ปัญญาภายใน(4)
การใช้จิตวิทยาเชิงบวก
กรอบคิดทางจิตวิทยาเชิงบวกคือ ให้ความสำคัญกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ ศรัทธาในความดีงามของมนุษย์และบ่มเพาะผู้เรียนที่คุณค่าที่ดีงามซึ่งมีอยู่แล้วให้งอกงามยิ่งขึ้น โดยปฏิบัติต่อผู้เรียนอย่างมนุษย์ที่มีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
การกระทำที่ควรลด เพื่อไม่เป็นการทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเด็กๆ ซึ่งมีมาอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นการลดการให้อาหารกับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดีหรืออารมณ์ด้านลบที่อยู่ภายในจิตของเด็กๆ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดีเหล่านั้นไม่เติบโต เช่น ความอยาก ความหยิ่ง ความลุ่มหลง ความคิดลบ ความโกรธฉุนเฉียวเจ้าอารมณ์ ความเกลียด ความท้อแท้ ความอิจฉา ความกลัว ความเบื่อหน่าย เป็นต้น
1. ลดการเปรียบเทียบ
เราไม่ควรเปรียบเทียบเด็กๆ ไม่ว่าจะโดยการพูดหรือการกระทำเพราะ ไม่มีใครอยากถูกเปรียบเทียบว่าตนเองเป็นผู้ที่ด้อยค่ากว่า เด็กทุกคนแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างเป็นธรรมชาติของตัวเองจึงไม่ควรเปรียบเทียบพฤติกรรมระหว่างคนสองคน ถ้าจะชมหรือสะท้อนพฤติกรรมที่ต้องแก้ไขควรกระทำต่อเขาโดยตรงโดยไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น หรือแม้แต่การทำงานเด็กๆ จะทำชิ้นงานหรือภาระงานที่ครูมอบให้ออกมาอย่างเต็มศักยภาพ ครูจึงไม่ควรเปรียบเทียบระหว่างเด็กแต่ละคน แต่ครูมีหน้าที่ที่ต้องรู้ให้ได้ว่าพัฒนาการหรือศักยภาพแต่ละด้านเขาอยู่ตรงไหน และหาวิธียกระดับเขาสูงขึ้นให้ได้ ไม่มีหน้าที่ตีตราโดยการให้ดาวหรือให้ลำดับ แต่สามารถสะท้อนกลับได้ การชื่นชมหรือการสะท้อนกลับที่ดีกลับจะสร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจให้กับผู้เรียนได้อย่างดีเช่นกัน
ในระยาวการเปรียบเทียบก็อาจจะส่งผลเสียต่อทั้งสองกลุ่ม การเปรียบเทียบเป็นต้นตอของความอิจฉาและอาจส่งผลของความรุนแรงต่อไปถึงความริษยา ความอาฆาตแค้น ความรุนแรงของสังคม ผู้ที่ถูกเปรียบเทียบว่าด้อยกว่าก็เสี่ยงต่อการถูกทำลายคุณค่า และเมื่อถูกทำลายคุณค่าลงเขาก็จะรู้สึกแย่กับตัวเองและรู้สึกแย่กับคนอื่นหรือสิ่งอื่นไปด้วย สุดท้ายก็กลับมาสู่วงจรการทำร้ายตนเองและการทำร้ายกันด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งเพื่อเป็นการตอบโต้ ส่วนผู้ที่ถูกเปรียบเทียบว่าสูงค่ากว่าก็มีความเสี่ยงที่จะถูกล่อเลี้ยงอัตตาให้โต ติดอหังการ์ ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการเรียนรู้และเป็นอุปสรรคต่อการบ่มเพาะจิตใหญ่ การจัดอันดับก็เป็นการเปรียบเทียบเพราะเราจะใช้เกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งวัดทั้งที่แท้จริงพื้นฐานคือทุกคนมีความแตกต่างกันเหมือนผลไม้นานาชนิดจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันด้วยเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง กล้วย ฝรั่ง มะละกอที่มีดีตามคุณลักษณะเฉพาะตัว คนแต่ละคนก็เป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่เป็นหนึ่งเดียวในโลก
2. ลดการสร้างภาพของความกลัวเพื่อการควบคุม
ความกลัวกระตุ้นการทำงานของสมองส่วน อะมิกดาลา ทำให้เด็กเข้าสู่โหมดปกป้อง หลบหลีก จากสิ่งที่จะทำให้เจ็บปวด สิ่งคุกคาม หรือ ภัยอันตราย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้เพราะทำให้เราไม่กล้าเผชิญกับสิ่งนั้น ความกลัวเกิดจากการได้เผชิญกับสิ่งนั้นจริงด้วยการได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัสจริง เช่น ถูกตี ถูกดุด่า ถูกคาดโทษ ตีตราว่าล้มเหลว ถูกละทิ้งเพิกเฉยให้ไม่ได้รับความรัก ฯลฯ ต่อจากนั้นความกลัวส่วนใหญ่จะมาจากการสร้างภาพของความกลัวขึ้นมาโดยคนอื่นและตามมาด้วยการสร้างจินตนาการความกลัวของตนเอง หรือบางครั้งความกลัวก็เกิดจากความไม่รู้
ภาพของความกลัวถูกสร้างขึ้นในโรงเรียนนับร้อยพันอย่าง ส่วนใหญ่มีเบื้องหลังความคิดที่ต้องการควบคุม เช่น ถ้าส่งงานไม่ครบจะติด “ร” ถ้าไม่ตั้งใจเรียนจะสอบตกติด “0” หรือ จะให้ติด “มส” เพราะเวลาเรียนไม่ครบ ถ้าประพฤติไม่ดีจะถูกไล่ออก แล้วเครื่องหมายตราบาปเหล่านี้ก็ติดไปกับหลักฐานทางการศึกษาและติดอยู่ในใจของเด็กตลอดไป ทั้งที่ถ้าพิจารณาในเชิงจิตวิทยาเชิงบวก การกระทำของครูอย่างนั้นเป็นการทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวเด็ก ครูมีหน้าที่ที่จะสร้างหนทางให้เด็กได้มีโอกาสแก้ไขสิ่งต่างๆ ได้เสมอ หรือแค่เพียงชิ้นงานที่ส่งมาแม้ไม่ได้ครบทุกชิ้นครูก็สามารถประเมินอย่างรอบด้านเพื่อค้นหาความงอกงามได้แล้ว หรือ การที่เด็กไม่สามารถมาเรียนได้ก็สร้างโอกาสให้เขาได้เกิดการเรียนรู้ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมานั่งรวมกันต่อหน้าครูเสมอไป เด็กทุกคนต้องการทางเลือกและโอกาสแบบไม่จำกัด ครูมีหน้าที่อำนวยการให้เด็กรักที่จะเรียนรู้และอำนวยการให้เกิดการเรียนรู้
กรุงเทพธุรกิจ(กายใจ) ฉบับ 81 18-24 ธ.ค.2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น