วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553
สิ่งที่เราไม่เคยเจอ จะเข้ามาท้าทายคนรุ่นต่อจากเรา
หนึ่งในคำถามที่ผู้ปกครองเหวี่ยงเข้าใส่โรงเรียนคือ “เด็กของเราจะแข่งขันในสังคมได้ไหม?” นั่นอาจจะมีความหมายที่ซ่อนในคำถามนี้อีกทีคือ “พวกเขาจะชนะไหม?”
สำหรับผมมันเป็นคำถามที่ยาก เพราะเป็นเรื่องยากมากที่จะคาดการณ์ว่าอีก 10-20 ปี ข้างหน้าพวกเขาจะเผชิญกับปัญหาอะไร คงไม่ใช่ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ หรือถ้าใช่ก็อาจจะเป็นส่วนน้อย เพราะโลกพลิกผันเปลี่ยนแปลงเร็วเหลือเกิน เช่น
- สภาพแวดล้อมและภูมิอากาศของโลกเข้าสู่ขั้นวิกฤตจนใครก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าพรุ่งนี้เราจะเจออะไร อาจเป็น คลื่นความร้อน คลื่นความหนาวเย็น สภาพพายุอันรุ่นแรง สภาพการขาดแคลนอาหารจากความแห้งแล้ง สภาพอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ เชื้อโรคใหม่ ฯลฯ
- สภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีสูงโดยมีคนจำนวนน้อยนิดที่ถือครองทรัพย์สินส่วนใหญ่ของโลก คนส่วนใหญ่ของโลกจึงยากจนแร้นแค้น โดยธรรมชาติของทุกสิ่งเมื่อเสียสมดุลมันก็จะมีแรงที่จะทำให้เกิดสมดุลใหม่ ซึ่งเราไม่สามารถคาดการณ์ออกเช่นกันว่าสมดุลใหม่ทางสังคมนั้นคืออะไร แต่ที่เห็นตอนนี้แรงกระทำเพื่อการปรับสมดุลได้ทำงานของมันแล้ว การเสียสมดุลทางสังคมจะสร้างความแตกแยก จะเกิดความสูญเสียจากการแก่งแย่งและทำร้ายกัน จะมีแต่ความหวาดระแวงไม่สามารถที่จะไว้ใจกันได้ นอนต้องปิดประตูล็อคตัวเองไว้ จะไปไหนมาไหนก็กลัวการถูกทำร้าย สุดท้ายจะมีแต่ความอึดอัดบีบคั้น และชีวิตก็ไม่มีความสุข
- ค่านิยมต่อความดีเปลี่ยนไป ไม่ได้หมายถึงความดีงามเปลี่ยนไป สังคมเกิดค่านิยมกับการนับถือคนรวย หรือการสยบยอบต่อผู้มีอำนาจ เกิดค่านิยมด้านวัตถุรูปลักษณ์ เช่น เด็กวัยรุ่นอายที่จะควักโทรศัพท์มือถือราคาถูกออกมาโทร จะรู้สึกไม่มั่นใจถ้าไม่ได้โกรกผมให้แดงเหมือนเด็กญี่ปุ่นหรือไม่ได้โปะเครื่องสำอางราคาแพง บางคนใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงเพื่อแต่งตัว นั่นอาจจะบ่งบอกถึงสภาพผู้คนที่มองภาพพจน์ในตัวเองต่ำ หรือ มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเองมากพอที่จะเป็นตัวเอง บางคนถึงขนาดรู้สึกว่ารองเท้าหลายสิบคู่ที่มีไม่มีคู่ใดสวยเลย บางคนก็ไม่กล้าสะพายกระเป๋าถ้าไม่ใช่ยี่ห้อจากฝรั่งเศส อย่างน้อยขอให้เป็นของปลอมก็ยังดี เมื่อรู้สึกว่าเงินคือทุกอย่างการถูกล่อลวงทางด้านวัตถุจะเกิดได้ง่ายแล้วเรื่องเหล่านี้ก็จบลงด้วยการหาเงินในทางไม่ชอบ เช่น การขายตัว การโจรกรรมมีให้เห็นจนดาษดื่น นอกจากนี้ วิถีชีวิตปัจจุบันยังผลักเด็กๆ ออกห่างจากธรรมชาติที่แท้จริงมากทุกที ถูกปลูกฝังให้ต้องเข้าเรียนในเมือง ทำงานในเมือง กินอาหารในร้าน ซื้อของในห้าง เท่ากับว่าเขาได้ติดเบ็ดอย่างจัง
กลับมาที่คำถามว่า “พวกเขาจะชนะไหม” ผมไม่อาจให้คำตอบอย่างผลีผลาม คำตอบต้องผ่านการใคร่ครวญให้ดี ผมอยากให้ทุกคนได้ประมวลประสบการณ์ของตัวเอง เฝ้าสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวแล้วใคร่ครวญหาคำตอบ คำตอบจะต้องไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการแต่ต้องเป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ ต่อเด็กๆ
ซึ่งเราอาจต้องตอบคำถามเหล่านี้ก่อน
“พวกเขาจะสู้กับอะไรหรือกับใคร? กับเพื่อนในชั้น กับคนในจังหวัด กับคนทั้งโลก หรือ เพียงต่อสู้กับตัวเอง”
“พวกเขาจะต่อสู้หรือแข่งขันกันด้วยเรื่องใด? ความรู้ ทรัพย์สิน ตำแหน่ง การมีชีวิตรอด หรือ ความสุข หรือ อะไร?”
หนึ่งในหลายๆ สิ่งที่โรงเรียนต้องพยายามทำ และให้ความสำคัญกว่าความรู้และคะแนน เพื่อให้เป็นความพยายามทำในช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดของเด็ก เป็นช่วงเวลาที่ไม่อาจเรียกคืนได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นที่เขาจะใช้ตลอดชีวิต สิ่งนั้นคือ
การทำให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง เห็นคุณค่าในคนอื่น ได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต เห็นความหมายของการอยู่ด้วยกันอย่างภารดรภาพ มีความสามารถในการคิดไตร่ตรองอย่างมีวิจารณญาณเพื่อให้เห็นถึงสิ่งจริงสิ่งลวงได้ด้วยตัวเอง การรู้สึกสัมผัสได้ถึงความรักและใช้ออกไปอย่างมีคุณภาพ การปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการถูกครอบ การมีความสุขในขณะที่มีชีวิต และ การยกระดับจิตให้สูงขึ้น
ผู้ที่กำลังเติบโตทุกคน กำลังถูกท้าทายจากปัญหานานาและใหม่ๆ ถั่งโถมใส่ทุกๆ วัน ความแข็งแกร่งข้างใน และ ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณเพื่อให้คำตอบกับตนเองจะทำให้เขารอดพ้นไปได้ด้วยดี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ทุกครั้งที่เราผ่านอุปสรรคหนึ่งอย่างได้ ความเข้มแข็งเราก็จะเพิ่มทวีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ
ตอบลบขอบคุณครูใหญ่ครับ...
สิ่งหนึ่งที่ใครก็ไม่สามารถแย้งชิงไปจากเราได้นั้นก็คือ อำนาจในการเลือก
ตอบลบสุดท้ายแล้วทุกคนมีสิทธิ์เลือกที่จะทำ หรือเลือกที่จะอยู่อย่างไร
อย่าลืมว่าทุกอย่างเราคือคนเลือก ไม่ใช้พระเจ้า
เชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า เหตุดี ผลต้องดี
ตอบลบ