บทสัมภาษณ์ลงในนิตยสารแม่และเด็ก
อธิษฐานสิจ๊ะกับนางฟ้าสีเขียว...ชื่อเรื่องน่ารักเชียว
“ผมพบว่า เด็กๆ แต่ละคนที่พออยู่ในวัยสัก 2 - 3 ขวบถึงสี่ขวบ จะมีสีใดสีหนึ่งที่ชอบเป็นพิเศษ และแต่ละคนก็ไม่ได้ชอบสีเดียวกัน นั่นเป็นวิถีของแต่ละคน บางคนชอบสีฟ้า จะกินอะไรก็เป็นสีฟ้า อยากได้อะไรก็สีฟ้า คนที่ชอบสีเขียว อยากจะกินไอติมอร่อยหรือไม่อร่อยก็ชั่ง แต่ขอให้เป็นสีเขียว อะไรอย่างนี้ ผมกำลังจะบอกว่าเด็กแต่ละคนเขาก็จะมีวิถีของเขา แล้วมีวิธีคิดของเขา เพราะฉะนั้น ในเรื่องของอธิษฐานสิจ๊ะกับนางฟ้าสีเขียว เด็กคนนี้จะมีวิธีคิดของตัวเอง
...ซึ่งแน่นอนว่า คนรอบข้างก็จะมองว่า ผิดบ้าง ถูกบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะมองว่า ผิด เพราะมันไม่เป็นอย่างที่เราต้องการหรืออย่างที่เราคิด แล้วตัวละครก็จะดำเนินไปทั้งก่อนเข้าเรียน และระหว่างเข้าเรียนช่วงต้นๆ สิ่งที่ผมสื่อก็พยายามจะบอกให้ทั้งครู และพ่อแม่เข้าใจว่า เด็กๆ คิดอะไร แล้ววิธีคิดเป็นยังไง ทั้งในช่วงก่อนเข้าเรียน และก็ขณะที่เข้าเรียน”
“ไม่มีผลงานใดสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ” ทัศนะต่อคณะกรรมการตัดสิน
“ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร มันเป็นมาตรฐานของคนวัด ซึ่งคนวัดเอง ก็มีแค่สี่ห้าคน แล้วคนวัดเองก็ไม่ใช่เด็ก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการสื่อไม่ใช่สื่อให้เฉพาะผู้ใหญ่สี่ห้าคนนั้น แต่สิ่งที่เราสื่อคือให้เด็กๆ ให้พ่อแม่ และครู ที่ทำงานกับเด็ก เพราะฉะนั้น อย่างไรก็ตามมันยังทำงาน แม้ว่าไม่ได้รางวัลที่หนึ่ง มันก็ยังทำงานในหน้าที่ของทำเพื่อเด็ก และเยาวชน ซึ่งสำคัญที่สุด รางวัลเป็นเพียงสิ่งที่จะทำให้คนรู้จักหนังสือ จะทำให้คนได้ใช้ประโยชน์มันได้มากขึ้น ผมเชื่อว่า คนที่เขียนแล้วได้รางวัลโนเบลหลายคน หรือเกือบทุกคน เขาไม่ได้สนใจรางวัล แต่สิ่งที่เขาสนใจคือ เขาได้สื่อสารเหล่านั้น ถึงผู้รับสารมั้ย และสารเหล่านั้นได้ยกระดับผู้คนขึ้นมั้ย”
ตราประทับรางวัลกับความรู้สึกรักการอ่าน
“ตอนนี้ สังคมของไทยเรายังต้องใช้อยู่ หมายความว่า ความรู้สึกรักการอ่าน หรือการกล่อมเกลาให้เด็กรักการอ่าน มันต้องมีตัวอย่าง ทีนี้ ถามว่า คนไทยมีเปอร์เซ็นต์การอ่านหนังสือกี่เปอร์เซ็นต์ ผมเข้าใจว่า ประมาณไม่กี่บรรทัดต่อปี แต่สิ่งนี้จะช่วยดึงดูดให้พ่อแม่อ่าน ที่จริงแล้วไม่ต้องบอกให้เด็กอ่าน แค่พ่อแม่นอนอ่านหนังสือทุกวันๆ เด็กๆ จะรักการอ่านหนังสือโดยอัตโนมัติ เขาจะเริ่มงมจากสิ่งที่ไม่รู้ เมื่อได้รู้เขาก็จะสนุกกับมัน แล้วสุดท้ายเขาจะติดหนังสือ แต่อันหนึ่งน่าสนใจนะ ถ้าพ่อแม่สนใจหนังสือประเภทไหน เด็กจะมีแนวโน้มที่จะสนใจหนังสือประเภทนั้นมากเช่นกัน”
