ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ดูงานการศึกษาที่ฟินแลนด์ หาพระแสงอะไร? (ตอน 2)


พลันที่เราไปถึงราวบ่ายสามโมงของวันอาทิตย์ฟ้าก็มืด  ในถนนรถราดูเชื่องช้าไปกับความหนาวเย็นระดับศูนย์องศา  เป็นเมืองหลวงที่ไม่มีรถติดจริงๆ  รถราง(Tram) วิ่งร่วมถนนกับรถอื่นอย่างเอ้อระเหย แต่ผู้คนกลับเดินกันอย่างรีบเร่ง





คงมีน้อยคนนักที่ไม่รู้จัก Nokia  และ เกม Angry Bird ก็เป็นที่คลั่งไปทั่วโลกอยู่หลายปี  นั่นย่อมน่าประหลาดใจเมื่อพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เกิดจากประเทศที่มีประชากรเพียง 5.3 ล้านคน  พวกเขาทำได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่เพราะประชากรมีคุณภาพสูงจริงๆ 
คนฟินแลนด์ใช้ภาษาฟินิชและสวีดิช  แต่ส่วนใหญ่จะพูดได้สามภาษาเป็นอย่างน้อย ภาษาอื่นอาจเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือ เยอรมัน  จิตวิญญาณของชาวฟินแลนด์เรียกกันว่า SISU คือความมุ่งมั่นในการทำงานให้สำเร็จโดยอยู่บนฐานของความไว้วางใจต่อกัน  ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นชัดจากการจัดการศึกษาซึ่งใช้เวลาในการปฏิรูปกว่ายี่สิบปี  จนกลายเป็นระบบที่เรียบง่าย  เล็งผลที่ประสิทธิภาพแทนที่จะมุ่งรักษาโครงสร้างของระบบราชการไว้ 
รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมมีเสียงก่ำกึ่งและผลัดเปลี่ยนกันเป็นรัฐบาลแต่ในด้านนโยบายทางการศึกษาจะไม่เคยเปลี่ยน  คือมุ่งจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และ เท่าเทียมกัน  ไว้วางใจต่อกัน ท้องถิ่นหรือเทศบาล  เทศบาลก็จัดให้มีโรงเรียนกระจายเพื่อให้นักเรียนทุกคนสามารถเดินไปโรงเรียนได้  มีห้องเรียนที่อบอุ่น  มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยเหมือนกัน  และยังต้องสนับสนุนให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพเหมือนกัน 
โรงเรียนค่อนข้างอิสระ  ผู้บริหารไว้วางใจต่อครูเพราะทุกคนได้ผ่านกระบวนการพัฒนาอย่างมีคุณภาพมาแล้ว  ครูมีอิสระที่จะเลือกหรือผลิตหนังสือ สื่อ ตามที่เห็นสมควรโดยรัฐเป็นผู้จ่ายให้  เราจึงจะเห็นครูฟินแลนด์ใช้หนังสือของตนเอง ใช้เว็ปไซด์เพื่อการสอนของตนเอง  และกฎหมายลิขสิทธิ์ก็เข้มแข็ง เพราะรากฐานที่มาจาก SISU  ด้วย 
ฟินแลนด์ไม่มีระบบตรวจสอบโรงเรียนจากภายนอกมานานกว่า 20 ปีแล้ว  และเด็กๆ จะมีการทดสอบระดับชาติเพียงครั้งเดียวคือตอนที่จบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี (อายุ 16 ปี) และตลอดเวลาที่เรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กจนจบปริญญา  รัฐจะเป็นคนจ่ายค่าอุปกรณ์การเรียนและหนังสือให้ทุกคน  ให้อาหารกลางวัน  ให้บริการสุขภาพ แม้แต่ดัดฟันยังให้ฟรี 
การเรียนการสอนแบ่งเป็นปีละ 2 ภาคเรียน รวมทั้งปี 188 วัน  วันละ 4-6 ชั่วโมง(20-30 ชั่วโมง/สัปดาห์)  เด็กนักเรียนต่อห้อง 12-20 คน ครู 2-3 คน   บางห้องเรียนที่มีเด็กเพียงสองคน รัฐยังต้องจัดทุกอย่างให้มีคุณภาพเท่าเทียมกัน
เด็กแรกเกิดถึงหกขวบรัฐจะสนับสนุนให้มีการเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการให้อย่างดี  มีศูนย์เด็กเล็กทั้งของรัฐและของเอกชนอย่างเพียงพอ  พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกเองรัฐก็จัดงบประมาณให้  หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนสามารถให้ลาเลี้ยงดูลูกโดยรับเงินเดือนได้เป็นปีและลาต่อได้จนลูกอายุถึงสามขวบ





 เราเข้าพักที่ Sokos Hotel กลางเมือง โรงแรมที่เกือบทุกห้องพักประดับภาพ มาริลิน มอนโร ที่กำลังเต้นรำคู่กับชายคนหนึ่ง  เจ้าของคงมีใจกับภาพนั้น
เย็นนั้นเรากินสเต็กปลาที่ร้านอาหารของโรงแรมตามคำแนะนำของไกด์ที่บอกว่าตอนนี้คือฤดูกินปลา  ปลาแซลมอนและปลาอื่นๆ ในตระกูลเดียวกันยังมีชุกชุมตามธรรมชาติ  ที่ฟินแลนด์ยังขึ้นชื่อว่ามีบึงน้ำจืดมากกว่าหมื่นแห่ง และผู้คนที่นี้ชอบกินปลาน้ำจืดมากเสียด้วย




  ที่นี่เข้มงวดมาก ห้ามขายเหล้าแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในร้านอาหารจะขายเฉพาะเบียร์หรือ ไซเดอร์(น้ำผลไม้ที่หมักคล้ายเบียร์มีแอลกอฮอล์3-4ดีกรี)  เหล้าและไวน์ซึ่งมีดีกรีสูงจะมีขายในร้าน Alko เท่านั้น ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ขายเหล้า  เราจะไม่เห็นขายเหล้าหรือไวน์ในมินิมาร์ทหรือร้านทั่วไป
วันนั้นเราเลยดื่มเบียร์กันคนละแก้วด้วยหวังว่าคืนนี้จะหลับกันอย่างสนิท  เพราะถ้าที่นี่สามทุ่มที่เมืองไทยคงราวตีสองนั่นหมายถึงใกล้เวลาตื่นจริง(ตีสาม)ของชีวิตปกติผมแล้ว
ก่อนนอนผมนึกถึงคำหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว  "ราตีสนด้วน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น