ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ครูนำ "สติ" สู่เด็ก


ปัญญาภายใน(2)
ไม่ว่าเราจะอยู่อย่างไร  ทำงานอะไร  หรือตำแหน่งใดก็ตาม  สุดท้ายจะมีบางช่วงเวลาที่เราจะมีคำถามกับตัวเองว่า  เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร?   เราจะดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขได้อย่างไร?  หรือ เราจะทำงานอย่างมีความสุขได้อย่างไร?   ดูเหมือนอาจจะไร้สาระที่จะตั้งคำถามเหล่านี้   แท้จริงลึกๆ แล้วมนุษย์เกิดมาเพื่อจะได้พบคำถามเหล่านี้ไม่ช้าก็เร็ว  เพราะเราแต่ละคนจะเจอเข้ากับบางปัญหา  เช่น    บางคนแม้จะเรียนเก่งมากที่สุดในชั้นได้ทำอาชีพที่ดีแต่เมื่อเข้าสู่วงสนทนาทีไรก็วงแตก  หรือบางคนก็มีอาการปวดหัวเพราะความเครียดตลอดเวลา  หรือ บางคนที่มีพร้อมทุกอย่างแล้วแต่ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข  ฯลฯ  ปัญหาเหล่านี้ไม่อาจตอบได้จากปัญญาภายนอกหรือองค์ความรู้ต่างๆ  ที่เราร่ำเรียนมาเพียงอย่างเดียว  และมันก็ไม่มีคำตอบแบบตรงๆ หรือคำตอบที่เป็นรูปแบบแบบตายตัว    ผู้คนที่จึงต้องแสวงหาคำตอบด้วยตัวเองซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีลองผิดลองถูก  นั่นหมายถึงต้องใช้เวลามากและมีโอกาสผิดพลาดสูง
ถ้าให้การเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะปัญญาภายในให้กับเด็กๆ  ตั้งแต่ต้น  ก็จึงอาจจะช่วยให้เด็กๆ ได้พบคำถาม และ คำตอบของคำถามเหล่านั้นได้เร็วขึ้น  แต่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแม้ว่าเป้าหมายของการจัดการศึกษาเราอยากให้คนเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง  แต่เมื่อดูในหลักสูตรแกนกลางของแต่ละประเทศที่มี  8-9  วิชานั้นมุ่งสร้างแต่ปัญญาภายนอกหรือความเป็นคนเก่งเท่านั้น  ส่วนการสร้างคนดี(ผู้ที่มีปัญญาภายในสูง)ตามหลักสูตรเราจะเห็นที่เป็นรูปธรรมได้ในเชิงเนื้อหาที่มีในบางวิชาเท่านั้น  นั่นคือเราให้เด็กได้เรียนรู้แค่ระดับ  “ปริยัติ “
ความฉลาดภายในของเด็กๆ  (บันทึก ปลายเดือนมิถุนายน 2553)
อาหารจากสวรรค์ 
วันหนึ่งผมเดินดูและทักทายกับเด็กๆ  ที่กำลังนั่งกินข้าวกลางวันกันอยู่อย่างเอร็ดอร่อย    ผมบอกเด็กๆว่าวันนี้เราได้กินอาหารที่มาจากทะเลด้วย  เด็กๆ มองดูอาหารในถาดซึ่งเป็นต้มยำไก่ และ ผัดบวบใส่ไข่ แล้วเริ่มเขี่ยดูว่าในอาหารมีอะไรมาจากทะเลบ้าง   ทุกคนต่างก็มีสีหน้าสงสัยว่ามีอะไรมาจากทะเล  ต่างคนก็ต่างตอบไปต่างๆ นานา  แต่แล้วก็มีผู้เด็กชายคนหนึ่งบอกว่า  ผมรู้แล้วว่าอะไรที่มาจากทะเล น้ำไงครับ  น้ำจากทะเลกลายเป็นเมฆ  แล้วกลายเป็นฝนตกในแม่น้ำ แล้วคุณป้าแม่ครัวก็เอามาทำเป็นน้ำแกง
      ผมจึงถามต่อว่า  แล้วอาหารจากพื้นดินล่ะ
      “บวบค่ะ เด็กๆ ตอบได้ทุกคน