คุณค่าของรางวัลทางวรรณกรรมเยาวชน
“ผมว่าดีหมด และควรพยายามที่จะสร้างเวทีเพื่อให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นเยอะๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเด็กๆ อย่างในโรงเรียนนอกกะลา (โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา) เราไม่ใช้แบบเรียนภาษาไทยในการสอนภาษา เราเอาวรรณกรรมไปสอนเลย ตั้งแต่ ป.1 จนถึง ป.6 เราใช้วรรณกรรมชั้นละ 4 เรื่อง 4 ประเภท ประเภทแรกก็จะเป็นกลุ่มนิทาน ก็จะเลือกตามระดับยากง่ายไป อย่าง ป.5-6 ก็จะเรียนนิทานเวตาล ผมมองว่ามันเหมาะกับเยาวชน ประเภทที่ 2 ก็จะเป็นพวกวรรณกรรมเยาวชนต่างประเทศ ประเภทที่ 3 ก็จะเป็นวรรณกรรมเยาวชนไทย และ ประเภทที่ 4 ก็เป็นวรรณคดี ทั้ง 4 อย่างนี้ก็ให้ประโยชน์คนละแบบ อย่างนิทานก็ให้ข้อคิดแบบตัดฉับๆ แต่ว่าในเรื่องของวรรณกรรมก็ค่อยๆ ละเลียดอารมณ์ไป ในเรื่องของวรรณคดี ก็เป็นแนวคิดของสังคมที่เป็นรากเง้าเดิมๆ ส่วนแนวคิดของวรรณกรรมเยาวชนต่างประเทศ ก็จะออกมาเชิงความรู้สึกที่เป็นสากล
...ซึ่งเราไม่มีแบบเรียนภาษาไทย เราใช้วรรณกรรมในการสอน แล้วถอดความ ถอดคำ ถอดอะไรต่างๆ ออกจากวรรณกรรมมา แล้วเราจะเริ่มไล่เรียงจากง่ายไปหายาก สั้นไปหายาว อย่าง ความสุขของกะทิ และ เจ้าชายน้อย เราให้เรียน ป.3 หรือเจ้าชายไม่วิเศษ เรียน ป.1 อะไรอย่างนี้ครับ แต่ถ้าเป็นเด็กชั้นโตก็จะเป็นวรรณกรรมที่ยาวขึ้น ชั้นป.5-6 จะได้เรียนจากวรรณกรรมของลีโอ ตอลสตอย หรือ ตอสโตเยฟสกี้ ซึ่งเราต้องใส่ใจในการเลือก วรรณกรรมจะให้ความละเอียดอ่อนทางด้านจิตใจ ความงามของการใช้ภาษา สิ่งนี้หนังสือทั่วๆ ไปสอนไม่ได้ และสิ่งที่สำคัญที่เด็กจะได้จากวรรณกรรมก็คือ หนึ่งได้เรียนรู้ชีวิตผ่านแบบแบบจำลองชีวิตในวรรณกรรมซึ่งเขาไม่มีโอกาสที่จะใช้ชีวิตอย่างนั้นจริงๆ สองก็คือเขาได้ซึมซับความละเมียดละไมของอารมณ์ผ่านตัวละคร และอย่างที่สามเขาจะได้มีโอกาสซึมซับในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม หรือค่านิยมที่ผู้เขียนสอดแทรกไว้”
ลิตเติ้ลทรี และผองเพื่อนวรรณกรรมเยาวชนที่ควรเลือกหยิบอ่าน
“วรรณกรรมเยาวชนนะครับ ก็มีลิตเติ้ลทรี แล้วก็ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน เจค็อปคนทำขนมปัง หรือไม่ก็ต้นส้มแสนรัก เจ้าชายน้อย ถ้าเป็นญี่ปุ่นก็โต๊ะโตะจัง อันนี้ก็อ่าน แต่ผมเอ่ยลิตเติ้ลทรีก่อนนะ เพราะชอบเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่ง หลังจากพ่อแม่ตายก็ไปอยู่กับปู่กับย่าในป่าที่เป็นอินเดียแดง ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตในวิถีของคนป่า ของวิถีอินเดียแดงอย่าแท้จริง ความเชื่อและทัศนคติที่ปู่กับย่าปลูกฝังให้ แต่ทีนี้ เขาอยู่อย่างนั้น เขาก็ค่อยเติบโต
