ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ศิษย์ดีเริ่มต้นที่ตัวครู


ปัญญาภายใน(6)

ในการบ่มเพาะปัญญาภายใน  ด้วยการใช้กรอบคิดของจิตวิทยาเชิงบวก  โดยให้ผู้ใหญ่ลดพฤติกรรมในด้านลบลงดังที่กล่าวมาแล้วจากฉบับก่อน ๆ  ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็ต้องเพิ่มพฤติกรรมเชิงบวกด้วยเพื่อให้อาหารแก่เมล็ดพันธุ์ดีในจิตให้งอกงาม เช่น  ความรัก ให้อภัย ความเบิกบาน ความสงบ เมล็ดพันธุ์ปัญญา  ความสุข  เป็นต้น
1.      สร้างภาพพจน์ด้านบวกให้กับผู้เรียนทุกคน 
โดยการให้ความรัก   ให้เกียรติ  รับฟัง  แสดงความชื่นชมเมื่อมีโอกาส  สร้างโอกาสให้เด็กได้ทำงานสำเร็จด้วยตัวเองเสมอๆ ตั้งแต่การซักถุงเท้าเอง หิ้วกระเป๋าเอง ทำงานในหน้าที่เรียนที่ครูมอบหมาย   เพื่อให้เด็กทุกคนรู้สึกได้ว่าตนเองมีคุณค่า  ได้รับความรัก และมีความสามารถ
2.      การปรับพฤติกรรมเชิงบวก  
ต้องเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่าพฤติกรรมมนุษย์แสดงออกนั้นเป็นผลมาจากกระบวนการเรียนรู้และการหล่อหลอมมาจากอดีต   พฤติกรรมด้านลบที่แสดงออกมานั้นอาจสืบเนื่องจากการทำงานของสมองส่วนอะมิกดาลาซึ่งจะแสดงออกอย่างอัตโนมัติเมื่ออยู่ในภาวะกังวล  ตระหนกหรือกลัว  ทั้งนี้เป็นไปเพื่อปกป้องตนเอง     ส่วนพฤติกรรมที่แสดงออกมานั้นเป็นผลจากการทำงานของสมองส่วนหน้าจะแสดงออกด้วยอารมณ์ด้านบวกหรือด้านของความดีงาม  แต่ด้วยการทำงานของสมองสองส่วนที่เป็นปฏิภาคกันนั่นคือเมื่อสมองส่วนหน้าทำงานส่วนอะมิกดาลาจะไม่ทำงานหรือแบบตรงข้ามกับ  เราจึงมีโอกาสที่จะฝึกฝนให้สมองส่วนหน้าได้ทำงานเพื่อให้เด็กๆ ได้แสดงออกด้านบวกหรือด้านดีงามมากยิ่งขึ้น 
 ในการแก้ไขพฤติกรรมด้านลบต้องเริ่มจากให้เชื่อว่าทุกพฤติกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยให้การเรียนรู้ใหม่ เป็นการเรียนรู้ที่จะแสดงพฤติกรรมแบบใหม่  โดยให้รู้ตัว  ให้การเรียนรู้  และให้การฝึกฝน  ซึ่งเป็นความสามารถของสมองส่วนหน้าอยู่แล้ว  เมื่อผ่านการเรียนรู้และการฝึกฝนก็จะกลายเป็นอุปนิสัยคือเป็นพฤติกรรมใหม่ที่แสดงพฤติกรรมด้านบวกออกไปอย่างอัตโนมัติ
