ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โรงเรียนเป็นเหมือนนักเดินทาง

      

      ขึ้นชื่อว่านักเดินทางเขาคงไม่สบายใจถ้ามีใครเอาสายวัดระยะมาวัดเพื่อบอกว่าเขาเดินทางไปได้ไกลแค่ไหน  หรือ เข้าใกล้ที่ใดสักแห่งเพียงใด  เพราะนักเดินทางไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเดินให้ถึงที่ไหนสักแห่งแต่มีจุดประสงค์เพื่อเก็บเกี่ยวเรื่องราวระหว่างทาง  ได้ใคร่ครวญครุ่นคิดกับสิ่งที่พบเห็น  รับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้น  พัฒนาความงอกงามด้านในโดยปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการได้เดิน
      โรงเรียนทุกแห่งคงไม่สบายใจถ้ามีองค์กรประเมินมาตรฐานโรงเรียนเข้ามาประเมินแล้วไม่ได้ค้นหาเพื่อบอกสิ่งที่คุณค่าจริงๆ   บอกได้เพียงความจริงไม่แท้จากการใช้เครื่องมือประเมินที่มีดัชนีชี้วัดที่วัดได้เฉพาะระยะทาง  หรือ การมีผู้ประเมินจับจ้องเพียงระยะทางที่โรงเรียนจะไปถึงที่ไหนสักแห่ง  โดยที่ไม่ได้สนใจเลยว่าโรงเรียนนั้นเดินอยู่บนเส้นทางไหน  ระหว่างเดินทางได้เก็บเกี่ยวอะไรไว้บาง  เกิดความสุขปีติขณะเดินทางมากน้อยเพียงใด หรือ เกิดความงอกงามด้านในเพียงใด
      มาตรฐาน  กำหนดอย่างตายตัวว่าความสำเร็จต้องเป็นอย่างไร   ดัชนีก็ชี้แคบจำเพาะลงไปเพื่อจับทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมให้เป็นรูปธรรมอย่างเดียว 
      ทั้งที่โรงเรียนแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน  เสมือนคนแต่ละคนที่มีความเป็นเฉพาะของตัวเอง หรือ เสมือนไม้ในป่าที่ต้องมีความแตกต่างหลากหลายพันธุ์เพื่อเกื้อกูลกันให้เป็นป่า   แม้โรงเรียนซึ่งจัดโดยรัฐที่เป็นรูปแบบแบบเดียวกันแต่เมื่อตั้งอยู่ในชุมชนที่มีความแตกต่างทั้งทางภูมิศาสตร์  ความเป็นอยู่  วิถีการดำเนินชีวิต  ความเชื่อ  ค่านิยม วัฒนธรรมหรืออื่นๆ อีกมากมาย   ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สอดผสานเข้าสู่โรงเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอมเด็กๆ ไปด้วย    การประเมินมาตรฐานโรงเรียนจึงควรเคารพถึงความแตกต่างระหว่างโรงเรียนอย่างยิ่ง  ยอมให้เกิดความยึดหยุ่นทั้งมาตรฐานและดัชนี  ทั้งยังต้องมีผู้ประเมินที่ไม่ใช่เทวดาแต่เป็นมนุษย์ธรรมดาที่ประกอบด้วยทั้งหัวใจและสมอง  และที่สำคัญทั้งครู ผู้เรียน ผู้ปกครอง และชุมชนควรมีส่วนร่วมในการประเมินในสัดส่วนที่เป็นค่าส่วนใหญ่
      เป้าหมายคือมาตรฐานและตัวชี้วัดนั้นเป็นเพียงความคาดหวังในอนาคตซึ่งยังไม่มีจริง   เราควรค้นหาและให้คุณค่ากับสิ่งที่มีจริงๆ ในแต่ละโรงเรียนขณะปัจจุบันนั้น เพราะนั่นคือความสดใหม่ที่ทันการณ์ทันใช้ในบริบทของชุมชนนั่นๆ  ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์กรที่ให้การศึกษาไม่ใช่หรือที่จะต้องสร้างความสดใหม่ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก   แล้วโรงเรียนซึ่งหมายถึงทั้งผู้เรียน ครู ผู้ปกครองและคนในชุมชนจะกลายเป็นนักเดินทางที่มีความสุข  อิสระ และ เกิดความงอกงามด้านในจริงๆ

