ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ดูงานการศึกษาฟินแลนด์หาพระแสงอะไร (ตอน 3)

ความหวาดกลัวนั่นล่ะที่ผลักดันเราตั้งแต่แรก  
ก่อนที่แรงปรารถนาจะฉุดลากมนุษย์ให้มุ่งไปข้างหน้าอย่างถูลู่ถูกัง  
ใครอยู่กับที่ก็มักถูกมองว่าด้อยพัฒนา
ความสาหัสของสภาพอกาศฟินแลนด์นั้นเกินกว่าผมจะจินตนาการออกว่าถ้าจะอยู่เป็นปีหรือทั้งชีวิตจะอยู่อย่างไร  แต่นี่อาจจะเป็นแรงผลักดันแรกๆ ที่ให้คนที่นี้ต้องเอาชนะให้ได้




วันแรกของการดูงาน ผมตื่นราวตีสามของเวลาที่นั่น ผมออกไปถ่ายรูปตอนตีสี่อากาศข้างนอกหนาวเหน็บมาก รถเก็บขยะทำงานอยู่ข้างนอกตั้งแต่ยังดึก  กลับมามือแข็งอย่างกับหิน  เรากินอาหารเช้าที่โรงแรมและออกจากโรงแรมแปดโมงสิบห้า  ตลอดเจ็ดวันที่เราอยู่ที่นั้นผมไม่มีโอกาสเห็นแสงตะวันเลยทั้งที่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนทั้งที่ดวงอาทิตย์ขึ้นราวแปดโมงครึ่งดวงอาทิตย์ตกราวบ่ายสามครึ่งด้วยมีเมฆปรกคลุมตลอดทั้งวันทั้งคืน 
วันนี้เราไปดูการจัดการศึกษาสำเด็กวัยก่อนภาคบังคับ  ฟินแลนด์ออกแบบการจัดการศึกษาสำหรับประชาชนทุกคนตั้งแต่เล็ก
-             8 เดือน – 5 ขวบ  จัดเป็นศูนย์เด็กเล็ก (Day care) ฟรี  ถ้าผู้ปกครองจะจัดเองที่บ้านรัฐก็สนับสนุนงบประมาณและสื่อ  ด้วยความเชื่อที่เป็นพื้นฐานว่า 90% ของสมองมนุษย์โตในช่วงวัยนี้   รูปแบบการจัดจะไม่ใช่พี่เลี้ยงเด็กให้กับพ่อแม่  แต่เป็นที่ให้เด็กได้เล่นและได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเพื่อนๆ
-             6 ขวบ เป็นชั้น Pre-School 1 ปีก่อนเข้าเรียนระดับประถม  เหมือนกับชั้นเด็กเล็กที่ประเทศไทยเคยมีเมื่อ 20 ปีก่อน  Pre-School จะเริ่มฝึกอ่าน-เขียน  คณิตพื้นฐาน  อย่างจริงจัง  ให้เด็กได้ฝึกฝนตนเองให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตน  เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น และมีทัศนคติที่ดีต่อคนอื่น
-             7-15  ปี เป็นการศึกษาภาคบังคับคือระดับประถมถึงมัธยมต้น

Carousel Nursery  ใช้ ทฤษฎี  Reggio Emilia   เป็นเอกชนรัฐสนับสนุนผู้ปกครองจ่ายเพิ่มส่วนหนึ่ง 



เด็กๆ มีมุมฝึกประสบการณืตามที่ตนชอบ เพื่อกระตุ้นระบบสัมผัส และสร้างการเรียนรู้โดยการตั้งคำถามของครู


เด็ก 2-3 ขวบ ถูกฝึกภาษาด้วยการให้ฟังครูอ่านนิทาน

การจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กเล็กของที่นี่กับของรัฐโดยทั่วไปไม่ได้ต่างกันมาก  แต่อาจจะฟู่ฟ่าหน่อยเพราะที่นี่เป็นของเอกชนที่ผู้ปกครองจ่ายเพิ่มจากส่วนที่รัฐสนับสนุนได้ด้วย  ที่นี่ให้ความสำคัญ  กับ การสร้างบรรยากาศมากๆ  หมายถึงทั้งคุณลักษณะของความเป็นครู   ปฏิสัมพันธ์  ห้อง  มุมประสบการณ์ และ สื่อ  ครูสอนให้เด็กเล็กรู้จักตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ  บอกความรู้สึกของตนเองได้  อย่างในภาพที่มีเด็กหญิงกำลังเล่นมุมน้ำโดยครูให้ล้างของเล่นอยู่นั้น ผมถามเธอว่าขอถ่ายรูปเธอได้ไหม  เธอบอกชัดท้อยชัดคำว่า "์No, I don't like."
ครูที่บรรยายให้พวกเราฟังบอกว่า  เป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ระดับนี้คือการที่พยายามให้เด็กได้ค้นพบตนเองว่าเขาคือใคร โดยครูทำหน้าที่เหมือนกระจกสะท้อนภาพให้เด็กๆ ประโยคเมื่อกี้ถ้าตีความดีๆ จะเกิดแนวๆ ปฏิบัติได้อีกเยอะ  เธอยังบอกว่าครูต้องเป็นแบบอย่างเพื่อให้เด็กได้เข้าใจและกาลายเป็นคนที่มี Empathy
การสอนเด็กครูต้องมีไหวพริบที่ไว  เช่น เมื่อเด็กเล็กๆ เปิดปิดสวิทไฟเล่น  แทนที่ครูจะห้าน แต่ครูกลับตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ความมืดกับสว่าง และถามเด็กว่าชอบแบบไหน? หรือ ถ้าอยากให้ห้องสว่างจะทำอย่างไร?
เด็ก เรียนรู้ผ่าน Project เล็กๆ  เช่น ไดโนเสาร์ ภูเขาไฟ  สี เป็นต้น
ครูที่นี่มีคำถามสำหรับทบทวนตัวเองซึ่งดีมากๆ ในมุมมองผม
-What should children learn?
-How do they learn?
-Which values would you like for them to learn?
-How can you tell they are learning?



