ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กว่าจะเป็นครูนอกกรอบ 2

บทสัมภาษณ์ลงในหนังสือ
รวมมิตรคิดเรื่องการเรียนรู้ประสบการณ์ภาคปฏิบัติของมวลมิตรยุคอนาล็อคและคนรุ่นดิจิทัล
โดย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้  Thailand Knowledge Park (TK park)
กฎระเบียบคือเครื่องบีบรัดจิตวิญญาณ
            เมื่อโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนารับครูรุ่นแรก ในปี 2546 ครูวิเชียรและครูใหม่ได้ล้อมวงสนทนากันถึงประสบการณ์ในโรงเรียนที่ตนไม่ชอบเมื่อวัยเด็ก เพื่อที่จะไม่สร้างเงื่อนไขเหล่านั้นให้เกิดขึ้นอีก
เราไม่เคยเชื่อเลยว่า การที่มายืนเข้าแถวแล้วมานั่งตากแดดฟังครูพูดตอนเช้า จะทำให้เราเป็นคนดี เราไม่ชอบที่มีใครมาบอกว่าเรามีความรู้เท่านั้นเท่านี้ ทั้งที่เรามีมากกว่านั้น หรือมีทักษะอื่นที่เขาไม่เห็น เมื่อเราไม่ชอบ เราก็จะไม่ทำกับเด็ก ครูวิเชียรเล่า
            มีครูจำนวนไม่น้อย ที่เข้าใจว่าการลงโทษ ดุตีด่าว่า จะทำให้เด็กเติบโตเป็นคนดี แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นการกระทำที่ไม่เคารพความเป็นมนุษย์ในตัวเด็ก กรอบกติกาต่างๆ เป็นเครื่องบีบรัดจิตวิญญาณของเด็กให้ไม่กล้าเรียนรู้ และไม่กล้ายกระดับตนเองขึ้น ครูวิเชียรเชื่อว่าถ้าเด็กรู้สึกว่าตนได้รับคุณค่า จะทำให้เป็นเด็กที่กล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าทำ เพราะไม่รู้สึกผิด ขณะเดียวกันก็จะรู้จักการเคารพคนอื่น รวมทั้งเคารพสิ่งรอบตัวด้วย
            รูปธรรมที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาก็คือ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ไม่มีเด็กขีดเขียนตามฝาผนังเพราะมีความเคารพต่อสถานที่ เด็กรู้จักหน้าที่ของตน มาถึงโรงเรียนตรงเวลาเพื่อทำกิจกรรมหน้าเสาธง เข้าเรียนและทำกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ต้องมีใครบอก และโรงเรียนก็ไม่มีเสียงออดหรือเสียงระฆัง


