ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

จิตศึกษา : ฝึกจิตจากภายใน

ปัญญาภายใน (8)

ว่าด้วยสัมพันธภาพของคนในโรงเรียน การที่มีเจ้าหน้าที่หรือครูที่เป็นกัลยาณมิตรที่คอยเกื้อหนุน ให้คำแนะนำ และให้ความรัก ความเมตตาเสมอ ก็มีความสสำคัญยิ่งต่อความั่นคงทางจิจใจของเด็ก ความรู้สึกปลอดภัย ไม่ถูกคุกคามจะกระตุ้นการเรียนรู้และแรงจูงใจเชิงบวกได้อย่างดี
ความสำคัญของกิจกรรมจิตศึกษาเพื่อบ่มเพาะปัญญาภายใน จะใช้เวลาประมาณ 20 นาที ในภาคเช้าก่อนการเรียนการสอนวิชาอื่น และ 20 นาทีหลังจากสิ้นสุดการเรียนวิชาต่างๆ
เป้าหมายกิจกรรมจิตศึกษาเพื่อพัฒนาความฉลาดด้านจิตวิญญาณและความฉลาดด้านอารมณ์ ให้เห็นคุณค่าของสรรพสิ่ง การน้อมนำสิ่งที่ดีงามเข้าไปสู่จิตใต้สำนึก ทั้งยังเตรียมความพร้อมของนักเรียน ให้อยู่ในภาวะคลื่นสมองต่ำ และมีความพร้อมในการเรียน ดังนี้


-          * กิจกรรมที่มุ่งเสริมสร้างพลังสงบให้เกิดความสงบภายในและการผ่อนคลาย  เช่น  ขณะทำกิจกรรมก็เปิดเสียงดนตรีที่มีลักษณะของคลื่นความถี่ต่ำเพื่อเหนี่ยวนำคลื่นสมองของเด็กให้มีความถี่ต่ำลง   การทำโยคะเพื่อการบริหารอวัยวะภายในและเพื่อบริหารลมหายใจ  ให้ได้อยู่กับลมหายใจ    การทำบอร์ดีแสกนเพื่อการผ่อนคลายแบบลึกและบ่มเพาะสิ่งที่ดีงามในจิตใต้สำนึก  หรือ  แม้กระทั้งการนวดตัวเองหรือนวดกันและกันเพื่อส่งความรู้สึกดีต่อกัน

-         *  กิจกรรมที่มุ่งให้เกิดสติ   เพื่อให้เด็กได้มีความชำนาญในการกลับมารู้ตัวได้เสมอๆ  ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เด็กรู้เท่าทันอารมณ์และการกระทำที่กำลังเกิดขึ้นในแต่ละขณะ  เพื่อจะได้รู้ว่าควรหยุดหรือดำเนินกิจกรรมนั้นต่อ  ตัวอย่างกิจกรรมเช่น  การเดินตามรอยเท้า  การกำกับกาย  การอยู่กับลมหายใจ  การบอกการรับรู้จากประสาทสัมผัสขณะนั้น  Brian Gym    


-        *   กิจกรรมฝึกสมาธิหรือการจดจ่อ  ให้เด็กมีความสามารถในการคงสมาธิได้ยาวขึ้นเพื่อกำกับความเพียรทั้งการเรียนรู้และการทำงานให้สัมฤทธิผล    เช่น   กิจกรรมส่งน้ำ  ส่งเทียน   ต่อบล็อก  Brian Gym   การจิตนาการเป็นภาพ  การร้อยลูกปัด  การร้อยมาลัย  การพับกระดาษ  การวาดภาพ  การฟังนิทานหรือเรื่องเล่า  พิธีชา  พิธีจัดดอกไม้  


-         *  กิจกรรมที่มุ่งให้เห็นความเชื่อมโยง  เห็นคุณค่าของตัวเอง คนอื่น หรือสิ่งอื่น  ตัวอย่างกิจกรรมเช่น  การสนทนากับต้นไม้   การเล่าข่าว  การค้นหาคุณค่าจากสิ่งที่ไร้ค่า   การขอบคุณสิ่งต่างๆ   การค้นหาต้นกำเนิดของตัวเราและสิ่งต่างๆ   การพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมของตัวเองและสิ่งต่างๆ


-          * กิจกรรมที่มุ่งให้เกิดการบ่มเพาะจิตสำนึกที่ดีงาม  นิทาน  เรื่องเล่า  เพื่อการใคร่ครวญ  การใช้คำที่ให้พลังด้านบวก  การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลื่อผู้อื่น   การเดินทางไกล  การอยู่ตามลำพังกับธรรมชาติ    


-          * กิจกรรมที่มุ่งบ่มเพาะพลังความรักความเมตตา เช่น  การไหว้กันและไหว้สิ่งต่างๆ   การกอด  การขอบคุณกันและขอบคุณสิ่งต่างๆ    การยกย่องชื่นชมความดีงามของคนอื่นๆ   การร่วมร่วมกันชื่นชมศิลปะ

