนื่องจากในวันอังคาร คุณตามาส่งและบูมร้องให้  ตาจึงพากลับบ้านด้วย)  ครูใหญ่จึงถามเพื่อนๆ ในชั้นเรียนว่า  "อยากให้บูมมาเรียนกับเพื่อนๆ ไหม?"
     เด็กทุกคนตอบว่าอยากให้บูมมาเรียนด้วย
  "บูมอยากมาเรียนกับเพื่อนๆ ไหมล่ะ"  ครูใหญ่หันไปถามบูม  บูมพยักหน้าตอบรับ
    "เด็กๆ อยากให้บูมเข้าแถวตรงไหนดี" ครูใหญ่ถามพี่นักเรียนอนุบาล 2  เด็ก ๆ ทุกคนยินดีให้บูมเข้าแถวข้างหน้า  ครูใหญ่บอกบูมว่าวันนี้จะได้เป่าสีกับครูน้อยและครูกิ๊บ  ครูทุกคนที่ยืนอยู่ด้วยกันต่างก็เห็นแววตาที่มีความสุขที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากเพื่อนๆ
     ครูน้อยกับใบตอง(เด็กผู้ชาย อ.2) ยืนดูเด็กๆ พูดคุยกับครูใหญ่  ในมือถือก้อนหินกำไว้แน่นทั้งสองคน  ครูใหญ่ถามว่า วันนี้ครูน้อยจะพาเด็กๆ ทำอะไร  ครูน้อยบอกว่า เมื่อสักครู่ไปเก็บก้อนหินกับพี่ใบตองเพื่อจะพาเด็กๆ ต่อเป็นรูปต่างๆ และเก็บมาฝากเพื่อนๆ ในห้องทุกคนคนละ  1  ก้อน  บูมช่วยครูน้อยถือ ก้อนหินแบ่งกันคนละกำมือ  ครูใหญ่บอกบูมให้ดูแลให้ดีถ้าหายไป 1  ก้อน  เพื่อนจะไม่ได้  1  คน  ท่าทางบูมมีความสุข  ยิ้ม  ร่าเริง  หลังจากนั้นแถวเด็กผู้ชายจึงเดินตามหลังครูใหญ่โดยมีบูมเป็นหัวขบวนรถไฟวันนี้
    กิจกรรมพัฒนาร่างกายและสุนทรียะ  ครูน้อยพา เด็กๆ ทำกิจกรรมร้องเล่นเต้นสนุก  บูมยังดูแลก้อนหินโดยเก็บใส่กระเป๋า กางเกงและตั้งใจทำกิจกรรมดีมาก
    เขายังเอาก้อนหินมาให้ดูทุกครั้งที่ ครูเอ่ยถามว่าก้อนหินยังอยู่ครบหรือปล่าว?? แต่วันนี้เขายังไม่ได้แจกก้อนหินให้เพื่อน  เพราะครู น้อยไปช่วยครูต๋อยจัดอบรมให้ครูปฐมวัยจากโรงเรียนต่างๆ
    เมื่อเจอครู น้อยในตอนเย็น   บูมรีบวิ่งเอาก้อนหินมาให้ดูและบอกว่ายังไม่ได้ แจกเพื่อนและยังไม่ได้ต่อรูปภาพก้อนหิน   ครูน้อยบอกบอกความจำเป็นที่ไม่ได้พาเด็กๆต่อก้อนหิน  แต่ดูเหมือนบูมจะเข้าใจว่าครูน้อยไม่ว่างจริงๆ และครูกิ๊บต้องอยู่กับเด็กๆ หลายคนเลยไม่ได้พาทำกิจกรรมดังกล่าว
   "พรุ่งนี้ครูน้อยอยู่กับเด็กๆ ทั้งวัน  ครูน้อยจะพาต่อนะคะ  บูมดูแลก้อนหินอย่าให้หายไปนะ  เดี๋ยวเพื่อนจะได้ไม่ครบ  และพรุ่งนี้เอามาด้วยนะ"  "ครับ" บูมตอบอย่างภาคภูมิใจ
    แล้ววันนี้บูมก็อยู่ในห้องได้ทั้งวัน  โดยไม่มีอาการหวาดกลัวครูหรือโรงเรียน จนถึงเวลากลับบ้าน  และดูเขาจะมีความสุขมากตอนที่ได้เป่าสีในในช่วงเวลาพักกลางวันซึ่งครูจัดให้เป็นพิเศษ  เพื่อนๆ หลายคนมาให้กำลังใจบูมและแนะนำการเป่าสี
    วันนี้ (วันศุกร์)  บูมมาโรงเรียนแต่เช้า  เขารีบวิ่งมาหาครูน้อยพร้อมกับโชว์ก้อนหิน  บอกว่า "ผมดูแลก้อนหินไม่หายซักก้อนเลย"  (ก้อนหินยังอยู่ในกระเป๋ากางเกงด้านขวาเหมือนเดิม)  ครูน้อยบอกว่าวันนี้จะพาต่อ ก้อนหินแต่ต้องถามกับใบตองด้วยเพราะที่เหลืออีกส่วนหนึ่งอยู่กับใบตอง   แต่โชคร้ายค่ะ  (...สำหรับครูน้อยคิดว่าคงโชค ดีค่ะ) เพราะใบตองบอกเพื่อนๆ ทุกคนว่าลืมเอาก้อนหินมา  วันนี้เลยอดเล่นอีกแล้ว  ครูน้อยเลยบอกบูมว่า "งั้นครูน้อยฝากบูมดูแลก้อนหินให้เพื่อนๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์ และนำมาใหม่วันจันทร์นะคะ"  และให้ความสำคัญกับบูมโดยให้ช่วยเตือนใบตองนำก้อนหินมาในวันจันทร์ด้วย  พวกเราจะได้เล่นก้อนดินด้วยกันทุกคน
   ....ในสองวันนี้บูมอยู่ในชั้นเรียนกับเพื่อนๆ ตลอด  แถมยังแบ่งปันข้าวกระยาสาทรให้เพื่อนๆ ได้กินกันด้วยนะคะ... ถึงแม้จะเป็นเวลาแค่สองวัน  แต่สำหรับครูน้อยและครูกิ๊บมันคือช่วงเวลาที่ดีที่สุด  ที่สามารถทำให้เด็กคนหนึ่งที่กลัว โรงเรียนสามารถเผชิญกับปัญหาได้ด้วยรอยยิ้มที่เบิกบาน

เรื่องเล่าเล็กๆ บางทีก็อาจทำจิตถึงกับไหว ทำให้ใจต้องสะเทือน

วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พื้นที่ปลอดภัย



หนังเรื่อง  Good Will Hunting  ที่มีชื่อเรื่องภาษาไทยว่า  "ตามหาศรัทธารัก"  นั้น  เป็นเรื่องราวของ  วิลล์ฮันติ้ง  ภารโรงหนุ่มของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง   เขาเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์คือความเป็นอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์  สามารถแก้โจทย์คณิตศาสตร์ที่ไม่มีนักศึกษาคนใดทำได้  เขาพยายามปกปิดความสามารถของตัวเอง  เมื่อศาสตราจารย์ที่สอนมองเห็นศักยภาพนั้น และพยายามดึงเขาเข้ามาปลูกปั้นให้เป็นนักคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่  แต่เขากลับไม่สนใจ  เอาแต่มั่วสุ่มกับเพื่อนอันตพาลซึ่งมีความภักดีต่อกัน  และคอยโกหกทุกคนเพื่อหลบหลีกเรื่องราวต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ลึก  เมื่อเขารักกับใครสักคนเขาจะเป็นฝ่ายทิ้งเธอไปเสียก่อนเพราะกลัวการปฏิเสธหรือถูกทิ้ง  จนเมื่อเขาได้พบจิตแพทย์  ฌอน  แม็กไกว์  ที่มี ปมจากพราก ในวัยเด็กคล้ายกัน  เขาจึงได้คลี่คลายปมในวัยเด็ก  แล้วเขาก็พบว่าแท้จริงตัวเองต้องการอะไร 

เด็กนักเรียนที่มีอาการ School Phobia  ก็มักจะมาพร้อมอาการโกหก อาการนี้มีสาเหตุจาก ปมจากพรากที่ไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกวิธีจนทำให้ปมนั้นแสดงอาการรุนแรงมากขึ้น  เขามักจะบอกคนที่บ้านว่า ไม่มีการบ้าน  เพื่อนแกล้ง ครูไม่อยู่  หรือ ไม่สบาย เพื่อจะไม่ให้ได้ไปโรงเรียน  จนบางครั้งอาจแสดงอาการไม่สบายออกมาเป็นอาการป่วยจริงๆ  และมักโกหกเพื่อนหรือครูที่โรงเรียนว่าเขาประสบปัญหามากมายในชีวิตที่เป็นอุปสรรคต่อการมาโรงเรียน เช่น ยากจน ต้องคอยดูแลพ่อที่ป่วยหนัก การเดินทางลำบาก เป็นต้น    

  เฟรดเดอริค  นิชเช่  พูดไว้ว่าคนเราไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้  หากไม่โกหก  สำหรับคนเก้าสิบเก้าเปอร์เซนต์เขาพูดได้ถูกต้อง  ทำไมคนถึงไม่สามารถอยู่ได้หากไม่โกหก?  การโกหกเปรียบได้กับกันชน  มันเป็นตัวกันกระแทก  การโกหกหลอกลวงทำหน้าที่คล้ายกับน้ำมันหล่อลื่น  ท่านไม่ไปแย้งหรือปะทะกับคนตลอดเวลา  ท่านยิ้้มและคนอื่นก็ยิ้ม นี่คือน้ำมันหล่อลื่น ท่านอาจจะรู้สึกโกรธอยู่ภายใน ท่านอาจจะเต็มไปด้วยความเดือดดาล แต่ท่านก็พูดกับคนอื่นด้วยท่าทีที่รักษาน้ำใจ  เพราะเรารู้ว่าการแสดงออกถึงความเดือดดาลอาจนำท่านไปสู่ความยุ่งยาก
     อาการ School Phobia อาจจะเกิดได้ตั้งแต่ อนุบาลจนถึงเรียนปริญญาซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันไป  แต่ที่เหมือนกันคือจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของคนคนนั้นอย่างยิ่ง  ขากแรงจูงใจต่อการเรียน ส่งผลให้ ไม่เข้าเรียนจนไม่มีสิทธิสอบ ติดศูนย์ ติดรอ หลายๆ วิชา และ อีกอย่างอาจจะส่งผลด้านบุคลิกภาพอย่างยิ่งถ้าเขาติดโกหกจนเป็นนิสัย จนอาจส่งผลให้ชีวิตล้มเหลว
     อาการนี้แก้ไขได้ไม่ยากถ้าครูและผู้ปกครองที่เข้าใจต้นเหตุแล้วร่วมกันใช้ วิธีปรับที่เหมาะสม ขณะเดียวกันต้องให้เขามีพื้นที่ปลอดภัยเพียงพอ   ผมเชื่อว่าด้วยสัญชาตญาณมนุษย์จะไม่ยอมให้ตัวเองจนมุมจนล้มเหลว แต่นั่นขึ้นอยู่กับว่าการรุกไล่ของอีกฝ่ายจะทำด้วยจังหวะลงตัวพอดีเพียงใด  เป็นรุกไล่เพื่อการปกป้องหรือการทำลาย

วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

พันธนาการจากความคิดเคยชิน

   

วันหนึ่งไอน์สไตน์ถามนักเรียนในห้องเรียนว่า "มีคนซ่อมปล่องไฟสองคนกำลังซ่อมปล่องไฟเก่า พอพวกเขาออกมาจากปล่องไฟปรากฏว่าคนหนึ่ง ตัวสะอาด อีกคนหนึ่งตัวเลอะเทอะเต็มไปด้วยเขม่า ขอถามหน่อยว่าคนไหนจะไปอาบน้ำก่อน"
      นักเรียนคนหนึ่งตอบว่า "ก็ต้องคนที่ตัวสกปรกเลอะเขม่าควันสิครับ"
      ไอน์สไตน์พูดว่า "งั้นหรือ ลองคิดดูให้ดีนะ คนที่ตัวสะอาดเห็นอีกคนที่ตัวสกปรกเต็มไปด้วยเขม่าควัน เขาก็ต้องคิดว่าตัวเองออกมาจากปล่องไฟเก่าเหมือนกัน ตัวเขาเองก็ต้องสกปรกเหมือนกันแน่ๆเลย ส่วนอีกคนเห็นฝ่ายตรงข้ามตัวสะอาด ก็ต้องคิดว่า ตัวเองก็สะอาดเหมือนกัน ตอนนี้ผมขอถามพวกคุณ อีกครั้งว่า ใครที่จะไปอาบน้ำก่อนกันแน่"
      นักเรียนคนหนึ่งพูดขึ้นมาด้วยวามตื่นเต้นว่า "อ๋อ ผมรู้แล้ว พอคนที่ตัวสะอาดเห็นอีกคนสกปรก ก็ต้องนึกว่าตนเองสกปรกแน่ แต่คนที่ตัวสกปรก เห็นอีกคนสะอาด ก็นึกว่าตนเองไม่สกปรกเลย ดังนั้นคนที่ตัวสะอาดต้องวิ่งไปอาบน้ำก่อนแน่เลย... ถูกไหมครับ..."
      ไอน์สไตน์มองไปที่นักเรียนทุกคน นักเรียนทุกคน ต่างเห็นด้วยกับคำตอบนี้ ไอน์สไตน์จึงพูดขึ้น อย่างมีหลักการและเหตุผล "คำตอบนี้ก็ผิด ทั้งสองคนออกมาจากปล่องไฟเก่าเหมือนกัน จะเป็นไปได้อย่างไรที่คนหนึ่งสะอาด อีกคนหนึ่งจะสกปรก เมื่อความคิดของคนเราถูกชักนำจนสะดุด ก็จะไม่สามารถแยกแยะ และหาเหตุผลแห่งเรื่องราวที่แท้จริงออกมาได้..."     