ให้การรู้ตัว    ต้องกระทำด้วยจิตใหญ่ คือ เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา    พร้อมที่จะให้อภัย และ ให้โอกาสแบบไม่จำกัด   เพราะพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกส่วนใหญ่จะเป็นไปแบบอัตโนมัติ  เป็นไปโดยไม่รู้ตัวว่า ผิด- ถูก หรือ  ไม่รู้ว่าเหมาะสม-ไม่เหมาะสม  นั้นคือไม่รู้ตัวว่า  “ไม่รู้”   การทำให้เด็กรู้ตัวเป็นบันไดขั้นแรกของการเรียนรู้เพื่อการแก้ไขพฤติกรรม   ซึ่งอาจใช้วิธีการตั้งคำถามเช่น   “เกิดอะไรขึ้น  เล่าให้ครูฟังหน่อย?”    “เธอกำลังรู้สึกอย่างไร?”    “เธอคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกกับเรื่องนี้อย่างไร?”    การทำให้รู้ตัวเราไม่ควรชี้ถูกผิดหรือชี้โทษ  และไม่ควรใช้คำพูดในลักษณะตีตรา   การรู้ตัวโดยเฉพาะเมื่อรู้ตัวว่าทำไม่ถูกต้องก็เท่ากับการได้หยุดสมองส่วนอะมิกดาลาเพื่อให้สมองส่วนหน้าได้ทำงานขั้นต่อไป
ให้การเรียนรู้ คือการให้ได้ใคร่ครวญกับสิ่งที่เกิดขึ้น   ครูอาจจะตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้คิดเทียบเคียงด้วยตนเองกับผลของการแสดงพฤติกรรมทั้งด้านบวกและด้านลบต่อเหตุการณ์นั้น   และ  ควรถามเพื่อให้เด็กได้คิดเองว่า  “จะแก้ไขสิ่งนั้นได้อย่างไร”   หลังจากนั้นครูควรให้การเรียนรู้ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมด้านลบนั้นต่อผ่านเรื่องเล่าจากเหตุการณ์จริงที่เป็นผลของการแสดงออกต่อเหตุการณ์นั้นทั้งทางด้านลบและด้านบวก  หรือ ละครปรับพฤติกรรม
ให้การฝึกฝน  หมายถึงการให้เด็กได้แสดงพฤติกรรมด้านบวกออกมาจริงๆ  ไม่ใช่แค่พูด  โดยใช้พฤติกรรมแม่แบบในการชักนำ  อาจเอาแม่แบบจากคนในสังคมที่เป็นแรงบันดาลใจ  พ่อแม่หรือครูก็ต้องเป็นแบบถูก  เช่น  เมื่อรู้ว่าร้านค้าทอนเงินให้เกินพ่อแม่ต้องแสดงให้เด็กเห็นว่าไม่ถูกต้องซึ่งต้องคืนเงินส่วนที่ได้รับเกินมา   เมื่อเห็นขยะซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นคนทิ้งเราก็ก้มเก็บไปทิ้งถังขยะเสียเองแทนที่จะพร่ำบ่นหรือต่อว่าเด็กๆ  ที่อยู่ใกล้ๆ  บริเวณนั้น   เมื่อเด็กพูดไม่ถูกต้องหรือพูดคำไม่สุภาพครูไม่ควรผลีผลามตำหนิออกไปแต่ให้พูดสิ่งที่ถูกต้องแทนเพื่อให้เด็กได้พูดทวนคำที่ถูกต้องนั้น  หรือขณะที่ครูกำลังสอนถ้ามีเด็กบางคนเล่นกัน ไม่ตั้งใจเรียนแทนที่ครูจะตำหนิเด็กคนนั้นครูอาจจะใช้การชมหรือขอบคุณผู้ตั้งใจเรียนแทน    เมื่อเด็กได้เรียนรู้ว่าจะแก้ไขพฤติกรรมด้านลบเหล่านั้นอย่างไรแล้วครูต้องสนับสนุนให้เขาแก้ไขสิ่งนั้นให้ลุล่วงด้วยตนเองแล้วให้การชื่นชม   การทบทวนฝึกฝนยังต้องทำต่อไปอีกระยะซึ่งขึ้นกับว่าพฤติกรรมด้านลบนั้นฝังอยู่ในจิตลึกเพียงใด 

กรุงเทพธุรกิจ (กายใจ) ฉบับที่ 87 (29 ม.ค.3- 4 ก.พ. 2555)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น