...แต่ขณะเดียวกัน สังคมข้างนอกก็เริ่มรุกราน รุกรานเข้าไปถึงในป่า รุกรานวัฒนธรรมของอินเดียแดง บางอย่างสิ่งที่อินเดียแดงเชื่อว่าถูกก็กลายเป็นผิดตามกรอบของความเชื่อใหม่ และสุดท้าย หลังจากที่ปู่กับย่าตาย เขาต้องออกจากป่า เพราะว่าถูกเล่นงานทางด้านกฎหมายและอยู่ไม่ได้ แล้วออกมารับใช้ระบบ ซึ่งก็เป็นความเจ็บปวดมากที่วิถีนึงถูกรุกรานด้วยวิถีนึง จากเรื่องนี้ทำให้ผมตระหนักมากๆ ว่า เราต้องเคารพของวิถีของแต่ละวิถี เราไม่ควรรุกรานวิถีของกันและกัน”
ยุคสมัยแห่งแฟนตาซี อาทิ แฮร์รี่ พอตเตอร์, เพอร์ซี่ย์ แจ็คสัน ฯลฯ
“ผมว่า วรรณกรรมดีหมด คือข้อดีของการอ่านงานวรรณกรรมก็คือการสร้างการจดจ่อ การจดจ่อที่ยาวนานจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนรู้ การจดจ่อทำให้เกิดการใคร่ครวญ ความเข้าใจแบบลึกๆ ต้องอาศัยการจดจ่อและการใคร่ครวญ แต่ถ้าเด็กได้ดูหนัง หรือดูทีวี พวกนี้ก็จะมีภาพที่ฉับไว มีแสงสีเสียงที่วูบวาบ และก็จะถูกดึงความสนใจก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การคงสมาธิจะสั้นสู้เด็กที่อ่านวรรณกรรมไม่ได้ ทีนี้ ถ้าถามว่า วรรณกรรมในเชิงแฟนตาซีหรือแบบอื่นๆ อย่างไหนดี ผมมองว่า ไม่ได้ต่างกัน
...แต่ว่า วรรณกรรมที่ดีควรจะมีแบบจำลองชีวิตจริงที่ดีงามซ่อนไว้ด้วย แต่ไม่ได้บอกว่า ไม่ให้มีจินตนาการนะครับ ทั้งต้องโยงกับอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นสากลด้วยอย่างเช่น ความฝัน ความทุกข์ ความเศร้าหมองเจ็บปวด ความรัก ความกล้าหาญ เป็นต้น”
เปรียบเทียบ...วรรณกรรมเยาวชนไทยกับต่างประเทศ
“ผมมองว่า ไม่ต่างกัน ใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน แต่ว่า ในส่วนไทย เวลาคนเขียนๆ ลงไปก็จะมีความเป็นไทยอยู่ ทั้งการใช้ภาษา วัฒนธรรม ค่านิยม ด้วยความคิดที่ใส่ลงไปก็จะเป็นแบบไทยๆ เด็กก็จะรับได้ง่าย แต่ไม่ใช่หมายความว่า วรรณกรรมเยาวชนต่างประเทศเด็กจะรับไม่ได้ เพราะพวกนี้มันมีความเป็นสากลอยู่ ผมเรียกว่า วรรณกรรมสื่อความเป็นสากล คือเวลาเราพูดถึงความเป็นสากล เรามักจะได้ยินคำนี้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในหลักสูตรก็มี ในนโยบายของรัฐบาลก็มี ที่อยากจะพัฒนาเด็กไปสู่ความเป็นสากล
