วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553
ดวงตาที่มองโลก
ยามเช้าวันที่ 19 เมษายน ผมยืนมองผู้คนนอกหน้าต่างห้องพัก
แม่กับลูกสาววัยสามขวบอยู่ที่สวนหลังอาคาร
“แม่คะทำไมหญ้ามันเปียก” เด็กหญิงวัยสองขวบเจื้อยแจ้วถามขณะที่ใช้มือแตะที่พื้นเปียก
“เพราะน้ำค้างค่ะ” แม่ตอบด้วยน้ำเสียงเอ็นดู
“น้ำทำไมจึงค้างล่ะคะ”
ไม่มีคำตอบ แม่ยังปั่นจักรยานสำหรับออกกำลังกายด้วยจังหวะปกติ
สักพักเด็กหญิงก็พูดขึ้นกับดอกหญ้า “ดอกหญ้าเล็กๆ นี่สวยจัง”
“ดูหนอนด้วยนะลูก” แม่ซึ่งเฝ้าดูอยู่สำทับ
“มันน่ารักด้วยนะคะแม่”
“อย่าไปแตะเดี๋ยวใบหญ้ามันทิ่มเอา” น้ำเสียงแม่ออกจะกังวล
ลูกสาวรามือจากยอดหญ้า “โอโฮ ก้อนหินนี้สูงจัง หนูปีนได้ไหมคะแม่”
“ไม่เอาลูกมันลื่นเดี๋ยวตกแขนหัก”
“ก็หนูอยากลื่นนะ”
“เอ๊ะ ดื้อจริงลูกคนนี้ มาไปวิ่งกับแม่ดีกว่า” แล้วแม่ลงจากจักรยานเข้ามาจูงลูกสาวและออกวิ่งจากไป แต่ผมยังแว่วได้ยินเสียงเจื้อยแจ้วของลูกสาวที่ตั้งคำถามจากสิ่งที่พบเห็นบนรายทาง
เด็กกับผู้ใหญ่มักมองโลกด้วยดวงตาที่ต่างกัน
เด็กเฝ้ามองอย่างกระหายที่จะเรียนรู้จริงผ่านประสาทสัมผัสทั้งมวล
วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553
สร้างจิตดวงใหญ่ ด้วยรักแบบไม่มีเงื่อนไข
เรามักได้ยินสิ่งเหล่านี้บ่อยๆ
“อย่าทำอย่างนั้น ไม่งั้นแม่จะไม่รัก”
“อยากให้พ่อแม่รัก ต้องตั้งใจเรียนสิลูก"
“ถ้าลูกสอบได้อันดับดีๆ จึงจะพาไปเที่ยว”
“เด็กๆ ต้องตั้งใจเรียน ตั้งใจฟังครู ครูจึงจะให้ดาวความดี”
“เด็กๆ จะได้ฟังนิทานก็ต่อเมื่อส่งการบ้านทุกคน”
แม้ทั้งหมดจะเป็นพฤติกรรมที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดี แต่กลับเป็นความรักที่มาพร้อมกับเงื่อนไข ที่ต้องแลกกับแบบต่างตอบแทน เสมือนเด็กๆ ไม่มีคุณค่าพอที่จะให้เรารักแบบไม่มีเงื่อนไข
การที่รู้สึกว่าจะไม่ได้รับความรักนั้นทำให้มนุษย์อ่อนไหว เมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้ตั้งแต่เล็กถึงวิธีการสร้างกับดักอันชอบธรรม โดยการสร้างเงื่อนไขขึ้นมาต่อรองเพื่อแลกกับความรัก เงื่อนไขทั้งที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมจึงกลายเป็นตัวกลางที่สำคัญระหว่างคน แล้วความปรารถนาดีต่อกันอย่างบริสุทธิ์ก็น้อยลง
เราควรตระหนักที่จะเริ่มต้นรักอย่างไม่มีเงื่อนไข และพยายามหาวิธีที่จะไม่ทำให้เงื่อนไขที่เราสร้างขึ้น(อาจโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม)ถูกเพาะเลี้ยงไว้ภายในเขา เพื่อจะรับประกันได้ว่าเมื่อเขาโตขึ้น เขาจะมีจิตดวงใหญ่ที่สามารถบรรจุผู้คนมากมายไว้ในนั้นด้วยความรักที่ปราศจากเงื่อนไข เหมือนทะเลที่รองรับได้ทุกสิ่ง
แล้วกำแพงมายาที่กั้นเราอยู่ก็จะพังทลายลง
วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553
นอกไข่แดงคือการเรียนรู้
ภายในไข่แดงคือขอบเขตของความปลอดภัย เป็นการทำงานของโหมดปกติ ด้วยความเคยชิน เป็นการดำเนินชีวิตให้ผ่านไปแต่ละวันแบบไม่ต้องคิดใคร่ครวญให้มาก เช่น ตื่นนอน เราเข้าส้วม นั่งถ่าย ฉีดสายชำระ แปรงฟัน รดน้ำต้นไม ขับรถไปที่ทำงาน ทุกอย่างเป็นไปได้อย่างอัตโนมัติ
แต่การออกนอกเขตไข่แดง จะทำให้เราได้ไตร่ตรองครุ่นคิด เพื่อโยงสิ่งที่พบพานใหม่กับประสบการณ์ที่มี มวลประสบการณ์ทั้งหลายจะโยงใยเพื่อเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาใหม่ที่เข้ามา
เช่น ตอนที่เราไปเที่ยวทะเล เราเรียนรู้การหายใจด้วยปากเมื่อต้องใช้สน็อกเกิ้ล ความไม่เคยชินแรกๆ อาจทำให้บางครั้งสำลักน้ำ แต่เมื่อเราลองทำครั้งแล้วครั้งเล่า เราก็สามารถดำน้ำดูปะการังที่สวยงามนั้นได้ ซ้ำเรายังสามารถปรับแต่งอุปกรณ์ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยตัวเอง ความยากก่อนหน้านั้นกลายเป็นเรื่องง่ายๆ
ลูกไก่สามารถมีชีวิตอยู่ได้สี่ห้าวันหลังจากฟักโดยไม่ต้องกินอะไร ทั้งนี้เพราะไข่แดงที่ติดตัวมา หากมันไม่หัดคุ้ยเขี่ยและจิกกินอาหารตั้งแต่วันแรกๆ ที่ฟักออกมา ไม่กี่วันเมื่อไข่แดงหมดมันก็จะง่อยเปลี้ยและตายไป
โหมดอัตโนมัติ หรือ การอยู่ในไขแดงเองก็ใช้ประโยชน์สำหรับการดำรงอยู่ได้อย่างจำกัด เพราะในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างยิ่งนี้ การออกจากไข่แดงอยู่เนืองๆ จะเกิดการเรียนรู้อยู่เสมอๆ นั่นจะขยายขอบเขตไข่แดงของเราเองให้กินขอบเขตมากขึ้น ซึ่งพอจะรับประกันได้ว่าเราจะยังอยู่ในโลกได้อย่างไม่ลำบาก
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)