   ที่มา : กรุงเทพธุรกิจกายใจ ฉบับที่ 91 (26 ก.พ. - 6 มี.ค. 2555)

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สร้างวิถีชุมชน

ปัญญาภายใน (7)
     เซลล์กระจกเงาในสมองนั้นทำงานตลอดเวลา   การสร้างชุมชนที่สะอาด  ร่มรื่น  สวยงาม  ปลอดภัย  ใกล้ชิดกับธรรมชาติทั้งดิน  ลม  แสงแดด  ต้นไม้  และ อยู่ห่างไกลจากสิ่งรบกวนภายนอก เช่น เสียงดัง  มลพิษ  ร้านเกม ห้างสรรพสินค้า  จะทำให้เด็กๆ  ได้อยู่ในบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนเมล็ดพันธุ์ที่ดีในจิตให้เติบโต  ในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนานั้นไม่มีสหกรณ์ร้ายค้า  ไม่มีร้านขายขนมที่มีประโยชน์น้อยกว่าโทษ  เช่น  มีน้ำตาลสูง ไขมันสูง  แพงเกินจริงเพราะการโฆษณา   ขนมที่เด็กๆ  ได้กินส่วนใหญ่จะเป็นผู้ปกครองอาสาสมัครมาพาเด็กทำทุกสัปดาห์  
     นอกจากสภาพแวดล้อมในชุมชน(ในที่นี่หมายถึงโรงเรียน) แล้ว การที่มีเจ้าหน้าที่หรือครูที่เป็นกัลยาณมิตรที่คอยเกื้อหนุนให้คำแนะนำและให้ความรักความเมตตาเสมอก็มีความสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงทางจิตใจของเด็ก  ความรู้สึกปลอดภัยไม่ถูกคุกคามจะกระตุ้นการเรียนรู้และแรงจูงใจเชิงบวกได้อย่างดี     
     สัมพันธภาพของคนในชุมชนส่งผลมากที่สุดต่อบรรยากาศทั้งหมดภายในชุมชน  แม้บางครั้งจะมีเพียงไม่กี่คนที่ทะเลาะกันแต่จะส่งผลต่อความรู้สึกของคนทั้งหมด  การสร้างวิถีชุมชน(วัฒนธรรมองค์กร)ร่วมกันจะรักษาความสัมพันธ์ที่บางครั้งอาจร้าวฉานให้กลับมาดีได้ง่าย   
     วิถีชุมชนจะก่อให้เกิดพลังของความลื่นไหลร่วมกัน  ความลื่นไหลไม่ได้หมายถึงการอยู่เฉยโดยไม่มีอะไรทำ  การมีสิ่งที่ต้องทำมากมายตลอดวันก็ทำให้เกิดความลื่นไหลได้  อาการติดขัดหรือความไม่ลื่นไหลอาจดูได้จากอาการขุ่นมัวในจิตตอนสิ้นวันก็ได้  ความลื่นไหลที่แท้จริงจะนำไปสู่จิตที่มีปีติ  

     การหล่อเลี้ยงสัมพันธภาพที่ดีให้คงอยู่ได้เป็นเรื่องละเอียด  ต้องทำกันอยู่เสมอด้วยกิจกรรมหรืองานประเพณีของชุมชนอย่างหลากหลายแยบยล 
     การปฏิบัติในวิถีโรงเรียนจะต้องทำอย่างมีความหมาย  มีเหตุผล และคงเส้นคงวา  ในขณะเดียวกันโรงเรียนยังต้องตระหนักอยู่เสมอว่าผู้ปกครองทุกคนมีส่วนเกื้อกูลต่อความก้าวหน้าของเด็ก  การสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการอย่างหลากหลายจะช่วยให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาในเชิงจิตวิญญาณซึ่งเป็นนามธรรม  ในที่สุดผู้ปกครองจะเข้ามามากขึ้นพร้อมที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในโรงเรียน   เมื่อผู้ปกครองได้เรียนรู้วิถีชุมชนจากบทเรียนที่เกิดขึ้นในโรงเรียน  ผู้ปกครองก็จะนำกลับไปสู่ชุมชนจริงของตนเอง 

     วิถีเป็นการกระทำซ้ำที่จะช่วยในการบ่มเพาะ ทั้งความมีวินัยและความรับผิดชอบต่อหน้าที่  ซึ่งเป็นเครื่องมือกำกับตนเองจากด้านใน  เมื่อกลายเป็นอุปนิสัยจิตของเด็กจะไม่รู้สึกขัดขืน  ในที่สุดโรงเรียนไม่จำเป็นต้องใช้การควบคุมจากภายนอก เช่น  เสียงระฆัง  กฎหรือข้อตกลงร่วมกันจะน้อยข้อไปเอง   ทั้งนี้ครูต้องอยู่ร่วมในวิถีอย่างคงเส้นคงวาเช่นกัน