...ซึ่งคนตีความ ของความเป็นสากลว่า การใช้คอมพิวเตอร์เป็น การใช้ภาษาอังกฤษได้ แต่ผมมองว่า นั่นไม่ใช่ความเป็นสากล ความเป็นสากลคือทุกคนรู้สึกสัมผัสได้ถึงสิ่งเดียวกัน เช่น มีคนมาทำร้ายเรา เราเจ็บปวด ทุกคนเหมือนกันหมด นี่คือสากล ไม่ชอบให้ใครมาทำร้ายเรา เหงา รัก ฝัน แล้วสิ่งที่ถ่ายทอดความเป็นสากลแบบนี้ได้ คือวรรณกรรม เพราะฉะนั้น วรรณกรรมคือสื่อสิ่งเดียวที่เชื่อมความเป็นสากลได้ดีที่สุด ไม่ใช่คอมพิวเตอร์”
สุดท้าย วรรณกรรมสำหรับเด็ก...พ่อแม่ควรตระหนัก
“ที่จริงเราอยากให้พ่อแม่ทุกคนตระหนักในเรื่องของการให้เด็กได้อ่านวรรณกรรม เพราะวรรณกรรมจะช่วยเพิ่มพูนทักษะการใช้ภาษาอันละเมียดละไม ทั้งยังสื่อลักษณะของบุคลิกภาพของตัวละคร มีวิถีการดำเนินชีวิต มีทัศนคติแฝงอยู่ ขณะที่อ่านเด็กก็จะมีอารมณ์ไปพันเกี่ยวไปกับตัวละคร เหมือนกับเขาได้ใช้ชีวิตในรูปแบบนั้น ต้องเข้าใจว่าข้อจำกัดของเด็กๆ คือเขาไม่มีเวลาที่จะใช้ชีวิตหลายๆ รูปแบบได้ แต่วรรณกรรมได้จำลองชีวิตหลายๆ รูปแบบไว้แล้ว และสุดท้าย เขาก็จะเห็นค่าปกติของตัวละครแต่ละตัวว่า วิถีปฏิบัติแบบไหนเหมาะสมหรือบุคลิกภาพอย่างไรเหมาะสม”
“ไม่อยากเชื่อนะว่า เรามีเด็กในวัยเรียนประมาณ 8 ล้านคน ครู 4 แสนคน แต่พอเราทำหนังสือวรรณกรรมสักเล่มพิมพ์สามพันกลับขายได้ไม่กี่ร้อย ไม่ใช่ว่าโรงเรียนต่างๆ จะไม่มีเงินซื้อหนังสือ แต่เราเห็นค่าของวรรณกรรมน้อยไป นโยบายรัฐบาลเองต้องเปิดเวทีให้หนังสือวรรณกรรมให้ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในชั้นหนังสือห้องสมุดมากๆ ด้วย โรงเรียนต่างๆ มักถูกกรอบให้ซื้อหนังสือแบบเรียน หนังสือแบบฝึก อะไรเทือกนั้น ในนั้นมีแต่ความรู้อันแห้งแล้งและพร้อมจะตกยุค ปราศจากอารมณ์ความรู้สึกอันเป็นสากล”
วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553
ใช้ชีวิตเล่นๆ อย่างเป็นอัตนัย
ความมีรูปแบบหลายแบบแต่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างนี้คือความเป็นปรนัย แต่ความหลากหลาย แบบเอนกอนันต์นั้นเป็นอัตนัย
สิ่งต่างๆ บนโลกมีความเป็นรูปแบบที่เป็นปรนัยคือการเป็นหมวดหมู่ เป็นประเภท พืชแต่ละชนิดก็มีลักษณะร่วมเฉพาะตัว สัตว์ จุลชีพ ก้อหิน แร่ธาตุ ก็เช่นกัน แต่ขณะเดียวกัน ในความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้นกลับมีความหลากหลายอย่างเอนกอนันต์ซ่อนอยูู่ ก้อนหินแต่ละก้อนไม่เหมือนกัน ม้าลายทุกตัวมีลายไม่เหมือนกัน แกะทุกตัวไม่เหมือนกัน
การก่อเกิดรูปแบบอย่างหลากหลายเอนกอนันต์เป็นคุณ สิ่งนั้นจะปลอดภัยจากการโจมตีด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สูญไปทั้งหมดได้ รูปแบบที่หลากหลายเราต้องยอมรับได้ถึงที่มาอันหลากหลาย
ไอน์สไตน์บุคคลอัจฉริยะที่สุดในศตวรรษที่ 20 กลับมีสมองที่หนักเพียง 1,230 กรัมเท่านั้น น้อยกว่าน้ำหนักสมองของมนุษย์โดยเฉลี่ยที่หนักถึง 1,400 กรัม จะเห็นว่าคุณภาพสมองไม่ได้สัมพันธ์กับขนาด