       การคิดอย่างมีวิจารณญาณ  อย่างหนึ่งที่หมายถึงการคิดเพื่อการตัดสินใจเลือกอย่างมีเหตุผล  ซึ่งสุดท้ายคนที่คิดก็ต้องเลือกพร้อมชั่งน้ำหนักเหตุผล  นั่นก็ไม่ได้หมายถึงผลจะออกมาแต่ด้านบวกเท่านั้น  คุณภาพของผลการคิดนี้จะต้องได้จากการมีข้อมูลครบถ้วน และ การชักนำชี้ทางไปในทางที่ถูกที่ควร  เครื่องชี้ทางหมายรวมถึงเครื่องชี้ทางภายนอก เช่น ทฤษฎี  คำสอน  บุคคล  กรอบระเบียนกฎหมาย จารีต ค่านิยม ฯลฯ  และเครื่องชี้ทางภายใน เช่น  คุณธรรม   แรงจูงใจ  กรอบความคิด  ภาพพจน์ต่อตัวเอง  อำนาจในการเลือก ฯลฯ   ด้วยความคุ้นชิดเราจะรู้สึกดีและยอมรับได้เมื่อใครก็ตามที่อ้างเหตุผลด้วยเครื่องชี้ทางเหล่านี้   แต่เครื่องชี้ทางเหล่านี้ยังซ่อนด้วยบทบาทที่สำคัญกว่าคือ การพันธนาการ  สุดท้ายเราจะติดแหงกด้วยความเป็นเหตุเป็นผลของมันซึ่งเป็นเพียงเปลือกแต่ละชั้นที่ห่อหุ้มความจริงเอาไว้ 
      การปลดปล่อยตัวเองให้อิสระจากเปลือกทั้งหลายจนถึงที่สุด  ก็จะถึงความจริงแท้ที่ไม่จำเป็นต้องกล่าวอ้างด้วยเหตุผลใดๆ  แล้วผลที่ปรากฏออกมาจะมีคุณภาพโดยไม่ต้องสงสัยถึงความมีวิจารณญาณ   
      แต่การลอกเปลือกหอมออกที่ชั้นๆ นั้นอาจต้องแลกด้วยน้ำตา 
 



วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

สิ่งที่เราไม่เคยเจอ จะเข้ามาท้าทายคนรุ่นต่อจากเรา

  
    หนึ่งในคำถามที่ผู้ปกครองเหวี่ยงเข้าใส่โรงเรียนคือ   “เด็กของเราจะแข่งขันในสังคมได้ไหม?”   นั่นอาจจะมีความหมายที่ซ่อนในคำถามนี้อีกทีคือ   “พวกเขาจะชนะไหม?”
    สำหรับผมมันเป็นคำถามที่ยาก   เพราะเป็นเรื่องยากมากที่จะคาดการณ์ว่าอีก 10-20 ปี ข้างหน้าพวกเขาจะเผชิญกับปัญหาอะไร  คงไม่ใช่ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ หรือถ้าใช่ก็อาจจะเป็นส่วนน้อย เพราะโลกพลิกผันเปลี่ยนแปลงเร็วเหลือเกิน  เช่น 
      - สภาพแวดล้อมและภูมิอากาศของโลกเข้าสู่ขั้นวิกฤตจนใครก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าพรุ่งนี้เราจะเจออะไร   อาจเป็น  คลื่นความร้อน  คลื่นความหนาวเย็น  สภาพพายุอันรุ่นแรง  สภาพการขาดแคลนอาหารจากความแห้งแล้ง สภาพอากาศที่ไม่บริสุทธิ์  เชื้อโรคใหม่ ฯลฯ
      - สภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีสูงโดยมีคนจำนวนน้อยนิดที่ถือครองทรัพย์สินส่วนใหญ่ของโลก   คนส่วนใหญ่ของโลกจึงยากจนแร้นแค้น  โดยธรรมชาติของทุกสิ่งเมื่อเสียสมดุลมันก็จะมีแรงที่จะทำให้เกิดสมดุลใหม่  ซึ่งเราไม่สามารถคาดการณ์ออกเช่นกันว่าสมดุลใหม่ทางสังคมนั้นคืออะไร  แต่ที่เห็นตอนนี้แรงกระทำเพื่อการปรับสมดุลได้ทำงานของมันแล้ว  การเสียสมดุลทางสังคมจะสร้างความแตกแยก  จะเกิดความสูญเสียจากการแก่งแย่งและทำร้ายกัน  จะมีแต่ความหวาดระแวงไม่สามารถที่จะไว้ใจกันได้  นอนต้องปิดประตูล็อคตัวเองไว้  จะไปไหนมาไหนก็กลัวการถูกทำร้าย  สุดท้ายจะมีแต่ความอึดอัดบีบคั้น และชีวิตก็ไม่มีความสุข
    - ค่านิยมต่อความดีเปลี่ยนไป  ไม่ได้หมายถึงความดีงามเปลี่ยนไป   สังคมเกิดค่านิยมกับการนับถือคนรวย  หรือการสยบยอบต่อผู้มีอำนาจ   เกิดค่านิยมด้านวัตถุรูปลักษณ์ เช่น  เด็กวัยรุ่นอายที่จะควักโทรศัพท์มือถือราคาถูกออกมาโทร  จะรู้สึกไม่มั่นใจถ้าไม่ได้โกรกผมให้แดงเหมือนเด็กญี่ปุ่นหรือไม่ได้โปะเครื่องสำอางราคาแพง   บางคนใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงเพื่อแต่งตัว  นั่นอาจจะบ่งบอกถึงสภาพผู้คนที่มองภาพพจน์ในตัวเองต่ำ หรือ มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเองมากพอที่จะเป็นตัวเอง  บางคนถึงขนาดรู้สึกว่ารองเท้าหลายสิบคู่ที่มีไม่มีคู่ใดสวยเลย  บางคนก็ไม่กล้าสะพายกระเป๋าถ้าไม่ใช่ยี่ห้อจากฝรั่งเศส อย่างน้อยขอให้เป็นของปลอมก็ยังดี    เมื่อรู้สึกว่าเงินคือทุกอย่างการถูกล่อลวงทางด้านวัตถุจะเกิดได้ง่ายแล้วเรื่องเหล่านี้ก็จบลงด้วยการหาเงินในทางไม่ชอบ  เช่น การขายตัว   การโจรกรรมมีให้เห็นจนดาษดื่น   นอกจากนี้ วิถีชีวิตปัจจุบันยังผลักเด็กๆ ออกห่างจากธรรมชาติที่แท้จริงมากทุกที  ถูกปลูกฝังให้ต้องเข้าเรียนในเมือง  ทำงานในเมือง  กินอาหารในร้าน  ซื้อของในห้าง  เท่ากับว่าเขาได้ติดเบ็ดอย่างจัง

    กลับมาที่คำถามว่า   “พวกเขาจะชนะไหม”   ผมไม่อาจให้คำตอบอย่างผลีผลาม  คำตอบต้องผ่านการใคร่ครวญให้ดี  ผมอยากให้ทุกคนได้ประมวลประสบการณ์ของตัวเอง  เฝ้าสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวแล้วใคร่ครวญหาคำตอบ  คำตอบจะต้องไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการแต่ต้องเป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ ต่อเด็กๆ 
ซึ่งเราอาจต้องตอบคำถามเหล่านี้ก่อน
    “พวกเขาจะสู้กับอะไรหรือกับใคร?  กับเพื่อนในชั้น  กับคนในจังหวัด  กับคนทั้งโลก  หรือ เพียงต่อสู้กับตัวเอง”
“พวกเขาจะต่อสู้หรือแข่งขันกันด้วยเรื่องใด?  ความรู้  ทรัพย์สิน ตำแหน่ง  การมีชีวิตรอด หรือ ความสุข  หรือ อะไร?
            
     หนึ่งในหลายๆ  สิ่งที่โรงเรียนต้องพยายามทำ และให้ความสำคัญกว่าความรู้และคะแนน  เพื่อให้เป็นความพยายามทำในช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดของเด็ก   เป็นช่วงเวลาที่ไม่อาจเรียกคืนได้  ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นที่เขาจะใช้ตลอดชีวิต  สิ่งนั้นคือ 
การทำให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง  เห็นคุณค่าในคนอื่น  ได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต   เห็นความหมายของการอยู่ด้วยกันอย่างภารดรภาพ    มีความสามารถในการคิดไตร่ตรองอย่างมีวิจารณญาณเพื่อให้เห็นถึงสิ่งจริงสิ่งลวงได้ด้วยตัวเอง   การรู้สึกสัมผัสได้ถึงความรักและใช้ออกไปอย่างมีคุณภาพ   การปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการถูกครอบ  การมีความสุขในขณะที่มีชีวิต  และ การยกระดับจิตให้สูงขึ้น
     ผู้ที่กำลังเติบโตทุกคน กำลังถูกท้าทายจากปัญหานานาและใหม่ๆ ถั่งโถมใส่ทุกๆ วัน ความแข็งแกร่งข้างใน และ ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณเพื่อให้คำตอบกับตนเองจะทำให้เขารอดพ้นไปได้ด้วยดี  

วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เรียนรู้สู่ความเป็นสากล ผ่านวรรณกรรม