     การออกแบบวิถีชีวิตในโรงเรียนยังต้องคำนึงถึงธรรมชาติของร่างกายและสมอง 

     ช่วงเช้าตั้งแต่เด็กมาถึงโรงเรียนจนถึงช่วง จิตศึกษา”  ให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่บ่มเพาะความงอกงามด้านในโดยใช้ฐาน ใจ เป็นหลัก   ช่วงสายเป็นการเรียนรู้ที่ใช้ฐาน สมอง เป็นหลัก  

     ช่วงบ่ายให้เด็กได้เรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติคือการใช้ฐาน กาย เป็นหลัก


     การดำเนินตามวิถียังต้องระวังความเป็น Comfort Zone หรือ  การติดสุข  ติดอยู่กับความสบาย  ในวิถีจะต้องมีระดับความยากพอต่อการขัดเกลาข้างใน  

     กรุงเทพธุรกิจ (กายใจ) ฉบับที่ 89 (12-18 ก.พ. 2555)  

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ศิษย์ดีเริ่มต้นที่ตัวครู


ปัญญาภายใน(6)

ในการบ่มเพาะปัญญาภายใน  ด้วยการใช้กรอบคิดของจิตวิทยาเชิงบวก  โดยให้ผู้ใหญ่ลดพฤติกรรมในด้านลบลงดังที่กล่าวมาแล้วจากฉบับก่อน ๆ  ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็ต้องเพิ่มพฤติกรรมเชิงบวกด้วยเพื่อให้อาหารแก่เมล็ดพันธุ์ดีในจิตให้งอกงาม เช่น  ความรัก ให้อภัย ความเบิกบาน ความสงบ เมล็ดพันธุ์ปัญญา  ความสุข  เป็นต้น
1.      สร้างภาพพจน์ด้านบวกให้กับผู้เรียนทุกคน 
โดยการให้ความรัก   ให้เกียรติ  รับฟัง  แสดงความชื่นชมเมื่อมีโอกาส  สร้างโอกาสให้เด็กได้ทำงานสำเร็จด้วยตัวเองเสมอๆ ตั้งแต่การซักถุงเท้าเอง หิ้วกระเป๋าเอง ทำงานในหน้าที่เรียนที่ครูมอบหมาย   เพื่อให้เด็กทุกคนรู้สึกได้ว่าตนเองมีคุณค่า  ได้รับความรัก และมีความสามารถ
2.      การปรับพฤติกรรมเชิงบวก  
ต้องเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่าพฤติกรรมมนุษย์แสดงออกนั้นเป็นผลมาจากกระบวนการเรียนรู้และการหล่อหลอมมาจากอดีต   พฤติกรรมด้านลบที่แสดงออกมานั้นอาจสืบเนื่องจากการทำงานของสมองส่วนอะมิกดาลาซึ่งจะแสดงออกอย่างอัตโนมัติเมื่ออยู่ในภาวะกังวล  ตระหนกหรือกลัว  ทั้งนี้เป็นไปเพื่อปกป้องตนเอง     ส่วนพฤติกรรมที่แสดงออกมานั้นเป็นผลจากการทำงานของสมองส่วนหน้าจะแสดงออกด้วยอารมณ์ด้านบวกหรือด้านของความดีงาม  แต่ด้วยการทำงานของสมองสองส่วนที่เป็นปฏิภาคกันนั่นคือเมื่อสมองส่วนหน้าทำงานส่วนอะมิกดาลาจะไม่ทำงานหรือแบบตรงข้ามกับ  เราจึงมีโอกาสที่จะฝึกฝนให้สมองส่วนหน้าได้ทำงานเพื่อให้เด็กๆ ได้แสดงออกด้านบวกหรือด้านดีงามมากยิ่งขึ้น 
 ในการแก้ไขพฤติกรรมด้านลบต้องเริ่มจากให้เชื่อว่าทุกพฤติกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยให้การเรียนรู้ใหม่ เป็นการเรียนรู้ที่จะแสดงพฤติกรรมแบบใหม่  โดยให้รู้ตัว  ให้การเรียนรู้  และให้การฝึกฝน  ซึ่งเป็นความสามารถของสมองส่วนหน้าอยู่แล้ว  เมื่อผ่านการเรียนรู้และการฝึกฝนก็จะกลายเป็นอุปนิสัยคือเป็นพฤติกรรมใหม่ที่แสดงพฤติกรรมด้านบวกออกไปอย่างอัตโนมัติ