ฝึกเด็กเล็กๆ ปีนหน้าผาเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่

ฝึกฝนการทำงานร่วมกับคนอื่นผ่านการเล่นสเก็ดน้ำแข็ง




วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ดูงานการศึกษาที่ฟินแลนด์ หาพระแสงอะไร? (ตอน 2)


พลันที่เราไปถึงราวบ่ายสามโมงของวันอาทิตย์ฟ้าก็มืด  ในถนนรถราดูเชื่องช้าไปกับความหนาวเย็นระดับศูนย์องศา  เป็นเมืองหลวงที่ไม่มีรถติดจริงๆ  รถราง(Tram) วิ่งร่วมถนนกับรถอื่นอย่างเอ้อระเหย แต่ผู้คนกลับเดินกันอย่างรีบเร่ง





คงมีน้อยคนนักที่ไม่รู้จัก Nokia  และ เกม Angry Bird ก็เป็นที่คลั่งไปทั่วโลกอยู่หลายปี  นั่นย่อมน่าประหลาดใจเมื่อพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เกิดจากประเทศที่มีประชากรเพียง 5.3 ล้านคน  พวกเขาทำได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่เพราะประชากรมีคุณภาพสูงจริงๆ 
คนฟินแลนด์ใช้ภาษาฟินิชและสวีดิช  แต่ส่วนใหญ่จะพูดได้สามภาษาเป็นอย่างน้อย ภาษาอื่นอาจเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือ เยอรมัน  จิตวิญญาณของชาวฟินแลนด์เรียกกันว่า SISU คือความมุ่งมั่นในการทำงานให้สำเร็จโดยอยู่บนฐานของความไว้วางใจต่อกัน  ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นชัดจากการจัดการศึกษาซึ่งใช้เวลาในการปฏิรูปกว่ายี่สิบปี  จนกลายเป็นระบบที่เรียบง่าย  เล็งผลที่ประสิทธิภาพแทนที่จะมุ่งรักษาโครงสร้างของระบบราชการไว้ 
รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมมีเสียงก่ำกึ่งและผลัดเปลี่ยนกันเป็นรัฐบาลแต่ในด้านนโยบายทางการศึกษาจะไม่เคยเปลี่ยน  คือมุ่งจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และ เท่าเทียมกัน  ไว้วางใจต่อกัน ท้องถิ่นหรือเทศบาล  เทศบาลก็จัดให้มีโรงเรียนกระจายเพื่อให้นักเรียนทุกคนสามารถเดินไปโรงเรียนได้  มีห้องเรียนที่อบอุ่น  มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยเหมือนกัน  และยังต้องสนับสนุนให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพเหมือนกัน 
โรงเรียนค่อนข้างอิสระ  ผู้บริหารไว้วางใจต่อครูเพราะทุกคนได้ผ่านกระบวนการพัฒนาอย่างมีคุณภาพมาแล้ว  ครูมีอิสระที่จะเลือกหรือผลิตหนังสือ สื่อ ตามที่เห็นสมควรโดยรัฐเป็นผู้จ่ายให้  เราจึงจะเห็นครูฟินแลนด์ใช้หนังสือของตนเอง ใช้เว็ปไซด์เพื่อการสอนของตนเอง  และกฎหมายลิขสิทธิ์ก็เข้มแข็ง เพราะรากฐานที่มาจาก SISU  ด้วย 
ฟินแลนด์ไม่มีระบบตรวจสอบโรงเรียนจากภายนอกมานานกว่า 20 ปีแล้ว  และเด็กๆ จะมีการทดสอบระดับชาติเพียงครั้งเดียวคือตอนที่จบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี (อายุ 16 ปี) และตลอดเวลาที่เรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กจนจบปริญญา  รัฐจะเป็นคนจ่ายค่าอุปกรณ์การเรียนและหนังสือให้ทุกคน  ให้อาหารกลางวัน  ให้บริการสุขภาพ แม้แต่ดัดฟันยังให้ฟรี 
การเรียนการสอนแบ่งเป็นปีละ 2 ภาคเรียน รวมทั้งปี 188 วัน  วันละ 4-6 ชั่วโมง(20-30 ชั่วโมง/สัปดาห์)  เด็กนักเรียนต่อห้อง 12-20 คน ครู 2-3 คน   บางห้องเรียนที่มีเด็กเพียงสองคน รัฐยังต้องจัดทุกอย่างให้มีคุณภาพเท่าเทียมกัน
เด็กแรกเกิดถึงหกขวบรัฐจะสนับสนุนให้มีการเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการให้อย่างดี  มีศูนย์เด็กเล็กทั้งของรัฐและของเอกชนอย่างเพียงพอ  พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกเองรัฐก็จัดงบประมาณให้  หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนสามารถให้ลาเลี้ยงดูลูกโดยรับเงินเดือนได้เป็นปีและลาต่อได้จนลูกอายุถึงสามขวบ