บางช่วงชีวิตของไอน์สไตน์เขาชอบนอนแช่ในอ่างอาบน้ำครั้งละหลายๆ ชั่วโมงเพื่อเล่นกับฟองสบู่ เขาชอบจดจ่อกับการคิดจนบางครั้งต้องนับเงินทอนถึงสี่ครั้งในตอนที่ขึ้นรถประจำทาง ประวัติการเรียนของเขาแย่มากในวิชาภาษาฝรั่งเศสแต่เขากลับชอบไวโอลิน ศิลปะ การแล่นเรือ และการเล่นเกมที่ต้องใช้จินตนาการสูง
Marian Diamond 1988 ได้ทดลองนำหนู 2 กลุ่ม กลุ่มแรกมีของเล่น กลุ่มสองไม่มีของเล่น ปรากฏว่ากลุ่มที่ได้เล่นจะมีใยประสาทเชื่อมโยงกัน มากกว่าหนูที่ไม่ได้เล่น
มองดูชีวิตเล่นๆ ของเราเมื่อเราต้องเอาชนะในสถานการณ์เหล่านี้ เช่น การเล่นไพ่ เล่นหมากรุก เล่นเกม เล่นซ่อนหา เล่นดีดลูกแก้ว เล่นดนตรี เล่นสนุกเกอร์ เล่นตัวต่อ สิ่งเหล่านี้กลับไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะการเล่นทำให้เราสมัครใจที่จะคิดทั้งยังทำให้เราต้องคิดอย่างเอาจริงเอาจังเสียด้วยถ้าอยากชนะในเกม หรือ กิจกรรมเพื่อการดำเนินชีวิตบางอย่าง เช่น การหาหนู หาปลา แอบสอยมะม่วงข้างรั้ว ปีนต้นไม้ การประดิษฐ์ของใช้เล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้คนคิดเพื่อเอาชนะสถานการณ์นั้นๆ เช่นกัน การเผชิญสถานการณ์ที่ต้องได้คิดอยู่เสมอจะทำให้ความคิดเติบโต เป็นธรรมชาติที่อะไรได้ใช้บ่อยก็จะเกิดการวิวัฒน์ส่วนที่ไม่ได้ใช้ก็จะเสื่อมถอยไป ยิ่งถ้าได้เผชิญกับสถานการณ์แตกต่างกันอย่างรอบด้านแบบรัศมีของทรงกลมก็ยิ่งทำให้เกิดการคิดเป็นระบบแบบหลายชั้นหลายมิติ ความฉลาดปราดเปรื่องไม่ใช่การจำความรู้ได้เยอะๆ แต่หมายถึงความสามารถในการเข้าใจสถานการณ์และความสามารถคิดได้แบบแทงทะลุทะลวงปัญหาได้
น่าประหลาดใจที่พบว่าภายนอกห้องเรียนกลับมีเรื่องการเล่นที่ไม่ใช่เรื่องเล่นอยู่มากมายมหาศาล ส่วนใหญ่จะอยู่นอกแบบแผนที่ถูกกำหนดไว้ แต่นั่นกลับสร้างคุณภาพของสมองให้สูงยิ่งขึ้น
ชีวิตเล่นๆ จึงน่าจะเป็นหนึ่งหนทางที่จะทำให้ชีวิตเกิดความหลากหลายแบบอัตนัย
วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553
ก้อนหินทุกก้อนไม่ได้โง่
หินแต่ละก้อนก็เป็นเพียงหินก้อนหนึ่ง ไม่ได้มีความฉลาดหรือความโง่
เราแข่งขันกันเพื่อให้มีความรู้มากกว่าคนอื่น เบื้องหลังความคิดนี้คืออะไร
เพราะเชื่อกันว่าเมื่อใครมีความรู้มากกว่าคนอื่นก็จะประสบความสำเร็จสูงกว่า คนอื่น เรามักมองความสำเร็จกันที่ ระดับตำแหน่ง ระดับรายได้ ชื่อเสียง จำนวนทรัพย์สิน หรือ อะไรเทือกนี้ เมื่อจดจ้องกันที่ความรู้เราก็จะแยกแยะประเภทผู้คนจากปริมาณความรู้ที่มีโดย อัตโนมัติ อาจจะแยกระดับผู้คนออกเป็นคนเก่ง ปานกลาง และ โง่ และความเชื่อที่ว่าความรู้จะนำมาซึ่งความสำเร็จก็ฝังลึกแทรกซึมไปทั่ว จนเรามองไม่เห็นความสำคัญของการมีปัญญาการใช้ชีวิต