ให้การรู้ตัว    ต้องกระทำด้วยจิตใหญ่ คือ เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา    พร้อมที่จะให้อภัย และ ให้โอกาสแบบไม่จำกัด   เพราะพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกส่วนใหญ่จะเป็นไปแบบอัตโนมัติ  เป็นไปโดยไม่รู้ตัวว่า ผิด- ถูก หรือ  ไม่รู้ว่าเหมาะสม-ไม่เหมาะสม  นั้นคือไม่รู้ตัวว่า  “ไม่รู้”   การทำให้เด็กรู้ตัวเป็นบันไดขั้นแรกของการเรียนรู้เพื่อการแก้ไขพฤติกรรม   ซึ่งอาจใช้วิธีการตั้งคำถามเช่น   “เกิดอะไรขึ้น  เล่าให้ครูฟังหน่อย?”    “เธอกำลังรู้สึกอย่างไร?”    “เธอคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกกับเรื่องนี้อย่างไร?”    การทำให้รู้ตัวเราไม่ควรชี้ถูกผิดหรือชี้โทษ  และไม่ควรใช้คำพูดในลักษณะตีตรา   การรู้ตัวโดยเฉพาะเมื่อรู้ตัวว่าทำไม่ถูกต้องก็เท่ากับการได้หยุดสมองส่วนอะมิกดาลาเพื่อให้สมองส่วนหน้าได้ทำงานขั้นต่อไป
ให้การเรียนรู้ คือการให้ได้ใคร่ครวญกับสิ่งที่เกิดขึ้น   ครูอาจจะตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้คิดเทียบเคียงด้วยตนเองกับผลของการแสดงพฤติกรรมทั้งด้านบวกและด้านลบต่อเหตุการณ์นั้น   และ  ควรถามเพื่อให้เด็กได้คิดเองว่า  “จะแก้ไขสิ่งนั้นได้อย่างไร”   หลังจากนั้นครูควรให้การเรียนรู้ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมด้านลบนั้นต่อผ่านเรื่องเล่าจากเหตุการณ์จริงที่เป็นผลของการแสดงออกต่อเหตุการณ์นั้นทั้งทางด้านลบและด้านบวก  หรือ ละครปรับพฤติกรรม
ให้การฝึกฝน  หมายถึงการให้เด็กได้แสดงพฤติกรรมด้านบวกออกมาจริงๆ  ไม่ใช่แค่พูด  โดยใช้พฤติกรรมแม่แบบในการชักนำ  อาจเอาแม่แบบจากคนในสังคมที่เป็นแรงบันดาลใจ  พ่อแม่หรือครูก็ต้องเป็นแบบถูก  เช่น  เมื่อรู้ว่าร้านค้าทอนเงินให้เกินพ่อแม่ต้องแสดงให้เด็กเห็นว่าไม่ถูกต้องซึ่งต้องคืนเงินส่วนที่ได้รับเกินมา   เมื่อเห็นขยะซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นคนทิ้งเราก็ก้มเก็บไปทิ้งถังขยะเสียเองแทนที่จะพร่ำบ่นหรือต่อว่าเด็กๆ  ที่อยู่ใกล้ๆ  บริเวณนั้น   เมื่อเด็กพูดไม่ถูกต้องหรือพูดคำไม่สุภาพครูไม่ควรผลีผลามตำหนิออกไปแต่ให้พูดสิ่งที่ถูกต้องแทนเพื่อให้เด็กได้พูดทวนคำที่ถูกต้องนั้น  หรือขณะที่ครูกำลังสอนถ้ามีเด็กบางคนเล่นกัน ไม่ตั้งใจเรียนแทนที่ครูจะตำหนิเด็กคนนั้นครูอาจจะใช้การชมหรือขอบคุณผู้ตั้งใจเรียนแทน    เมื่อเด็กได้เรียนรู้ว่าจะแก้ไขพฤติกรรมด้านลบเหล่านั้นอย่างไรแล้วครูต้องสนับสนุนให้เขาแก้ไขสิ่งนั้นให้ลุล่วงด้วยตนเองแล้วให้การชื่นชม   การทบทวนฝึกฝนยังต้องทำต่อไปอีกระยะซึ่งขึ้นกับว่าพฤติกรรมด้านลบนั้นฝังอยู่ในจิตลึกเพียงใด 

กรุงเทพธุรกิจ (กายใจ) ฉบับที่ 87 (29 ม.ค.3- 4 ก.พ. 2555)

6 พฤติกรรม หั่น "เซลฟ์" เด็ก


ปัญญาภายใน(5)