 เราเข้าพักที่ Sokos Hotel กลางเมือง โรงแรมที่เกือบทุกห้องพักประดับภาพ มาริลิน มอนโร ที่กำลังเต้นรำคู่กับชายคนหนึ่ง  เจ้าของคงมีใจกับภาพนั้น
เย็นนั้นเรากินสเต็กปลาที่ร้านอาหารของโรงแรมตามคำแนะนำของไกด์ที่บอกว่าตอนนี้คือฤดูกินปลา  ปลาแซลมอนและปลาอื่นๆ ในตระกูลเดียวกันยังมีชุกชุมตามธรรมชาติ  ที่ฟินแลนด์ยังขึ้นชื่อว่ามีบึงน้ำจืดมากกว่าหมื่นแห่ง และผู้คนที่นี้ชอบกินปลาน้ำจืดมากเสียด้วย




  ที่นี่เข้มงวดมาก ห้ามขายเหล้าแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในร้านอาหารจะขายเฉพาะเบียร์หรือ ไซเดอร์(น้ำผลไม้ที่หมักคล้ายเบียร์มีแอลกอฮอล์3-4ดีกรี)  เหล้าและไวน์ซึ่งมีดีกรีสูงจะมีขายในร้าน Alko เท่านั้น ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ขายเหล้า  เราจะไม่เห็นขายเหล้าหรือไวน์ในมินิมาร์ทหรือร้านทั่วไป
วันนั้นเราเลยดื่มเบียร์กันคนละแก้วด้วยหวังว่าคืนนี้จะหลับกันอย่างสนิท  เพราะถ้าที่นี่สามทุ่มที่เมืองไทยคงราวตีสองนั่นหมายถึงใกล้เวลาตื่นจริง(ตีสาม)ของชีวิตปกติผมแล้ว
ก่อนนอนผมนึกถึงคำหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว  "ราตีสนด้วน"

วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ดูงานการศึกษาที่ฟินแลนด์ หาพระแสงอะไร (ตอน 1)

ข่าวคราวที่สร้างความประหลาดใจให้กับวงการศึกษาทั่วโลกคือ ฟินแลนด์ซึงเป็นประเทศถูกลืมกลับ ได้คะแนน PISA บางวิชาเป็นอันดับ 1 สามปีซ้อน คือ ปี 2000  2003 และ 2006
PISA มาจากคำว่า   (Programme  for  International  Student   Assessment)  คือ โครงการประเมินผลนักเรียนในระดับนานาชาติ  ของประเทศสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งดำเนินการโดย  OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ซึ่งมีการดำเนินการมาจั้งแต่ ปี 1999 หรือ พ.ศ.2541 โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมจากทั่วโลก 65 ประเทศ โดยมีประเทศเขตเศรษฐกิจเอเชียที่เข้าร่วมอันได้แก่ ฮ่องกง  ไทเป เซี่ยงไฮ้ ญี่ปุ่น  สิงคโปร์  อินโดนีเซีย  ไทย และในปี 2012 ได้มีการเพิ่มประเทศมาเลเซีย และเวียดนาม มาเป็นประเทศสมาชิก OECD
ในการประเมินผลการศึกษานี้นั้นเพื่อหาตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาให้แก่ประเทศสมาชิกและประเทศที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะมีการประเมินศักยภาพของนักเรียนที่มีอายุ  15  ปี ในการใช้ความรู้ ทักษะจำเป็น เพื่อเผชิญกับโลกในชีวิตจริงโดยทำการประเมินต่อเนื่องทุกๆ  3  ปี ในทักษะที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะทางคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์   
อาการตื่นข่าวมีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในสังคมยุคที่ข้อมูลข่าวสารกระจายไปได้อย่างรวดเร็ว  แม้แต่ข่าววัวออกลูกสองหัวก็ฮือฮาได้ชั่วข้ามคืน   แต่ถ้าเราตามต่อจะเห็นว่าฟินแลนด์เสียแช้มป์คะแนนรวม PISA ให้เซี่ยงไฮ้  ทั้งปี 2009 และ 2012 โดยฟินแลนด์ได้คะแนนรวมเป็นอันดับสามในปี 2009 และ ได้คะแนนรวมเป็นอันดับ 12 ในปี 2012  ประเทศที่ได้คะแนนอันดับต้นๆ กลับเป็นประเทศในโซนตะวันออก  เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเก๊า ญี่ปุ่น   ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 50 ในปี 2012 จากทั้งหมด 65 ประเทศ
มิติ PISA อาจเพียงวัดการตอบสนองต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก และ อาจหลงลืมมิติสำคัญอื่นๆ ก็เป็นได้  แต่จะอย่างไรก็น่าสนใจที่ฟินแลนด์ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบสำเร็จ  จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ทุกโรงเรียนมีคุณภาพเหมือนกัน

ผมเคยติดต่อจะไปดูงานเกี่ยวกันการศึกษาที่ประเทศฟินแลนด์แล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2556  ตอนนั้นติดต่อกับเพื่อนที่เป็น Principle ของโรงเรียนนานาชาติออสเตรเลีย ที่อยู่สุดซอยสุขุมวิท20  ด้วยที่นั่นมีครูที่มาจากประเทศฟินแลนด์ด้วย  ตอนนั้นกะว่าจะไปชิวๆ คนเดียวจึงประสานงานสบายๆ ไม่รีบร้อน  แต่ราวต้นปี 2557 หมอก้องเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตซึ่งทำโรงเรียนของตนเองด้วยก็มาชวนเพราะบังเอิญได้รู้จักกับบริษัทจัดศึกษาดูงานที่ฟินแลนด์  และต่อมาเราก็ต่างชักชวนคนโน้นคนนี้บ้างมาสรุปกันตอนเดือนสิงหาคมว่าจะมีคนร่วมคณะทั้งหมด 9คน 


