จาก โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา |
โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2552
“เราทำไม่ได้หรอก” เป็นคำพูดที่คุณครูวิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้ยินจากผู้มาดูงานเสมอๆ คุณครูเล่าว่า มีอยู่คราวหนึ่งที่ได้ยินคำนี้จากผู้มาดูงานถึงห้าครั้งในเวลาครึ่งชั่วโมง
เวทีจิตวิวัฒน์เดือนสิงหาคมได้รับเกียรติจากคุณครูวิเชียรมาเล่าเรื่อง โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ให้ฟัง โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนทางเลือกที่มีชื่อเสียง มีผู้บริหาร และคุณครูจากเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศไปดูงานมากมาย นำไปสู่คำถามท้าทายว่าจะสามารถทำโรงเรียนแบบลำปลายมาศในพื้นที่อื่นๆ ไม่ได้จริงหรือ
เป็นโรงเรียนที่ไม่มีการสอบ
เป็นโรงเรียนที่ไม่มีเสียงออดเสียงระฆัง
เป็นโรงเรียนที่ไม่มีการอบรมหน้าเสาธง
เป็นโรงเรียนที่ไม่มีแบบเรียนสำเร็จรูป
เป็นโรงเรียนที่ไม่มีการให้ดาว
เหล่านี้คือประเด็นท้าทายระบบการศึกษา ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่าโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาคงเป็นโรงเรียนทางเลือก ที่เก็บค่าเล่าเรียนแพงๆ และนักเรียนมาจากครอบครัวคนชั้นกลางหรือผู้มีอันจะกิน แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ นักเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนนี้จะมาจากครอบครัวชาวไร่ชาวนาในเขตจังหวัด บุรีรัมย์ เข้าได้ด้วยการจับฉลากเท่านั้น และไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ร้อยละ ๗๐ ยากจน อีกอย่างน้อย ๔๐ ครอบครัว เป็นเด็กกำพร้า มีเด็กสติปัญญาบกพร่องร่วมเรียนด้วย
นักเรียนโรงเรียนนี้ทำอะไรกัน มาตรฐานและคุณภาพเป็นอย่างไร คุณครูวิเชียรเล่าผลการประเมินภายนอกให้ฟังว่า สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้มาประเมินโรงเรียนแล้วพบว่า อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ๑๓ มาตรฐาน และอยู่ในเกณฑ์ดี ๑ มาตรฐาน ผลการสอบเอ็นที (National Test) พบว่าคะแนนเฉลี่ยด้านภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของประเทศ ทั้งที่โรงเรียนไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “วิชาวิทยาศาสตร์”
คุณครูของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจะใส่ใจในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่นัก เรียนเป็นสำคัญ ให้นักเรียนได้เลือกทำในสิ่งที่ตนเองสนใจ เรียนรู้การวางแผน และลงมือทำจริง จากนั้นจึงนำผลงานมาแสดงและแลกเปลี่ยน ช่วยกันประเมินและเรียนรู้การวางแผนอีก เป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยๆ ไป เป็นไปตามปรัชญาที่ว่าการเรียนรู้ที่แท้เกิดจากการลงมือทำจริง
“เมื่อเดือนก่อน ผมกลับไปเยี่ยมบ้าน พบหลานตัวเล็กเรียนอนุบาลที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง” คุณครูวิเชียรเปิดประเด็น “ไหนเอามาดูซิ เรียนอะไร” คุณครูพูดกับหลาน “หลานเขาค้นหนังสือมาให้ดู ๘ เล่มใหญ่ เป็นแบบเรียนสำเร็จรูปที่ทางโรงเรียนจัดให้ ๕ แผ่นแรกเป็นใบความรู้ อีกแผ่นเป็นแบบฝึกหัด แล้วอีกแผ่นเป็นข้อสอบ ทุกวิชาจะเป็นแบบแผนเช่นนี้เหมือนๆ กันหมด”
“พอกลับมาที่โรงเรียน ซึ่งเราจะมีวงพูดคุยกับครู ผมก็ลองแบ่งครูเป็นสองกลุ่ม แจกกระดาษให้ครูแต่ละคน” คุณครูวิเชียรเล่าต่อไป “กลุ่มหนึ่งให้พับกบ พวกเขาฮือฮาเพราะรู้ว่ามีวิธีพับกบอยู่ พวกเขาถกเถียงกัน แล้วมีครูคนหนึ่งบอกว่า หนูจำได้ หนูจะสอนให้ กลุ่มนี้เลยได้กบมาเหมือนๆ กันหมด” คุณครูวิเชียรว่า “อีกกลุ่มให้พับกระต่าย ไม่มีเสียงฮือเหมือนกลุ่มแรก เพราะพวกเขารู้ว่ายังไม่มีใครสอนวิธีพับกระต่าย พวกเขานิ่ง มองหน้ากัน แล้วลองทำดู ปรากฏว่าทุกคนพับได้กระต่าย ๑๐ ตัวที่ไม่เหมือนกันเลย”
