ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หลักสูตรซ่อน (กรวย จตุปัญญา)


โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
13 กันยายน 2552
http://pingwab.blogspot.com



เช้าวันแดดออกรำไรๆ สลับฝนพรำ หลังทานข้าวสุดอร่อยฝีมือคุณแม่ร่วมกันพร้อมพี่สาวและน้องชาย รู้สึกหนังท้องชักตึงหนังตาชักหย่อน ผมเลือกออกไปเดินเล่น ช่วยร่างกายย่อยอาหารและฝึกฝนจิตใจ เดินไปอย่างไร้จุดหมาย ผ่านโรงเรียนสมัยอนุบาลและประถมของผมเอง นึกตั้งคำถามว่าตอนเด็กๆ เราเรียนอะไรและอย่างไร

น่าช็อกว่าแต่ก่อนนั้นความรู้ที่ว่าการเรียนรู้ เหมาะสมกับการพัฒนามนุษย์ให้สมบูรณ์รอบด้านนั้นก็มีอยู่ แต่ผมกลับได้รับการศึกษาเหมือนผลิตปลากระป๋องในโรงงาน ทั้งๆ ที่โรงเรียนนี้ก็มีชื่อไม่น้อย พวกเราล้วนต้องแข่งขันกันเป็นปลาซาร์ดีนที่คุณภาพสูงสุด กระป๋องมันวาว ไม่บุบ และมีโอเมกา-3 โดยเฉพาะ DHA ที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจและลดความเครียดได้ดีที่สุด ... แต่ลงเอยก็ยังคงเป็นแค่ปลากระป๋อง

แต่เช้ามาเราก็ได้เล่นนิดเดียว ครูมักมาเตือนให้รู้จักเล่นน้อยๆ หน่อย จากนั้นเข้าแถวเคารพธงชาติ ยืนเมื่อย ฟังครูเทศน์ เรื่องอะไรคิดว่าไม่มีใครจำได้เลย จำได้แต่ว่าพวกเราเบื่อและไม่เชื่อ (หรอก) แล้วเข้าห้องเรียน เรียนอะไรที่ตาดีได้ ตาร้ายเสีย บางครั้งก็สนุกดี บางทีก็น่าเซ็ง เที่ยงทานอาหารรสชาติไม่อร่อย บ่ายเข้าไปนั่งเรียนๆ หลับๆ ในห้องจนเย็น

แต่ที่น่าช็อกกว่าก็คือ ตารางการใช้ชีวิต (หรือฆ่าเวลา?) ของนักเรียนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นแบบนี้

หรืออาจเพราะเราเชื่อฝรั่งมากเกินไป เห็นเขาใช้กรวยประสบการณ์ (Cone of Experience) ของเอดการ์ เดล ในการออกแบบการศึกษา เราก็ใช้บ้าง ที่สำคัญคือเอามาไม่หมด เขาว่าให้จัดจากฐาน (ว่าด้วยการให้มีประสบการณ์ตรง) ให้ถึงยอด (ว่าด้วยเรื่องสัญลักษณ์ในภาษา) แต่เราก็มักน้อย เอาแค่แถวๆ ยอดกรวยก็พอ

น่าดีใจที่เดี๋ยวนี้องค์ความรู้เรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ดี เรื่องกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญา (Contemplative Education) นั้นเริ่มมีผู้สนใจและแพร่หลายมากขึ้น ไม่ถูกจำกัดอยู่แต่ในเฉพาะโรงเรียนทางเลือกหรูๆ แพงๆ ผู้คนเริ่มสร้างทางเลือกในการเรียนรู้ให้กับตนเอง (และลูกๆ หลานๆ) มากขึ้น บ้างก็เรียกชื่ออื่นๆ อีกมาก อาทิ การเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเป็น มนุษย์ที่สมบูรณ์ (Humanized Educare) การเรียนรู้เพื่อจิตสำนึกใหม่ (Education for a New Consciousness) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformative Learning)

กรวยประสบการณ์แบบเดิมนั้น Out แล้วครับ ที่ In หรือ Hot ในปัจจุบัน คือ กรวยจตุปัญญา ที่เน้นการพัฒนาปัญญาทั้งสี่ด้าน อันได้แก่ ฐานคือ PQ (Physical Quotient) ความฉลาดทางด้านร่างกาย เช่น สร้างความเข้มแข็งและรักษาสุขภาพ IQ (Intelligence Quotient) ความฉลาดทางด้านความคิด หรือเชาว์ปัญญา เช่น ความสามารถในการคิด การคำนวณ EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดทางด้านอารมณ์ เช่น ความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมียอดคือ SQ (Spiritual Quotient) ความฉลาดทางด้านจิตวิญญาณ คือการแสวงหาเป้าหมายของชีวิต เข้าใจความหมายของการมีชีวิต

การจัดตารางเรียนก็แสนง่าย ไม่ยากแต่ประการใด ผมจะยกตัวอย่างของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ ให้ดูนะครับ

เช้า เน้น EQ, SQ ตัวอย่าง: เล่นกับเพื่อนใต้ร่มไม้ พูดคุยกันกับครูที่เป็นกัลยาณมิตรอย่างเป็นกันเอง กิจกรรมจิตศึกษา

สาย เน้น IQ ตัวอย่าง: ลงมือปฏิบัติ ใช้จินตนาการและความคิด

บ่าย เน้น PQ ตัวอย่าง: ฝึกทักษะทางกีฬา ศิลปะ ดนตรี ละคร

ลองคิดดูเองว่ามันเข้าท่าไหมครับ ตรงตามสามัญสำนึกใช่ไหมครับ หากเป็นเรา เราอยากเรียนแบบนี้ไหม ดูๆ ไปมันก็ไม่ยากเกินไปที่จะจัดการเรียนรู้แบบนี้นี่นา

กรวยนี้ไม่ใช่แค่สำหรับสอนเด็กในโรงเรียนนะครับ ใช้ได้กับการศึกษานอกโรงเรียน การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย โรงเรียนพ่อแม่ การศึกษาผู้ใหญ่ และการเรียนรู้ดีๆ ที่ไม่ต้องมีชื่อเรียกอื่นๆ ด้วย

หากมีโอกาสคงได้แบ่งปันเรื่องการบูรณาการองค์ความรู้ใหม่ล่าสุดด้านสมอง จิตวิวัฒน์ ศาสนา วิทยาศาสตร์ใหม่ องค์กร กับการพัฒนาความฉลาดทั้งสี่ด้านกันครับ :-)

1 ความคิดเห็น:

  1. เด็กสามารถเรียนต่อที่อื่นได้มั้ยค่ะ แล้วมีเกรดออกเหมือนโรงเรียนอื่นมั้ยค่ะ

    ตอบลบ