บทสัมภาษณ์ลงในนิตยสารแม่และเด็ก

อธิษฐานสิจ๊ะกับนางฟ้าสีเขียว...ชื่อเรื่องน่ารักเชียว
    “ผมพบว่า เด็กๆ แต่ละคนที่พออยู่ในวัยสัก 2 - 3 ขวบถึงสี่ขวบ จะมีสีใดสีหนึ่งที่ชอบเป็นพิเศษ และแต่ละคนก็ไม่ได้ชอบสีเดียวกัน  นั่นเป็นวิถีของแต่ละคน บางคนชอบสีฟ้า จะกินอะไรก็เป็นสีฟ้า อยากได้อะไรก็สีฟ้า คนที่ชอบสีเขียว อยากจะกินไอติมอร่อยหรือไม่อร่อยก็ชั่ง แต่ขอให้เป็นสีเขียว อะไรอย่างนี้  ผมกำลังจะบอกว่าเด็กแต่ละคนเขาก็จะมีวิถีของเขา แล้วมีวิธีคิดของเขา เพราะฉะนั้น ในเรื่องของอธิษฐานสิจ๊ะกับนางฟ้าสีเขียว เด็กคนนี้จะมีวิธีคิดของตัวเอง
    ...ซึ่งแน่นอนว่า คนรอบข้างก็จะมองว่า ผิดบ้าง ถูกบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะมองว่า ผิด เพราะมันไม่เป็นอย่างที่เราต้องการหรืออย่างที่เราคิด  แล้วตัวละครก็จะดำเนินไปทั้งก่อนเข้าเรียน และระหว่างเข้าเรียนช่วงต้นๆ สิ่งที่ผมสื่อก็พยายามจะบอกให้ทั้งครู และพ่อแม่เข้าใจว่า เด็กๆ คิดอะไร แล้ววิธีคิดเป็นยังไง ทั้งในช่วงก่อนเข้าเรียน และก็ขณะที่เข้าเรียน”
“ไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ” ทัศนะต่อคณะกรรมการตัดสิน
    “ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร มันเป็นมาตรฐานของคนวัด ซึ่งคนวัดเอง ก็มีแค่สี่ห้าคน แล้วคนวัดเองก็ไม่ใช่เด็ก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการสื่อไม่ใช่สื่อให้เฉพาะผู้ใหญ่สี่ห้าคนนั้น แต่สิ่งที่เราสื่อคือให้เด็กๆ ให้พ่อแม่ และครู ที่ทำงานกับเด็ก  เพราะฉะนั้น อย่างไรก็ตามมันยังทำงาน แม้ว่าไม่ได้รางวัลที่หนึ่ง มันก็ยังทำงานในหน้าที่ของทำเพื่อเด็ก และเยาวชน ซึ่งสำคัญที่สุด  รางวัลเป็นเพียงสิ่งที่จะทำให้คนรู้จักหนังสือ  จะทำให้คนได้ใช้ประโยชน์มันได้มากขึ้น ผมเชื่อว่า คนที่เขียนแล้วได้รางวัลโนเบลหลายคน หรือเกือบทุกคน เขาไม่ได้สนใจรางวัล  แต่สิ่งที่เขาสนใจคือ เขาได้สื่อสารเหล่านั้น ถึงผู้รับสารมั้ย และสารเหล่านั้นได้ยกระดับผู้คนขึ้นมั้ย”
ตราประทับรางวัลกับความรู้สึกรักการอ่าน
    “ตอนนี้ สังคมของไทยเรายังต้องใช้อยู่ หมายความว่า ความรู้สึกรักการอ่าน หรือการกล่อมเกลาให้เด็กรักการอ่าน มันต้องมีตัวอย่าง ทีนี้ ถามว่า คนไทยมีเปอร์เซ็นต์การอ่านหนังสือกี่เปอร์เซ็นต์ ผมเข้าใจว่า ประมาณไม่กี่บรรทัดต่อปี  แต่สิ่งนี้จะช่วยดึงดูดให้พ่อแม่อ่าน ที่จริงแล้วไม่ต้องบอกให้เด็กอ่าน แค่พ่อแม่นอนอ่านหนังสือทุกวันๆ เด็กๆ จะรักการอ่านหนังสือโดยอัตโนมัติ เขาจะเริ่มงมจากสิ่งที่ไม่รู้ เมื่อได้รู้เขาก็จะสนุกกับมัน  แล้วสุดท้ายเขาจะติดหนังสือ แต่อันหนึ่งน่าสนใจนะ ถ้าพ่อแม่สนใจหนังสือประเภทไหน เด็กจะมีแนวโน้มที่จะสนใจหนังสือประเภทนั้นมากเช่นกัน”
คุณค่าของรางวัลทางวรรณกรรมเยาวชน
    “ผมว่าดีหมด และควรพยายามที่จะสร้างเวทีเพื่อให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นเยอะๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเด็กๆ อย่างในโรงเรียนนอกกะลา (โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา) เราไม่ใช้แบบเรียนภาษาไทยในการสอนภาษา  เราเอาวรรณกรรมไปสอนเลย ตั้งแต่ ป.1 จนถึง ป.6 เราใช้วรรณกรรมชั้นละ 4 เรื่อง 4 ประเภท   ประเภทแรกก็จะเป็นกลุ่มนิทาน ก็จะเลือกตามระดับยากง่ายไป  อย่าง ป.5-6 ก็จะเรียนนิทานเวตาล  ผมมองว่ามันเหมาะกับเยาวชน   ประเภทที่ 2 ก็จะเป็นพวกวรรณกรรมเยาวชนต่างประเทศ  ประเภทที่ 3 ก็จะเป็นวรรณกรรมเยาวชนไทย และ  ประเภทที่ 4 ก็เป็นวรรณคดี ทั้ง 4 อย่างนี้ก็ให้ประโยชน์คนละแบบ อย่างนิทานก็ให้ข้อคิดแบบตัดฉับๆ แต่ว่าในเรื่องของวรรณกรรมก็ค่อยๆ ละเลียดอารมณ์ไป ในเรื่องของวรรณคดี ก็เป็นแนวคิดของสังคมที่เป็นรากเง้าเดิมๆ ส่วนแนวคิดของวรรณกรรมเยาวชนต่างประเทศ ก็จะออกมาเชิงความรู้สึกที่เป็นสากล
    ...ซึ่งเราไม่มีแบบเรียนภาษาไทย เราใช้วรรณกรรมในการสอน แล้วถอดความ ถอดคำ ถอดอะไรต่างๆ ออกจากวรรณกรรมมา แล้วเราจะเริ่มไล่เรียงจากง่ายไปหายาก สั้นไปหายาว   อย่าง ความสุขของกะทิ และ เจ้าชายน้อย เราให้เรียน ป.3  หรือเจ้าชายไม่วิเศษ เรียน ป.1 อะไรอย่างนี้ครับ แต่ถ้าเป็นเด็กชั้นโตก็จะเป็นวรรณกรรมที่ยาวขึ้น ชั้นป.5-6 จะได้เรียนจากวรรณกรรมของลีโอ ตอลสตอย หรือ ตอสโตเยฟสกี้  ซึ่งเราต้องใส่ใจในการเลือก   วรรณกรรมจะให้ความละเอียดอ่อนทางด้านจิตใจ  ความงามของการใช้ภาษา  สิ่งนี้หนังสือทั่วๆ ไปสอนไม่ได้   และสิ่งที่สำคัญที่เด็กจะได้จากวรรณกรรมก็คือ หนึ่งได้เรียนรู้ชีวิตผ่านแบบแบบจำลองชีวิตในวรรณกรรมซึ่งเขาไม่มีโอกาสที่จะใช้ชีวิตอย่างนั้นจริงๆ   สองก็คือเขาได้ซึมซับความละเมียดละไมของอารมณ์ผ่านตัวละคร  และอย่างที่สามเขาจะได้มีโอกาสซึมซับในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม หรือค่านิยมที่ผู้เขียนสอดแทรกไว้”
ลิตเติ้ลทรี และผองเพื่อนวรรณกรรมเยาวชนที่ควรเลือกหยิบอ่าน
    “วรรณกรรมเยาวชนนะครับ ก็มีลิตเติ้ลทรี แล้วก็ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน เจค็อปคนทำขนมปัง หรือไม่ก็ต้นส้มแสนรัก เจ้าชายน้อย ถ้าเป็นญี่ปุ่นก็โต๊ะโตะจัง  อันนี้ก็อ่าน แต่ผมเอ่ยลิตเติ้ลทรีก่อนนะ เพราะชอบเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่ง หลังจากพ่อแม่ตายก็ไปอยู่กับปู่กับย่าในป่าที่เป็นอินเดียแดง ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตในวิถีของคนป่า ของวิถีอินเดียแดงอย่าแท้จริง ความเชื่อและทัศนคติที่ปู่กับย่าปลูกฝังให้ แต่ทีนี้ เขาอยู่อย่างนั้น เขาก็ค่อยเติบโต
    ...แต่ขณะเดียวกัน สังคมข้างนอกก็เริ่มรุกราน รุกรานเข้าไปถึงในป่า รุกรานวัฒนธรรมของอินเดียแดง บางอย่างสิ่งที่อินเดียแดงเชื่อว่าถูกก็กลายเป็นผิดตามกรอบของความเชื่อใหม่ และสุดท้าย หลังจากที่ปู่กับย่าตาย เขาต้องออกจากป่า เพราะว่าถูกเล่นงานทางด้านกฎหมายและอยู่ไม่ได้ แล้วออกมารับใช้ระบบ ซึ่งก็เป็นความเจ็บปวดมากที่วิถีนึงถูกรุกรานด้วยวิถีนึง  จากเรื่องนี้ทำให้ผมตระหนักมากๆ ว่า เราต้องเคารพของวิถีของแต่ละวิถี เราไม่ควรรุกรานวิถีของกันและกัน”
ยุคสมัยแห่งแฟนตาซี อาทิ แฮร์รี่ พอตเตอร์, เพอร์ซี่ย์ แจ็คสัน ฯลฯ
    “ผมว่า วรรณกรรมดีหมด คือข้อดีของการอ่านงานวรรณกรรมก็คือการสร้างการจดจ่อ  การจดจ่อที่ยาวนานจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนรู้ การจดจ่อทำให้เกิดการใคร่ครวญ ความเข้าใจแบบลึกๆ ต้องอาศัยการจดจ่อและการใคร่ครวญ   แต่ถ้าเด็กได้ดูหนัง หรือดูทีวี พวกนี้ก็จะมีภาพที่ฉับไว มีแสงสีเสียงที่วูบวาบ และก็จะถูกดึงความสนใจก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว  การคงสมาธิจะสั้นสู้เด็กที่อ่านวรรณกรรมไม่ได้   ทีนี้ ถ้าถามว่า วรรณกรรมในเชิงแฟนตาซีหรือแบบอื่นๆ อย่างไหนดี ผมมองว่า ไม่ได้ต่างกัน
    ...แต่ว่า วรรณกรรมที่ดีควรจะมีแบบจำลองชีวิตจริงที่ดีงามซ่อนไว้ด้วย   แต่ไม่ได้บอกว่า ไม่ให้มีจินตนาการนะครับ  ทั้งต้องโยงกับอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นสากลด้วยอย่างเช่น ความฝัน ความทุกข์ ความเศร้าหมองเจ็บปวด ความรัก ความกล้าหาญ เป็นต้น”
เปรียบเทียบ...วรรณกรรมเยาวชนไทยกับต่างประเทศ
    “ผมมองว่า ไม่ต่างกัน ใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน แต่ว่า ในส่วนไทย เวลาคนเขียนๆ ลงไปก็จะมีความเป็นไทยอยู่ ทั้งการใช้ภาษา วัฒนธรรม ค่านิยม ด้วยความคิดที่ใส่ลงไปก็จะเป็นแบบไทยๆ เด็กก็จะรับได้ง่าย แต่ไม่ใช่หมายความว่า วรรณกรรมเยาวชนต่างประเทศเด็กจะรับไม่ได้ เพราะพวกนี้มันมีความเป็นสากลอยู่ ผมเรียกว่า วรรณกรรมสื่อความเป็นสากล คือเวลาเราพูดถึงความเป็นสากล เรามักจะได้ยินคำนี้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในหลักสูตรก็มี ในนโยบายของรัฐบาลก็มี ที่อยากจะพัฒนาเด็กไปสู่ความเป็นสากล
    ...ซึ่งคนตีความ ของความเป็นสากลว่า การใช้คอมพิวเตอร์เป็น การใช้ภาษาอังกฤษได้ แต่ผมมองว่า นั่นไม่ใช่ความเป็นสากล ความเป็นสากลคือทุกคนรู้สึกสัมผัสได้ถึงสิ่งเดียวกัน เช่น มีคนมาทำร้ายเรา เราเจ็บปวด ทุกคนเหมือนกันหมด นี่คือสากล  ไม่ชอบให้ใครมาทำร้ายเรา  เหงา  รัก  ฝัน  แล้วสิ่งที่ถ่ายทอดความเป็นสากลแบบนี้ได้ คือวรรณกรรม เพราะฉะนั้น วรรณกรรมคือสื่อสิ่งเดียวที่เชื่อมความเป็นสากลได้ดีที่สุด ไม่ใช่คอมพิวเตอร์”
สุดท้าย วรรณกรรมสำหรับเด็ก...พ่อแม่ควรตระหนัก
    “ที่จริงเราอยากให้พ่อแม่ทุกคนตระหนักในเรื่องของการให้เด็กได้อ่านวรรณกรรม เพราะวรรณกรรมจะช่วยเพิ่มพูนทักษะการใช้ภาษาอันละเมียดละไม  ทั้งยังสื่อลักษณะของบุคลิกภาพของตัวละคร  มีวิถีการดำเนินชีวิต มีทัศนคติแฝงอยู่  ขณะที่อ่านเด็กก็จะมีอารมณ์ไปพันเกี่ยวไปกับตัวละคร  เหมือนกับเขาได้ใช้ชีวิตในรูปแบบนั้น  ต้องเข้าใจว่าข้อจำกัดของเด็กๆ คือเขาไม่มีเวลาที่จะใช้ชีวิตหลายๆ รูปแบบได้ แต่วรรณกรรมได้จำลองชีวิตหลายๆ รูปแบบไว้แล้ว และสุดท้าย เขาก็จะเห็นค่าปกติของตัวละครแต่ละตัวว่า วิถีปฏิบัติแบบไหนเหมาะสมหรือบุคลิกภาพอย่างไรเหมาะสม”

“ไม่อยากเชื่อนะว่า เรามีเด็กในวัยเรียนประมาณ 8 ล้านคน ครู 4 แสนคน  แต่พอเราทำหนังสือวรรณกรรมสักเล่มพิมพ์สามพันกลับขายได้ไม่กี่ร้อย  ไม่ใช่ว่าโรงเรียนต่างๆ จะไม่มีเงินซื้อหนังสือ  แต่เราเห็นค่าของวรรณกรรมน้อยไป  นโยบายรัฐบาลเองต้องเปิดเวทีให้หนังสือวรรณกรรมให้ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในชั้นหนังสือห้องสมุดมากๆ ด้วย  โรงเรียนต่างๆ มักถูกกรอบให้ซื้อหนังสือแบบเรียน หนังสือแบบฝึก อะไรเทือกนั้น ในนั้นมีแต่ความรู้อันแห้งแล้งและพร้อมจะตกยุค  ปราศจากอารมณ์ความรู้สึกอันเป็นสากล”