เพราะไม่เคยมีใครพับกระต่ายมาก่อน ทุกคนจึงต้องค้นหาวิธีกันเอาเอง ด้วยวิธีนี้ครูแต่ละคนจึงเข้าใจกระบวนการเรียนรู้อย่างที่ควรจะเป็น
ผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่าเป็นไปได้หรือเปล่าที่พอคุณครูของโรงเรียนจัดกระบวน การเรียนรู้แบบนี้ไปนานๆ เข้า ก็จะเกิดอาการเริ่มรู้ทาง เริ่มรู้ว่าต้องทำอย่างไร เริ่มลัดขั้นตอน แล้วก็ละเลยกระบวนการหาคำตอบด้วยตนเองไปในที่สุด คล้ายๆ กับที่หลายแห่งเผชิญ เปรียบเสมือนรู้วิธีพับกบก็พับแต่กบตามวิธีที่เคยพับกันมา เพราะง่ายกว่า
คุณครูวิเชียรตอบว่า สิ่งที่เราต้องการให้ครูแม่นยำที่สุดคือกระบวนการ ไม่ใช่ความรู้ แล้วในขั้นตอนที่นักเรียนนำผลงานมาแสดงและแลกเปลี่ยนนั้น จะแลกเปลี่ยนสิ่งดีๆ ซึ่งกันและกัน ด้วยวิธีนี้การเรียนรู้จึงจะสดและใหม่อยู่เสมอ
นอกเหนือจากครูแล้วทางโรงเรียนยังต้องเอาชนะใจผู้ปกครองด้วย มีการร่างหลักสูตรเพื่อจัดการผู้ปกครองโดยเฉพาะ เพราะผู้ปกครองมักคาดหวังให้เด็กอ่านออกเขียนได้คัดไทยตามเส้นประโดยเร็ว
“โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีเส้นประ”
โรงเรียนมีชั่วโมงที่ผู้ปกครองจะเวียนกันมาสอนนักเรียน ที่เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ได้เพราะครูใช้เวลาทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าวัน หนึ่งพวกเราต้องตายจากไป ผู้ปกครองก็ต้องตาย ครูก็ตายด้วย ที่เหลืออยู่คือเพื่อนๆ ของลูกเรา การสอนเพื่อนลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยวิธีคิดแบบนี้ใครมีความรู้อะไรก็มาสอน ไม่รู้จะสอนอะไรก็มาทำกับข้าว หรือเล่านิทาน พอเวลาผ่านไปหลายปี ผู้ปกครองจะเริ่มเปลี่ยน ไม่คาดหวังลูกในเรื่องการสอบแข่งขัน แต่มั่นใจในสิ่งที่โรงเรียนทำ ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ยั่งยืน เชื่อมั่นว่าเด็กสามารถจะอยู่และเป็นนักจัดการได้ และที่เห็นได้ด้วยตาแน่ๆ คือนักเรียนทุกคนเป็นคนดี ไม่เกเร เมื่อถึงวันไหว้ครู ผู้ปกครองจะเป็นผู้จัดงานให้และมาร่วมงานไหว้ครูกันมากมาย
สำหรับครูที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาแล้ว “ถ้าเป็นครูที่ดีไม่ได้ เราจะไปทำอาชีพอื่น”
ในความเห็นของผู้เขียนบทความ กลับไปที่คำพูดตอนต้นเรื่องว่า “เราทำไม่ได้หรอก” อาจจะฟังแล้วให้ความรู้สึกว่าหมดทางไป แต่ที่จริงแล้วเราไม่ควรทำได้ หากคำว่าทำได้จะหมายความว่าการลอกแบบโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เพราะไม่มีใครควรลอกใคร
สิ่งที่ผู้ไปดูงานโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาควรได้มากกว่าเราทำได้หรือทำไม่ได้ น่าจะเป็นประเด็นเรื่องกล้าทำหรืออย่างน้อยก็กล้าที่จะเริ่มทำ ให้ตระหนักรู้ว่าการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ดีต้องการความเป็นอิสระจาก การครอบงำทั้งปวง ไม่ยึดติดในมาตรฐานหรือตัวชี้วัดที่ตายตัว พร้อมจะออกแบบระบบใหม่หรือกระบวนการเรียนรู้อย่างใหม่ๆ ด้วยความร่วมมือของครู ผู้ปกครอง และนักเรียน
เป็นไปได้ว่ายังมีคุณครูอย่างคุณครูวิเชียรหรือคุณครูโรงเรียนแห่งนี้มาก มายกระจายในท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศไทย แต่ด้วยการบริหารการศึกษาแบบรวมศูนย์อำนาจทำให้ไม่มีใครกล้าคิดถึงกระบวนการ เรียนรู้แบบอื่นๆ นอกเหนือจากที่ส่วนกลางกำหนด
กรณีโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องจิตวิวัฒน์ แต่ยังเป็นเรื่องการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาด้วย ถ้าผู้รับผิดชอบการศึกษาของชาติมีจิตวิวัฒน์ การกระจายอำนาจการจัดการศึกษาจะเป็นไปได้ แล้วเราจะมีคุณครูอย่างคุณครูโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาอีกหลายแห่ง วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 2009 at ที่ 15:30 น. by knoom
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น