      ผมบอกต่อว่า   ไม่ได้มีเท่านี้นะ วันนี้เรายังได้กินอาหารจากสวรรค์ด้วย   เด็กๆ นิ่งครุ่นคิดกันใหญ่ว่าอะไรคืออาหารที่มาจากสวรรค์
      การที่เด็กๆ  รู้สึกได้ว่าสิ่งต่างๆ  สัมพันธ์กัน เชื่อมโยงกัน มีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ เป็นการลดอัตตาได้ทางหนึ่ง   ทำให้เด็กๆ รู้สึกอยู่เสมอว่าตนเองไม่ใช่ศูนย์กลางที่ทุกๆ สิ่งต้องมาสนอง  แต่ตัวเองเป็นเพียงหนึ่งในห่วงโซ่ที่มองไม่เห็น ทั้งยังได้เห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในสิ่งต่างๆ เราสามารถหยิบฉวยสิ่งที่อยู่รอบตัวมาทำกิจกรรมเพื่อให้เด็กๆ เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ได้ง่ายๆ เช่น
      เมื่อเห็นกิ้งกือก็ให้เด็กๆ วาดความเป็นกิ้งกือออกมา ครูตั้งคำถาม  สิ่งที่เราเหมือนกันกับกิ้งกือคืออะไรบ้าง หรือ ทำไมโลกเราจึงต้องมีกิ้งกือ แล้วปล่อยให้เด็กๆ ได้ตอบกันอย่างอิสระและให้ได้รับฟังคำตอบของกันและกันด้วย โดยครูไม่จำเป็นต้องบอกคำตอบออกไป
      บางครั้งก็ให้เด็กๆ นั่งตามลำพังใต้ต้นไม้เพื่อฟังสิ่งที่ต้นไม้บอกเล่าแล้วเขียนออกมา
      กิจกรรมเห็นฉันในเธอและเห็นเธอในฉัน โดยให้เด็กๆ จับคู่แล้วนั่งหันหลังพิงกันให้คนหนึ่งวาดภาพอะไรก็ได้ลงในกระดาษของตนเอง แล้วบรรยายให้อีกคนวาดตามลักษณะที่ได้ยิน หรือ ให้ต่อตัวต่อให้เหมือนกันทุกประการโดยไม่ให้ดูแต่ฟังจากคำบอกเล่า หรือ ให้ทั้งคู่หันหน้าเข้าหากันและขยับกายแบบเดียวกันเสมือนภาพสะท้อนในเงากระจก หรือ ให้ทั้งคู่ค้นหาว่าอะไรที่ทำให้มีความสุขหรือทุกข์เหมือนกัน
      การที่เด็กๆ เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ กับตัวเอง ยังนำไปสู่ความศรัทธาและนอบน้อมต่อสรรพสิ่ง
      การที่จะทำให้เด็กๆ เห็นความเต็มในความว่างเปล่า หรือ การเห็นสิ่งต่างๆ ในตัวเองต้องอาศัยการมีสติรู้ตัวที่พรั่งพร้อม ขณะที่มีสติจดจ่อกับปัจจุบันการใคร่ครวญด้านในก็จะเกิดขึ้นเพราะ ในช่วงขณะนั้นสิ่งรบกวนข้างนอกก็จะไม่เข้ามา การฝึกให้เด็กๆ มีสติไม่ได้หมายถึงการนั่งสมาธิเท่านั้น กิจกรรมอื่นๆ เช่น การเดินตามรอยเท้าที่อยู่บนพื้น การใช้ไม้ยาวๆ ขีดเส้นบนพื้นแล้วให้เด็กๆ ขีดเส้นซ้ำรอยเดิม การส่งแก้วที่มีน้ำที่อยู่เต็มต่อๆ กัน การติดตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย การติดตามเรื่องราวที่ครูเล่า การเล่าเรื่องต่อกัน การทำโยคะ การแสกนร่างกาย ซึ่งกิจกรรมจะต้องไม่ให้เด็กรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม หรือกำลังถูกควบคุม    ครู เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากที่จะนำเด็กไปสู่การมีสติ ครูต้องมีสติรู้ตัวอยู่เสมอเช่นกันเพื่อให้น้ำเสียง จังหวะการพูด หรือจังหวะการเคลื่อนไหวทางกายภาพของครูสามารถดึงความสนใจของเด็กๆ กลับมาสู่การมีสติได้เสมอ