การขอวีซ่าเริ่มกันกลางเดือนตุลาคมสำหรับผู้ที่ถือพาสปอร์ตปกแดงส่วนผู้ที่ถือพาสปอร์ตสีน้ำเงิน(ข้าราชการ)ได้สิทธิพิเศษไม่ต้องขอวีซ่าสำหรับเดินทางเข้าประเทศในกลุ่มเชงเกน  แม้แต่ฝรั่งยังดูมีชนชั้นเลยนะ  ขออธิบายเพิ่มหน่อย  เชงเกน (Schengen)  คือกลุ่ม ยูโรโซน  (ยกเว้นสหราชอาณาจักร  ไอร์แลนด์  บัลแกเรียน และโรมาเนีย)  ที่ได้ตกลงกันเมื่อ พ.ศ.2528  สาระสำคัญเป็นการอนุญาตให้สมาชิกในกลุ่มสามารถเดินทางระหว่างกันโดยไม่ต้องถือหนังสือเดินทางนอกจากนั้นยังให้การอนุญาตชั่วคราวกับผู้ถือใบอนุญาตเชงเกน (Schengen Visa) มีสิทธิในการเดินทางได้ชั่วคราวในประเทศสมาชิกโดยถือใบอนุญาตใบเดียว ตามสนธิสัญญาอัมส์เตอร์ดัม (Treaty of Amsterdam) ข้อตกลงและตัดสินใจทุกข้อของความตกลงเชงเกนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายของสหภาพยุโรปด้วย  


การทำวิซ่าของฟินแลนด์นั่นไม่ซับซ้อนมากเพียงกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ ซึ่งมีรายละเอียดเยอะเหมือนกัน  จ่ายเงินทางออนไลน์ และนัดหมายเวลาสัมภาษณ์และสแกนลายนิ้วมือ  วันที่ผมไปเวลานัดแปดโมงยี่สิบผมไปถึงก่อนเวลาราวยี่สิบนาที  วันนั้นคนไม่ค่อยเยอะพอถึงเวลานัดเป็นคนไทยที่สัมภาษณ์ด้วยข้อซักถามพื้นๆ ทั่วไป ใช่เวลาสักห้านาทีก็จบ  ที่ง่ายอาจเป็นเพราะผมเคยขอวีซ่าไปเดนมาร์กเมื่อปีที่แล้วซึ่งข้อมูลจะลิงค์กันหมดแม้แต่ลายนิ้วมือ  หลังจากนั้นก็รอสักสัปดาห์เขาก็จะส่งพาสปอร์ตมาถึงบ้าน ฟินแลนด์ค่อนข้างเข้มงวดเรื่องคนเข้าออก  เรามีตารางดูงานห้าวันเขาก็ให้วีซ่าเท่านั้นวันรวมวันไปและวันกลับอีกสองวันสรุปผมได้อนุญาตอยู่ในประเทศนั้นแค่เจ็ดวัน


            เราออกเดินทางเช้าวันอาทิตย์ด้วย FinnAir เครื่องออกราว 9.00 น. ใช้เวลาบินราว 10 ชั่วโมง  ด้วยระยะทางราว 7,900 กม. ถึงสนามบินแวนตา ที่เฮลซิงกิราว 15.30 น. ของวันเดียวกัน  เฮลซิงกิอยู่ในโซนเวลาช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง   บนเครื่องบินชั้นสามัญชนก็ได้รับการบริการแสนธรรมดาต่างจากสายการบินระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ผมเคยนั่ง  แอร์โฮสเตสและสจ๊วดก็แก่งอม  จนเราต้องเกรงใจที่จะไว้วานอะไรสักอย่าง  อาหารก็จืดชืดไร้รสชาติสำหรับลิ้นคนไทยเหมือนเขาทำออกมาอย่างสิ้นคิด  หากใครชมชอบการกินอาหารบนเครื่องบินควรหลีกเลี่ยงฟินน์แอร์เป็นอย่างยิ่ง  

จำได้ว่าอาหารมื้อนั้นคือพาสต้า(Pasta) ชนิดเพนเน(Penne) อบซีส สีซีดเซียวและแสนจะจืดชืด   แต่ที่น่าสนใจกว่าอาหารคือกระดาษเช็ดปากและถ้วยกาแฟที่อยู่ในถาดเดียวกัน กระดาษเช็ดปากเป็นลายวงกลมสีตองอ่อน  ส่วนถ้วยกาแฟเป็นลายวงกลมคล้ายกันแต่เป็นสีน้ำเงินเข้ม ที่เอะใจเพราะลายผ้าห่มก็เป็นเหมือนกัน  ใคร?  ทำไม?  นั่นล่ะคือคำถามที่ผุดขึ้น  ฝีมือเหมือนเด็กอนุบาลทำแต่กลับทำให้รู้สึกว่ามีสไตน์ของตัวเอง  เมื่อดูด้านข้างก็พบว่าลวดลายพวกนี้มีชาติกระกูลด้วยสิ  ข้อความปรากฎอยู่ริมกระดาษคือ...    