บางครั้งเมื่อผมเล่าถึงวิถีการเรียนรู้ของลำปลายมาศพัฒนาให้คนอื่นๆ ฟังว่าเราให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างมีความสุขมากกว่าตัวความรู้ ให้เด็กได้เกิดทักษะกระบวนการคิดและกระบวนการแสวงหาความรู้ผ่านสิ่งที่เด็กๆ สนใจไม่ใช่ผ่านตำราเรียน เท่านี้ก็มักจะมีคนถามว่า “เรียนอย่างนี้แล้วเด็กจะมีความรู้เหรอ” ซึ่งคนที่ถามก็ล้วนแต่เป็นคนที่มีความรู้สูงแต่อาจจะไม่ถึงขั้นมีปัญญาการ ใช้ชีวิตอย่างแหลมคม เพราะปัญญาการใช้ชีวิตไม่ได้เกิดจากการมีความรู้มากก็ได้
กลับมามองในเรื่องปัญญาการใช้ชีวิต เราคงเห็นชัดว่านกทุกตัวตั้งแต่ฟักออกจากไข่มันก็รู้ว่าจะต้องมีชีวิตอย่างไร ทุกตัวสร้างรังแตกต่างกันแต่ประโยชน์ใช้สอยเดียวกันได้โดยไม่มีใครสอน มีชีวิตเป็นอิสระ เราจะไม่เห็นนกโง่เลยสักตัว และผมเชื่อว่าเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับปัญญาการใช้ชีวิตแบบนี้ซึ่งเราควรบ่ม เพาะให้งอกงามมากขึ้น
ความรู้มากไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น คนจำนวนไม่น้อยจ่อมจมอยู่กับความทุกข์ จากแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจและการพยายามปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทาง สังคม เรามีชีวิตที่เร่งรีบทั้งต้องแข่งขันตลอดเวลา เครียดบ่อยขึ้น หงุดหงิดง่ายขึ้น โกรธง่ายขึ้น หัวเราะได้น้อยลง นอนหลับยากขึ้น ทั้งที่ทารกหรือเด็กไม่มีอาการเหล่านี้ นั่นอาจเป็นเพราะปัญญาการใช้ชีวิตของเราถูกกดทับ
แท้จริงความรู้อาจกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถช่วยคนอื่นได้ แต่ในขณะเดียวกัน ความรู้อาจเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราหาประโยชน์จากคนอื่นที่รู้น้อยกว่าได้เช่นกัน
เราไม่ควรปล่อยให้การใช้ความรู้อยู่บนฐานของความน่าจะเป็น แต่ต้องตระหนักให้มากว่าทุกครั้งที่ได้ให้ความรู้ต้องให้เครื่องกำกับการใช้ ความรู้ไปด้วย เพื่อให้เกิดการใช้ในทางที่ดีงามในเปอร์เซ็นต์ที่มากขึ้น เครื่องกำกับความรู้ที่ว่าอย่างหนึ่งก็คือปัญญาการใช้ชีวิต
วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553
หงายกะลาพัฒนาครู 2
วันที่ 26 ก.ค.2553 เราเริ่มกันแต่เช้า ด้วยการให้ทุกคนนอนฟัง นพ.เปี่ยมโชค ชลิดาพงศ์ บรรยายเกี่ยวกับการกินกับสุขภาพ โดยเฉพาะพิษภัยที่มาจากน้ำตาลและนมวัว ครูจึงถึงบางอ้อเกี่ยวกับทำไมจึงมีของว่างเบาๆ อย่างเมื่อวาน และก็มีอาหารที่เน้นผักจากธรรมชาติ ถึงตรงนี้ครูก็คงไม่ได้คาดหวังที่จะมีของว่างเป็นอย่างอื่นอีกแล้ว หลังจากนั้นครูบางกลุ่มงานก็นำเสนอความรู้นานาทั้งที่ได้จากการทำงานและจากที่ไม่เกี่ยวข้อง