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ22 กรกฎาคม 2553 เวลา 16:44

    เห็นด้วยและขอชื่นชมผู้เขียนอย่างยิ่ง เลิกซะที หยุดซะที การทำงานเพื่อเอาหน้า หรือทำงานบนกระดาษ ลองมองรอบๆ ตัวคุณแล้วจะเห็นปัจจุบันที่กำลังรอความหวัง กองกระดาษที่กองเป็นภูเขาเพื่อรอให้ใครสักคนมาตรวจแบบไม่ใส่ใจ หรือเอาเวลาที่มีค่าไปจากเด็กๆ (เพื่อไปทำเอกสารส่งเทวดาเบื่องบน) ถ้ามนุษย์ที่เรียกตัวเองว่าครูไม่สอนความเป็นมนุษย์ให้มนุษย์แล้ว หรือจะรอให้กระดาษที่ทำส่งเทวดา มาสอนความเป็นมนุษย์

    ครูคือความหวัง
    ขอเป็นกำลังใจให้คณะครูโรงเรียนนอกกะลาสู้ต่อไป จงอย่ายอมให้เทวดามาทำลายคุณค่าแห่งปัจจุบัน

    จาก..ครูไทย

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ23 กรกฎาคม 2553 เวลา 10:03

    สวัสดีค่ะ คุณวิเชียร ไชยบัง

    ต้องขอโทษนะคะที่เขียนติดต่อมาทางบล็อคเพราะหาอีเมลของคุณวิเชียรไม่ได้ คือเป็นสถาปนิกที่คุณหนุ่มให้ช่วยออกแบบห้องเรียน+หอพักที่พัทยาน่ะค่ะ อยากสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมของเด็กที่นั่น มิทราบว่าจะขออีเมลติดต่อได้มั้ยคะ?

    ดิฉันชื่อ จินดา และ สุรวัฒน์ หาญทวิชัย
    email : oijinda@hotmail.com

    ชื่นชมและยินดีที่ได้ร่วมงานกันนะคะ เพราะมีแนวคิดคล้ายๆกันค่ะ
    ดิฉันมีบล็อคอยู่เหมือนกัน
    http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=karavathai&group=5

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ26 กรกฎาคม 2553 เวลา 00:02

    แนวคิดที่ดี เป็นธรรมชาติ เป็นความจริงของชีวิต อยากรู้ว่าคนที่เป็น รมต.กระทรวงศึกษาธิการ คิดไม่เป็นบ้างหรือ รมต.ปัจจุบัน เท่าที่ทราบก็มาจากครู จะมีแนวคิดดีๆอย่างนี้บ้างไหม ขอให้พวกท่านได้โปรดไปนำเสนอให้ได้รับรู้เพื่อนำไปปฎิบัติ เพื่ออนาคตของลูกหลาน และของชาติต่อไปนะครับ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ3 สิงหาคม 2553 เวลา 13:35

    มนุษย์มีความแตกต่างทั้งด้านความคิด ทักษะ ต่างๆ ถ้าคนหนึ่งคนพูดเรื่องเดียวกัน ก็ไม่สามารถถ่ายทอดได้เหมือนกัน ผู้บริหาร ครู หรือใครคนใดคนหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีกรอบ มีรูปแบบ แนวทางให้เดิน ส่วนคนที่มีทักษะสูงกว่าขึ้นมาก็คิดแตกกรอบไปนิด ตามระดับของทักษะ โรงเรียนจะดี ก็ต้องมีหัวสิงห์ที่ดี เพราะถ้าหัวสิงห์ไม่พาไป ตัวก็จะไม่ไป ในวงการศึกษาของราชการครูผู้สอนส่วนใหญ่ยังต้องการสนับสนุน ส่งเสริมจากผู้บริหาร ส่วน สมศ.ก็คือบุคคลที่ถูกแต่งตั้งมาตรวจสอบ ส่วนมากก็เป็นDouble Standard น่าเบื่อ แต่บางครั้งถ้าไม่มีพวกเขา ครูผู้บริหารบางโรงเรียนก็ไม่ทำอะไร น่าสงสารเด็ก ๆ

    ตอบลบ