ติดตามเรื่องราว

..เรียนรู้ จากความยาก..-
บางทีการทำให้เส้นทางสู่ความจริงคดเคี้ยวมากขึ้นสักหน่อยเพื่อให้เกิดระทางที่ยาวไกลขึ้นอาจจะเป็นสิ่งดีสำหรับชีวิตที่ต้องการเวลากับการค้นหาความหมาย นั่นล่ะ -PBL




วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สร้างวิถีชุมชน

ปัญญาภายใน (7)
     เซลล์กระจกเงาในสมองนั้นทำงานตลอดเวลา   การสร้างชุมชนที่สะอาด  ร่มรื่น  สวยงาม  ปลอดภัย  ใกล้ชิดกับธรรมชาติทั้งดิน  ลม  แสงแดด  ต้นไม้  และ อยู่ห่างไกลจากสิ่งรบกวนภายนอก เช่น เสียงดัง  มลพิษ  ร้านเกม ห้างสรรพสินค้า  จะทำให้เด็กๆ  ได้อยู่ในบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนเมล็ดพันธุ์ที่ดีในจิตให้เติบโต  ในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนานั้นไม่มีสหกรณ์ร้ายค้า  ไม่มีร้านขายขนมที่มีประโยชน์น้อยกว่าโทษ  เช่น  มีน้ำตาลสูง ไขมันสูง  แพงเกินจริงเพราะการโฆษณา   ขนมที่เด็กๆ  ได้กินส่วนใหญ่จะเป็นผู้ปกครองอาสาสมัครมาพาเด็กทำทุกสัปดาห์  
     นอกจากสภาพแวดล้อมในชุมชน(ในที่นี่หมายถึงโรงเรียน) แล้ว การที่มีเจ้าหน้าที่หรือครูที่เป็นกัลยาณมิตรที่คอยเกื้อหนุนให้คำแนะนำและให้ความรักความเมตตาเสมอก็มีความสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงทางจิตใจของเด็ก  ความรู้สึกปลอดภัยไม่ถูกคุกคามจะกระตุ้นการเรียนรู้และแรงจูงใจเชิงบวกได้อย่างดี     
     สัมพันธภาพของคนในชุมชนส่งผลมากที่สุดต่อบรรยากาศทั้งหมดภายในชุมชน  แม้บางครั้งจะมีเพียงไม่กี่คนที่ทะเลาะกันแต่จะส่งผลต่อความรู้สึกของคนทั้งหมด  การสร้างวิถีชุมชน(วัฒนธรรมองค์กร)ร่วมกันจะรักษาความสัมพันธ์ที่บางครั้งอาจร้าวฉานให้กลับมาดีได้ง่าย   
     วิถีชุมชนจะก่อให้เกิดพลังของความลื่นไหลร่วมกัน  ความลื่นไหลไม่ได้หมายถึงการอยู่เฉยโดยไม่มีอะไรทำ  การมีสิ่งที่ต้องทำมากมายตลอดวันก็ทำให้เกิดความลื่นไหลได้  อาการติดขัดหรือความไม่ลื่นไหลอาจดูได้จากอาการขุ่นมัวในจิตตอนสิ้นวันก็ได้  ความลื่นไหลที่แท้จริงจะนำไปสู่จิตที่มีปีติ  

     การหล่อเลี้ยงสัมพันธภาพที่ดีให้คงอยู่ได้เป็นเรื่องละเอียด  ต้องทำกันอยู่เสมอด้วยกิจกรรมหรืองานประเพณีของชุมชนอย่างหลากหลายแยบยล 
     การปฏิบัติในวิถีโรงเรียนจะต้องทำอย่างมีความหมาย  มีเหตุผล และคงเส้นคงวา  ในขณะเดียวกันโรงเรียนยังต้องตระหนักอยู่เสมอว่าผู้ปกครองทุกคนมีส่วนเกื้อกูลต่อความก้าวหน้าของเด็ก  การสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการอย่างหลากหลายจะช่วยให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาในเชิงจิตวิญญาณซึ่งเป็นนามธรรม  ในที่สุดผู้ปกครองจะเข้ามามากขึ้นพร้อมที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในโรงเรียน   เมื่อผู้ปกครองได้เรียนรู้วิถีชุมชนจากบทเรียนที่เกิดขึ้นในโรงเรียน  ผู้ปกครองก็จะนำกลับไปสู่ชุมชนจริงของตนเอง 

     วิถีเป็นการกระทำซ้ำที่จะช่วยในการบ่มเพาะ ทั้งความมีวินัยและความรับผิดชอบต่อหน้าที่  ซึ่งเป็นเครื่องมือกำกับตนเองจากด้านใน  เมื่อกลายเป็นอุปนิสัยจิตของเด็กจะไม่รู้สึกขัดขืน  ในที่สุดโรงเรียนไม่จำเป็นต้องใช้การควบคุมจากภายนอก เช่น  เสียงระฆัง  กฎหรือข้อตกลงร่วมกันจะน้อยข้อไปเอง   ทั้งนี้ครูต้องอยู่ร่วมในวิถีอย่างคงเส้นคงวาเช่นกัน


     การออกแบบวิถีชีวิตในโรงเรียนยังต้องคำนึงถึงธรรมชาติของร่างกายและสมอง 

     ช่วงเช้าตั้งแต่เด็กมาถึงโรงเรียนจนถึงช่วง จิตศึกษา”  ให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่บ่มเพาะความงอกงามด้านในโดยใช้ฐาน ใจ เป็นหลัก   ช่วงสายเป็นการเรียนรู้ที่ใช้ฐาน สมอง เป็นหลัก  

     ช่วงบ่ายให้เด็กได้เรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติคือการใช้ฐาน กาย เป็นหลัก


     การดำเนินตามวิถียังต้องระวังความเป็น Comfort Zone หรือ  การติดสุข  ติดอยู่กับความสบาย  ในวิถีจะต้องมีระดับความยากพอต่อการขัดเกลาข้างใน  

     กรุงเทพธุรกิจ (กายใจ) ฉบับที่ 89 (12-18 ก.พ. 2555)  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น