กรุงเทพธุรกิจ(กายใจ) ฉบับ  77    20-26  พ.ย.2554

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ปัญญาภายใน1 (ฐานความเชื่อใหญ่)


โรงเรียนคือส่วนหนึ่งของกระบวนการนำการศึกษาเข้าไปสู่ผู้คนอย่างเป็นรูปแบบ    รูปแบบโรงเรียนก็เป็นกรอบชนิดหนึ่งที่อาจจะครอบงำเราไว้อีกชั้นก็ได้หากมองไม่เห็นสิ่งสำคัญในหน้าที่ที่โรงเรียนควรเป็น  โรงเรียนส่วนใหญ่ติดอยู่ในวังวนของการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ   การแข่งขัน  การเปรียบเทียบ  การวัดความรู้  การตีค่าอย่างผิวเผิน  การใช้อำนาจในเชิงควบคุม  การกระตุ้นความอยากหรือความกลัว  สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้จิตวิญญาณของผู้เรียนยิ่งตีบตัน 
โรงเรียนควรเป็นสถานที่ที่จะเกื้อหนุนให้ครูและผู้เรียนได้เบ่งบานในความดีงามทั้งต่อกันและกัน และ ต่อสรรพสิ่ง    เป็นที่สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างตื่นรู้ให้แข็งแกร่ง   การเรียนรู้อย่างตื่นรู้จะนำไปสู่ปัญญาซึ่งจะปลอดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้ในที่สุด  ความเป็นอิสระไม่ได้หมายถึงได้ดั่งใจทุกอย่างแต่หมายถึงสภาวะที่ปลอดโปร่งและเป็นสุข   เป็นสภาวะที่อยู่ด้านใน
ในสภาวะที่ยังอยู่ในที่ครอบที่เหมือนกบในกะลาแคบๆ   เราจะถูกจำกัดศักยภาพ  มองเห็นได้แคบ เห็นแก่ตัวเอง  มองไม่เห็นความเชื่อมโยงของทั้งหมด  รู้สึกอึดอัดบีบคั้น  และ เป็นทุกข์
เมื่อออกนอกกะลาครอบ  เราจะอิสระ ปลอดโปร่ง  เห็นกว้าง  และจะสามารถเชื่อมโยงตัวเองกับสรรพสิ่งได้ในที่สุด  ขณะนั้นปีติสุขก็บังเกิดขึ้น
การตื่นรู้ และ ความกล้าหาญ จะช่วยทลายกรอบให้เราออกนอกกะลาได้
กรอบความคิดหลักของเราที่ถูกหล่อหลอมไว้ในจิตใต้สำนึก  ซึ่งจะกลายเป็นฐานความเชื่อใหญ่และมาตรวัดภายในเรา   ฐานความเชื่อใหญ่นี้จะทำหน้าที่กำกับชีวิตเราตลอดมาโดยที่เราไม่รู้ตัว    ทั้งบุคลิกภาพ  การกระทำและความคิดที่เราแสดงออกไป    แน่ล่ะ  เราจะเชื่อว่าถูกต้องเสมอทั้งนี้เพราะการเทียบเคียงหรืออ้างอิงกับมาตรวัดของเราเอง   ถึงแม้บางครั้งสิ่งนั้นอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ตาม    นั่นคือบางครั้งเราอาจจะถูกหลอกด้วยกรอบคิดหลักของเราเอง   เราต้องตื่นรู้และกล้าหาญที่จะยอมรับว่าสิ่งที่เราทำหรือสิ่งที่เราคิดนั้นไม่ถูกต้องเสมอไป  การรับรู้และการเรียนรู้สภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปจะช่วยให้เราสามารถปรับฐานความเชื่อใหญ่ภายในตัวเรา  เพื่อให้หลุดจากกรอบความเชื่อเดิมๆ ได้
การมองหาทางเลือกใหม่ๆ  และการสร้างโอกาสให้ปรากฏการณ์ใหม่ๆ ได้เกิดขึ้นโดยที่ไม่เร่งรีบตัดสินความเป็นไปได้จะเป็นอีกทางที่จะปรับกรอบความคิดหลักและฐานความเชื่อใหญ่ให้ตรงกับความจริงของโลกที่เปลี่ยนไปได้มากขึ้น   วิธีการดังกล่าวไม่ได้หมายถึงการมุ่งโจมตีกรอบความคิดเก่า  แต่เพื่อให้มีทางเลือกหรือให้เห็นมุมมองหรือโอกาสอื่นๆ    การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเราสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเองเมื่อเราตื่นรู้และรู้ตัวได้เท่าทันกับการถูกหลอกจากสิ่งที่อยู่ในตัวเราเอง
ด้วยเหตุนี้  แนวคิดโรงเรียนนอกกะลา  จึงได้เกิดขึ้น   เราพยายามมองหาโอกาสให้ปรากฏการณ์ใหม่ทางการศึกษาได้เกิดขึ้น     จากอดีตถ้าเรามองย้อนกลับแล้วใคร่ครวญอย่างเป็นธรรมเราก็จะพบว่าทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่างมีการวิวัฒน์มาเป็นลำดับพร้อมกับการวิวัฒน์ทางสมองของมนุษย์    ความรู้ความเข้าใจ  แนวคิด และ วิธีการของแต่ละอย่างในแต่ละช่วงเวลาก็เหมาะกับสภาพสังคม สภาพความเป็นอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ   แต่ในทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็นกรอบคิด และวิธีการ  เราวิวัฒน์ได้ช้ากว่าสภาพสังคมและสภาพการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป  การศึกษาต้องสนองตอบให้เท่าทันกับความต้องการและความจำเป็นของสภาพสังคมหรือสภาพการดำเนินชีวิตของผู้คน  
เริ่มต้นจากการเปิดประสาทสัมผัสทั้งมวลเพื่อรับรู้สภาพที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่  ณ ปัจจุบัน    เผชิญหน้าและความท้าทาย    การปรับเปลี่ยนกรอบความคิดหลักและฐานความเชื่อใหญ่ในจิตใต้สำนึกบางครั้งอาจต้องน้อมรับความเจ็บปวดจากการที่ต้องรับรู้ว่าสภาพความเป็นจริงไม่ได้เป็นจริงอย่างที่เรารู้ 
การตระหนักต่อการรับรู้ให้เท่าทันข้างนอกที่เปลี่ยนไปมีความจำเป็นต่อการปรับสมดุลในตัวเราในระดับที่สูงขึ้น  ซึ่งจะส่งผลต่อการกระทำต่างๆ  ได้อย่างประณีตยิ่งขึ้นเช่นกัน

