ต่อจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ผมได้กล่าวถึงว่าอะไรคือความสำเร็จของการจัดการศึกษาซึ่งแยกหยาบๆ ได้เป็นสองอย่างคือปัญญาภายนอกและปัญญาภายใน วันนี้จะขอกล่าวถึงความฉลาดทางด้านร่างกายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญญาภายนอกที่หมายถึงเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถดูแลและใช้กายอย่างมีคุณภาพ มีความแข็งแรง อดทน อวัยวะทุกส่วนทำงานอย่างสอดประสานกัน
นับย้อยจากอดีต มนุษย์ต้องมีร่างกายแข็งแรงกำยำถึงจะอยู่รอดได้ มนุษย์เราใช้ศักยภาพทางร่างกายเพื่อหาอาหาร สร้างที่อยู่อาศัย หนีภัย หรือ ปกป้องตัวเอง ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการใช้ร่างกายต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับคนในอดีต ตื่นเช้ามาก็ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนหาอาหาร หรือหนีภัย การเดินทางหรือทำกิจกรรมต่างๆ ก็มีเครื่องมือช่วยให้เบาแรง ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของวันหมดไปกับการนั่งทำงาน เราใช้สมองกับนิ้วมือไม่กี่นิ้ว แน่ล่ะว่าศักยภาพทางร่างกายหลายอย่างที่ไม่ได้ถูกใช้จะลดทอนลง เช่น ความแข็งแรงของกระดูก ความยืดหยุ่นของเส้นเอ็น กล้ามเนื้อลีบเล็ก ส่วนสายตาที่ใช้จับจ้องอยู่กับหน้าคอมพิวเตอร์มากขึ้นก็จะสูญเสียได้ง่ายขึ้น พฤติกรรมชีวิตที่มีการเคลื่อนไหวน้อยลงและการกินอาหารที่ให้พลังงานสูงทำให้จำนวนคนเป็นโรคอ้วนมากขึ้น โรคภัยที่รุมเร้าก็เป็นภาระที่ประเทศต้องระดมสรรพกำลังเข้าแก้ไข
บทบาทของโรงเรียนต่อการสร้างความฉลาดทางด้านร่างกาย
1. การออกแบบการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติให้ได้ใช้อวัยวะทุกส่วนในร่างกาย ทั้งในแง่ของความแข็งแรงอดทน และ ในแง่ของการทำงานที่สอดประสานกัน ทั้งในร่มและกลางแจ้ง
2. ออกแบบวิถีชีวิตในโรงเรียนให้เด็กๆ มีช่วงเวลาได้เล่นหลายๆ ช่วงเวลา เช่น ภาคเช้า ช่วงพักภาคเช้า กลางวัน และ หลังเลิกเรียน
3. ออกแบบการสอนวิชาพละศึกษาหรือกิจกรรมให้สอดคล้องกับการต้องการการพัฒนาทางด้านร่างกายของเด็กให้เหมาะสมตามวัย
- วัยอนุบาลควรให้เด็กได้ออกกำลังกายเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ ได้แก่ ความสมดุล การทรงตัว ความแข็งแรง ความอดทน และ พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กเพื่อการทำงานที่สอดประสานกันของอวัยวะต่างๆ กิจกรรมที่เหมาะสมได้แก่ การว่ายน้ำ กิจกรรมประกอบจังหวะ กายบริหาร เกม การวิ่งเล่น การเล่นเครื่องเล่นสนามที่ประกอบด้วยกระบะทรายเปียก ทรายแห้ง กระดานทรงตัว ราวโหนหรือเชือกโหน ชิงช้า และ อุโมงค์มุดซ่อน เป็นต้น
- ระดับประถมศึกษาตอนต้น ให้เด็กได้ออกกำลังกายทุกส่วนของร่างกายเพื่อให้เกิดความคล่องแคล่ว ควรให้เล่นกีฬาที่ไม่มีความซับซ้อนมาก
- ระดับประถมศึกษาตอนปลายถึงระดับมัธยม ให้เด็กได้ออกกำลังกายทุกส่วนของร่างกายเพื่อให้เกิดความคล่องแคล่ว เพิ่มสมรรถภาพทางร่างกาย และพัฒนาทักษะทางกลไกให้ทำงานสัมพันธ์กัน ให้เด็กได้เล่นกีฬาได้แทบทุกประเภท
ผมมีบทเรียนให้ต้องกลับมาใคร่ครวญในเรื่องการสอนกีฬาในโรงเรียน สมัยผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นครูที่จบพลศึกษาโดยตรงได้สอนเราในวิชาตะกร้อไทย ในหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่เราต้องเรียนวิชานี้ครูวางขั้นตอนของกิจกรรมไว้ตามแบบแผนคือขั้นของการอบอุ่นร่างกายหรือ warm up 15 นาที ขั้นสอนหรือสาธิต 15 นาที ขั้นลงมือปฏิบัติ 15 นาที่ ขั้นสรุปหรือwarm down อีก 15 นาที ในชั่วโมงหนึ่งๆ ของวิชาตะกร้อผมแทบนับได้ว่าเท้าของผมโดนลูกกี่ครั้ง ผ่านไป 20 สัปดาห์เมื่อผมเรียนจบวิชานี้ผมไม่ได้มีทักษะการเล่นตะกร้อเพิ่มขึ้น ไม่ได้มีเจตคติที่ดีต่อการเล่นตะกร้อเพิ่มขึ้น และผมได้มาเพียงเกรด 1
ในโรงเรียนนอกกะลา เราไม่นำกีฬามาแค่สอนเพื่อให้เกรด แต่เราใช้กีฬาเป็นเครื่องมือให้เด็กๆ ได้เล่นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน เพื่อเพิ่มพูนกลไกการคิดการวางแผน และ เพื่อเพิ่มพูนความแข็งแรงความอดทนของร่างกาย ที่สำคัญคือให้เด็กทุกคนได้รักในการออกกำลังกายเพื่อความมีสุขภาพดี
กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับที่65 21-27 สิงหาคม 2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น