เมื่อตามหาว่ามันคืออะไร จึงพบว่า  Marimekko(แปลว่า ชุดของเด็กผู้หญิง)  ซึ่ง อาร์มี ราเทีย  นักออกแบบชาวฟินแลนด์เป็นผู้ให้กำเนิด ตั้งแต่ปี 1951  โดยเธอมักออกแบบลายผ้าดวงใหญ่ออกโทนขาวดำเพื่อสื่อถึงสภาพบรรยากาศอันหนาวเหน็บและความบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่สองของประเทศฟินแลนด์  ลองนึกถึงถ้าเป็นเราที่ผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอันโหดร้ายมา  ทั้งยังอยู่ในประเทศที่หนาวเย็นตลอดปี  ช่วงหนาวสุดถึงกับติดลบยี่สิบองศา  บางเดือนไม่เห็นแสงตะวันเลย แต่บางเดือนกลับไม่มีกลางคืน  ภาพข้างนอกห้องที่เห็นจึงเป็นสีขาวของหิมะและเงาสลัวของสิ่งต่างๆ   เรายังจะมีกระจิตกระใจลุกขึ้นมาทำอะไรได้อีกไหม   ลวดลายและดีไซน์ของเธอยังต้องการสื่อความอบอุ่นภายในบ้านทั้งความตรงไปตรงมา  ความเรียบง่ายไม่เกินตัว ความคิดเปิดกว้าง  และการใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดของชาวฟินแลนด์  รูปแบบดั้งเดิมของเธอนั้นเป็นเสมือนบุคลิกของชาวฟินแลนด์จึงไม่เคยเสื่อมมนต์ขลังแม้ว่าเธอจะจากไปนานหลายปีแล้ว   การกลับลงมาสู่ความธรรมดาสามัญเรียบง่ายทำให้งานศิลป์ตราตรึงได้นาน


ปี 1960 นักออกแบบรุ่นต่อมาชื่อ ไมยา อิโซลา  นำดอกป๊อบปี้ (อูนิโก๊ะ) เป็นคาแรกเตอร์ใหม่ ของมาริเมกโกะ  ดอกเดียวก็ดังได้  เธอได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในสิบของนักออกแบบยุคนั้น  และสร้างผลงานเป็นเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยลายดอกป๊อบปี้สีสันต่างๆ  ตอนนี้ไม่เว้นแต่ถ้วยชาม เครื่องใช้ไม้สอยภายในบ้าน  รถยนต์ ในฟินแลนด์ก็จะเห็นลวดลายการออกแบบของ Marimekko





วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ความเพ้อฝัน-ความสุข

   -ความฝันมักนำมาซึ่งความสุข
-จินตนาการหรือความเพ้อฝันเป็นไปได้เสมอ เพียงหาที่เงียบๆ และปล่อยจิตใจให้ล่องลอยเคลิ้มฝันไป  เราอยากเป็นผู้วิเศษก็ฝันเป็นได้ทันที  หรือ เราจะอยากจะเป็นเศรษฐี  ฝันอยากเป็นเจ้าของอาณาจักร ฝันอยากเป็นครู ฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ  ก็นึกฝันเป็นได้ในบัดดล

   -ตอนเป็นเด็กเราทุกคนเต็มไปด้วยจินตนาการและความเพ้อฝัน ซึ่งล้วนแต่เป็นไปได้ในจินตนาการ  ช่วงเวลานั้นเรามักจะพึงพอใจที่จะจมอยู่กับความสุขในโลกแห่งความฝัน
   -เมื่อโตขึ้นมาหน่อย เด็กๆ ทุกคนต่างต้องได้ไปโรงเรียน  แน่ล่ะพวกเขาไม่ได้ไปโรงเรียนเพราะความฝันหรือเพื่อความฝัน  พวกเขาถูกทำให้เชื่อว่าที่นั่นจะทำให้ฝันของrวกเขาเป็นจริง และสิ่งที่เด็กๆ ได้เห็นอย่างเจนตาคือ "ทุกคนล้วนแต่ทำเช่นนั้น"  โดยไม่รู้ว่าทำไม  ทำอย่างชาชินเหมือนทุกคนที่ต้องเข้าส้วมตอนเช้าหรืออะไรเทือกนั้น  การไปโรงเรียนอาจไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับเด็กสี่ขวบที่ในหัวล้วนเต็มไปด้วยจินตนาการและความฝัน

   -ลองถามพวกเขาสิว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร  "อยากเป็นหุ่นยนต์  อยากเป็นกระต่าย  อยากเป็นหมา อยากเป็นนางฟ้า อยากเป็นนักบินอวกาศ อยากเป็นซุปเปอร์แมน อยากเป็นตู้เย็น"  สารพัดที่จะอยากเป็น  แล้วการศึกษาซึ่งเขาต้องอยู่ยาวนานตั้ง 20 ปี จะให้สิ่งเหล่านี้แก่พวกเขาได้ไหม?
    -กลับกัน การศึกษาอันยาวนานเพียงสร้างความคิดให้กับพวกเขาว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้น้อยมาก  เด็กต้องทำทุกสิ่งที่ระบบการศึกษายัดเยียดให้ทำโดยที่ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองฝัน  ดูเหมือนทุกอย่างจะมีคำตอบเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว  ทุกคนจะถุกไล่ต้อนไปในทิศทางที่กำหนด โดยใครหรืออะไรก็ไม่แน่ใจ   เด็กๆ ต้องท่องสูตร ท่องสูตรคุณอันมากมายเพราะเผื่อบังเอิญอาจจะได้ใช้ตอนสอบแต่ เมื่อต้องใช้ในชีวิตจริงๆ กลับใช้เครื่องคิดเลขหรือคอมพิวเตอร์แทน  หลายเรื่องที่ต้องพยายามทำความเข้าใจโดยที่ไม่อยากจะเข้าใจ  ต้องทำการบ้านอันน่าเบื่อเพื่อตบตาครูทุกวัน  ต้องทนถูกบ่นหรือก่นด่าเพราะอยากถูกมองว่าสำคัญ  ต้องแต่งตัวซ้ำๆ อย่างน่าเบื่อ  ต้องอยู่กับครูบางคนที่น่าเบื่ออย่างยาวนานเป็นปี  ทุกอย่างเป็นเรื่องถูกกับผิดไปเสียหมด
  -ในที่สุดก็ฝันไม่เป็นเสียแล้ว
  -ที่เคยมีความฝันและมีความสุขก็หมดไป
  ? หรือเราควรปล่อยให้ทุกอย่างได้เป็นอย่างที่มันควรเป็น