กรุงเทพธุรกิจ  ฉบับ 75  30 ต.ค.-5 พ.ย. 2554

วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความฉลาดภายนอก (ภาษา-ต่อ)


การเรียนรู้ภาษา  ของโรงเรียนนอกกะลา
เป็นการเรียนรู้ภาษาโดยไม่ใช้แบบเรียน  แต่ให้เรียนรู้การใช้ภาษาจริงจากการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลแวดล้อมและการเรียนรู้ผ่านวรรณกรรม
 
การสอนภาษา  จะเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยที่ครูจัดกระทำในสิ่งที่เอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  ผ่านกิจกรรม  ชง  เชื่อม ใช้  ดังกรณีตัวอย่าง  ดังนี้

กรณี  การอ่านเรื่อง / วรรณกรรม
ชง  นักเรียนอ่านเรื่องโดยการอ่านออกเสียง (อ่านคนเดียว / อ่านต่อเนื่องกัน / อ่านพร้อมกัน) หรืออ่านในใจ  หรือครูอ่านให้ฟัง  แล้วให้เด็กค้นหาคำแม่ ก กา หรือคำมาตราตัวสะกด หรือคำเป็นคำตาย หรือชนิดของคำ(นาม กริยา สรรพนาม ฯลฯ) หรือคำราชาศัพท์ หรือคำสุภาพ หรือคำประวิสรรชนีย์ ไม่ประวิสรรชนีย์ หรือคำควบกล้ำ ฯลฯ จากเรื่องที่อ่าน   ตามเป้าหมายของการสอนครั้งนั้น
          เชื่อม   นำเสนอคำที่ได้ และแลกเปลี่ยนคำที่ได้กับเพื่อนในชั้น  ซึ่งจะได้คำที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น    วิเคราะห์ร่วมกัน  เพื่อตรวจสอบว่าใช่หรือไม่  เพราะอะไร   แล้วช่วยกันอธิบายความหมายของคำศัพท์นั้นพร้อมยกตัวอย่าง   หรือ ครูตั้งคำถามเพื่อให้เด็กแต่ละคนได้คิด  ได้แสดงความคิด  ได้รับฟังเพื่อรับรู้แง่มุมที่แตกต่าง  เกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน โดยให้สอดรับกับพฤติกรรมสมอง ดังนี้
จำ : ตัวละครมีใครบ้าง?   เรียงลำดับเหตุการณ์ของเรื่อง
เข้าใจ : สรุปเรื่องหรือข้อคิดที่ได้
วิเคราะห์ / สังเคราะห์ : วิเคราะห์ / สังเคราะห์เหตุการณ์ ลักษณะนิสัยของตัวละคร  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
นำไปใช้  : สรุปเหตุการณ์  เทียบเคียงกับชีวิตจริง
ประเมินค่า :  การกระทำของตัวละครเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร / เหตุการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร
สร้างสรรค์ : แต่งเรื่องใหม่  แต่งตอนจบใหม่  วาดภาพประกอบ  ออกแบบฉาก  การ์ตูนช่อง
ใช้   ให้ผู้เรียนได้ลงมือทำแบบฝึก / งาน / ภาระงาน ที่สอดรับกับพฤติกรรมสมอง

การปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน  
เด็กที่รักการอ่านจะเข้าสู่โลกจริงได้ง่ายเพราะจะไม่ถูกกักขังไว้ในโลกของตัวเอง   การอ่านยังเป็นส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้  เป็นสะพานเชื่อมไปสู่โลกข้างนอกเพื่อสร้างปฏิกริยาต่อการเปลี่ยนแปลงภายใน   การถูกแวดล้อมไปด้วยคนที่รักการอ่านและหนังสือที่น่าอ่าน  สามารถสร้างอุปนิสัยรักการอ่านได้อย่างถาวร   การอ่านจะทำให้เกิดกระบวนการใคร่ครวญได้มากกว่าการฟัง  ส่วนการเขียนยิ่งได้ใคร่ครวญยิ่งกว่า   ปัญญาจากการใคร่ครวญเป็นของส่วนตัว  มันจะเพิ่มพูนของมันเองจากภายใน
การฝึกคัดลายมือ   
การคัดลายมือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ภาษาในการที่จะสื่อสารผ่านสัญลักษณ์   แต่ให้คุณอย่างอื่นโดยเฉพาะช่วงวัยต้นๆ  เพราะการคัดลายมือจะช่วยให้กล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรงและการทำงานของมือกับตาที่สัมพันธ์กัน   ทั้งยังเป็นการฝึกสัมมาสมาธิ  หรือจดจ่อให้ยาวขึ้น  ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพการเรียนรู้ต่อไปในระยะยาว   ในอนาคตการเขียนอาจจะมีความจำเป็นน้อยลงเพราะเทคโนโลยีการพิมพ์และการบันทึกภาพและเสียง
การพัฒนาความสามารถทางด้านการเขียน
การเขียนจำเป็นจะต้องมีศัพท์ในหัวจำนวนมากซึ่งสามารถเพิ่มพูนคำศัพท์ได้จากการอ่าน   ให้การฝึกเขียนเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมออย่างเช่นการเขียนบันทึก   การเขียนยังเป็นการฝึกกระบวนการคิดและการจัดการระบบข้อมูลภายใน   อุปสรรคต่อความสามารถในการเขียนของเด็กบางครั้งก็มาจากเรื่องเล็กน้อย เช่น การแก้คำผิด
"ทำไม่ครูโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจึงติดโชว์ผลงานของเด็กๆ โดยไม่แก้คำผิด?"   เป็นคำถามของครูที่มาเข้าอบรมหลายท่าน

เราคิดว่าการตรวจเช็คและแก้ไขโดยครูเป็นการมองจากครูฝ่ายเดียวซึ่งครู กำลังมองภาษาในรูปแบบตายตัว ไม่ยืดหยุ่น และไม่สามารถนำลองผิดลองถูกได้   การที่ครูแก้คำถูกผิดด้วยสีแดงพรืดเต็มไปหมด อาจทำให้เด็กรู้สึกภาษาเป็นสิ่งน่ากลัว และอาจรู้สึกว่าตัวเองด้อยความสามารถจนไม่กล้าที่จะเขียนคำใหม่ๆ อีกต่อไป
เราเชื่อว่าเมื่อเด็กเริมอ่านหนังสือได้เขาจะตื่นตัวที่จะเช็คคำผิดคำถูกด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อเขารักการอ่านและมีประสบการอ่านมากขึ้นเขาจะยิ่งกระตือรือร้น ในการตรวจเช็คคำผิดด้วยตังเอง
หรือ  ครูแค่รวบรวมคำที่เด็กแต่ละคนเขียนผิดมาเขียนไว้มุมหนึ่งของกระดาน  และให้มีโอกาสได้ใช้บางคำในจำนวนนั้นอย่างถูกต้อง แล้วหลังจากนั้นเด็กๆ  ก็จะตรวจสมุดของตัวเองอย่างกระตือรือร้น
ภาษาจะเป็นสิ่งน่ารำคาญ ถ้ามันอธิบายความหมายที่อยู่ใต้บรรทัดไม่ได้

กรุงเทพธุรกิจ  ISSUE 73   16-22   ตุลาคม 2554

ความฉลาดภายนอก (ต่อ)


ทำไมต้องสอนภาษา? 
           
