ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

6 พฤติกรรม หั่น "เซลฟ์" เด็ก


ปัญญาภายใน(5)

     ต่อเนื่องจากปัญญาภายใน (4)
การใช้จิตวิทยาเชิงบวก
กรอบคิดทางจิตวิทยาเชิงบวกคือ   ให้ความสำคัญกับคุณค่าความเป็นมนุษย์   ศรัทธาในความดีงามของมนุษย์และบ่มเพาะผู้เรียนที่คุณค่าที่ดีงามซึ่งมีอยู่แล้วให้งอกงามยิ่งขึ้น   โดยปฏิบัติต่อผู้เรียนอย่างมนุษย์ที่มีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน  โดยมองถึงพฤติกรรมที่ต้องลดต่อจากฉบับที่แล้วได้แก่
1.      ลดการตีค่า การตัดสิน และการชี้โทษ 
เด็กทุกคนทำชิ้นงานหรือภาระงานออกมาตามศักยภาพของตนเองอย่างไม่เสแสร้ง  งานที่ออกมาจะบอกถึงสิ่งที่เด็กรู้  สิ่งที่เข้าใจหรือความสามารถของเด็ก   ครูมีหน้าที่ต้องรู้ว่ายังเหลือส่วนใดบ้างที่เด็กแต่ละคนยังไม่เข้าใจหรือยังไม่มีความสามารถเพื่อจะได้ช่วยยกระดับเรื่องนั้นให้สูงขึ้น   คำว่า “ศักยภาพที่สูงขึ้น”  ไม่ได้มีขีดจำกัด  ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ต้องมีเกณฑ์ใดๆ มาจับ   ในการประเมินผู้ประเมินหรือครูต้องมีจิตของพรหมอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา   ให้การประเมินเป็นไปเพื่อพัฒนาผู้เรียนไม่ใช่เพื่อการตัดสิน  ใส่ความห่วงใยไว้ทุกๆ  การประเมิน     
พฤติกรรมของเด็กๆ ก็เช่นกัน  การที่ครูเห็นว่าผิด  เพราะเป็นพฤติกรรมที่แตกต่างจากกรอบความเชื่อของครู  อันเกิดจากกรอบจารีต  ค่านิยม  หลักศีลธรรม  กฎหมาย  ข้อตกลงร่วมกัน หรือ กาลเทศะ  แม้บางกริยาของเด็กอาจก่อกวนอารมณ์ให้ครูต้องฉุนเฉียว   แต่ครูไม่ควรเล่นบทของพระเจ้าที่มีอำนาจคอยเป็นผู้ชี้ถูกผิดและชี้โทษอยู่ร่ำไป   แท้จริงเด็กแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกไปอย่างไม่รู้หรือไม่ก็เพราะความไม่รู้ตัว  เพียงครูแสดงอาการตอบสนองให้เขารู้ตัวเช่นการนิ่ง  หรือครูตั้งคำถามกลับเพื่อให้เด็กได้รู้ตัว   เมื่อรู้ตัวชั่วขณะนั้นเด็กก็จะกำกับตัวเองได้และหยุดพฤติกรรมนั้นได้ชั่วขณะ  แต่ชั่วขณะนี้กลับสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ของสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นสมองส่วนที่กำกับการแสดงออกด้วยอารมณ์ด้านบวกหรือด้านของความดีงาม    ตัวอย่างคำถามกลับเพื่อให้เด็กได้รู้ตัวและใคร่ครวญ  เช่น 
“เกิดอะไรขึ้นเล่าให้ครูฟังหน่อย?”   
“ตอนนี้เธอรู้สึกอย่างไร?”   
“เธอคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกกับเรื่องนี้อย่างไร?”   
“เธอคิดว่าควรทำอย่างไรที่ตัวเองจะสบายใจหรือคนอื่นจะสบายใจ?”  “เธอคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?”  

สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องตระหนักให้มากคือ เราไม่สามารถตามไปชี้ทางหรือตามไปบอกเด็กว่าอะไรควรหรือไม่ควร  อะไรถูกหรือไม่ถูกได้ตลอดชีวิต  หลังจากที่ไปจากเราเด็กจะเป็นผู้เลือกด้วยตัวเองในที่สุด  การฝึกให้เด็กได้รู้ด้วยตัวเองอย่างนี้จะทำให้เด็กมีความชำนาญในการที่จะกลับมารู้ตัวได้เร็วขึ้น  ทั้งกล้าหาญที่จะเผชิญความจริงอย่างองอาจ    เราต้องเชื่อว่า  ไม่มีพฤติกรรมใดเลวร้ายเกินกว่าที่จะให้อภัย และ ไม่มีอุปนิสัยใดที่จะแก้ไขไม่ได้ตราบเท่าที่ให้โอกาสแบบไม่จำกัด
ในอีกทางหนึ่ง  ครูกลับได้รับโอกาสดีที่ถูกท้าทายด้วยพฤติกรรมของเด็กที่ทำให้ต้องหงุดหงิด ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด  มันเป็นได้ทั้งเครื่องทดสอบตัวเองและเครื่องขัดเกลาใจตัวเองไปด้วยในตัว
2.      ลดการล่อหลอกด้วยความอยากที่เป็นเงื่อนไขต่อความรัก 
เราอาจจะเคยได้ยินว่าพ่อแม่หรือครูบางคนที่บอกเด็กๆ  ว่า  จะรักพวกเขาก็ต่อเมื่อพวกเขาทำตัวดีๆ  ความรักที่มีเงื่อนไขจะทำให้จิตแคบลงซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกบีบคั้นหากไม่ได้ดั่งใจที่คาดหวัง    ความอยากส่วนใหญ่เป็นความอยากในสิ่งที่ยังไม่มีจริงเป็นแค่สิ่งที่คาดหวัง   การล่อด้วยความอยากก็จะตามมาด้วยการแข่งขัน  แย่งชิง  และการหมกมุ่นผูกมัดด้วยความอยากนั้น  เช่นการบอกว่า  “เธอต้องเรียนเก่งที่สุดจึงจะสอบเป็นหมอได้แล้วเธอจะร่ำรวยและมีชีวิตที่ดี”  
ครูควรบอกเด็กๆ ว่า  “แม้สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ครูก็ยังรักและศรัทธาในตัวเธอ”  หรือ  “ไม่ว่าเธอจะเป็นอย่างไรครูยังรักและศรัทธาในตัวเธอ” 
3.      ลดคำพูดด้านลบ 
การพูดคำด้านลบ เช่น การปรามาศ  การเย้ยหยัน  การดุด่า  การกดดันคาดคั้น  การล้อเลียนถึงปมด้อย  การตั้งฉายา  ล้วนแต่เป็นคำที่ให้อาหารหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ไม่ดีในจิตให้เติบโต  เช่น ความกลัว  ความเกลียด  ความเศร้าหมอง ความรู้สึกด้อยค่า เป็นต้น  ทั้งยังเป็นการฝั่งความไม่จริงเหล่านั้นลงในจิตใต้สำนึกเพื่อให้มันส่งผลให้เป็นจริงในอนาคต   ดังประโยคที่ว่า  เมื่อเราคิด  เราพูด  เราจะเป็น 
4.      เลิกใช้ความรุนแรง 
ความรุนแรงเป็นพฤติกรรมของสัตว์ที่แสดงออกเพื่อความอยู่รอด  แต่มนุษย์ที่มีสมองส่วนหน้าซึ่งวิวัฒนาการมาใหม่กว่าสัตว์ใดๆ  เป็นสมองที่เรียนรู้และคอยกำกับเรื่องความดีงาม  คุณธรรมจริยธรรม และการแสวงหาสัจจะสูงสุด   ด้วยสมองส่วนนี้มนุษย์จึงมีศักยภาพที่จะหยุดความรุนแรง   เราแต่ละคนมีหน้าที่หยุดสัญชาตญาณความรุนแรงและการกดขี่ภายในจิตมนุษย์ด้วยการไม่ส่งต่อพฤติกรรมเหล่านั้นไปยังเด็กๆ หรือคนรุ่นต่อๆ ไป     

กรุงเทพธุรกิจ (กายใจ) ฉบับที่ 85 (15-21 ม.ค. 2555)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น