ใช้ชีวิตเล่นๆ อย่างเป็นอัตนัย

 
    ความมีรูปแบบหลายแบบแต่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างนี้คือความเป็นปรนัย แต่ความหลากหลาย แบบเอนกอนันต์นั้นเป็นอัตนัย
      สิ่งต่างๆ บนโลกมีความเป็นรูปแบบที่เป็นปรนัยคือการเป็นหมวดหมู่ เป็นประเภท  พืชแต่ละชนิดก็มีลักษณะร่วมเฉพาะตัว  สัตว์  จุลชีพ ก้อหิน แร่ธาตุ ก็เช่นกัน  แต่ขณะเดียวกัน ในความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้นกลับมีความหลากหลายอย่างเอนกอนันต์ซ่อนอยูู่  ก้อนหินแต่ละก้อนไม่เหมือนกัน  ม้าลายทุกตัวมีลายไม่เหมือนกัน แกะทุกตัวไม่เหมือนกัน 
      การก่อเกิดรูปแบบอย่างหลากหลายเอนกอนันต์เป็นคุณ สิ่งนั้นจะปลอดภัยจากการโจมตีด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สูญไปทั้งหมดได้   รูปแบบที่หลากหลายเราต้องยอมรับได้ถึงที่มาอันหลากหลาย
      ไอน์สไตน์บุคคลอัจฉริยะที่สุดในศตวรรษที่ 20  กลับมีสมองที่หนักเพียง 1,230 กรัมเท่านั้น น้อยกว่าน้ำหนักสมองของมนุษย์โดยเฉลี่ยที่หนักถึง 1,400 กรัม  จะเห็นว่าคุณภาพสมองไม่ได้สัมพันธ์กับขนาด
      บางช่วงชีวิตของไอน์สไตน์เขาชอบนอนแช่ในอ่างอาบน้ำครั้งละหลายๆ ชั่วโมงเพื่อเล่นกับฟองสบู่  เขาชอบจดจ่อกับการคิดจนบางครั้งต้องนับเงินทอนถึงสี่ครั้งในตอนที่ขึ้นรถประจำทาง   ประวัติการเรียนของเขาแย่มากในวิชาภาษาฝรั่งเศสแต่เขากลับชอบไวโอลิน  ศิลปะ  การแล่นเรือ  และการเล่นเกมที่ต้องใช้จินตนาการสูง
       Marian Diamond 1988 ได้ทดลองนำหนู 2 กลุ่ม   กลุ่มแรกมีของเล่น  กลุ่มสองไม่มีของเล่น  ปรากฏว่ากลุ่มที่ได้เล่นจะมีใยประสาทเชื่อมโยงกัน มากกว่าหนูที่ไม่ได้เล่น
      มองดูชีวิตเล่นๆ ของเราเมื่อเราต้องเอาชนะในสถานการณ์เหล่านี้ เช่น การเล่นไพ่ เล่นหมากรุก เล่นเกม เล่นซ่อนหา  เล่นดีดลูกแก้ว  เล่นดนตรี  เล่นสนุกเกอร์  เล่นตัวต่อ  สิ่งเหล่านี้กลับไม่ใช่เรื่องเล่นๆ  เพราะการเล่นทำให้เราสมัครใจที่จะคิดทั้งยังทำให้เราต้องคิดอย่างเอาจริงเอาจังเสียด้วยถ้าอยากชนะในเกม    หรือ กิจกรรมเพื่อการดำเนินชีวิตบางอย่าง เช่น การหาหนู  หาปลา  แอบสอยมะม่วงข้างรั้ว  ปีนต้นไม้  การประดิษฐ์ของใช้เล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้คนคิดเพื่อเอาชนะสถานการณ์นั้นๆ เช่นกัน   การเผชิญสถานการณ์ที่ต้องได้คิดอยู่เสมอจะทำให้ความคิดเติบโต   เป็นธรรมชาติที่อะไรได้ใช้บ่อยก็จะเกิดการวิวัฒน์ส่วนที่ไม่ได้ใช้ก็จะเสื่อมถอยไป   ยิ่งถ้าได้เผชิญกับสถานการณ์แตกต่างกันอย่างรอบด้านแบบรัศมีของทรงกลมก็ยิ่งทำให้เกิดการคิดเป็นระบบแบบหลายชั้นหลายมิติ       ความฉลาดปราดเปรื่องไม่ใช่การจำความรู้ได้เยอะๆ  แต่หมายถึงความสามารถในการเข้าใจสถานการณ์และความสามารถคิดได้แบบแทงทะลุทะลวงปัญหาได้
       น่าประหลาดใจที่พบว่าภายนอกห้องเรียนกลับมีเรื่องการเล่นที่ไม่ใช่เรื่องเล่นอยู่มากมายมหาศาล  ส่วนใหญ่จะอยู่นอกแบบแผนที่ถูกกำหนดไว้  แต่นั่นกลับสร้างคุณภาพของสมองให้สูงยิ่งขึ้น
       ชีวิตเล่นๆ จึงน่าจะเป็นหนึ่งหนทางที่จะทำให้ชีวิตเกิดความหลากหลายแบบอัตนัย

วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ก้อนหินทุกก้อนไม่ได้โง่


      หินแต่ละก้อนก็เป็นเพียงหินก้อนหนึ่ง  ไม่ได้มีความฉลาดหรือความโง่     
      เราแข่งขันกันเพื่อให้มีความรู้มากกว่าคนอื่น    เบื้องหลังความคิดนี้คืออะไร
      เพราะเชื่อกันว่าเมื่อใครมีความรู้มากกว่าคนอื่นก็จะประสบความสำเร็จสูงกว่า คนอื่น  เรามักมองความสำเร็จกันที่ ระดับตำแหน่ง  ระดับรายได้  ชื่อเสียง   จำนวนทรัพย์สิน หรือ อะไรเทือกนี้    เมื่อจดจ้องกันที่ความรู้เราก็จะแยกแยะประเภทผู้คนจากปริมาณความรู้ที่มีโดย อัตโนมัติ  อาจจะแยกระดับผู้คนออกเป็นคนเก่ง  ปานกลาง และ โง่  และความเชื่อที่ว่าความรู้จะนำมาซึ่งความสำเร็จก็ฝังลึกแทรกซึมไปทั่ว   จนเรามองไม่เห็นความสำคัญของการมีปัญญาการใช้ชีวิต 
      บางครั้งเมื่อผมเล่าถึงวิถีการเรียนรู้ของลำปลายมาศพัฒนาให้คนอื่นๆ ฟังว่าเราให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างมีความสุขมากกว่าตัวความรู้   ให้เด็กได้เกิดทักษะกระบวนการคิดและกระบวนการแสวงหาความรู้ผ่านสิ่งที่เด็กๆ สนใจไม่ใช่ผ่านตำราเรียน   เท่านี้ก็มักจะมีคนถามว่า  “เรียนอย่างนี้แล้วเด็กจะมีความรู้เหรอ”   ซึ่งคนที่ถามก็ล้วนแต่เป็นคนที่มีความรู้สูงแต่อาจจะไม่ถึงขั้นมีปัญญาการ ใช้ชีวิตอย่างแหลมคม  เพราะปัญญาการใช้ชีวิตไม่ได้เกิดจากการมีความรู้มากก็ได้ 
      กลับมามองในเรื่องปัญญาการใช้ชีวิต    เราคงเห็นชัดว่านกทุกตัวตั้งแต่ฟักออกจากไข่มันก็รู้ว่าจะต้องมีชีวิตอย่างไร  ทุกตัวสร้างรังแตกต่างกันแต่ประโยชน์ใช้สอยเดียวกันได้โดยไม่มีใครสอน  มีชีวิตเป็นอิสระ  เราจะไม่เห็นนกโง่เลยสักตัว  และผมเชื่อว่าเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับปัญญาการใช้ชีวิตแบบนี้ซึ่งเราควรบ่ม เพาะให้งอกงามมากขึ้น
     ความรู้มากไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น  คนจำนวนไม่น้อยจ่อมจมอยู่กับความทุกข์  จากแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจและการพยายามปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทาง สังคม   เรามีชีวิตที่เร่งรีบทั้งต้องแข่งขันตลอดเวลา เครียดบ่อยขึ้น  หงุดหงิดง่ายขึ้น  โกรธง่ายขึ้น  หัวเราะได้น้อยลง  นอนหลับยากขึ้น ทั้งที่ทารกหรือเด็กไม่มีอาการเหล่านี้   นั่นอาจเป็นเพราะปัญญาการใช้ชีวิตของเราถูกกดทับ
      แท้จริงความรู้อาจกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถช่วยคนอื่นได้  แต่ในขณะเดียวกัน  ความรู้อาจเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราหาประโยชน์จากคนอื่นที่รู้น้อยกว่าได้เช่นกัน 
      เราไม่ควรปล่อยให้การใช้ความรู้อยู่บนฐานของความน่าจะเป็น  แต่ต้องตระหนักให้มากว่าทุกครั้งที่ได้ให้ความรู้ต้องให้เครื่องกำกับการใช้ ความรู้ไปด้วย  เพื่อให้เกิดการใช้ในทางที่ดีงามในเปอร์เซ็นต์ที่มากขึ้น  เครื่องกำกับความรู้ที่ว่าอย่างหนึ่งก็คือปัญญาการใช้ชีวิต

วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หงายกะลาพัฒนาครู 2


      วันที่ 26  ก.ค.2553   เราเริ่มกันแต่เช้า  ด้วยการให้ทุกคนนอนฟัง  นพ.เปี่ยมโชค ชลิดาพงศ์ บรรยายเกี่ยวกับการกินกับสุขภาพ  โดยเฉพาะพิษภัยที่มาจากน้ำตาลและนมวัว  ครูจึงถึงบางอ้อเกี่ยวกับทำไมจึงมีของว่างเบาๆ อย่างเมื่อวาน และก็มีอาหารที่เน้นผักจากธรรมชาติ  ถึงตรงนี้ครูก็คงไม่ได้คาดหวังที่จะมีของว่างเป็นอย่างอื่นอีกแล้ว   หลังจากนั้นครูบางกลุ่มงานก็นำเสนอความรู้นานาทั้งที่ได้จากการทำงานและจากที่ไม่เกี่ยวข้อง
      ภาคบ่ายเราเริ่มด้วยการนอนฟังนิทานจากคุณแต้วผู้ที่คลุกคลีอยู่กับวงการนิทานมานาน  รวมถึงการสนทนาถึงหนังสือดีๆ หลายเล่ม   และจบวันด้วยการนอนดูสารคดีที่ตีแผ่ระบบการจัดการอาหารของโลกที่เราคาดไม่ถึง  เป็นระบบผูกขาดการผลิตอาหารของบริษัทใหญ่และซ่อนเร้นไว้ด้วยอันตรายมากมายภายใต้ภาพลักษณ์ที่ดูดี  รวมถึงการปรับปรุงพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เพื่อครอบครองสิทธิ์แบบผูกขาด  ทำให้ครูทุกคนมีอะไรมากมายที่ต้องให้คิดต่อเพื่อสื่อสารให้เด็กๆ รวมทั้งคนอื่นๆ ต้องร่วมกันเฝ้าระวังอันตรายจากอาหารที่เรากินทุกมื้อ
      วันที่ 27  ก.ค.2553  เราเริ่มกันแต่เช้าเช่นเดิม  แต่วันนี้เรามานั่งล้อมวงกันที่ร่มเงาของบ้านดิน  ครูผลัดเปลี่ยนกันถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กๆ  ที่แต่ละคนประสบมา  เราได้ขำกันเป็นระยะๆ ตั้งแต่ขนาดอมยิ้มถึงการระเบิดหัวเราะ  จนเราลืมเวลาอาหารว่าง   แล้วครูทุกคนตั้งใจจะเขียนรวมกันเป็นเล่มให้ได้อ่านกันต่อไป
      ราวเที่ยง  หลวงพี่ทั้งหญิงชายซึ่งเป็นสานุศิษย์ของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ จากหมู่บ้านพลัมจำนวนสิบรูปก็มาถึง    พระฉัน  เรากิน อาหารกลางวันด้วยอาหารเจด้วยกันอย่างสงบ   หลวงพี่นำเราสู่สติตั้งแต่บ่ายโมงจนเกือบจะหกโมงเย็น  ด้วยการร้องเพลง  การนอนผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์  การสนทนา  พิธีชา  และ การเดินชมโรงเรียนอย่างมีสติ   ผมเชื่อว่าครูทุกคนรู้สึกได้ถึงปรากฏการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นภายในตนเองเมื่อได้ผ่านพิธีกรรมต่างๆ อย่างเนิบช้า  เราหลงใหลรูปแบบนี้อย่างลืมตัว
     หลังข้าวเย็นครูแม้จะเหนื่อยอ่อนแต่ต้องได้กลับมาที่ห้องอบรมเพื่อนอนดูเรื่องราวชีวิตของคุณเงาะ (คนค้นคน) ผู้สร้างคนบนวิถีการปั่นจักรยาน
      วันที่ 28 ก.ค.2553  ทุกคนกินข้าวเช้าที่อร่อยและมีคุณค่าอย่างทุกเช้า  สายวันนั้นผมครูทุกคนต้องได้ออกอาการตื่นเต้นดีใจระคนประหลาดใจอีกครั้งเมื่อได้พบคุณเงาะตัวจริง   ครูช่วยกันซักถามแล้วเราก็ได้คำตอบแบบโดนใจกลับไปจนเต็มอิ่ม
      กระบวนการสี่วันอาจดูยาวนานออกจะเยิ่นเย่อ  แต่ด้วยจังหวะที่วางไว้แบบหลวมและการเปิดใจร่วมมือของครูทุกคนทำให้การเคลื่อนของมวลด้านในเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องทั้งระดับบุคคลและทั้งกลุ่ม  อันจะนำไปสู่การพัฒนาบางกระบวนการในโรงเรียนฯ เพื่อยกระดับด้านจิตวิญญาณของผู้เรียนต่อไป

วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

หงายกะลาพัฒนาครู1


วันที่ 25  ก.ค.2553 
      ครูทุกคนรวมทั้งคุณเจมส์พร้อมเพรียงกันที่ห้องประชุมตอนแปดโมงครึ่งในเช้าวันอาทิตย์ของช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ยาวติดต่อกันสี่วันรวมวันเข้าพรรษาด้วย ซึ่งน่าจะเป็นช่วงวันหยุดพักผ่อนของครู  ผมนัดหมายเพื่อมีการจัดอบรมครูสี่วันติดต่อกันโดยที่ไม่ได้บอกให้รู้ว่ากำหนดการเป็นอย่างไร หรือใครเป็นวิทยากรบ้าง  แจ้งเพียงให้ทุกคนเอาหมอนมาด้วย
      ผมเชิญคุณจตุพร  นักกระบวนกรซึ่งมีครูหลายคนรู้จักผ่านทางเฟสบุ๊ค  มาเป็นวิทยากรโดยไม่ได้กำหนดหัวข้อและไม่กำหนดระยะเวลาให้   ทั้งนี้เพราะผมอยากได้ตัวตนของเขา  การดำเนินกิจกรรมอบรมของวิทยากรมุ่งไปสู่กระบวนการถอดบทเรียนด้วยการสื่อสาร การเล่าเรื่อง  การสร้างบรรยากาศเพื่อการสนทนา  ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นครูเราเคยทำกันมาแล้วไม่น้อย  แต่ครูก็ไม่ได้แสดงความเบื่อหน่ายกลับตั้งใจให้ความร่วมมือกับวิทยากรเป็นอย่างดีเพราะตัวตนของวิทยากรได้เผยออกด้วยความเป็นมิตร  ผ่อนคลายและลื่นไหล
   เรามีเบรกเช้าและบ่ายที่เบาสบายมากเป็นน้ำสมุนไพรกับลูกเกดคนละ 6 เมล็ด และ เกาลัดอีก2 เมล็ด  ครูทุกคนยิ้มให้กับเบรกที่ไม่เข้าใจและคาดไม่ถึง   กิจกรรมของคุณจตุพรสิ้นสุดราวบ่ายสามโมง
   หลังเบรกบ่ายเรานอนดูหนังยาวร่วมกันเรื่อง The Chorus  ซึ่งเป็นเรื่องราวของครูคนหนึ่งที่ตั้งใจนำพาจิตวิญญาณของเด็กที่บอบช้ำผ่านท่วงทำนองเพลงChorus 
    หกโมงเย็นผมเล่าเรื่องราวและความคิดจากการได้ไปดูบางโรงเรียนที่เนปาล
    หนึ่งทุ่มเรารวมกันที่ลานใต้ร่มไผ่  ครูอ้อนปิดไฟและจุดตะเกียงน้ำมันไว้รายรอบ  เรานั่งล้อมวงกันกินแหนมเนือง แล้วทุกคนได้กินผักจนหมดเกลี้ยงเพราะความหิว
ตลอดเวลาครูทุกคนก็ยังสงสัยว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น
    ราวสองทุ่มครูอ้อนฉายวีดีโอที่เด็กๆ พูดถึงคุณเจมส์  แล้วกระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์กรก็เริ่มขึ้นจากครูรุ่นแรกๆ สู่ครูใหม่   เริ่มจากเรื่องเล่าของคุณเจมส์ว่าทำไมจึงสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้เกิดโรงเรียนแห่งนี้   ผมฉายภาพเก่าๆ ตั้งแต่เริ่มการก่อสร้าง ฉายภาพกิจกรรมต่างๆในปีแรกเพื่อให้ครูที่เกี่ยวข้องได้เล่าประสบการณ์และความรู้สึกทั้งมวลออกมา  เราได้อมยิ้มให้กับความลำบากที่ผ่านมา  หัวเราะครื้นเครงกันหรือไม่ก็เขินอายกับบางภาพหลุดๆ  ผมรู้สึกได้ว่าตอนนั้นโลกได้กลมแคบเข้ามาล้อมไว้เพียงเรา
   หลังจากนั้นครูอ้อนได้ฉายวีดีโอที่เด็กๆ  ได้พูดถึงครูแต่ละคนอย่างประทับใจ   สำหรับครูบางคนกลับต้องนำ้ตาซึมเมื่อเห็นภาพเรื่องราวจากพ่อแม่ที่พูดถึงตนเองด้วยความหวัง  ความฝัน และปรารถนาที่จะให้ลูกเป็นครูที่ดี
เราจบวันแรกด้วยความรู้สึกปีติ  ชีวิตได้ลื่นไถลผ่านวันอันยาวนานอย่างนิ่มนวล  ตอนนั้นเวลาปาไปเกือบสี่ทุ่มแล้ว

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โรงเรียนเป็นเหมือนนักเดินทาง

      

      ขึ้นชื่อว่านักเดินทางเขาคงไม่สบายใจถ้ามีใครเอาสายวัดระยะมาวัดเพื่อบอกว่าเขาเดินทางไปได้ไกลแค่ไหน  หรือ เข้าใกล้ที่ใดสักแห่งเพียงใด  เพราะนักเดินทางไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเดินให้ถึงที่ไหนสักแห่งแต่มีจุดประสงค์เพื่อเก็บเกี่ยวเรื่องราวระหว่างทาง  ได้ใคร่ครวญครุ่นคิดกับสิ่งที่พบเห็น  รับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้น  พัฒนาความงอกงามด้านในโดยปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการได้เดิน
      โรงเรียนทุกแห่งคงไม่สบายใจถ้ามีองค์กรประเมินมาตรฐานโรงเรียนเข้ามาประเมินแล้วไม่ได้ค้นหาเพื่อบอกสิ่งที่คุณค่าจริงๆ   บอกได้เพียงความจริงไม่แท้จากการใช้เครื่องมือประเมินที่มีดัชนีชี้วัดที่วัดได้เฉพาะระยะทาง  หรือ การมีผู้ประเมินจับจ้องเพียงระยะทางที่โรงเรียนจะไปถึงที่ไหนสักแห่ง  โดยที่ไม่ได้สนใจเลยว่าโรงเรียนนั้นเดินอยู่บนเส้นทางไหน  ระหว่างเดินทางได้เก็บเกี่ยวอะไรไว้บาง  เกิดความสุขปีติขณะเดินทางมากน้อยเพียงใด หรือ เกิดความงอกงามด้านในเพียงใด
      มาตรฐาน  กำหนดอย่างตายตัวว่าความสำเร็จต้องเป็นอย่างไร   ดัชนีก็ชี้แคบจำเพาะลงไปเพื่อจับทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมให้เป็นรูปธรรมอย่างเดียว 
      ทั้งที่โรงเรียนแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน  เสมือนคนแต่ละคนที่มีความเป็นเฉพาะของตัวเอง หรือ เสมือนไม้ในป่าที่ต้องมีความแตกต่างหลากหลายพันธุ์เพื่อเกื้อกูลกันให้เป็นป่า   แม้โรงเรียนซึ่งจัดโดยรัฐที่เป็นรูปแบบแบบเดียวกันแต่เมื่อตั้งอยู่ในชุมชนที่มีความแตกต่างทั้งทางภูมิศาสตร์  ความเป็นอยู่  วิถีการดำเนินชีวิต  ความเชื่อ  ค่านิยม วัฒนธรรมหรืออื่นๆ อีกมากมาย   ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สอดผสานเข้าสู่โรงเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอมเด็กๆ ไปด้วย    การประเมินมาตรฐานโรงเรียนจึงควรเคารพถึงความแตกต่างระหว่างโรงเรียนอย่างยิ่ง  ยอมให้เกิดความยึดหยุ่นทั้งมาตรฐานและดัชนี  ทั้งยังต้องมีผู้ประเมินที่ไม่ใช่เทวดาแต่เป็นมนุษย์ธรรมดาที่ประกอบด้วยทั้งหัวใจและสมอง  และที่สำคัญทั้งครู ผู้เรียน ผู้ปกครอง และชุมชนควรมีส่วนร่วมในการประเมินในสัดส่วนที่เป็นค่าส่วนใหญ่
      เป้าหมายคือมาตรฐานและตัวชี้วัดนั้นเป็นเพียงความคาดหวังในอนาคตซึ่งยังไม่มีจริง   เราควรค้นหาและให้คุณค่ากับสิ่งที่มีจริงๆ ในแต่ละโรงเรียนขณะปัจจุบันนั้น เพราะนั่นคือความสดใหม่ที่ทันการณ์ทันใช้ในบริบทของชุมชนนั่นๆ  ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์กรที่ให้การศึกษาไม่ใช่หรือที่จะต้องสร้างความสดใหม่ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก   แล้วโรงเรียนซึ่งหมายถึงทั้งผู้เรียน ครู ผู้ปกครองและคนในชุมชนจะกลายเป็นนักเดินทางที่มีความสุข  อิสระ และ เกิดความงอกงามด้านในจริงๆ

วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โรงเรียนฤาษี


        กรอบคิดอุตสาหกรรม เมื่อพนักงานเข้าสู่โรงงาน จะถูกแยกส่วน แยกงานให้ทำอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างเดียวซ้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดทักษะในการทำสิ่งนั้นๆ อย่างรวดเร็ว นั่นคือโรงงานจะให้ได้ชิ้นงานออกมาอย่างรวดเร็วในปริมาณมากๆ เช่น ในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า จะแบ่งกลุ่มคนทำหน้าที่ต่างๆ ได้แก่ เจาะรังดุม ทำปกคอ ตัดแขนเสื้อ ตัดแผ่นหลัง ตัดแผ่นหน้า เย็บแขนเสื้อ ประกอบเป็นตัว เป็นต้น วิธีการเหล่านี้จะทำให้โรงงานจะสามารถจ่ายค่าแรงได้ถูก ไม่ต้องง้อคนงานเพราะสามารถหาแรงงานทดแทนได้ง่าย ฝึกคนงานใหม่ทดแทนได้เร็วเพราะฝึกเพียงทักษะเดียว แต่พนังงานทั้งหมดจะอ่อนแอไม่สามารถตัดเย็บเสื้อทั้งตัวเป็น ไม่มีโอกาสได้ฝึกทักษะใหม่เพราะถูกกำหนดระยะเวลาทำงานต่อวันที่ยาวนานและปริมาณเป้าหมาย สุดท้ายการดำเนินชีวิตจะถูกกำหนดด้วยวิถีของโรงงาน
        การศึกษามีส่วนที่คล้ายกับวิถีของโรงงาน หลักสูตรแกนกลางถูกกำหนดค่อนข้างแข็งรูปและคงอยู่ยาวนาน อาจใช้เวลากว่าสิบปีจึงมีการเปลี่ยนแปลงสักทีนั่นย่อมไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งสภาพแวดล้อม การเมือง เศรษฐกิจ และ สังคม หลักสูตรยังถูกแยกเป็นช่วงชั้น เป็นวิชา ฝึกทักษะเป็นอย่างๆ และใช้เวลายาวนาน กว่าคนๆ หนึ่งจะเรียนได้ครบถ้วนและสามารถประติดประต่อมวลความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมาจนสามารถดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาตัวเองได้ต้องมีอายุเลยยี่สิบปี
        สอนกันแบบฤาษี เป็นการเรียนรู้ผ่านการถ่ายทอดมวลความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จริงจากครูที่เป็นฤาษี ซึ่งไม่มีหลักสูตรตายตัว ไม่ครอบงำด้วยเงื่อนไขแบบอุตสาหกรรม เช่น เวลา การวัดความสำเร็จออกมาเป็นตัวเลข การตีค่า การประเมินความคุ้มค่า เป็นต้น ซึ่งหมายถึงผู้เรียนจะได้เรียนทุกมวลของความเป็นมนุษย์จริงๆ 1 ชุด และ เมื่อได้เรียนรู้หลายๆ ชุดจากครูฤาษีหลายๆ คน ผู้เรียนจะเกิดการประมวลผลด้านใน จนก่อรูปเป็นตัวตนของมนุษย์อีกคนหนึ่งซึ่งไม่เหมือนใครเป็นลักษณะเพราะที่ประมวลเอาจุดแข็งที่ได้เรียนรู้มาเข้าเป็นก้อนใหม่ ที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมใหม่ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง และทางสังคม
        ประเด็นที่อาจจัดให้เกิดการเรียนรู้จากฤาษี ได้แก่ เรียนรู้รูปแบบการดำเนินชีวิต การสร้างปัจจัยที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิต การปรับสมดุลระหว่างกายกับจิต ทำความเข้าใจค่านิยม ความคิด ความเชื่อที่ใช้ในการดำเนินชีวิต ฝึกฝนทักษะที่ใช้ดำเนินชีวิตทั้งหมด ซึมซับความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า เป็นต้น และ เราไม่จำเป็นต้องกังวลกับคุณสมบัติของครูที่จะเป็นฤาษีเพราะทุกชีวิตมีคุณค่าที่ควรค่าแก่การเรียนรู้อยู่แล้ว
        โรงเรียนฤาษี จึงมีหวัง

วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อาหารจากสวรรค์

 
     วันหนึ่งผมเดินดูและทักทายกับเด็กๆ ที่กำลังนั่งกินข้าวกลางวันกันอยู่อย่างเอร็ดอร่อย ผมบอกเด็กๆว่า “วันนี้เราได้กินอาหารที่มาจากทะเลด้วย” เด็กๆ มองดูอาหารในถาดซึ่งเป็นต้มยำไก่ และผัดบวบใส่ไข่ แล้วเริ่มเขี่ยดูว่าในอาหารมีอะไรมาจากทะเลบ้าง ทุกคนต่างก็สงสัยว่ามีอะไรมาจากทะเลต่างคนก็ต่างตอบไปต่างๆ นานา แต่แล้วก็มีผู้เด็กชายคนหนึ่งบอกว่า “ผมรู้แล้วว่าอะไรที่มาจากทะเล น้ำไงครับ น้ำจากทะเลกลายเป็นเมฆ แล้วกลายเป็นฝนตกในแม่น้ำ แล้วคุณป้าแม่ครัวก็เอามาทำเป็นน้ำแกง”
      ผมจึงถามต่อว่า “แล้วอาหารจากพื้นดินล่ะ”
      “บวบค่ะ” เด็กๆ ตอบได้ทุกคน
      “ไม่ได้มีเท่านี้นะ วันนี้เรายังได้กินอาหารจากสวรรค์ด้วย” เด็กๆ นิ่งครุ่นคิดกันใหญ่ว่าอะไรคืออาหารที่มาจากสวรรค์
      การที่เด็กๆ รู้สึกได้ว่าสิ่งต่างๆ สัมพันธ์กัน เชื่อมโยงกัน มีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ เป็นการลดอัตตาได้ทางหนึ่ง ทำให้เด็กๆ รู้สึกอยู่เสมอว่าตนเองไม่ใช่ศูนย์กลางที่ทุกๆ สิ่งต้องมาสนอง แต่ตัวเองเป็นเพียงหนึ่งในห่วงโซ่ที่มองไม่เห็น ทั้งยังได้เห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในสิ่งต่างๆ เราสามารถหยิบฉวยสิ่งที่อยู่รอบตัวมาทำกิจกรรมเพื่อให้เด็กๆ เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ได้ง่ายๆ เช่น
      เมื่อเห็นกิ้งกือก็ให้เด็กๆ วาดความเป็นกิ้งกือออกมา ครูตั้งคำถาม “สิ่งเราเหมือนกันกับกิ้งกือคืออะไรบ้าง หรือ ทำไมโลกเราจึงต้องมีกิ้งกือ” แล้วปล่อยให้เด็กๆ ได้ตอบกันอย่างอิสระและให้ได้รับฟังคำตอบของกันและกันด้วย โดยครูไม่จำเป็นต้องบอกคำตอบออกไป
      ให้เด็กๆ นั่งตามลำพังใต้ต้นไม้เพื่อฟังสิ่งที่ต้นไม้บอกเล่าแล้วเขียนออกมา
      กิจกรรมเห็นฉันในเธอและเห็นเธอในฉัน โดยให้เด็กๆ จับคู่แล้วนั่งหันหลังพิงกันให้คนหนึ่งวาดภาพอะไรก็ได้ลงในกระดาษของตนเองแล้วบรรยายให้อีกคนวาดตามลักษณะที่ได้ยิน หรือ ให้ต่อตัวต่อให้เหมือนกันทุกประการโดยไม่ให้ดูแต่ฟังจากคำบอกเล่า หรือ ให้ทั้งคู่หันหน้าเข้าหากันและขยับกายแบบเดียวกันเสมือนภาพสะท้อนในเงากระจก หรือ ให้ทั้งคู่ค้นหาว่าอะไรที่ทำให้มีความสุขหรือทุกข์เหมือนกัน
      การที่เด็กๆ เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ กับตัวเอง ยังนำไปสู่ความศรัทธาและนอบน้อมต่อสรรพสิ่ง
      การที่จะทำให้เด็กๆ เห็นความเต็มในความว่างเปล่า หรือ การเห็นสิ่งต่างๆ ในตัวเองต้องอาศัยการมีสติรู้ตัวที่พรั่งพร้อม ขณะที่มีสติจดจ่อกับปัจจุบันการใคร่ครวญด้านในก็จะเกิดขึ้นเพราะในช่วงขณะนั้นสิ่งรบกวนข้างนอกก็จะไม่เข้ามา การฝึกให้เด็กๆ มีสติไม่ได้หมายถึงการนั่งสมาธิเท่านั้น กิจกรรมอื่นๆ เช่น การเดินตามรอยเท้าที่อยู่บนพื้น การใช้ไม้ยาวๆ ขีดเส้นบนพื้นแล้วให้เด็กๆ ขีดเส้นซ้ำรอยเดิม การส่งแก้วที่มีน้ำที่อยู่เต็มต่อๆ กัน การติดตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย การติดตามเรื่องราวที่ครูเล่า การเล่าเรื่องต่อกัน การทำโยคะ การแสกนร่างกาย ซึ่งกิจกรรมจะต้องไม่ให้เด็กรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคามหรือกำลังถูกควบคุม    ครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากที่จะนำเด็กไปสู่การมีสติ ครูต้องมีสติรู้ตัวอยู่เสมอเช่นกันเพื่อให้น้ำเสียง จังหวะการพูด หรือจังหวะการเคลื่อนไหวทางกายภาพของครูสามารถดึงความสนใจของเด็กๆ กลับมาสู่การมีสติได้เสมอ
         .....แล้วเราก็จะได้ลิ้มรสชาติอาหารที่มาจาสวรรค์...

วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ฤดูกาลอันดีงาม


ความทรงจำเรามักจะโยงด้วยความรู้สึกอะไรบ้างอย่างเสมอ เช่น ความรู้สึกปราบปลื้มปีติ ความอบอุ่นปลอดภัย ความกลัว ความประหม่า การเสียหน้า เป็นต้น เหตุการณ์ในอดีตที่ไม่ได้โยงกับความรู้สึกใดๆ เราก็จะลืมเลือนไปอย่างรวดเร็ว
กลางเดือนพฤษภาคมความทรงจำกับช่วงเวลาของการเปิดเรียนปีการศึกษาใหม่เวียนมาอีกรอบ แม้จะผ่านมาหลายปีแต่เรายังจำได้ว่าวันแรกที่ไปโรงเรียนนั้นเป็นอย่างไร อาจจะใช้เวลาตอนนี้สักนาทีเพื่อนึกถึงช่วงเวลานั้น นั่นจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมาบ้าง ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับฤดูกาลเปิดเรียนปีนี้มันทำให้เรารู้สึกอึดอัด และหมองเศร้า
    เราแก้ไขสิ่งที่ผ่านไปแล้วไม่ได้
แต่เหตุการณ์นี้ก็เป็นเครื่องย้ำเตือนอันหนักหน่วงต่อเราว่าจะต้องใส่ใจและจริงจังที่จะให้การศึกษาที่ดีกับเด็กๆ ยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เหตุการณ์อันเลวร้ายนี้ซ้ำรอยอีก
การศึกษาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วนโดยต้องมุ่งสร้างความดีงามให้เกิดขึ้นในใจของคนเป็นเป้าหมายหลัก เราไม่ได้อับจนความรู้ แต่เราอับจนปัญญาความดี คนในสังคมยังมองการศึกษาคือการเรียนในโรงเรียนหรือในสถาบันการศึกษา มองเป้าหมายความสำเร็จของการศึกษากันที่วุฒิและความรู้ ในศตวรรษที่ผ่านมามนุษย์ได้ขยายขอบเขตความรู้ออกไปไกลกว้างใหญ่ไพศาล แต่ความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นมันทำให้ค่าเฉลี่ยความสุขของมนุษย์สูงขึ้นกว่าเมื่อห้าสิบปีก่อนหรือไม่ กลับกลายเป็นว่าขณะที่สมองพองโตขึ้นแต่หัวใจกลับลีบเล็กลง
การศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคน นั่นคือ มนุษย์โตเต็มวัยทุกคนมีหน้าที่ที่จะให้การศึกษาที่ดีกับมนุษย์เยาว์วัยทุกคน
วันเปิดเรียนแล้ว เด็กๆกว่าแปดล้านคนกำลังเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ ทั้งหมดคือความหวัง
สมองของเด็กเรียนรู้ตลอดเวลาผ่านประสาทสัมผัสรับรู้ที่ตื่นตัว เด็กๆ เรียนรู้จากการเลียนแบบอากัปกริยา การพูด การแสดงออก วิธีคิด ความเชื่อ จากคนในครอบครัว จากคนในสังคม จากนักสื่อสาร จากผู้นำประเทศ เด็กๆรับรู้จากสื่อภายนอกมากกว่าในห้องเรียนโดยผ่านทางคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ ที่ถั่งโถมเข้าใส่ทุกลมหายใจเข้าออก ข้อมูลมากมายมหาศาลทำให้พวกเขาต้องพยายามจับต้นชนปลายสิ่งที่รับรู้เหล่านั้นเพื่อแปลความสู่ความเข้าใจด้วยตัวเอง เราอาจจะโชคดีถ้าเด็กๆ ทั้งหมดแปลความหมายสู่สิ่งที่ดีงามและเลือกที่จะคิดและเชื่อในทางที่ดีงาม แต่ถ้าเป็นในทางตรงกันข้ามผลจะกลับกัน
การนั่งรอโชคช่วยนั้นไม่ใช่ทางเลือก เราคงทุกคนต้องเริ่มทำ หันหาทิศทางที่ถูกทาง สร้างเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะมุ่งสร้างคนให้ดีก่อนให้เก่ง จากนั้นก็จดจ่อกับทิศทางนั้นเสมอแล้วก็ทำอย่างไม่ลดละ ช่วยกันสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในแต่ละคนเพื่อให้เกิดความสุขมวลรวม เมื่อมีโอกาสหรือช่องทางก็สื่อสารความดีงามให้มากขึ้น และที่สำคัญที่สุดเราต้องปฏิบัติกับแด็กๆอย่างมนุษย์คนหนึ่ง ให้ทุกคนได้รับคุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งนั่นไม่จำเป็นต้องหาเครื่องไม้เครื่องมือมาจากที่ไหนเพราะเรามีเครื่องมือที่มีค่าที่สุดอยู่แล้วในตัวเราทุกคน นั่นคือหัวใจที่ดีงาม
                            ---ขอกำลังใจทั้งมวลให้ครูและผู้ปกครองทุกคน----------

วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

ดวงตาที่มองโลก



ยามเช้าวันที่ 19 เมษายน ผมยืนมองผู้คนนอกหน้าต่างห้องพัก  
แม่กับลูกสาววัยสามขวบอยู่ที่สวนหลังอาคาร
“แม่คะทำไมหญ้ามันเปียก” เด็กหญิงวัยสองขวบเจื้อยแจ้วถามขณะที่ใช้มือแตะที่พื้นเปียก
“เพราะน้ำค้างค่ะ” แม่ตอบด้วยน้ำเสียงเอ็นดู
“น้ำทำไมจึงค้างล่ะคะ”
ไม่มีคำตอบ แม่ยังปั่นจักรยานสำหรับออกกำลังกายด้วยจังหวะปกติ
สักพักเด็กหญิงก็พูดขึ้นกับดอกหญ้า “ดอกหญ้าเล็กๆ นี่สวยจัง”
“ดูหนอนด้วยนะลูก” แม่ซึ่งเฝ้าดูอยู่สำทับ
“มันน่ารักด้วยนะคะแม่”
“อย่าไปแตะเดี๋ยวใบหญ้ามันทิ่มเอา” น้ำเสียงแม่ออกจะกังวล
ลูกสาวรามือจากยอดหญ้า “โอโฮ ก้อนหินนี้สูงจัง หนูปีนได้ไหมคะแม่”
“ไม่เอาลูกมันลื่นเดี๋ยวตกแขนหัก”
“ก็หนูอยากลื่นนะ”
“เอ๊ะ ดื้อจริงลูกคนนี้ มาไปวิ่งกับแม่ดีกว่า” แล้วแม่ลงจากจักรยานเข้ามาจูงลูกสาวและออกวิ่งจากไป แต่ผมยังแว่วได้ยินเสียงเจื้อยแจ้วของลูกสาวที่ตั้งคำถามจากสิ่งที่พบเห็นบนรายทาง

เด็กกับผู้ใหญ่มักมองโลกด้วยดวงตาที่ต่างกัน
เด็กเฝ้ามองอย่างกระหายที่จะเรียนรู้จริงผ่านประสาทสัมผัสทั้งมวล

วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553

สร้างจิตดวงใหญ่ ด้วยรักแบบไม่มีเงื่อนไข

     
เรามักได้ยินสิ่งเหล่านี้บ่อยๆ
“อย่าทำอย่างนั้น ไม่งั้นแม่จะไม่รัก”
“อยากให้พ่อแม่รัก  ต้องตั้งใจเรียนสิลูก"
“ถ้าลูกสอบได้อันดับดีๆ จึงจะพาไปเที่ยว”
“เด็กๆ ต้องตั้งใจเรียน ตั้งใจฟังครู ครูจึงจะให้ดาวความดี”
“เด็กๆ จะได้ฟังนิทานก็ต่อเมื่อส่งการบ้านทุกคน”