ปัญญาภายนอก VS ปัญญาภายใน
            ครูวิเชียรมองว่า กะลาใบใหญ่ที่ครอบระบบการศึกษาไทยอยู่คือการยึดติดใน ความรู้ ซึ่งเป็นแค่เพียงส่วนเปลือกของการศึกษา แท้ที่จริงแล้วคุณค่าของการศึกษาอยู่ที่การก่อให้เกิดความเจริญงอกงามทางปัญญา อันประกอบด้วยปัญญาภายนอก ซึ่งหมายถึงความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสิ่งที่อยู่รอบตัว และอีกส่วนหนึ่งคือปัญญาภายใน ซึ่งหมายถึงความเข้าใจตนเองและธรรมชาติของชีวิต ดังนั้นเป้าหมายที่ชัดเจนของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา คำนึงถึงการก่อเกิดปัญญาทั้งสองส่วน
นับตั้งแต่การเปิดสอนปีแรก โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้ทดลองใช้เครื่องมือสำหรับบ่มเพาะปัญญาภายนอกหลายหลายวิถีทาง เช่น การบูรณาการโดยใช้ Story Line ซึ่งช่วยให้เด็กเรียนรู้อย่างสนุกสานเพลิดเพลิน แต่กลับไม่ได้นำพาไปสู่แก่นแท้ของความรู้ได้จริง ต่อมาก็บูรณาการโดยProject Based Learning ซึ่งเอื้อให้เด็กได้สร้างความรู้ด้วยตนเอง แต่ยังไม่ได้ให้อิสระเด็กเลือกเรียนในสิ่งที่อยากเรียนรู้ จนในที่สุดก็พบว่าแนวทางการสอนที่เหมาะสมคือการบูรณาการโดย Problem-Based Learning ซึ่งเติมเต็มเรื่องการเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน ไปพร้อมกับการลงมือปฏิบัติจนเกิดทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตจริงๆ
การนำปัญหามาเป็นสิ่งกระตุ้นในการเรียนรู้ เป็นการสร้างความเสียสมดุลในตัวเด็ก แล้วเด็กจะหาทางที่จะรักษาความสมดุลนั้น ด้วยกระบวนการที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน เอาทักษะและความรู้มารวมกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหา พอเขาได้แก้ปัญหาบ่อยๆ ก็จะเพิ่มทักษะ เพิ่มความเข้าใจ ทำให้มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่แข็งแกร่ง
การเรียนรู้อย่างอิสระเริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนได้เลือกในสิ่งที่ตนสนใจ และคิดว่าเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตนเอง รวมทั้งได้การออกแบบการเรียนรู้ว่าตนอยากจะสร้างนวัตกรรมอะไร โดยมีครูเป็นผู้มีบทบาทช่วยสนับสนุนให้เด็กได้แก้ปัญหาเหล่านั้น และวิเคราะห์ความเชื่อมโยงกับมาตรฐานและตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
ส่วนปัญญาภายในซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยการพร่ำสอนของครู ครูวิเชียรได้นำกระบวนการ จิตศึกษา มาใช้เป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะ หลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดก็คือ การเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมซึ่งเป็นจิตวิทยาเชิงบวก การจัดกิจกรรมตามแนวคิดนี้จะมุ่งเน้นให้เด็กมีความรักที่เผื่อแผ่ เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งอื่น และมีสติรู้สึกตัวได้เร็ว สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญงอกงามภายใน จะต้องมีลักษณะเป็นองค์กรแบบเปิด ที่ทุกคนเรียนรู้ร่วมกัน มีอุดมการณ์ร่วมกัน เคารพกัน และมีความเป็นกัลยาณมิตร
ครูวิเชียรกล่าวถึงความสำคัญของปัญญาภายในว่า การจะอยู่บนโลกนี้ได้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมข้างนอก แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่อยู่ข้างใน หากเราสามารถสร้างปัญญาภายในให้เข้มแข็งพอ เด็กจะมีวุฒิภาวะและภูมิคุ้มกันชีวิต ไม่ว่าจะมีแรงกระแทกจากภายนอกแค่ไหนเขาก็จะผ่านมันไปได้

รื้อกระบวนทัศน์การประเมินแบบชี้ถูกชี้ผิด
เมื่อกรอบคิดทางการศึกษาข้ามพ้นไปจากเรื่องของวิชาความรู้ แนวคิดการประเมินผลแบบเดิมๆ ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกต่อไป ครูวิเชียรมองว่า การประเมินผลควรจะเป็นกระบวนการยกระดับผู้เรียนให้พัฒนาไปข้างหน้า ต่างจากเครื่องมือตัดสินเด็กโดยการให้เกรดแบบที่คุ้นเคยกันในระบบการศึกษา
ถ้าเราประเมินความรู้ คนจะวิ่งหาความรู้ ถ้าประเมินความสวย คนจะวิ่งหาความสวย ถ้าประเมินเอกสาร คนก็จะจัดการเรื่องเอกสาร การประเมินของประเทศไทยเป็นปัญหาต่อการศึกษา เพราะชี้นำไปที่ความรู้ ครูวิเชียรกล่าว
โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจึงไม่มีระบบสอบปลายภาค แต่จะให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการประเมินการเรียนรู้ของตนเอง โดยการreflection คือการพินิจอย่างใคร่ครวญ และรับฟังเสียงสะท้อนจากครูและเพื่อนๆ ด้วยความเมตตา ซึ่งก่อให้เกิดการประเมินและการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่ถูกวัดไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นการวัดความเข้าใจ และทักษะที่เด็กได้แสดงออกมา
การแก้ปัญหา การสร้างนวัตกรรม การคิดหลายระดับ การคิดเชิงตรรกะ การดูแลสุขภาพ การดูแลสิ่งแวดล้อม การประกอบการ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะมากกว่าเป็นความรู้ แม้แต่คุณธรรมก็เป็นทักษะเพราะไม่ใช่สิ่งที่เก็บไว้ในใจแล้วรู้สึกแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์แสดงออก ทักษะเป็นพฤติกรรมที่เกิดซ้ำได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ถ้าเด็กเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เสมอแปลว่า เขามีทักษะในการเรียนรู้ ถ้าเด็กสร้างนวัตกรรมได้ทุกครั้งที่ครูเสนอปัญหาให้ แปลว่าเขามีทักษะในการคิดและการสร้างนวัตกรรม ครูวิเชียรอธิบาย
ครูอุปมาให้เข้าใจถึงการประเมินตัวบุคคลว่า ถ้าเรายิ่งประเมินละเอียดเราจะเห็นเรื่องที่หยาบ นั่นก็คือเราแยกสิ่งที่จะถูกประเมินจนเป็นส่วนย่อยๆ แล้วก็ดูแต่สิ่งนั้น  แต่หากเราประเมินรวมๆ ดูกลมๆ เราจะเห็นความงอกงามของเด็กได้ละเอียดใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่า แต่ระบบการศึกษาไม่ทำอย่างนั้น เพราะจับต้องยากและไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน"