ทำไมเราต้องสอนภาษาให้กับเด็กๆ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาตรี  ทั้งที่เด็กสี่ห้าขวบก็ใช้ภาษาสื่อสารกับเรารู้เรื่องกันแล้ว?
ภาษาในความหมายอย่างกว้าง หมายถึง กริยาอาการที่แสดงออกมาแล้วสามารถทำความเข้าใจกันได้ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสัตว์ หรือสัตว์กับสัตว์ ส่วนภาษาในความหมายอย่างแคบนั้น หมายถึง เสียงพูดที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันเท่านั้น 
 ภาษาเป็นวัฒนธรรมที่เกิดและวิวัฒนาการมาพร้อมกับมนุษย์  ประมาณจำนวนภาษาที่มนุษย์ใช้อยู่ทั่วโลกเวลานี้ มีถึง 6,800 ภาษา  ในจำนวนนี้เกินกว่าครึ่งหรืออาจจะถึงร้อยละ 90  จะตายไปในไม่ช้า    อย่างเช่น ขณะนี้ มีคนพูดภาษาอูดิฮี ได้แค่ 100 คน   ส่วนภาษาอะริคาปู มีคนพูดได้น้อยยิ่งกว่า เพียง 6 คนเท่านั้น  แต่ที่น่าตกใจที่สุดเห็นจะเป็นภาษาอียัค ที่มีคนพูดได้เพียงคนเดียวในโลก คือคุณยายมารี สมิธ วัย 83 ปี อาศัยอยู่ในเมืองอันโชเรจ รัฐอลาสกา เธอคือคนสุดท้ายที่พูดภาษานี้ได้
การตายของภาษาจะทำให้อารยะธรรมบางอย่างของเจ้าของภาษาตายไปด้วย
สำหรับ 10 ภาษาที่มีจำนวนผู้พูดมากที่สุดในโลกนั้น ได้แก่  ภาษาจีนกลาง มีผู้พูด 885 ล้านคน  ภาษาสเปน 332 ล้านคน   ภาษาอังกฤษ 322 ล้านคน   ภาษาอารบิค 220 ล้านคน   ภาษาเบงกาลี 189 ล้านคน   ภาษาฮินดี 182 ล้านคน, ภาษาโปรตุเกส 170 ล้านคน   ภาษารัสเซีย 170 ล้านคน   ภาษาญี่ปุ่น 125 ล้านคน และภาษาเยอรมัน 98 ล้านคน
บางประเทศมีภาษาใช้จำนวนมากอย่างเช่น  ปาปัวนิวกินีมีกว่า 800 ภาษา  อินโดนีเซีย 731 ภาษา   ไนจีเรีย 515 ภาษา   อินเดีย 400 ภาษาและอินเดียมีภาษาราชการใช้ถึง 15 ภาษา
ภาษาจีน, กรีก และฮิบรู เป็นภาษาโบราณที่ใช้กันมามากกว่า 2,000 ปี  

เป้าหมายของการเรียนรู้ภาษาของโรงเรียนนอกกะลา  จากขั้นพื้นฐานไปสู่ขั้นสูง
1.     เพื่อใช้ภาษาในการรับรู้และสื่อความต้องการ
2.     เพื่อใช้ภาษาเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ให้ความเข้าใจต่อโลกและปรากฏการณ์ต่างๆ
3.     เพื่อใช้ภาษาในการรับรู้และถ่ายทอดอารยธรรม
4.     เพื่อใช้ภาษาในการรับรู้และถ่ายทอดการเข้าถึงสิ่งสูงสุด  

ธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์
เราเรียนรู้ภาษาเริ่มจาก การฟังและการพูด   เป็นการเรียนรู้ที่จะเข้าใจความหมายของเสียง และสื่อสารออกมาได้   ทั้งเสียงสื่ออารมณ์ความรู้สึก  เสียงสูง-ต่ำ น้ำเสียงราบเรียบสม่ำเสมอ  และ เสียงของคำศัพท์ที่ใช้เพื่อสื่อความหมาย
จากนั้นจึงเริ่มหัดอ่าน-เขียน   เป็นการเรียนรู้ที่จะใช้ภาพหรือสัญลักษณ์แทนเสียงของคำศัพท์    ทั้งสัญลักษณ์แทนเสียงที่เปล่งออกมาแล้วมีความหมาย เช่น พ่อ  แม่  มือ  ตา  หู ฯลฯ หรือ  สัญลักษณ์แทนเสียงที่ไม่มีความหมาย เช่น  ก  ข  -ะ   ไ-  ฯลฯ
เมื่อจำสัญลักษณ์ที่แทนความหมายได้บ้างแล้ว  เราจะเริ่มเรียนรู้รูปแบบ หรือโครงสร้างของภาษา  โดยการเทียบเคียงเสียงด้วยรูป หรือ ด้วยการเปล่งเสียง  ซึ่งในขั้นนี้จะเกิดจากเทียบเคียงด้วยตัวเอง หรือ ครูนำการเทียบเคียง  เช่น   ขา ตา มา  หรือ  ตา ตี เตา  หรือ  _าง = กาง คาง นาง วาง  หรือ การผันเสียง เช่น ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า
ขั้นสูงสุดคือการแตกแขนงทางภาษา  เป็นการเห็นรูปแบบหรือการเห็นโครงสร้างภาษา  รูปคำ  ประโยค การแยกแยะคำ การสร้างคำใหม่  จนพลิกแพลงไปใช้ได้ และจะเกิดการเพิ่มพูนคำศัพท์  เห็นถึงคำที่เชื่อมโชงกันจนสามารถสร้างอภิธานศัพท์หรือกลุ่มคำที่สามารถอธิบายสิ่งต่างๆ ใช้เชิงนามธรรมหรือความหมายที่แท้จริงของสิ่งนั้นได้   ซึ่งจะเกิดขึ้นด้วย การฝึกฝน การสั่งสม  และ การสร้างอภิธานศัพท์