      แม้ทั้งหมดจะเป็นพฤติกรรมที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดี แต่กลับเป็นความรักที่มาพร้อมกับเงื่อนไข ที่ต้องแลกกับแบบต่างตอบแทน เสมือนเด็กๆ ไม่มีคุณค่าพอที่จะให้เรารักแบบไม่มีเงื่อนไข

      การที่รู้สึกว่าจะไม่ได้รับความรักนั้นทำให้มนุษย์อ่อนไหว เมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้ตั้งแต่เล็กถึงวิธีการสร้างกับดักอันชอบธรรม โดยการสร้างเงื่อนไขขึ้นมาต่อรองเพื่อแลกกับความรัก เงื่อนไขทั้งที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมจึงกลายเป็นตัวกลางที่สำคัญระหว่างคน แล้วความปรารถนาดีต่อกันอย่างบริสุทธิ์ก็น้อยลง

      เราควรตระหนักที่จะเริ่มต้นรักอย่างไม่มีเงื่อนไข  และพยายามหาวิธีที่จะไม่ทำให้เงื่อนไขที่เราสร้างขึ้น(อาจโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม)ถูกเพาะเลี้ยงไว้ภายในเขา  เพื่อจะรับประกันได้ว่าเมื่อเขาโตขึ้น เขาจะมีจิตดวงใหญ่ที่สามารถบรรจุผู้คนมากมายไว้ในนั้นด้วยความรักที่ปราศจากเงื่อนไข  เหมือนทะเลที่รองรับได้ทุกสิ่ง

แล้วกำแพงมายาที่กั้นเราอยู่ก็จะพังทลายลง

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

นอกไข่แดงคือการเรียนรู้


ภายในไข่แดงคือขอบเขตของความปลอดภัย เป็นการทำงานของโหมดปกติ ด้วยความเคยชิน เป็นการดำเนินชีวิตให้ผ่านไปแต่ละวันแบบไม่ต้องคิดใคร่ครวญให้มาก เช่น ตื่นนอน เราเข้าส้วม นั่งถ่าย ฉีดสายชำระ แปรงฟัน รดน้ำต้นไม ขับรถไปที่ทำงาน ทุกอย่างเป็นไปได้อย่างอัตโนมัติ

แต่การออกนอกเขตไข่แดง จะทำให้เราได้ไตร่ตรองครุ่นคิด เพื่อโยงสิ่งที่พบพานใหม่กับประสบการณ์ที่มี มวลประสบการณ์ทั้งหลายจะโยงใยเพื่อเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาใหม่ที่เข้ามา

เช่น ตอนที่เราไปเที่ยวทะเล เราเรียนรู้การหายใจด้วยปากเมื่อต้องใช้สน็อกเกิ้ล ความไม่เคยชินแรกๆ อาจทำให้บางครั้งสำลักน้ำ แต่เมื่อเราลองทำครั้งแล้วครั้งเล่า เราก็สามารถดำน้ำดูปะการังที่สวยงามนั้นได้ ซ้ำเรายังสามารถปรับแต่งอุปกรณ์ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยตัวเอง ความยากก่อนหน้านั้นกลายเป็นเรื่องง่ายๆ

ลูกไก่สามารถมีชีวิตอยู่ได้สี่ห้าวันหลังจากฟักโดยไม่ต้องกินอะไร ทั้งนี้เพราะไข่แดงที่ติดตัวมา หากมันไม่หัดคุ้ยเขี่ยและจิกกินอาหารตั้งแต่วันแรกๆ ที่ฟักออกมา ไม่กี่วันเมื่อไข่แดงหมดมันก็จะง่อยเปลี้ยและตายไป

โหมดอัตโนมัติ หรือ การอยู่ในไขแดงเองก็ใช้ประโยชน์สำหรับการดำรงอยู่ได้อย่างจำกัด เพราะในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างยิ่งนี้ การออกจากไข่แดงอยู่เนืองๆ จะเกิดการเรียนรู้อยู่เสมอๆ นั่นจะขยายขอบเขตไข่แดงของเราเองให้กินขอบเขตมากขึ้น ซึ่งพอจะรับประกันได้ว่าเราจะยังอยู่ในโลกได้อย่างไม่ลำบาก

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

สเตียรอยด์ ดัชนีการเรียนรู้ของคนในชาติ

สเตียรอยด์ คือชื่อเรียกของกลุ่มฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากต่อมหมวกไตภายในร่างกายของคนเรา สเตียรอยด์ที่ถูกสร้างหลักๆ มี 2 ชนิด คือ โคติซอล(Cortisol) และอัลโดสเตียรอยด์(Aldosterone)
ต่อมาในวงการแพทย์แผนปัจจุบันได้สร้างสารสเตียรอยด์สังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อพัฒนาตัวยาบางชนิดให้แรงขึ้น ซึ่งการใช้ยากลุ่มนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์และเภสัชกร แต่ด้วยคุณสมบัติที่ดีในการรักษาสารพัดโรค ไข้สูงสามารถฉีดให้ไข้ลดได้ในเข็มเดียว เป็นผื่นแพ้ไม่มีสาเหตุก็ทาให้หายได้ ปวดเส้นปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระ ดูก ก็ฉีดหรือกินให้หายได้ หรืออาการอื่น ๆ การหายได้

ดังนั้นการนำยานี้มาใช้จึงแพร่หลายอย่างไม่อาจควบคุมได้จริง เราอาจหาซื้อได้ง่ายในรูปของยาลูกลอน ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ ยาพระ ยาต้ม ยาหม้อ ยาชุด ที่มีขายตามตลาดสด คนมีเร่ขาย ขายตามเวทีมายากล โฆษณาตามสถานีวิทยุ หรือแม้กระทั้งในคลินิก ทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย

สเตียรอยด์มีโทษ คือ เมื่อใช้ติดต่อกันนานเกินไป จะเกิดอาการที่เรียกว่า Cushing's syndrome คือ
มีอาการบวม ท้องลาย ความดันโลหิตสูง อ่อนเพลีย ติดเชื้อง่าย กดการเจริญเติบโตของเด็ก ความดันในลูกตาสูงขึ้นทำให้เป็นต้อหิน โพแทสเซียมในเลือดต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ นอกจากนี้แล้วยังทำให้ประจำเดือนผิดปกติหรืออาจไม่มีประจำเดือน และความรู้สึกทางเพศลดลง กระดูกบาง เลือดออกในกระเพาะอาหาร เนื่องจากสเตียรอยด์ไปทำให้ผนังกระเพาะอาหารและลำไส้บางลง

และผลเสียที่เลวร้ายที่สุด คือ สเตียรอยด์จะกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย บดบังอาการติดเชื้อต่างๆ เมื่อร่างกายติดเชื้อก็จะไม่มีอาการเจ็บไข้ให้เห็น ทำให้ดูเหมือนสบายดี และเนื่องจากสเตียรอยด์กดภูมิคุ้มกันของร่างกายเอาไว้

ทั้งที่จริงต้นเหตุของความเจ็บป่วย คือการดูแลรักษารักษาสุขภาพ โดยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประ โยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้ก็คงไม่ต้องถึงปลายทางที่จะต้องเสี่ยงกับการใช้สารสเตียรอยด์

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยถูกทำให้ใช้สารสเตียรอยด์เพราะไม่รู้ หรือไม่ก็ใช้ไปโดยไม่รู้ผลข้างเคียง แต่คนที่รู้จักสารนี้ดีจำนวนหนึ่งยังแอบใช้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบของตนต่อคนอื่น อาจจะเพื่อให้ได้ผลกับการรักษา และ/หรือ เพื่อผลประโยชน์ที่จะได้มาอย่างง่ายดาย

ทั้งหมดนี้ สามารถแก้ไขด้วยการเพิ่มสมรรถนะการเรียนรู้ของคนในชาติ(ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของการปฏิรูปการศึกษา) และ เป็นสมรรถนะการเรียนรู้ที่รวมเอาความรู้สึกรับผิดชอบต่อตนเองและต่อคนอื่นเข้าไปด้วย

วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553

เมล็ดพันธุ์ของวันพรุ่ง

กลางเดือนมีนาคมวันสิ้นปีการศึกษา พี่ๆ ชั้น ป.6 เพิ่งจบจากไป
นักเรียนชั้นอื่นก็ปิดเรียน โต๊ะเรียนว่างเปล่า
ห้องเรียนก็เงียบเหงา
ความเงียบได้กลืนกินทุกอย่างในโรงเรียน เหมือนโลกได้หยุดหายใจลงชั่วขณะ
แต่ความเงียบก็ไม่อาจทนอยู่นาน
เมื่อยอดอ่อนของต้นจานได้ผลิออก ดอกอินทนิลก็ค่อยๆ แย้มบานเช่นกัน
ฉับพลันนั้นบทเพลงอันเพราะพริ้งจากการขับขานของจักจั่นเรไรก็ดังระงม
วันนี้ ....ไม่ใช่การจากลา
แต่เป็นวันแห่งฤดูกาลใหม่ที่กำลังเริ่มต้น
เธอเป็นความหวัง
เพราะเธอคือเมล็ดพันธุ์ของวันพรุ่ง


วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

การเรียนรู้บนฐานความรู้สึก

เราไม่ได้เชื่อความรู้มากนัก  ลึกๆ แล้วเราเชื่อความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อสิ่งต่าง  ความรู้มีไว้เพียงเพื่อเป็นเหตุผลอธิบายความรู้สึก
      เราเรียนรู้มามากมายว่ากินเหล้าไม่ดีต่อสุขภาพ  แต่เหล้าก็ดำรงอยู่ในสังคมมานานนับ
      เราซื้อฉลากกินแบ่งรัฐบาล  ทั้งที่รู้ว่าโอกาสที่จะถูกนั้นเพียง 1:1,000,000
      บางครั้งการทดลองกินยาจริงกับก้อนแป้งอาจให้ผลต่อการรักษาไม่ต่างกัน
ความรู้สึกของมนุษย์ก่อตัวและจัดเรียงเป็นโครงสร้างในตัวเราก่อนที่เราจะมีความรู้  ความรู้ป็นเพียงตัวที่มาเกาะกับแกนความรู้สึกที่เรามีอยู่เดิมแล้วเท่านั้น  เราอาจจะสลัดมันออกเมื่อไหร่ก็ได้ถ้าเกิดมันขัดกับความรู้สึก
เรามักจำเหตุการณ์ในอดีตนานมาแล้วได้บางเหตุการณ์เท่านั้น  และ เหตุการณ์ที่จำได้นั้นมักจะเชื่อมกับความรู้สึกบางอย่างด้วยเสมอ  อาจเป็นดี่ใจ เศร้าเสียใจ ตื่นเต้น  กลัว เกลียด ขยาด เจ็บปวด ฯลฯ
ความรู้สึกยังเป็นที่มาของคุณธรรมและจริยธรรม  เช่น เราเห็นลูกนกตกจากรัง  คุณธรรมและจริยะธรรมไม่ได้กระโดดออกมาทันที่ แต่ความรู้สงสารและความรู้สึกคิถึงแม่ จึงทำให้เราแสดงจริยธรรมออกไปโดยนำลูกนกกลับไปไว้รัก เรารู้สึกปราบปลื้มที่ได้ทำอย่างนั้น และสั่งสมเป็นคุณธรรมความเมตตาในตัวเรา
การเรียนรู้เพื่อการจดจำประสบการณ์หนึ่งๆ นั้นจึงจำเป็นที่จะให้เชื่อมต่อกับความรู้สึกของเด็กๆ ประสบการณ์ที่จดจำมาเพียงเหตุการณ์เดียวอาจไม่ถึงความเข้าใจหรือนำไปใช้ได้ แต่เมื่อผ่านหลายๆ ประสบการณ์  การเชื่อมโยงเป็นโครงสร้างความรู้และโครงสร้างความรู้สึกก็จะเกิดขึ้น  องค์ความรู้ที่อยู่บนเส้นสายของความรู้สึกก็จะใช้ได้จริง  เป็นชีวิตจริงที่ผสมผสานทุกอย่างลงตัวแล้ว ซึ่งคุณธรรมกับความรู้จึงไม่ได้แยกชั้นกันอยู่

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บุตรของโลก

พ่อแม่นักเรียนชั้น ป.6 ประชุมกันก่อนที่ลูกจะจบ ทุกคนกำลังมองหาที่เรียนที่ดีที่สุดให้ลูก และ ส่วนใหญ่ก็ยังอยากให้ลูกเรียนที่มัธยมลำปลายมาศต่อ แต่ก็กังวลว่าลูกจะอ่อนวิชาการ แล้วจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้
อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ปกครองกังวลกันมากว่าลูกจะประสบผลสำเร็จไหม ทุกคนอยากให้ลูกมีอาชีพอย่างนั้นอย่างนี้  ทั้งนี้ก็ด้วยความรัก
ผมเลยนึกถึงบทกวีหนึ่งของ คาริบ ยิบราน
เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต
เขามาผ่านเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ
และแม้ว่าเขาอยู่กับเธอ แต่ก็ไม่ใช่สมบัติของเธอ
เธออาจจะให้ความรักแก่เขา แต่ไม่อาจให้ความนึกคิดได้
เพราะว่าเขาก็มีความนึกคิดของตนเอง
เธออาจจะให้ที่อยู่อาศัยแก่ร่างกายของเขาได้ แต่มิใช่แก่วิญญาณของเขา
เพราะว่าวิญญาณของเขานั้น อยู่ในบ้านของพรุ่งนี้ ซึ่งเธอไม่อาจเยี่ยมเยือนได้ แม้ในความฝัน...