     ต่อเนื่องจากปัญญาภายใน (4)
การใช้จิตวิทยาเชิงบวก
กรอบคิดทางจิตวิทยาเชิงบวกคือ   ให้ความสำคัญกับคุณค่าความเป็นมนุษย์   ศรัทธาในความดีงามของมนุษย์และบ่มเพาะผู้เรียนที่คุณค่าที่ดีงามซึ่งมีอยู่แล้วให้งอกงามยิ่งขึ้น   โดยปฏิบัติต่อผู้เรียนอย่างมนุษย์ที่มีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน  โดยมองถึงพฤติกรรมที่ต้องลดต่อจากฉบับที่แล้วได้แก่
1.      ลดการตีค่า การตัดสิน และการชี้โทษ 
เด็กทุกคนทำชิ้นงานหรือภาระงานออกมาตามศักยภาพของตนเองอย่างไม่เสแสร้ง  งานที่ออกมาจะบอกถึงสิ่งที่เด็กรู้  สิ่งที่เข้าใจหรือความสามารถของเด็ก   ครูมีหน้าที่ต้องรู้ว่ายังเหลือส่วนใดบ้างที่เด็กแต่ละคนยังไม่เข้าใจหรือยังไม่มีความสามารถเพื่อจะได้ช่วยยกระดับเรื่องนั้นให้สูงขึ้น   คำว่า “ศักยภาพที่สูงขึ้น”  ไม่ได้มีขีดจำกัด  ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ต้องมีเกณฑ์ใดๆ มาจับ   ในการประเมินผู้ประเมินหรือครูต้องมีจิตของพรหมอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา   ให้การประเมินเป็นไปเพื่อพัฒนาผู้เรียนไม่ใช่เพื่อการตัดสิน  ใส่ความห่วงใยไว้ทุกๆ  การประเมิน     
พฤติกรรมของเด็กๆ ก็เช่นกัน  การที่ครูเห็นว่าผิด  เพราะเป็นพฤติกรรมที่แตกต่างจากกรอบความเชื่อของครู  อันเกิดจากกรอบจารีต  ค่านิยม  หลักศีลธรรม  กฎหมาย  ข้อตกลงร่วมกัน หรือ กาลเทศะ  แม้บางกริยาของเด็กอาจก่อกวนอารมณ์ให้ครูต้องฉุนเฉียว   แต่ครูไม่ควรเล่นบทของพระเจ้าที่มีอำนาจคอยเป็นผู้ชี้ถูกผิดและชี้โทษอยู่ร่ำไป   แท้จริงเด็กแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกไปอย่างไม่รู้หรือไม่ก็เพราะความไม่รู้ตัว  เพียงครูแสดงอาการตอบสนองให้เขารู้ตัวเช่นการนิ่ง  หรือครูตั้งคำถามกลับเพื่อให้เด็กได้รู้ตัว   เมื่อรู้ตัวชั่วขณะนั้นเด็กก็จะกำกับตัวเองได้และหยุดพฤติกรรมนั้นได้ชั่วขณะ  แต่ชั่วขณะนี้กลับสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ของสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นสมองส่วนที่กำกับการแสดงออกด้วยอารมณ์ด้านบวกหรือด้านของความดีงาม    ตัวอย่างคำถามกลับเพื่อให้เด็กได้รู้ตัวและใคร่ครวญ  เช่น 
“เกิดอะไรขึ้นเล่าให้ครูฟังหน่อย?”   
“ตอนนี้เธอรู้สึกอย่างไร?”   
“เธอคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกกับเรื่องนี้อย่างไร?”   
“เธอคิดว่าควรทำอย่างไรที่ตัวเองจะสบายใจหรือคนอื่นจะสบายใจ?”  “เธอคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?”  

สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องตระหนักให้มากคือ เราไม่สามารถตามไปชี้ทางหรือตามไปบอกเด็กว่าอะไรควรหรือไม่ควร  อะไรถูกหรือไม่ถูกได้ตลอดชีวิต  หลังจากที่ไปจากเราเด็กจะเป็นผู้เลือกด้วยตัวเองในที่สุด  การฝึกให้เด็กได้รู้ด้วยตัวเองอย่างนี้จะทำให้เด็กมีความชำนาญในการที่จะกลับมารู้ตัวได้เร็วขึ้น  ทั้งกล้าหาญที่จะเผชิญความจริงอย่างองอาจ    เราต้องเชื่อว่า  ไม่มีพฤติกรรมใดเลวร้ายเกินกว่าที่จะให้อภัย และ ไม่มีอุปนิสัยใดที่จะแก้ไขไม่ได้ตราบเท่าที่ให้โอกาสแบบไม่จำกัด
ในอีกทางหนึ่ง  ครูกลับได้รับโอกาสดีที่ถูกท้าทายด้วยพฤติกรรมของเด็กที่ทำให้ต้องหงุดหงิด ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด  มันเป็นได้ทั้งเครื่องทดสอบตัวเองและเครื่องขัดเกลาใจตัวเองไปด้วยในตัว
2.      ลดการล่อหลอกด้วยความอยากที่เป็นเงื่อนไขต่อความรัก 
เราอาจจะเคยได้ยินว่าพ่อแม่หรือครูบางคนที่บอกเด็กๆ  ว่า  จะรักพวกเขาก็ต่อเมื่อพวกเขาทำตัวดีๆ  ความรักที่มีเงื่อนไขจะทำให้จิตแคบลงซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกบีบคั้นหากไม่ได้ดั่งใจที่คาดหวัง    ความอยากส่วนใหญ่เป็นความอยากในสิ่งที่ยังไม่มีจริงเป็นแค่สิ่งที่คาดหวัง   การล่อด้วยความอยากก็จะตามมาด้วยการแข่งขัน  แย่งชิง  และการหมกมุ่นผูกมัดด้วยความอยากนั้น  เช่นการบอกว่า  “เธอต้องเรียนเก่งที่สุดจึงจะสอบเป็นหมอได้แล้วเธอจะร่ำรวยและมีชีวิตที่ดี”  
ครูควรบอกเด็กๆ ว่า  “แม้สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ครูก็ยังรักและศรัทธาในตัวเธอ”  หรือ  “ไม่ว่าเธอจะเป็นอย่างไรครูยังรักและศรัทธาในตัวเธอ” 
3.      ลดคำพูดด้านลบ 
การพูดคำด้านลบ เช่น การปรามาศ  การเย้ยหยัน  การดุด่า  การกดดันคาดคั้น  การล้อเลียนถึงปมด้อย  การตั้งฉายา  ล้วนแต่เป็นคำที่ให้อาหารหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ไม่ดีในจิตให้เติบโต  เช่น ความกลัว  ความเกลียด  ความเศร้าหมอง ความรู้สึกด้อยค่า เป็นต้น  ทั้งยังเป็นการฝั่งความไม่จริงเหล่านั้นลงในจิตใต้สำนึกเพื่อให้มันส่งผลให้เป็นจริงในอนาคต   ดังประโยคที่ว่า  เมื่อเราคิด  เราพูด  เราจะเป็น 
4.      เลิกใช้ความรุนแรง 
ความรุนแรงเป็นพฤติกรรมของสัตว์ที่แสดงออกเพื่อความอยู่รอด  แต่มนุษย์ที่มีสมองส่วนหน้าซึ่งวิวัฒนาการมาใหม่กว่าสัตว์ใดๆ  เป็นสมองที่เรียนรู้และคอยกำกับเรื่องความดีงาม  คุณธรรมจริยธรรม และการแสวงหาสัจจะสูงสุด   ด้วยสมองส่วนนี้มนุษย์จึงมีศักยภาพที่จะหยุดความรุนแรง   เราแต่ละคนมีหน้าที่หยุดสัญชาตญาณความรุนแรงและการกดขี่ภายในจิตมนุษย์ด้วยการไม่ส่งต่อพฤติกรรมเหล่านั้นไปยังเด็กๆ หรือคนรุ่นต่อๆ ไป     

กรุงเทพธุรกิจ (กายใจ) ฉบับที่ 85 (15-21 ม.ค. 2555)

ขจัดต้นตอ “ริษยา”

ปัญญาภายใน(4) 

การใช้จิตวิทยาเชิงบวก
กรอบคิดทางจิตวิทยาเชิงบวกคือ  ให้ความสำคัญกับคุณค่าความเป็นมนุษย์   ศรัทธาในความดีงามของมนุษย์และบ่มเพาะผู้เรียนที่คุณค่าที่ดีงามซึ่งมีอยู่แล้วให้งอกงามยิ่งขึ้น   โดยปฏิบัติต่อผู้เรียนอย่างมนุษย์ที่มีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน 
 การกระทำที่ควรลด  เพื่อไม่เป็นการทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเด็กๆ  ซึ่งมีมาอยู่แล้ว  ทั้งยังเป็นการลดการให้อาหารกับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดีหรืออารมณ์ด้านลบที่อยู่ภายในจิตของเด็กๆ  เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดีเหล่านั้นไม่เติบโต เช่น  ความอยาก  ความหยิ่ง  ความลุ่มหลง  ความคิดลบ  ความโกรธฉุนเฉียวเจ้าอารมณ์  ความเกลียด  ความท้อแท้  ความอิจฉา ความกลัว  ความเบื่อหน่าย เป็นต้น 
    
1.      ลดการเปรียบเทียบ  
เราไม่ควรเปรียบเทียบเด็กๆ  ไม่ว่าจะโดยการพูดหรือการกระทำเพราะ  ไม่มีใครอยากถูกเปรียบเทียบว่าตนเองเป็นผู้ที่ด้อยค่ากว่า   เด็กทุกคนแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างเป็นธรรมชาติของตัวเองจึงไม่ควรเปรียบเทียบพฤติกรรมระหว่างคนสองคน  ถ้าจะชมหรือสะท้อนพฤติกรรมที่ต้องแก้ไขควรกระทำต่อเขาโดยตรงโดยไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น  หรือแม้แต่การทำงานเด็กๆ จะทำชิ้นงานหรือภาระงานที่ครูมอบให้ออกมาอย่างเต็มศักยภาพ  ครูจึงไม่ควรเปรียบเทียบระหว่างเด็กแต่ละคน     แต่ครูมีหน้าที่ที่ต้องรู้ให้ได้ว่าพัฒนาการหรือศักยภาพแต่ละด้านเขาอยู่ตรงไหน  และหาวิธียกระดับเขาสูงขึ้นให้ได้    ไม่มีหน้าที่ตีตราโดยการให้ดาวหรือให้ลำดับ  แต่สามารถสะท้อนกลับได้  การชื่นชมหรือการสะท้อนกลับที่ดีกลับจะสร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจให้กับผู้เรียนได้อย่างดีเช่นกัน   