(แนวข้อสอบครูและผู้บริหาร)
โรงเรียนควรทำอย่างไรถ้ามีเด็กหกขวบคนหนึ่งใฝ่ฝันอยากโตขึ้นเป็นหมา
ก. พยายามเปลี่ยนความคิดให้เขาอยากเป็นหมอ
ข.พยายามเปลี่ยนความคิดให้เขาอยากเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่หมา
ค. ปรับหลักสูตรให้เขาได้เติบโตเป็นหมาตามความใฝ่ฝัน
ง. ไม่ต้องทำอะไร ทำอย่างเดิมที่โรงเรียนเคยทำ
(ดูเฉลยท้ายเล่ม)





วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เรียนนอกกะลา "อาหารพื้นถิ่น"

คนจีนโบราณกล่าวไว้ว่า ดิน น้ำ แต่ละที่สร้างผู้คนแต่ละแบบ  หากพิเคราะห์อย่างถ้วนถี่เราจะเห็นปัญญาอันลึกซึ้งของคนจีนโบราณที่เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วย อากาศ พืช น้ำ ดิน และ จุลินทรีย์

ความพยายามหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรมนั้นกลายเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญสำหรับคนในปัจจุบันและอนาคตต่อจากนี้ไป  ในที่สุดมนุษย์จะเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงในฟาร์มแห่งโลก
การสร้างการเรียนรู้เพื่อให้เด็กได้กินอาหารพื้นถิ่นและผลิตเองจึงเป็นทักษะจำเป็นลำดับต้นๆ ของทักษะศตวรรษใหม่ เพื่อการดำรงอยู่ด้วยความหลากหลายอย่างสมดุล

อาหารเย็นวันนี้คืออาหารชั้นสูง  แกงลูกตัวต่อหัวเสือกับหน่อไม้ดอง  อาหารที่ให้โปรตีนชั้นสูงและจุลินทรีย์จากหน่อไม้ดอง  ลูกหรือตัวอ่อนของต่อหัวเสือก็คือหนอนดีๆ นี่เอง  กว่าจะสอยรังของมันลงมาได้จากยอดไม่สูงลิบลิ่วก็ต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย   ส่วนเนื้อในของตัวอ่อนนั้นรสนุ่มรื่นลิ้นตอนที่เราขบตัวอ่อนให้แตกกลั้วกับรสอมเปรี้ยวของหน่อไม้ดองก็จะได้รสชาติกลมกล่อมระเริงปากยิ่งนัก   อีกอย่างคือจิ้งโกร่งคั่วที่ขุดจากรูดินยามเมื่อโตเต็มวัยตอนเดือนเก้าเดือนสิบ  คั่วสุกแล้วเคี้ยวกรุบกรอบรสมันติดกลิ่นเถื่อนของแมลงใต้ดิน