กรุงเทพธุรกิจ  ISSUE 71    2-8  ต.ค.54

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

ทำไมต้องเรียนคณิตศาสตร์


ความฉลาดภายนอก(ต่อ)
ทำไมต้องสอนคณิตศาสตร์?
เราใช้เนื้อหาหรือความรู้ทางคณิตศาสตร์ไม่ถึงห้าเปอร์เซ็นของเนื้อหาทั้งหมดที่เราเรียนมาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบปริญญาตรี  ทำไมเราต้องเรียนคณิตศาสตร์มากมายขนาดนั้น     ทั้งนี้เพราะคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือที่ใช้ศึกษาวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี และศาสตร์อื่นๆ  และ มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความคิดของคนทั้งความคิดในเชิงตรรกะและความคิดสร้างสรรค์  รวมทั้งช่วยในการวางแผน  การคาดการณ์ และการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ 
กรอบเดิมของการสอนคณิตศาสตร์คือครูมักสอนให้เด็กจำสูตรหรือวิธีทำโดยไม่เข้าใจ  จนเราไม่เข้าใจว่าทำไมการหารยาวจึงต้องหารจากข้างหน้ามาข้างหลัง   เราไม่เข้าใจว่าทำไมการหารเศษส่วนต้องเอาตัวหารมากลับเศษเป็นส่วนแล้วเอาไปคูณตัวตั้ง  เราไม่เข้าใจว่าทำไม่การหาพื้นที่วงกลมจึงไม่ใช่ด้านคูณด้านเหมือนกับสี่เหลี่ยม   ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องท่องสูตรการหาพื้นที่สี่เหลี่ยมคางหมูในเมื่อเรารู้วิธีการหาพื้นที่สี่เหลี่ยมและสามเหลี่ยม 
กรอบเดิมครูมักสอนให้คิดตัวเลขยากๆ  เพราะเชื่อว่าการคิดคำนวณตัวเลขจำนวนเยอะได้คือเก่งทางคณิตศาสตร์   ทั้งที่จริงแค่ฝึกให้เราเข้าใจรู้วิธีจากจำนวนน้อยๆ แล้วเราจะหาคำตอบจากตัวเลขยากๆ ได้เอง    เราต้องเสียเวลาไปนานกว่าที่ครูจะเคี่ยวเข็ญให้เราท่องสูตรคูณได้   ทั้งที่ตอนนี้เราแทบไม่ได้ใช้มันเพราะเครื่องมือคิดเลขมีอยู่ทั่วไปแม้แต่ในโทรศัพท์มือถือ
กรอบเดิมจะเริ่มจากการบอกวิธีซึ่งแทบไม่มีโอกาสที่จะให้ผู้เรียนค้นพบวิธีได้ด้วยตัวเอง   ผู้เรียนแต่ละคนจะได้เรียนรู้แบบต่างคนต่างคิดการปรึกษากันหรือลอกกันเป็นความผิด  ผู้เรียนมีโอกาสน้อยที่ผู้เรียนร่วมมือกันคิดแล้วค้นพบวิธีหาคำตอบอย่างหลากหลาย     ครูให้ความสำคัญกับคำตอบถูกและวิธีทำโดยแค่คาดหวังลึกๆ  ว่าเมื่อผู้เรียนแก้โจทย์เยอะก็จะเกิดความเข้าใจ   และความจริงที่เจ็บปวดคือที่เราเรียนคณิตศาสตร์มาทั้งหมดเราได้มาเพียงทักษะพื้นๆ  ทางคณิตศาสตร์นั่นคือ ทักษะการคิดเลข  
กรอบใหม่กับการสอนคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา 
                การสอนคณิตศาสตร์เพื่อมุ่งให้เกิดทักษะที่สำคัญ  ได้แก่ ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving),    ทักษะการมองเห็นภาพหรือรูปแบบที่ซ่อนอยู่ (Patterning),   ทักษะการคิดสร้างสรรค์และการให้เหตุผล (Creative Thinking and Reasoning)  และ ทักษะการสื่อสาร(Communication)  เพื่อให้เกิดความร่วมมือและพบวิธีหรือคำตอบเอง (Meta cognition)   
การสอนจึงให้ความสำคัญที่เข้าใจความคิดรวบยอดก่อน    และค้นหาวิธีที่หลากหลายร่วมกัน  วิธีการที่ได้จึงเป็นคำตอบที่สำคัญกว่าคำตอบจริงๆ  โดยใช้ขั้นของการสอนดังนี้