ในระยาวการเปรียบเทียบก็อาจจะส่งผลเสียต่อทั้งสองกลุ่ม   การเปรียบเทียบเป็นต้นตอของความอิจฉาและอาจส่งผลของความรุนแรงต่อไปถึงความริษยา ความอาฆาตแค้น ความรุนแรงของสังคม   ผู้ที่ถูกเปรียบเทียบว่าด้อยกว่าก็เสี่ยงต่อการถูกทำลายคุณค่า  และเมื่อถูกทำลายคุณค่าลงเขาก็จะรู้สึกแย่กับตัวเองและรู้สึกแย่กับคนอื่นหรือสิ่งอื่นไปด้วย  สุดท้ายก็กลับมาสู่วงจรการทำร้ายตนเองและการทำร้ายกันด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งเพื่อเป็นการตอบโต้   ส่วนผู้ที่ถูกเปรียบเทียบว่าสูงค่ากว่าก็มีความเสี่ยงที่จะถูกล่อเลี้ยงอัตตาให้โต  ติดอหังการ์  ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการเรียนรู้และเป็นอุปสรรคต่อการบ่มเพาะจิตใหญ่   การจัดอันดับก็เป็นการเปรียบเทียบเพราะเราจะใช้เกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งวัดทั้งที่แท้จริงพื้นฐานคือทุกคนมีความแตกต่างกันเหมือนผลไม้นานาชนิดจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันด้วยเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง   กล้วย  ฝรั่ง มะละกอที่มีดีตามคุณลักษณะเฉพาะตัว  คนแต่ละคนก็เป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่เป็นหนึ่งเดียวในโลก  

2.      ลดการสร้างภาพของความกลัวเพื่อการควบคุม 
ความกลัวกระตุ้นการทำงานของสมองส่วน อะมิกดาลา  ทำให้เด็กเข้าสู่โหมดปกป้อง  หลบหลีก  จากสิ่งที่จะทำให้เจ็บปวด  สิ่งคุกคาม หรือ ภัยอันตราย   ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้เพราะทำให้เราไม่กล้าเผชิญกับสิ่งนั้น   ความกลัวเกิดจากการได้เผชิญกับสิ่งนั้นจริงด้วยการได้เห็น ได้ยิน  ได้สัมผัสจริง  เช่น  ถูกตี  ถูกดุด่า  ถูกคาดโทษ  ตีตราว่าล้มเหลว  ถูกละทิ้งเพิกเฉยให้ไม่ได้รับความรัก  ฯลฯ   ต่อจากนั้นความกลัวส่วนใหญ่จะมาจากการสร้างภาพของความกลัวขึ้นมาโดยคนอื่นและตามมาด้วยการสร้างจินตนาการความกลัวของตนเอง  หรือบางครั้งความกลัวก็เกิดจากความไม่รู้  
ภาพของความกลัวถูกสร้างขึ้นในโรงเรียนนับร้อยพันอย่าง  ส่วนใหญ่มีเบื้องหลังความคิดที่ต้องการควบคุม  เช่น  ถ้าส่งงานไม่ครบจะติด “ร”  ถ้าไม่ตั้งใจเรียนจะสอบตกติด “0”   หรือ  จะให้ติด “มส”  เพราะเวลาเรียนไม่ครบ  ถ้าประพฤติไม่ดีจะถูกไล่ออก   แล้วเครื่องหมายตราบาปเหล่านี้ก็ติดไปกับหลักฐานทางการศึกษาและติดอยู่ในใจของเด็กตลอดไป  ทั้งที่ถ้าพิจารณาในเชิงจิตวิทยาเชิงบวก  การกระทำของครูอย่างนั้นเป็นการทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวเด็ก  ครูมีหน้าที่ที่จะสร้างหนทางให้เด็กได้มีโอกาสแก้ไขสิ่งต่างๆ ได้เสมอ  หรือแค่เพียงชิ้นงานที่ส่งมาแม้ไม่ได้ครบทุกชิ้นครูก็สามารถประเมินอย่างรอบด้านเพื่อค้นหาความงอกงามได้แล้ว  หรือ  การที่เด็กไม่สามารถมาเรียนได้ก็สร้างโอกาสให้เขาได้เกิดการเรียนรู้ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมานั่งรวมกันต่อหน้าครูเสมอไป  เด็กทุกคนต้องการทางเลือกและโอกาสแบบไม่จำกัด  ครูมีหน้าที่อำนวยการให้เด็กรักที่จะเรียนรู้และอำนวยการให้เกิดการเรียนรู้  