จิ้งโกร่งค้่ว

แกงลูกตัวต่อหน่อไม้ดอง



เรียนนอกกะลา

ญี่ปุ่น ฤดูร้อน ปี 2014
ณ ร้านเหล้าเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมือง Sendai  หลังสถานีรถไฟชินคันเซ็น (ใกล้โรงแรม ANAHoliday ที่เราพัก)  เมืองที่ผ่านโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่จากเหตุสึนามิถล่มชายฝั่งเมื่อ 2012  ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 15,000 คน ร้านเหล้าเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในตรอกนั้นเล็กจนแขกทั้งแปดคนนั่งเบียดกันรายรอบเคาท์เตอร์รูปตัวแอลหน้าเตาปิ้งบาร์บีคิวของพ่อครัวซึ่งก็เป็นเจ้าของร้านด้วย
ตอนที่ผมเข้าไปนั้นมีที่ว่างอยู่พอดีกับแขกอีกหกคนที่นั่งอยู่ก่อน ซึ่งพวกเขาก็ล้วนแต่ต่างคนก็ต่างมา  ผมรู้สึกขัดเขินนิดๆ ตอนที่จะนั่งลงไปชิดกับคนแปลกหน้า  เจ้าของร้านและภรรยาของเขาซึ่งทำหน้าที่บริกรกับผู้ช่วยซึ่งยังหนุ่มกระทงต่างก็กล่าวคำทักทายสวัสดีผมเสียงดังพร้อมกับค้อมคำนับอย่างนอบน้อม คนในร้านอีกหกคนซึ่งนั่งอยู่บนเก้าอี้เล็กๆ หน้าเคาร์เตอร์ก็หันมาค้อมคำนับเล็กๆ ส่งสัญญาณอย่างมีไมตรี  ผมเอื้อนเอ่ยทักทายตอบ  กุ๊กเจ้าของร้านอายุสักสามสิบเศษยื่นเมนูมาวางอยู่ตรงหน้าผมและเฝ้ารอ  เมนูภาษาญี่ปุ่นย่อมไร้ประโยชน์สำหรับผม  ผมถามถึงสาเกที่เป็นต้นตำหรับของพื้นถิ่นที่นี่จากขวดสาเกเปล่าที่ตั้งโชว์อยู่บนชั้นติดผนังกว่าสิบชนิด   กุ๊กเจ้าของร้านสีหน้าจริงจังตั้งหน้าตั้งตารอฟังอย่างใส่ใจเขาทำท่าครุ่นคิดคำนึงอยู่สักพัก  เขาก้มลงเปิดช่องของตู้แช่สาเกเย็นแล้วก็ยกขวดสาเกแช่เย็นขนาดเบอเริ่มเทิ่มออกมาพร้อมใบหน้าปาดรอยกระหยิ่มยิ้มย่อง  เขาทำท่าลูบคลำอย่างทะนุถนอมพร้อมกับทำเสียงครางในลำคอตามแบบฉบับของคนญี่ปุ่นก่อนจะสาธยายเป็นภาษญี่ปุ่นยาวปรื๋อ  ผมยิ้มส่งสายตาบอกว่าไม่เข้าใจแต่ก็พยักหน้าให้  ผมบอกเป็นภาษาอังกฤษสั้นๆ ว่าขอลองสักแก้วพร้อมกับทำมือทำไม้ประกอบ  พ่อครัวยิ้มอย่างปลื้มใจสุดๆ แล้วหยิบแก้วสาเกขนาด 200cc ขึ้นมาเทใส่จนเต็ม  ตาผมลุกโชนด้วยเพิ่งรู้แน่ชัดว่า เราคงเข้าใจผิดกันอย่างมหันต์เพราะผมหมายถึงแก้วเล็กๆ สักหนึ่งกรึ๊บเหมือนในหนังจีนนั่นต่างหาก  ผมถามว่ามีเล็กกว่านี้ไหม  เขาบอกว่ามีแบบเดียวราคาแก้วละสี่ร้อยเยน  ดูเหมือนแขกทั้งร้านก็แอบมองผมกับพ่อครัวอย่างสงสัยใคร่รู้อยู่เช่นเดียวกัน  กลิ่นสาเกหอมเย้ายวนตามแบบของสาเกเชื้อชวนให้ต้องดม  รสชาติอันละมุนละไมไม่บาดคอยิ่งให้น่าหลงใหล  พ่อครัวที่เฝ้าดูสีหน้าผมอยู่ก็ยิ้มกริ่มเมื่อเห็นใบหน้าอันผ่อนคลายอย่างพึงพอใจของผมหลังจากจิบไปอึกใหญ่  เขาหันไปย่างบาร์บีคิวในเตาเล็กๆ ให้กับแขกที่สั่งไว้ก่อนหน้าด้วยรอยยิ้ม  เตาถ่านอ่อนๆ ซึ่งอยู่ห่างใบหน้าผมซักแขนหนึ่งส่งเสียงฉู่ฉี่  สี กลิ่น บาร์บีคิว เนื้อไก่ หมึก ของเขาดูน่ากินอย่างสุดจะบรรยาย  กระบวนท่าที่เขาสลัดเกลือใส่บาร์บีคิวก็ออกจะพิสดารคล้ายดั่งซามูไร (บูชิโด) ตวัดดาบจาโตะ  ลีลาอย่างนั้นกลับทำให้เกลือจึงถูกสลัดทิ้งเสียมากกว่า  แต่บางคราผมพานให้นึกถึงลีลาของศิลปินที่กำลังปาดสีลงบนผืนผ้าใบเสียมากกว่าการกำลังปรุงบาร์บีคิว  สาเกแก้วแรกจึงหมดไปอย่างง่ายดายทั้งงดงาม























พ่อครัวหลังจากย่างบาร์บีคิวสุกพองาม  ก็บรรจงจัดใส่จานพร้อมมีใบไม้ประดับ  ภรรยาเป็นผู้ยกเสิร์ฟอย่างนอบน้อมพร้อมรอยยิ้มอันอิ่มเอิบ  ตอนนั้นผมคิดในใจว่าคนสั่งคงไม่อยากกินมากไปกว่าอยากมาอุดหนุนพ่อครัวหันมาชี้ชวนสาเกพิเศษรสใหม่ของเขา ผมก็ยอม ขวดเบอเริ่มเทิ่มที่เขายกมาวางหน้าผมดูฉ่ำไปด้วยเกล็ดความเย็น ฉลากสีแดงที่มีตัวหนังสือสีส้มอมชมพูก็รู้สึกได้ว่าน่าจะมีรสชาติพิเศษ  เขายังรินให้ผมจนเต็มแก้วขนาด 200 cc  รสชาติของขวดนี้กลิ่นหอมคล้ายเหล้าบ๊วยเสียมากกว่าแต่ด้วยปริมาณแอลกอฮอร์สักสิบสี่เปอร์เซ็นต์และติดรสหวานทำให้แก้วที่สองสองนี้ลื่นไหลด้วยอรรถรสที่ต่างออกไป