ภาคบ่ายเราเริ่มด้วยการนอนฟังนิทานจากคุณแต้วผู้ที่คลุกคลีอยู่กับวงการนิทานมานาน รวมถึงการสนทนาถึงหนังสือดีๆ หลายเล่ม และจบวันด้วยการนอนดูสารคดีที่ตีแผ่ระบบการจัดการอาหารของโลกที่เราคาดไม่ถึง เป็นระบบผูกขาดการผลิตอาหารของบริษัทใหญ่และซ่อนเร้นไว้ด้วยอันตรายมากมายภายใต้ภาพลักษณ์ที่ดูดี รวมถึงการปรับปรุงพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เพื่อครอบครองสิทธิ์แบบผูกขาด ทำให้ครูทุกคนมีอะไรมากมายที่ต้องให้คิดต่อเพื่อสื่อสารให้เด็กๆ รวมทั้งคนอื่นๆ ต้องร่วมกันเฝ้าระวังอันตรายจากอาหารที่เรากินทุกมื้อ
วันที่ 27 ก.ค.2553 เราเริ่มกันแต่เช้าเช่นเดิม แต่วันนี้เรามานั่งล้อมวงกันที่ร่มเงาของบ้านดิน ครูผลัดเปลี่ยนกันถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กๆ ที่แต่ละคนประสบมา เราได้ขำกันเป็นระยะๆ ตั้งแต่ขนาดอมยิ้มถึงการระเบิดหัวเราะ จนเราลืมเวลาอาหารว่าง แล้วครูทุกคนตั้งใจจะเขียนรวมกันเป็นเล่มให้ได้อ่านกันต่อไป
ราวเที่ยง หลวงพี่ทั้งหญิงชายซึ่งเป็นสานุศิษย์ของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ จากหมู่บ้านพลัมจำนวนสิบรูปก็มาถึง พระฉัน เรากิน อาหารกลางวันด้วยอาหารเจด้วยกันอย่างสงบ หลวงพี่นำเราสู่สติตั้งแต่บ่ายโมงจนเกือบจะหกโมงเย็น ด้วยการร้องเพลง การนอนผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ การสนทนา พิธีชา และ การเดินชมโรงเรียนอย่างมีสติ ผมเชื่อว่าครูทุกคนรู้สึกได้ถึงปรากฏการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นภายในตนเองเมื่อได้ผ่านพิธีกรรมต่างๆ อย่างเนิบช้า เราหลงใหลรูปแบบนี้อย่างลืมตัว
หลังข้าวเย็นครูแม้จะเหนื่อยอ่อนแต่ต้องได้กลับมาที่ห้องอบรมเพื่อนอนดูเรื่องราวชีวิตของคุณเงาะ (คนค้นคน) ผู้สร้างคนบนวิถีการปั่นจักรยาน
วันที่ 28 ก.ค.2553 ทุกคนกินข้าวเช้าที่อร่อยและมีคุณค่าอย่างทุกเช้า สายวันนั้นผมครูทุกคนต้องได้ออกอาการตื่นเต้นดีใจระคนประหลาดใจอีกครั้งเมื่อได้พบคุณเงาะตัวจริง ครูช่วยกันซักถามแล้วเราก็ได้คำตอบแบบโดนใจกลับไปจนเต็มอิ่ม
กระบวนการสี่วันอาจดูยาวนานออกจะเยิ่นเย่อ แต่ด้วยจังหวะที่วางไว้แบบหลวมและการเปิดใจร่วมมือของครูทุกคนทำให้การเคลื่อนของมวลด้านในเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องทั้งระดับบุคคลและทั้งกลุ่ม อันจะนำไปสู่การพัฒนาบางกระบวนการในโรงเรียนฯ เพื่อยกระดับด้านจิตวิญญาณของผู้เรียนต่อไป
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)