ที่นี่ไม่ใช่โรงเรียนทางเลือก แต่เป็น โรงเรียนนอกกะลา
            ทุกวันนี้ เมื่อการศึกษากระแสหลักยังไม่สามารถตอบโจทย์ที่แท้จริงของคนในสังคมไทย จึงเกิดโรงเรียนทางเลือกแนวทางใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อย ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีค่าเล่าเรียนสูง หลายคนเข้าใจว่าโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาก็เป็นหนึ่งในโรงเรียนทางเลือก
            ครูวิเชียรปฏิเสธนิยามดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาพยายามเป็นโรงเรียนตัวอย่างเพื่อให้โรงเรียนของรัฐนำบทเรียนที่เกิดขึ้นไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ปัจจัยต่างๆ ของที่นี่ไม่ได้แตกต่างจากโรงเรียนรัฐทั่วไป เด็กได้เข้ามาเรียนโดยการจับสลาก งบประมาณต่อหัวก็ต่ำกว่า แต่สิ่งสำคัญที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาแตกต่างออกไปก็คือกระบวนการเรียนการสอน
            แม้จะปรารถนาที่จะเป็นโรงเรียนตัวอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจะสามารถเป็นแม่แบบให้โรงเรียนอื่นได้หยิบฉวยหลักสูตร หรือแบบเรียนใดๆ ไปใช้ได้อย่างสำเร็จรูป  หลักสูตรมันเริ่มเก่าตั้งแต่เราเริ่มทำ ถ้าครูยังติดยึดอยู่กับหลักสูตรอยู่สิบปี มันจะล้าสมัยขนาดไหน โลกเปลี่ยนไปทุกวัน กระบวนการเรียนรู้ของครูและเด็กก็จะต้องเปลี่ยนด้วย ครูวิเชียรกล่าว

การเรียนรู้ของครูก็เหมือนกับการเรียนรู้ของเด็ก  คือควรจะเกิดจากการลงมือปฏิบัติด้วยประสบการณ์ของตนเอง จนเกิดเป็นความเข้าใจที่แท้จริง ครูวิเชียรคาดหวังว่า อยากให้ครูที่เข้ามาดูงานเห็นเป้าหมายใหญ่ๆ เหมือนเรา แล้วกลับไปสร้างองค์กรการเรียนรู้ด้วยวิธีของเขา เกิดความภูมิใจในองค์กรตนเอง ขอให้เน้นผลที่จะเกิดขึ้นกับเด็กที่เขาจะอยู่ในโลกอีก 10 ปีข้างหน้า การได้เรียนรู้ร่วมกัน จะทำให้เกิดชุดความรู้ใหม่ทั้งหมดในองค์กร เกิดทักษะร่วม ความรู้สึกร่วม รู้สึกว่าฉันมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ รู้สึกว่าเราได้ยกระดับจิตวิญญาณกันและกัน สัมพันธภาพที่ดีและความหมายต่อการทำงานก็จะเกิดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น