มีแขกบางคนบอกเช็คบิลกลับ  ภรรยานำบิลใส่ถาดใบเล็กๆ มาโค้งให้สามีดูก่อนแล้วจึงอ้อมไปลงนั่งคุกเข่าให้แขกตรวจดูรายการและราคาด้วยท่าทีที่นอบน้อม เมื่อเช็คบิลเสร็จทั้งพ่อครัว ผู้ช่วยพ่อครัว และภรรยาพ่อครัวก็กล่าวขอบคุณเสียงดังพร้อมกับตามไปส่งที่หน้าร้าน  ผมได้ยินเสียงกล่าวขอบคุณครั้งแล้วครั้งเล่าดังลอดมาจากหน้าร้าน
แขกผู้ชายแต่งตัวดีคนหนึ่ง เหมือนกับจะพูดเรื่องผมกับพ่อครัวก่อนที่จะหันมาทักทายผม เขาพูดภาษาอังกฤษอย่างกระท่อนกระแท่นเช่นกัน  เขาชี้ชวนให้ชิมอีกแบบ คราวนี้ขวดสีดำดูหนักแน่น กลิ่นหอมของมันละมุนเหมือนขวดแรก แต่น่าจะแรงกว่า ก่อนที่ผมจะดื่มพ่อครัวยื่นบาร์บีคิวเสียบไม้ชิ้นขนาดพอคำมาตรงหน้าผมพร้อมกับเอ่ยเป็นคำสั้นว่า Present  ก่อนที่เขาจะอธิบายเพิ่มอย่างอยากเย็นที่ผมจะเข้าใจว่านี่สำหรับคนไทยคนแรกที่ได้มากินที่ร้านเขาอธิบายต่อว่าบาร์บีคิวไม้นี้ทำจากเนื้อด้านข้างของน่องไก่หมักสูตรของเขาเอง  ผมลองชิมด้วยสายตาเว้าวอนรอดูของเขา  เนื้อนุ่ม หอมออกรสอุมามิ รอยยิ้มตอนผมเคี้ยว ยิ่งทำให้พ่อครัวคนนั้นพอใจยิ่ง
ตลอดเวลาที่ผมนั่งอยู่ ผมจะได้ยินเสียงพูดจากันอย่างคุ้นเคย แต่เต็มไปด้วยความนอบน้อมต่อแขกทุกคน ทุกจานอาหารทุกแก้วที่เสิร์ฟ เต็มไปด้วยความใส่ใจด้วยสนนราคาที่ไม่แพง  ร้านอยู่ในตรอกเล็กๆ ยิ่งเพิ่มบรรยากาศของความรู้สึกอบอุ่น  คืนนั้นจึงตราตรึงใจยิ่ง  ผมไม่รู้ว่าดื่มไปกี่แก้ว  กี่ชนิด  แต่ทุกแก้วล้วนน่าจดจำ  ตอนที่ผมออกมาทั้งพ่อครัวและภรรยาตามออกมาส่ง ขอบคุณแล้วขอบคุณอีก  ท่าทีการตอบรับออกจะจริงจังและใส่ใจของพ่อครัวทำให้ผมรู้สึกได้ว่าเราคือคนสำคัญ 
หัวใจบริการอยู่ในสายเลือด  ความเคารพต่อกันมีอยู่ในสายเลือด รากเหง้าที่มาจากการสั่งสมของบรรพบุรุษเมื่อหลายพันปีมาแล้ว  การศึกษาของเขาอาจไม่ได้สร้างสิ่งนี้  แต่วัฒนธรรมของเขาสร้างการศึกษาที่จะธำรงสิ่งเหล่านี้เอาไว้ให้ยาวนานได้ความมีวินัยของคนในชาตินี้เป็นที่เลื่องลือ  กินเสร็จแล้ว ไม่ว่าอยู่ไหนโดยเฉพาะในที่สาธารณะต้องจัดการกับขยะเอง  เดินชิดซ้ายเสมอให้คนรีบร้อนกว่าได้แซงขวา  เข้าคิวเสมอแม้จะดูเป็นแถวที่วุ่นวาย  แต่ทุกคนกับรู้ว่าตนเองต้องต่อใคร  ตรงเวลาเสมอ  อย่างที่รถไฟชินคันเซนบางสถานีจอดรับคนเพียงสองนาทีโดยที่รถไฟเองก็มาถึงตรงเวลาและออกตรงเวลา

เคยมีคนบอกว่าไม่จำเป็นอย่าถามทางกับคนญี่ปุ่น  ผมพิสูจน์ด้วยตนเองพบว่า  พวกเขาล้วนแต่ใส่ใจกุลีกุจอกับความทุกข์ของเราจนเกินไป นี่กระมังที่อาจทำให้คนที่ถูกถามเองต้องลำบากตอนที่จับรถชินคันเซนจากเซนไดมาโตเกียวราวสองชั่วโมงกว่า  เมื่อมาถึงสถานีโตเกียวซึ่งเป็นศูนย์รวมรถไฟคล้ายหัวลำโพงของไทยแต่ใหญ่มาก มีหลายชั้น  ผมต้องต่อรถไฟไปสนามบินนาริตะ  ซึ่งต้องอีกราวชั่วโมงเศษ  ในนั้นมีที่อยู่ที่กินที่ชอปปิ้งเต็มไปหมด  การจะหาชานชาลารถไฟสักสายไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับผู้ที่มาครั้งแรก  แต่ผู้คนก็ยินดีให้เราถาม  ตอบคำถามอย่างใส่ใจด้วยภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่น  ซึ่งเมื่อผมไปถึงชานชาลาหนึ่งซึ่งไปผิด ผมถามนี่ใช่ที่ที่ต้องรถรถไฟคันนี้ไหม  ผู้คนห้าคนบริเวณนั้นเข้ามาดูตั๋วซึ่งขึ้นมาจากเซนได  และก็ใช้โทรศัพท์ของตนเองเพื่อค้นหาชานชาลาที่ถูกต้อง  เด็กสาวคนหนึ่งค้นเจอว่าไม่ใช่ ต้องไปอีกฟากหนึ่ง แต่ก็มีผู้ชายคนหนึ่งวิ่งไปถามเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในห้องควบคุมให้เพื่อยืนยัน  ทุกคนดูตั้งใจที่จะช่วยเหลือคนเดินทางจริงๆ  ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นล้วนมาจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ตกทอดกันมานับหลายพันปี