ทำไมต้องสอนภาษา?
ทำไมเราต้องสอนภาษาให้กับเด็กๆ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาตรี ทั้งที่เด็กสี่ห้าขวบก็ใช้ภาษาสื่อสารกับเรารู้เรื่องกันแล้ว?
ภาษาในความหมายอย่างกว้าง หมายถึง กริยาอาการที่แสดงออกมาแล้วสามารถทำความเข้าใจกันได้ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสัตว์ หรือสัตว์กับสัตว์ ส่วนภาษาในความหมายอย่างแคบนั้น หมายถึง เสียงพูดที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันเท่านั้น
ภาษาเป็นวัฒนธรรมที่เกิดและวิวัฒนาการมาพร้อมกับมนุษย์ ประมาณจำนวนภาษาที่มนุษย์ใช้อยู่ทั่วโลกเวลานี้ มีถึง 6,800 ภาษา ในจำนวนนี้เกินกว่าครึ่งหรืออาจจะถึงร้อยละ 90 จะตายไปในไม่ช้า อย่างเช่น ขณะนี้ มีคนพูดภาษาอูดิฮี ได้แค่ 100 คน ส่วนภาษาอะริคาปู มีคนพูดได้น้อยยิ่งกว่า เพียง 6 คนเท่านั้น แต่ที่น่าตกใจที่สุดเห็นจะเป็นภาษาอียัค ที่มีคนพูดได้เพียงคนเดียวในโลก คือคุณยายมารี สมิธ วัย 83 ปี อาศัยอยู่ในเมืองอันโชเรจ รัฐอลาสกา เธอคือคนสุดท้ายที่พูดภาษานี้ได้
การตายของภาษาจะทำให้อารยะธรรมบางอย่างของเจ้าของภาษาตายไปด้วย
สำหรับ 10 ภาษาที่มีจำนวนผู้พูดมากที่สุดในโลกนั้น ได้แก่ ภาษาจีนกลาง มีผู้พูด 885 ล้านคน ภาษาสเปน 332 ล้านคน ภาษาอังกฤษ 322 ล้านคน ภาษาอารบิค 220 ล้านคน ภาษาเบงกาลี 189 ล้านคน ภาษาฮินดี 182 ล้านคน, ภาษาโปรตุเกส 170 ล้านคน ภาษารัสเซีย 170 ล้านคน ภาษาญี่ปุ่น 125 ล้านคน และภาษาเยอรมัน 98 ล้านคน
บางประเทศมีภาษาใช้จำนวนมากอย่างเช่น ปาปัวนิวกินีมีกว่า 800 ภาษา อินโดนีเซีย 731 ภาษา ไนจีเรีย 515 ภาษา อินเดีย 400 ภาษาและอินเดียมีภาษาราชการใช้ถึง 15 ภาษา
ภาษาจีน, กรีก และฮิบรู เป็นภาษาโบราณที่ใช้กันมามากกว่า 2,000 ปี
เป้าหมายของการเรียนรู้ภาษาของโรงเรียนนอกกะลา จากขั้นพื้นฐานไปสู่ขั้นสูง
1. เพื่อใช้ภาษาในการรับรู้และสื่อความต้องการ
2. เพื่อใช้ภาษาเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ให้ความเข้าใจต่อโลกและปรากฏการณ์ต่างๆ
3. เพื่อใช้ภาษาในการรับรู้และถ่ายทอดอารยธรรม
4. เพื่อใช้ภาษาในการรับรู้และถ่ายทอดการเข้าถึงสิ่งสูงสุด
ธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์
เราเรียนรู้ภาษาเริ่มจาก การฟังและการพูด เป็นการเรียนรู้ที่จะเข้าใจความหมายของเสียง และสื่อสารออกมาได้ ทั้งเสียงสื่ออารมณ์ความรู้สึก เสียงสูง-ต่ำ น้ำเสียงราบเรียบสม่ำเสมอ และ เสียงของคำศัพท์ที่ใช้เพื่อสื่อความหมาย
จากนั้นจึงเริ่มหัดอ่าน-เขียน เป็นการเรียนรู้ที่จะใช้ภาพหรือสัญลักษณ์แทนเสียงของคำศัพท์ ทั้งสัญลักษณ์แทนเสียงที่เปล่งออกมาแล้วมีความหมาย เช่น พ่อ แม่ มือ ตา หู ฯลฯ หรือ สัญลักษณ์แทนเสียงที่ไม่มีความหมาย เช่น ก ข -ะ ไ- ฯลฯ
เมื่อจำสัญลักษณ์ที่แทนความหมายได้บ้างแล้ว เราจะเริ่มเรียนรู้รูปแบบ หรือโครงสร้างของภาษา โดยการเทียบเคียงเสียงด้วยรูป หรือ ด้วยการเปล่งเสียง ซึ่งในขั้นนี้จะเกิดจากเทียบเคียงด้วยตัวเอง หรือ ครูนำการเทียบเคียง เช่น ขา ตา มา หรือ ตา ตี เตา หรือ _าง = กาง คาง นาง วาง หรือ การผันเสียง เช่น ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า
ขั้นสูงสุดคือการแตกแขนงทางภาษา เป็นการเห็นรูปแบบหรือการเห็นโครงสร้างภาษา รูปคำ ประโยค การแยกแยะคำ การสร้างคำใหม่ จนพลิกแพลงไปใช้ได้ และจะเกิดการเพิ่มพูนคำศัพท์ เห็นถึงคำที่เชื่อมโชงกันจนสามารถสร้างอภิธานศัพท์หรือกลุ่มคำที่สามารถอธิบายสิ่งต่างๆ ใช้เชิงนามธรรมหรือความหมายที่แท้จริงของสิ่งนั้นได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นด้วย การฝึกฝน การสั่งสม และ การสร้างอภิธานศัพท์
กรุงเทพธุรกิจ ISSUE 71 2-8 ต.ค.54
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น