ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ความสำเร็จ


เราควรตีค่าความสำเร็จทางการศึกษาจากสิ่งใด?   เป็นคำถามที่ทุกคนต้องใคร่ครวญซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้แน่ชัดว่าเป้าหมายนั้นไม่ได้เป็นไปเพียงเพื่อสนองความต้องการของผู้ใหญ่เท่านั้น หรือ ไม่ได้ทำไปเพื่อเด็กคนใดคนหนึ่งอย่างโดดๆ  เราต้องมองเป้าหมายที่เป็นความจำเป็นจริงๆ ต่อเด็กและต่อโลกในอนาคตและยังต้องคำนึกถึงความเป็นองค์รวมของเป้าหมายทั้งหมดเพื่อให้แต่ละคนได้สมบูรณ์พร้อมตามศักยภาพแห่งตน  ดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีคุณค่าและปีติสุข  
ที่ผ่านมาความกระหายใคร่รู้ทำให้เราข้าใจสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมมากขึ้น  จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในการหล่อหลอมเป็นความเชื่อใหญ่ของผู้คนให้เข้าใจว่าการศึกษาคือการสั่งสมความรู้   จึงส่งผลให้เราให้ความสำคัญกับการสอนความรู้  วัดผลจากความรู้  และตีค่าความสำเร็จโดยนัยจากความรู้  ทั้งที่ทุกคนรู้ดีว่าแท้ที่จริงเราต้องการให้ผู้คนดีงาม  อยู่กันอย่างสงบ  สันติ  เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุข 
ผมเชื่อว่าเราส่วนใหญ่รู้ดีว่ากำลังเผชิญความท้าทายอะไรบ้าง  และ รู้ดีว่าการที่จะปรับปรุงการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นควรทำอย่างไร  แต่เรายังไม่ได้ทำกันอย่างเต็มกำลัง    การสิโรราบหรือการยอมจำนนนั้นง่ายกว่า  มันเป็นการปรับตัวแบบหนึ่งเพื่อให้เราได้กลับมามีสมดุลอีกครั้ง  แต่สมดุลในระดับต่ำเป็นการปรับตัวเชิงถดถอย  ที่คนส่วนใหญ่เลือกวิธีนี้เพราะสมองส่วนอะมิกดาลากระโจนเข้ามาทำงานก่อนสมองกลางหรือส่วนหน้า  มันง่ายและสามารถหาเหตุผลได้มากมายมากล่าวอ้างได้อย่างสมเหตุสมผล   ทั้งที่ธรรมชาติลึกๆ ที่ทำให้มนุษย์ก้าวหน้ามาได้ขนาดนี้เพราะเราปรับตัวอีกแบบคือการตะลุยฝ่าอุปสรรคนานามา  ตลอดช่วงวิวัฒนาการมนุษย์ล้วนแต่ผลักดันเพื่อเอาชนะขีดจำกัดศักยภาพของเราเองเสมอ 
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงรอบด้านนี้   การศึกษาปัจจุบันจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างไร  เราต้องมองไกลกว่าเป้าหมายอันตื้นเขิน  มองมากกว่าความรู้  มากกว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ มากกว่าการมีงานทำ ฯลฯ    แต่ดูเหมือนการศึกษาซึ่งเป็น “ตัวจัดกระทำ”   จะมี  “ตัวแปรแทรกซ้อน”  มากมายซ่อนอยู่  การควบคุมผลสูงสุดจึงอยากแสนเข็ญ   การศึกษาอาจจะช่วยให้เราตระหนักว่าจะต้องแปรงฟันทุกวัน  หรือ ระวังอย่าให้ตัวเองพลัดกจากที่สูง. หรือ เราหาประโยชน์จากสิ่งต่างๆ  อย่างไรได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้สร้างผลอย่างชัดเจนที่จะให้คนตระหนักว่าชีวิตของเรานั้นสั้นแค่ไ 
เราทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการให้การศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม  จึงต้องทำให้ได้ดีที่สุดเหมือนกับชาวสวนที่เฝ้าดูแลเอาใจใส่ต้นไม้ในสวนทุกด้านอย่างพร้อมพรั่งทั้งรดน้ำ  ใส่ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่ง หรือกำจัดศัตรูพืชให้ โดยหวังว่าปัจจัยที่ทำลงไปจะเอื้อให้ปัจจัยทางธรรมชาติของต้นไม้ออกผลของมันอย่างสมบูรณ์    ชาวสวนทำได้เพียงเฝ้ามองเฝ้ารอผลผลิตหลังจากที่ได้ทำทุกอย่างแล้ว
โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา หรือ โรงเรียนนอกกะลา มองเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นองค์รวมซึ่งประกอบด้วยปัญญาภายนอก และ ปัญญาภายใน  และทำทุกวิธีในฐานะของคนสวนที่ดี
 ปัญญาภายนอก  ได้แก่ ความฉลาดทางด้านร่างกายซึ่งหมายถึงการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถดูแลและใช้กายอย่างมีคุณภาพ  มีความแข็งแรง  อดทน อวัยวะทุกส่วนทำงานอย่างสอดประสานกัน   และอีกอย่างของปัญญาภายนอกคือความฉลาดทางด้านสติปัญญาซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้เข้าใจต่อโลกและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น   จะประกอบด้วยความรู้มากมายหลายแขนงที่จะใช้ในการดำเนินชีวิตหรือการประกอบอาชีพ   
ปัญญาภายใน  ได้แก่ ความฉลาดทางด้านจิตวิญญาณ และ ความฉลาดทางด้านอารมณ์  ซึ่งหมายถึงความสามารถในการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเอง(รู้ตัว)และผู้อื่นจนสามารถจัดการอารมณ์ตนเองได้อย่างดี   การเห็นคุณค่าในตัวเองและผู้อื่นหรือสิ่งต่างๆ  เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย   การเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งต่างๆ  นอบน้อมต่อสรรพสิ่งที่เกื้อกูลกันอยู่   การอยู่ด้วยกันอย่างภารดรภาพยอมรับในความแตกต่าง  เคารพและให้เกียรติกัน  อยู่อย่างพอดีและพอใจได้ง่าย   การมีสติอยู่เสมอ  รู้เท่าทันอารมณ์เพื่อให้รู้ว่าต้องหยุด หรือ ไปต่อ กับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่   การมีสัมมาสมาธิเพื่อกำกับความเพียรให้การเรียนรู้หรือการทำภาระงานให้ลุล่วง  และ การมีจิตใหญ่มีความรักความเมตตามหาศาล

ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ  7 สิงหาคม 2554 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น