ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กว่าจะมาเป็นครูนอกกรอบ 1

บทสัมภาษณ์ลงในหนังสือ
รวมมิตรคิดเรื่องการเรียนรู้ประสบการณ์ภาคปฏิบัติของมวลมิตรยุคอนาล็อคและคนรุ่นดิจิทัล
โดย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้  Thailand Knowledge Park (TK park)


   ตามสำนึกของคนทั่วไปย่อมเห็นว่า การศึกษาคือหนทางไปสู่การประสบความสำเร็จในอนาคต อันได้แก่หน้าที่การงานที่สุขสบาย เงินทอง และเกียรติยศการยอมรับจากสังคม จึงดิ้นรนแข่งขันกันเพื่อให้ได้เรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง และได้ปริญญาสูงๆ แต่ครูท่านหนึ่งกลับเห็นสวนทางว่า นี่คือกรอบคิดที่เป็นอันตรายต่อระบบการศึกษา และได้สั่นคลอนมายาคติที่ฝังแน่นนี้ โดยการบุกเบิกโรงเรียนตัวอย่างที่ไม่มีแบบเรียน ไม่มีการสอบ ไม่มีกฎระเบียบที่เข้มงวด ไม่มีการลงโทษ ไม่จัดลำดับความสามารถของผู้เรียน แต่เน้นพัฒนานักเรียนไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งปัญญาภายนอกและภายใน
     ร่วม 10 ปีแล้วที่ครูวิเชียร ไชยบัง ได้วางรากฐานการศึกษาแนวใหม่ให้กับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์ และได้ส่งต่อแนวคิดนี้กับครูเลือดใหม่หลายต่อหลายรุ่น

   กว่าจะมาเป็นครูนอกกรอบ
   ตอนเด็กครูวิเชียรมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นทหารอากาศ ตามค่านิยมเดิมๆ ของคนชนบท ที่อยากทำงานมียศมีตำแหน่งหรือเป็นเจ้าคนนายคน แต่สุดท้ายกลับสอบติดคณะคุรุศาสตร์ วิทยาลัยครูมหาสารคาม และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ชีวิตหันเหสู่ความเป็นครู แม้ช่วงชีวิตในการเรียนในวิทยาลัยครูจะสั้นเพียง 4 ปี แต่การเรียนการสอน กิจกรรมนอกหลักสูตร และความคาดหวังที่วิทยาลัยมีต่อนักศึกษาในโครงการคุรุทายาทรุ่นแรก ก็ได้หล่อหลอมจิตวิญญาณความเป็นครูจนฝังรากลึก
       “ผมไม่ค่อยสนใจเรียนเท่าไหร่ ถูกทำทัณฑ์บน 4 ครั้ง แต่ผมก็เรียนได้ดี อาจเป็นเพราะบุคคลิกภาพส่วนตัวที่เป็นมาตั้งแต่เด็ก คือกระตือรือร้นอยากรู้เรื่องราวที่ไม่เคยรู้มาก่อน
            นอกจากความใฝ่รู้แล้ว ตัวตนที่เข้มข้นอีกด้านหนึ่งของครูวิเชียร ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอิทธิพลที่ทำให้เป็นครูนอกกรอบ ก็คือความขบถและหัวแข็ง
        ผมถูกเลี้ยงดูมาโดยตา ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่ ตาไม่ได้เข้มงวดมากนักจึงทำให้ผมมีความคิดที่อิสระตั้งแต่เด็ก มักจะมีความคิดต่อต้านเรื่องราวที่ได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เชิงเกเร แต่หัวรั้นหัวแข็ง ผมไม่เคยแสดงออกแบบก้าวร้าว แต่จะดื้อเงียบไม่ทำตามเสียเฉยๆ แล้วคนอื่นก็จะรู้เองว่าผมคิดอะไร ครูวิเชียรเล่า  
            เมื่อเรียนครูไปจนถึงปีท้ายๆ ครูวิเชียรเริ่มตั้งคำถามกับระบบการศึกษาของไทย และเริ่มคิดว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้การศึกษาไทยดีขึ้นกว่าทุกวันนี้ ตอนนั้นผมบันทึกไว้ในไดอารี่ว่า ทำไมเราต้องเอาทฤษฎีต่างประเทศมาใช้ตลอด ทั้งๆ ที่บางทฤษฎีมีอายุเป็นร้อยปี ผมไม่เชื่อว่ามันสามารถนำมาใช้ได้จริงๆ แล้วผมก็อยากจะสร้างทฤษฎีการศึกษาขึ้นมาเอง จากนั้นผมก็ไม่เคยลืมมัน ไม่ถึงกับจะทำแบบเอาเป็นเอาตาย แต่เมื่อมีโอกาสผมก็พยายามจะทำ
        หลังศึกษาจบ ครูวิเชียรได้บรรจุเป็นครูที่โรงเรียนห่างไกลในจังหวัดกาฬสินธุ์ บรรยากาศที่สงบทำให้ครูใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือ อาทิผลงานของนักเขียนรัสเซียอย่างตอลสตอยและดอสโตเยฟสกี้ ซึ่งกล่าวถึงความทุกข์ยากของชีวิตและความหมายของการมีชีวิตอยู่ จากนั้นก็ได้ขยายไปอ่านงานเขียนที่มีลักษณะเดียวกัน อย่างเช่นผลงานของนักเขียนรางวัลโนเบลอีกหลายคน
            จากประสบการณ์การเป็นครู ครูวิเชียรได้พบเห็นปัญหาและความล้มเหลวมากมายของระบบการศึกษา เมื่อเห็นว่าการเป็นครูผู้น้อยยังไม่สามารถสร้างผลสะเทือนต่อระบบการศึกษาเท่าใดนัก ก็มุ่งมั่นที่จะทำงานในระดับผู้บริหารการศึกษาเป็นลำดับต่อไป โดยเป็นครูอายุน้อยที่สุดในเขตอีสานตอนล่างที่สอบได้เป็นผู้บริหารในปีนั้น
             ครูวิเชียร เป็นผู้บริหารโรงเรียนได้ 5 ปี ก็ถึงจุดผลิกผันที่สำคัญของชีวิต เมื่อได้พบกับเจมส์ คลาร์ก นักธุรกิจชาวอังกฤษ ที่ปรารถนาจะสนับสนุนการพัฒนาชนบทไทยให้ยั่งยืน ด้วยการสร้างโรงเรียนตัวอย่างที่มีคุณภาพ และเขาเป็นหนึ่งเดียวที่ถูกคัดเลือกให้ทำหน้าที่ครูใหญ่
              ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมจึงถูกเลือก  แค่อาจเห็นความหวังบางอย่างในตัวผม คุณเจมส์รู้แต่เพียงว่าอยากจะสร้างโรงเรียนดีๆ สักแห่ง แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร  คุณเจมส์เคยพูดไว้ว่า สิ่งเดียวที่สำคัญที่ทำให้กับโรงเรียนนี้ คือเลือกคนถูก  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น