แต่ทั้งหมดที่พ่อแม่ปรารถนาต่อลูกก็ด้วยความรัก 
ความรักอาจทำให้หัวใจตีบเล็กลงถ้ารวมเอาความรักเพื่อตัวเองเข้าไปด้วย
           ความรักคือการได้มา หรือ ให้ไป

หมอผี

ตอนเป็นเด็ก ผมกลัวผีมาก เพราะคุณตาเป็นหมอผีจึงรู้จักผีชนิดต่างๆ จากการบอกเล่าของคุณตา   เมื่อรู้ว่าผมกลัวคุณตาจึงให้คาถาไล่ผีซึ่งเป็นอักขระ 21 ตัว (นะมะพะธะนะโมพุทธายะมะระอุอิอีสาระสุจิเกรุนิ)  ผมท่องคาถานั้นขึ้นใจ และมักท่องคาถานั้นบ่อยๆ หรือ ทุกครั้งที่เกิดความกลัว โดยเฉพาะตอนที่โดนผีอำ  ซึ่งน่าแปลกใจมากที่มันได้ผลทุกครั้งโดยเฉพาะตอนที่โดนผีอำเมื่อท่องคาถานี้ในใจ  ร่างกายจะค่อยๆ คลายออกจนเป็นปกติ
เมื่อโตขึ้นผมเริ่มเข้าใจและอธิบายปรากฏการณ์ของอาการผีอำให้กับตัวเองได้ และ เริ่มเข้าใจปรากฏการณ์ของผี   ผมมีความกลัวผีน้อยลงทุกขณะเมื่ออายุมากขึ้นและในที่สุดอาจจะไม่กลัวเลย   
ตอนโตนี้ผมไม่ค่อยได้กลัวผีและไม่เคยถูกผีอำเลยจึงไม่ต้องใช้คาถานั้นแล้ว  
แต่บางทีเมื่อถึงวาระสุดท้าย  ขณะที่ผมจะตาย ถ้าผมเกิดความกลัวอะไรสักอย่างขึ้นมา  ผมคงต้องท่องคาถานั้นเป็นสิ่งสุดท้าย

การศึกษาอาจใช้เวลาเกือบทั้งหมดของวัยเด็ก  แต่แท้จริงเราต้องการบางอย่างเท่านั้นที่จะอยู่กับเขาตลอดไป

วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แก้คำผิด

"ทำไม่ครูโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจึงติดโชว์ผลงานของเด็กๆ โดยไม่แก้คำผิด?" เป็นคำถามของครูที่มาเข้าอบรมหลายท่าน

จริงๆ ไม่รู้อะไรถูก
แต่เราคิดว่าการตรวจเช็คและแก้ไขโดยครูเป็นการมองจากครูฝ่ายเดียวซึ่งครูกำลังมองภาษาในรูปแบบตายตัว ไม่ยืดหยุ่น และไม่สามารถนำลองผิดลองถูกได้
การที่ครูแก้คำถูกผิดด้วยตัวแดงพรืดเต็มไปหมด อาจทำให้เด็กรู้สึกภาษาเป็นสิ่งน่ากลัว และอาจรู้สึกว่าตัวเองด้อยความสามารถจนไม่กล้าที่จะเขียนคำใหม่ๆ อีกต่อไป
มอนเตสซอรี่ก็เชื่อว่า ถึงเด็กจะเขียนผิดถูกอย่างไรก็ได้ แต่เมื่อเด็กเริมอ่านหนังสือได้เขาจะตื่นตัวที่จะเช็คคำผิดคำถูกด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อเขารักการอ่านและมีประสบการอ่านมากขึ้นเขาจะยิ่งกระตือรือร้นในการตรวจเช็คคำผิดด้วยตังเอง
อาจจะใช้วิธีของครูณีก็ได้ ตอนที่ตรวจงาน ครูณีแค่รวบรวมคำที่เด็กแต่ละคนเขียนผิดมาเขียนไว้มุมหนึ่งของกระดาน ให้มีโอกาสได้ใช้บางคำในจำนวนนั้นอย่างถูกต้อง แล้วหลังจากนั้นเด็กๆ ก็จะตรวจเช็กสมุดของตัวเองอย่างกระตือรือร้น
ภาษาจะเป็นสิ่งน่ารำคาญ ถ้ามันอธิบายความหมายที่อยู่ใต้บรรทัดไม่ได้

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ความสำเร็จขึ้นกับเกณฑ์

ความสำเร็จขึ้นกับเกณฑ์ที่ใช้วัด
และยังขึ้นอยู่กับความน่าจะเป็นที่โอกาสนั้นจะเกิดขึ้น

มีคำถามที่น่าใคร่ครวญยิ่งว่า “อะไร อย่างไร ขนาดไหน คือ ความสำเร็จ”

ตอนผมเรียนมัธยมปลาย เพราะความจนผมจึงไม่มีปัญญาซื้อหนังสือประเภทอ่านเสริม คู่มือ แบบสรุปบทเรียน หรือไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนพิเศษ ผมก็เลยใช้วิธีการตั้งใจเรียนในชั่วโมง แล้วสรุปบทเรียนเองทุกครั้ง การทำอย่างนั้นทำให้ผมได้ใคร่ครวญสิ่งที่เรียนมารอบแล้วรอบเล่า ในแง่มุมที่ต่างออกไปตามช่วงเวลาที่ต่างออกไป มันทำให้ผมเข้าใจสิ่งต่างๆ มากกว่าเนื้อหาที่ได้เรียน กลับกลายเป็นว่าความขาดแคลนทำให้ผมได้พัฒนาวิธีการเรียนรู้ขึ้นมาด้วยตัวเอง ความจริงแล้ว ตอนนั้นผมคิดไม่ออกหรอกว่าจะต้องทำอย่างไร มันเป็นแค่ลูกฟลุ๊ค มันอยู่บนพื้นฐานของโอกาสหนึ่งของความน่าจะเป็นที่อาจจะเกิดกับใครก็ได้ทั้งคนที่มีปัจจัยพรั่งพร้อม หรือ คนอัตคัดขัดสน

วันนี้ผมได้รู้จักมักคุ้นกับใครบางคนทั้งที่โอกาสที่ผมจะได้รู้จักกับใครคนนั้นเพียง 1 ใน หกพันล้าน นี่ก็เป็นเพียงโอกาสหนึ่งขอความน่าจะเป็นเท่านั้น

การควบคุมโอกาสนั้นยากยิ่ง

เราอาจจะมีโอกาสน้อยมากในการที่จะทำให้เด็กแต่ละคนเป็นอย่างนั้นหรืออย่างนี้

แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะสร้างโอกาสให้สิ่งที่เราอยากให้เป็นเกิดขึ้นได้เกิดขึ้น โดยการเปิดพื้นที่ให้โอกาสที่ต้องการและปิดพื้นที่สำหรับโอกาสที่ไม่ต้องการนั้นเสีย

ตัวอย่างเช่น จากคำถาม “จะทำอย่างไรไม่ให้ลูกๆ ติดเกม”
ความเป็นไปได้มากขึ้นถ้าเปิดพื้นที่สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ให้เด็กๆ ทำ และในขณะเดียวกันก็ปิดพื้นที่ที่จะให้เด็กได้ใกล้ชิดเกม

แต่จะอย่างไร โอกาสที่จะเกิดยังเป็นไปได้ทุกแบบ การเข้าใจว่ามันเป็นเพียงความน่าจะเป็นอาจจะทำให้เราสบายใจมากขึ้น และตอนนั้นเราจะประจักษ์ว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นั้นมันเป็นก็แค่เหตุการณ์ธรรมดาๆ ที่เราสร้างเกณฑ์เข้าไปจับ

การควบคุม

เมื่อแรกเกิด......
      เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะหัดพูด และ ทำสิ่งต่างๆ
เมื่อเข้าเรียน....
      โรงเรียนกลับพยายามให้เขาอยู่นิ่งๆ และ หุบปาก

"การควบคุมชั้นเรียน"  กับ  "การจัดการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้"  นั้นต่างกัน 
อย่างแรกจะมีแต่ความเงียบที่บ่มเพาะความรู้สึกสยบยอมเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม  แต่อย่างหลังจะมีทั้งความวุ่นวายโกลาหล และ ความสงบลึก  เพื่อให้สมองสมองได้ทำงานครบทั้งสามส่วน
คิดถึงเป้าหมายก่อนวิธี
ทำอย่างไรที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ สำคัญกว่าจะควบคุมเขาอย่างไร

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

หรือจะหลงทางเพราะ NT, O-Net


จากข่าว ไทยรัฐ วันที่ 15 มกราคม 2553

ขณะ นี้มีโรงเรียนจำนวนมากทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ไม่สนใจสอนเนื้อหาการเรียนการสอนชั้น ป.6 และ ม.3 แต่กลับมากระตือรือร้นในการติวนักเรียนเพื่อจะไปสอบโอเน็ตให้ได้คะแนนมากๆ ...

ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สทศ.จะจัดทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต ประจำปีการศึกษา 2552 ให้กับนักเรียน ป.6, ม.3 และ ม.6 ในเดือน ก.พ.นี้ มีโทรศัพท์สอบถามเข้ามาที่ สทศ. จำนวนหนึ่งแจ้งว่า ขณะนี้มีโรงเรียนจำนวนมากทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ไม่สนใจสอนเนื้อหาการเรียนการสอนชั้น ป.6 และ ม.3 แต่กลับมากระตือรือร้นในการติวนักเรียนเพื่อจะไปสอบโอเน็ตให้ได้คะแนนมากๆ ซึ่ง สทศ.ห่วงว่า โรงเรียนอาจทำบางอย่างที่ไม่สมควร เช่น บอกข้อสอบนักเรียน จึงได้ทำจดหมายถึงศูนย์สอบ เขตพื้นที่การศึกษา ให้เข้าไปช่วยดูการจัดสอบโอเน็ตอย่างใกล้ชิด รวมทั้งจะประชาสัมพันธ์ให้สนามสอบ ป.6 และ ม.3 ทราบว่า หาก สทศ.สงสัยว่ามีโรงเรียน สนามสอบ หรือศูนย์สอบไหนมีพฤติกรรม หรือมีข้อมูลว่า กระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทุจริต สทศ.จะไม่ประกาศคะแนนของเด็กนักเรียนในสนามสอบนั้นทั้งหมด เพราะมีนักเรียนจากหลายๆโรงมาสอบร่วมกัน หากมีการทำผิดก็ถือว่าทำผิดทั้งหมด และจะประกาศผลเมื่อตรวจสอบว่าไม่มีการทุจริต.

เมื่อได้อ่านข่าวทำให้ผมนึกถึงเรื่องหนึ่ง....
กาลครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่งเร่หาซื้อขวดแก้วที่มีรูปร่างแปลกตา ด้วยราคาแพงมาก เขาเดินไปตามหมู่บ้านต่างๆ พร้อมกับโชว์ขวดลักษณะที่เขาต้องการให้ดู ชาวบ้านล่ำลือกันและควานหา แต่มันก็ช่างหายากเหลือเกิน และชายที่รับซื้อขวดก็เดินประกาศหาซื้อขวดแบบนั้นวันแล้ววันเล่า

วันหนึ่งมีชายอีกคนหนึ่งเข็นรถขวด แจกัน ลักษณะต่างๆ มากมายเข้าไปขายในหมู่บ้าน ชาวบ้านแตกตื่นออกมาซื้อขวดแบบที่ชายคนแรกต้องการ แต่ชายคนนี้ก็ขายขวดแบบนั้นแพงมาก จะอย่างไรเมื่อชาวบ้านคำนวณดูแล้วยังได้กำไรอีกมากเมื่อเทียบกับราคาที่ชายคนแรกเสนอซื้อ ชาวบ้านบางคนที่มีทุนหนาก็ซื้อขวดเก็บไว้หลายใบ
หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่ามีคนรับซื้อขวดแบบนั้นอีกเลย

NT, O-Net ก็ไม่ต่างจากชายซื้อขวด หลอกฝันลมๆ แล้งๆ  ไปไม่ถึงเป้าหมายที่แท้จริงทางการศึกษา  และยิ่งไม่สบายใจมาก  เมื่อทราบว่าบางเขตพื้นที่การศึกษา  หรือบางโรงเรียน  ให้คะแนน NT,O-Net มีผลต่อความดีความชอบครู  หรือมีผลต่อการพิจาณาผลงานวิชาการของครู  หรือ มีผลต่อการย้ายผู้บริหาร
NT,  O-Net  มีประโยชน์ในเชิงตรวจสอบคุณภาพการศึกษาแบบภาพรวม(บางด้านเท่านั้น ไม่ใช่ทุกด้าน)