ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ก้อนหินทุกก้อนไม่ได้โง่


      หินแต่ละก้อนก็เป็นเพียงหินก้อนหนึ่ง  ไม่ได้มีความฉลาดหรือความโง่     
      เราแข่งขันกันเพื่อให้มีความรู้มากกว่าคนอื่น    เบื้องหลังความคิดนี้คืออะไร
      เพราะเชื่อกันว่าเมื่อใครมีความรู้มากกว่าคนอื่นก็จะประสบความสำเร็จสูงกว่า คนอื่น  เรามักมองความสำเร็จกันที่ ระดับตำแหน่ง  ระดับรายได้  ชื่อเสียง   จำนวนทรัพย์สิน หรือ อะไรเทือกนี้    เมื่อจดจ้องกันที่ความรู้เราก็จะแยกแยะประเภทผู้คนจากปริมาณความรู้ที่มีโดย อัตโนมัติ  อาจจะแยกระดับผู้คนออกเป็นคนเก่ง  ปานกลาง และ โง่  และความเชื่อที่ว่าความรู้จะนำมาซึ่งความสำเร็จก็ฝังลึกแทรกซึมไปทั่ว   จนเรามองไม่เห็นความสำคัญของการมีปัญญาการใช้ชีวิต 
      บางครั้งเมื่อผมเล่าถึงวิถีการเรียนรู้ของลำปลายมาศพัฒนาให้คนอื่นๆ ฟังว่าเราให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างมีความสุขมากกว่าตัวความรู้   ให้เด็กได้เกิดทักษะกระบวนการคิดและกระบวนการแสวงหาความรู้ผ่านสิ่งที่เด็กๆ สนใจไม่ใช่ผ่านตำราเรียน   เท่านี้ก็มักจะมีคนถามว่า  “เรียนอย่างนี้แล้วเด็กจะมีความรู้เหรอ”   ซึ่งคนที่ถามก็ล้วนแต่เป็นคนที่มีความรู้สูงแต่อาจจะไม่ถึงขั้นมีปัญญาการ ใช้ชีวิตอย่างแหลมคม  เพราะปัญญาการใช้ชีวิตไม่ได้เกิดจากการมีความรู้มากก็ได้ 
      กลับมามองในเรื่องปัญญาการใช้ชีวิต    เราคงเห็นชัดว่านกทุกตัวตั้งแต่ฟักออกจากไข่มันก็รู้ว่าจะต้องมีชีวิตอย่างไร  ทุกตัวสร้างรังแตกต่างกันแต่ประโยชน์ใช้สอยเดียวกันได้โดยไม่มีใครสอน  มีชีวิตเป็นอิสระ  เราจะไม่เห็นนกโง่เลยสักตัว  และผมเชื่อว่าเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับปัญญาการใช้ชีวิตแบบนี้ซึ่งเราควรบ่ม เพาะให้งอกงามมากขึ้น
     ความรู้มากไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น  คนจำนวนไม่น้อยจ่อมจมอยู่กับความทุกข์  จากแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจและการพยายามปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทาง สังคม   เรามีชีวิตที่เร่งรีบทั้งต้องแข่งขันตลอดเวลา เครียดบ่อยขึ้น  หงุดหงิดง่ายขึ้น  โกรธง่ายขึ้น  หัวเราะได้น้อยลง  นอนหลับยากขึ้น ทั้งที่ทารกหรือเด็กไม่มีอาการเหล่านี้   นั่นอาจเป็นเพราะปัญญาการใช้ชีวิตของเราถูกกดทับ
      แท้จริงความรู้อาจกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถช่วยคนอื่นได้  แต่ในขณะเดียวกัน  ความรู้อาจเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราหาประโยชน์จากคนอื่นที่รู้น้อยกว่าได้เช่นกัน 
      เราไม่ควรปล่อยให้การใช้ความรู้อยู่บนฐานของความน่าจะเป็น  แต่ต้องตระหนักให้มากว่าทุกครั้งที่ได้ให้ความรู้ต้องให้เครื่องกำกับการใช้ ความรู้ไปด้วย  เพื่อให้เกิดการใช้ในทางที่ดีงามในเปอร์เซ็นต์ที่มากขึ้น  เครื่องกำกับความรู้ที่ว่าอย่างหนึ่งก็คือปัญญาการใช้ชีวิต

5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ4 สิงหาคม 2553 เวลา 11:50

    "กลับมามองในเรื่องปัญญาการใช้ชีวิต เราคงเห็นชัดว่านกทุกตัวตั้งแต่ฟักออกจากไข่มันก็รู้ว่าจะต้องมีชีวิตอย่าง ไร ทุกตัวสร้างรังแตกต่างกันแต่ประโยชน์ใช้สอยเดียวกันได้โดยไม่มีใครสอน มีชีวิตเป็นอิสระ เราจะไม่เห็นนกโง่เลยสักตัว และผมเชื่อว่าเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับปัญญาการใช้ชีวิตแบบนี้ซึ่งเราควรบ่ม เพาะให้งอกงามมากขึ้น "

    ชอบประโยคข้างบนมากเลยค่ะ อ่านแล้วไม่ต้องอธิบายอะไรต่อเลย ความหมายตรงตัวที่สุด โดยเฉพาะตรงที่บอกว่า
    "เราจะไม่เห็นนกโง่เลยสักตัว"

    ตอบลบ
  2. เป็นแง่คิดที่เข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง งดงาม สมควรที่ผู้คนในสังคมยุคปัจจุบันควรตะหนักและเรียนรู้ เพื่อนำมาปรับใช้เพื่อลดอัตตา และความเห็นแก่ตัวลงบ้าง

    ตอบลบ
  3. "ความรู้อาจเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราหาประโยชน์จากคนอื่นที่รู้น้อยกว่า" ด้วยเหตุนี้ใช่ไหมที่เรารีบป้อมความรู้เพื่อให้คนรู้เท่าทันกันเพื่อไม่ให้ถูกผู้ที่รู้กว่าเอารัดเอาเปรียบ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ5 มกราคม 2554 เวลา 09:35

    "ปัญญาการใช้ชีวิต" น่าจะเป็นเงื่อนไขในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็ก...
    และเห็นด้วยที่สุดค่ะ ความรู้ไม่ได้ทำให้คนมีความสุขมากขึ้นเลย หากไม่ได้ใช้ความรู้นั้นเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อตน สังคม และโลก

    ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ15 กันยายน 2554 เวลา 13:33

    ความมีปัญญาในการใช้ชีวิต ให้มีความสุขกับสิ่งที่ทำและทุกวัน อยากให้โรงเรียนมีแนวคิดแบบนี้ให้มาก ๆ เด็ก ๆ จะได้เรียนอย่างมีความสุข

    ตอบลบ