  1.  ชง       หมายถึง  ขั้นที่ครูตั้งคำถาม  ตั้งโจทย์  หรือโยนปัญหาให้ผู้เรียนได้เผชิญ  ผู้เรียนจะได้คิดและการลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหานั้นด้วยตนเอง  โดยเริ่มจากสื่อที่เป็นรูปธรรมจนนำไปสู่สัญลักษณ์ดังนี้    
-   รูปธรรม ขั้นนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า (Sensory) คือ การได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้สัมผัสและได้คิดจากสื่อจริง  เช่น  ก้อนหิน  แผ่นร้อย  ไม้ตะเกียบ  ลูกบาศก์โซมา ฯลฯ
-  กึ่งรูปธรรม   หลังจากที่ผ่านการใช้สื่อจริงมาแล้ว  ขั้นนี้นักเรียนจะได้เรียนรู้การแก้ปัญหาผ่านการวาดภาพเพื่อจะช่วยให้สมองของนักเรียนพัฒนาทักษะการสร้างภาพในสมอง(Visual)  ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการแก้ปัญหาต่อไป    
-  สัญลักษณ์  เป็นขั้นของการแปลภาพมาสู่สัญลักษณ์  เพื่อแก้ปัญหาโดยใช้ตรรกะหรือกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ 
2.  เชื่อม หมายถึง การนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนวิธีแก้โจทย์ปัญหาของแต่ละคน  ครูไม่จำเป็นต้องตัดสินว่าวิธีใดถูกหรือผิด   เพราะสุดท้ายเมื่อมีการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้นนักเรียนแต่ละคนจะเห็นมุงมองที่หลากหลาย  เห็นช่องโหว่ของบางวิธี  ได้ตรวจสอบวิธีแต่ละวิธี  และในที่สุดจะรู้คำตอบเอง   สามารถเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่ตัวเองเข้าใจไปใช้ได้  นี่เป็นทักษะของการรู้ตัว  รู้ว่าตัวเองรู้หรือไม่รู้(Meta cognition) เป็นทักษะที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนเองต่อไป   ในขั้นนี้ครูแค่ตั้งคำถาม “ใครได้คำตอบแล้ว?”    “มีวิธีคิดอย่างไร?”    “ใครมีวิธีอื่นบ้าง?”   “คุยกับเพื่อนว่าเห็นอะไรที่คล้ายกันหรือแตกต่างกันบ้าง”   ครูที่เก่งจะไม่ผลีผลามบอกคำตอบแต่จะเอื้ออำนวยให้ผู้เรียนพบคำตอบ   คำตอบที่เราต้องการจริงคือวิธีการ    ในขั้นตอนนี้  ผู้เรียนจะได้พัฒนาทักษะทั้งหมด  ทั้งทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving),    ทักษะการมองเห็นภาพหรือรูปแบบที่ซ่อนอยู่ (Look for the Pattern),   ทักษะการคิดสร้างสรรค์และการให้เหตุผล (Creative Thinking and Reasoning)  และ ทักษะการสื่อสาร(Communication)  เพื่อให้เกิดความร่วมมือและพบวิธีหรือคำตอบเอง (Meta cognition)   
    3.  ใช้     หมายถึง  ขั้นของการให้โจทย์ใหม่ที่คล้ายกัน  หรือยากขึ้น หลังจากที่ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาจากขั้นตอนที่ 2 แล้ว  เพื่อให้นักเรียนแต่ละคนได้ประลองเอง  จะได้สร้างความเข้าใจให้คมชัดขึ้น  ครูจะได้ตรวจสอบอีกรอบว่าเด็กแต่ละคนเข้าใจมากน้อยเพียงใด     
............................กรุงเทพธุรกิจ  ISSUE  69   18-24 ก.ย.54.......................................