กรุงเทพธุรกิจ(กายใจ) ฉบับ  81    18-24  ธ.ค.2554

"จิตศึกษา" สร้างความฉลาดทางจิตวิญญาณ

ปัญญาภายใน(3)
ปัญญาภายในที่เราทั้งหมดโหยหาทั้งเป็นเครื่องค้ำชูชีวิตกลับกลายเป็นสิ่งขาดแคลนเหลือเกินในภาวะปัจจุบัน  การสร้างจึงต้องให้ครบถ้วนทั้งปริยัติ  ปฏิบัติ  และ  ปฏิเวธ
ปัญญาภายใน หรือ ความฉลาดด้านในหมายรวมถึงความฉลาดทางด้านจิตวิญญาณ(SQ)  และ ความฉลาดทางด้านอารมณ์(EQ)  ซึ่งได้แก่ 
      การรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเอง(รู้ตัว)  และการรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น  มีความสามารถจัดการอารมณ์หรือปรับสมดุลทางอารมณ์ของตนเองได้   
การเห็นคุณค่าในตัวเอง  คนอื่น  และสิ่งต่างๆ  เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและมีความหมาย  
การอยู่ด้วยกันอย่างภารดรภาพ  ยอมรับในความแตกต่าง  เคารพและให้เกียรติกัน  การมีวินัย  มีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม  อยู่อย่างพอดีและพอใจได้ง่าย
การมีสติอยู่เสมอ  รู้เท่าทันอารมณ์เพื่อให้รู้ว่าต้องหยุด หรือ ไปต่อ กับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ 
การมีสัมมาสมาธิ   เพื่อกำกับความเพียรให้การเรียนรู้หรือการทำภาระงานให้ลุล่วง  มีความอดทนทนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
การเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งต่างๆ  นอบน้อมต่อสรรพสิ่งที่เกื้อกูลกันอยู่   
การมีจิตใหญ่มีความรักความเมตตามหาศาล

การบ่มเพาะปัญญาภายในด้วย ด้วยนวัตกรรมการสอนที่เรียกว่า  จิตศึกษา 
      กระบวนการ จิตศึกษา”  เป็นรูปแบบที่พัฒนาขึ้นในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาตั้งแต่ปีการศึกษา 2546  เพื่อให้เป็นแนวคิดและกระบวนการพัฒนาทั้งครูและเด็กให้เกิดการเรียนรู้และงอกงามด้านความฉลาดทางด้านอารมณ์และความฉลาดด้านจิตวิญญาณ 
   
กระบวนทัศน์ของ  จิตศึกษา”  ประกอบด้วย
1.       การใช้จิตวิทยาเชิงบวก
2.       การสร้างชุมชนและวิถีของชุมชน
3.       การจัดกระทำผ่านกิจกรรมและเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

     เริ่มต้นในปีแรกๆ นั้น กระบวนการจิตศึกษาในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมเด็กให้สงบ ผ่อนคลาย และให้กลับมารู้เนื้อรู้ตัวก่อนเรียนทุกวัน
     หลังจากการดำเนินกระบวนการจิตศึกษาได้หนึ่งปี พบว่า เด็กทุกคนสงบได้ง่ายขึ้น จิตใจที่สงบก็จะนำมาซึ่งการรับฟังกันได้ลึกซึ้ง เกิดการใคร่ครวญ สามารถรับรู้และเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ หรือสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
หลังจากนั้นโรงเรียนจึงได้พัฒนากระบวนการและกิจกรรมขึ้นมาเป็นลำดับ จนปัจจุบันพบว่า เมื่อครูใช้กระบวนการจิตศึกษาเพื่อขัดเกลาเด็ก ในขณะเดียวกันนั้นครูก็ได้ขัดเกลาความฉลาดด้านในของตนเองไปด้วย "จิตศึกษา" จึงกลายเป็นส่วนสำคัญของโรงเรียนในการพัฒนาครู เพื่อยกระดับจิตวิญญาณครูให้มี "หัวใจของความเป็นครูอย่างแท้จริง" 
     ส่วนในตัวเด็ก กระบวนการจิตศึกษาได้ยกระดับความฉลาดด้านจิตวิญญาณ และความฉลาดด้านอารมณ์ ให้เห็นคุณค่าของสรรพสิ่ง การน้อมนำของสิ่งที่ดีงามเข้าไปสู่จิตใต้สำนึก ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมของนักเรียน ให้อยู่ในภาวะคลื่นสมองต่ำเพื่อให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้


กรุงเทพธุรกิจ(กายใจ) ฉบับ  79    4-10  ธ.ค.2554